The Upside เป็นหนังรีเมคจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง Les Intouchables ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2011 หนังเล่าเรื่องราวของเดล สก็อต อดีตนักโทษซึ่งต้องหาลายเซ็นมายืนยันว่าเขากำลังหางานทำ แต่จับพลัดจับผลูเข้าไปสมัครงานเป็นผู้พยุงชีพของฟิลลิป ลาคาสส์ นักธุรกิจผู้ร่ำรวยซึ่งเป็นอัมพาตจากการเล่นร่มร่อน เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ฟิลลิปจ้างเขาในทันทีตั้งแต่แรกพบ อาจเพราะเขาต้องการยั่วยุผู้ช่วยสาวของเขา อีวอนน์ ซึ่งพยายามหาผู้พยุงชีพโปรไฟล์ดีมาช่วยเขา ทีแรกเดลจะปฏิเสธ แต่เมื่อเขาได้เห็นจำนวนเงินที่ได้รับเขาก็เปลี่ยนใจ ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับการทำงานอันจุกจิกของผู้พยุงชีพ ทั้งสองสนิทกันมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เดลสอนให้ฟิลลิปรู้จักความสุขของคนธรรมดา (ที่เป็นคนนอกสังคม) เช่น การกินฮ็อตด็อกราคาถูก หรือการสูบกัญชา ในขณะที่ฟิลลิปสอนให้เดลรู้จักโอเปราและงานศิลปะชั้นสูง กลายเป็นมิตรภาพอันอบอุ่นของคนต่างเชื้อชาติ

แม้หนังจะปูเรื่องให้เราได้รับทราบที่มาที่ไปของเดลในระดับหนึ่ง เช่น เรื่องที่เขาพยายามสานสัมพันธ์กับลูกชายและอดีตภรรยา หรือเรื่องที่เขาต้องการหาเงินค่าเลี้ยงดูลูก แต่ผู้เขียนเองก็อดไม่ได้ที่จะมองเห็นการนำเสนอภาพของ ‘นิโกรมหัศจรรย์’ (Magical Negro) ซึ่งเป็นภาพจำของคนผิวสีในหนังฮอลลีวูดจำนวนมาก ภาพจำนี้คือการที่คนผิวดำ โดยเฉพาะผู้ชาย รับบทเป็นผู้สนับสนุนตัวละครผิวขาวให้ก้าวข้ามอุปสรรคบางอย่างไปได้

ในบทความ The Power of Black Magic: The Magical Negro and White Salvation in Film กล่าวไว้ว่า หน้าที่ของตัวละครคนดำในลักษณะนี้มีอยู่ 3 รูปแบบ นั่นคือ 1) ช่วยตัวละครผิวขาว 2) ช่วยให้เขาหรือเธอค้นพบและใช้คุณสมบัติทางจิตวิญญาณของตัวเอง และ 3) ให้ ‘ความรู้แบบชาวบ้าน’ เพื่อช่วยตัวละครผิวขาวแก้ปมค้างคา (dilemma) ในตนเองไปได้ โดยการกระทำทั้งหมดนี้ ตัวละครผิวดำจะไม่ทำเพื่อเป้าประสงค์ของตัวเอง หรือทำเพื่อตนเองน้อยมาก K. Anthony Appiah กล่าวว่าตัวละครผิวดำเหล่านี้ทำตัวเสมือน ‘นักบุญ’ (Saint) ที่ใช้พรสวรรค์ของตัวเองพาตัวละครผิวขาวก้าวข้ามอุปสรรค เขาหรือเธอจะรู้ว่าควรทำหรือพูดอะไรในสถานการณ์ที่ถูกต้องเสมอ

อาจกล่าวได้ว่าตัวละครเดล ได้ทำหน้าที่ครบทั้ง 3 รูปแบบ ประการแรก เขาเป็นผู้ช่วยเหลือฟิลลิปในชีวิตประจำวัน เป็นทั้งคนรับใช้ คนขับรถ และเพื่อนของฟิลลิป เขาได้แก้ปัญหาให้ฟิลลิปในส่วนที่ชายพิการไม่สามารถแก้ไขเองได้ และแม้กระทั่งสามารถคาดเดาว่าฟิลลิปต้องการอะไรแม้เขาจะไม่ได้พูดออกมา ในส่วนของประการที่สองนั้น เดลได้เข้ามาช่วยคลายปมปฏิเสธผู้อื่นของฟิลลิปในตอนท้ายเรื่องที่เขาไม่ยอมกินอาหารหรือสุงสิงกับใคร ปล่อยให้ตัวเองทรุดโทรม และประการสุดท้าย เดลได้พาฟิลลิปไปพบกับโลกของชาวบ้านธรรมดา ซึ่งออกจะเป็นคนชายขอบเสียด้วยซ้ำ เป็นการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ให้ฟิลลิปมีความสุขกับสิ่งที่เขาไม่เคยพบเจอในโลกของคนรวยผิวขาว

ในขณะที่ฟิลลิปมีความรักกับผู้หญิงที่ติดต่อกันทางจดหมาย เราจะไม่เห็นว่าเดลมีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้กับใคร ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นนิโกรมหัศจรรย์เช่นกัน โดยหนังได้ทำให้คนผิวสีมีความสามารถพิเศษขึ้นมาแทนการมีความรักหรือความสัมพันธ์ที่จับต้องได้กับใคร และก็เป็นเดลเองที่ช่วยให้ฟิลลิปสานสัมพันธ์กับสาวที่เขาชอบพอ โดยใช้ความซื่อตรงและหยิ่งผยองอันเป็นส่วนหนึ่งในคาแรกเตอร์ของเขา อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้จัดวางเดลให้เป็นนิโกรมหัศจรรย์ที่ไร้แรงขับทางเพศเสียทีเดียว แต่จัดวางเขาลงในภาพเหมารวมด้านลบของคนผิวสีอีกภาพหนึ่งแทน นั่นคือภาพของชายผิวสีที่มีแรงขับทางเพศสูงจนคุกคามคนอื่น เขาพยายามยัดเยียดว่าฟิลลิปคิดไม่ซื่อกับเลขาสาวสวยของตนเอง และมองนักกายภาพบำบัดของฟิลลิปเสมือนวัตถุทางเพศอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังจ้างหญิงบริการขึ้นมาที่ห้องของฟิลลิปเพื่อปรนนิบัติตนเองอีกด้วย

ประเด็นเรื่องแรงขับทางเพศของผู้ชายนี้ อาจแยกออกมาได้อีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือ หนังเรื่องนี้มีการเล่าเรื่องแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลาง จากฉากที่เดลจ้างหญิงบริการขึ้นมาที่ห้องนั้น เราจะเห็นได้ว่าฟิลลิปก็เห็นชอบของการกระทำของเดลด้วย หนังได้ทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีชื่อและไร้ที่มาที่ไป ซึ่งถ้าดูภาพรวมของเรื่องแล้ว เรื่องราวของผู้หญิงในเรื่องค่อนข้างถูกละเลยและบั่นทอนลงไปเป็นอันมาก

ผู้หญิงที่ดูมีปากมีเสียงมากที่สุดคืออีวอนน์ ซึ่งหนังเล่าประวัติของเธอผ่านคำพูดของเดลว่าเธอจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง และให้เธอเล่าเรื่องของตัวเองด้วยประโยคเพียงสั้นๆ ว่าเธอเคยหย่าขาดจากสามี นอกเหนือจากนั้น อีวอนน์เป็นตัวละครที่ดำรงอยู่เพียงเพื่อสนับสนุนเดล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิลลิป ผู้ซึ่งตัดสินใจไล่เธอไปอย่างไม่ใยดีเมื่อเขาคิดว่าไม่ต้องการเธอแล้ว อีวอนน์ซึ่งมีการศึกษาสูง จัดการทุกอย่างได้และดูเหมือนจะเทียบชั้นได้กับฟิลลิปนั้นถูกลดทอนความสำคัญลงให้ดูคล้ายกับคนใช้มากกว่าตัวเดลซึ่งมาจากชนชั้นอื่นเสียอีก เหตุผลเดียวที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะเธอในฐานะผู้หญิงไม่สามารถแทรกกลางหรือมีอิทธิพลเหนือความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างผู้ชายด้วยกัน หรือ ‘โบรแมนซ์ (Bromance)’ ระหว่างฟิลลิปกับเดลได้

นอกจากนั้น ความพิการของฟิลลิปยังถูกทำให้โรแมนติก (romanticize) ด้วยการให้ต้นเหตุมาจากกีฬาเสี่ยงอันตรายในแบบลูกผู้ชาย เขาพิการเพราะต้องการเล่นร่มร่อนในวันที่มีพายุ ซึ่งการที่เดลพาฟิลลิปไปเล่นร่มร่อนอีกครั้งหนึ่งตอนท้ายเรื่องก็เป็นส่วนที่ทำให้เห็นว่า ความพิการไม่สามารถขวางกั้นฟิลลิปจากไลฟ์สไตล์ ‘แมนๆ’ แบบชายชนชั้นสูงผิวขาวได้ กิจกรรมอย่างอื่นที่เดลชวนฟิลลิปทำ ตั้งแต่การสูบกัญชา ชวนหญิงขายบริการขึ้นมาที่ห้อง โทรหาหญิงที่ชอบ ทำลายข้าวของ หรือชวนไปซิ่งรถสปอร์ตหรู ก็เป็นกิจกรรมที่ตอกย้ำความเป็นชายของฟิลลิปว่าไม่สามารถถูกลดทอนไปได้ด้วยความพิการ โดยความเป็นชายนี้สามารถสร้างขึ้นได้จากสังคมของผู้ชายด้วยกัน โดยมีผู้หญิงเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน หรือ ‘ฉากหลัง’ ที่ดูจะกลืนหายไปกับส่วนที่ไม่สำคัญของเรื่องได้เสมอ

ภายใต้หนังที่ถูกนำเสนอขึ้นในฐานะของการเสนอภาพ คนดำ-คนขาว ที่เกื้อหนุนกัน อยู่ร่วมกันได้ และล้วนพบคุณค่าในตัวตนของกันและกัน —ซึ่งอันที่จริงหนังถึงกับต้องทำให้คนดำ ‘มหัศจรรย์’ และคนขาวเองต้อง ‘พิการ’ เสียก่อนด้วย— เมื่อมองรวมกับเรื่องของผู้หญิงที่ถูกกันออกไปจากพื้นที่ของหนัง นับว่าก็น่าเสียดายไม่น้อยทีเดียว

Tags: , ,