ใครๆ ก็บอกว่าผู้ชายเป็นเพศที่ ‘ใหญ่’ หรือ ‘เหนือ’ กว่าผู้หญิงมาเป็นเวลานับพันๆ ปีกันทั้งนั้นใช่ไหมครับ

แต่คำถามก็คือ เรารู้ได้อย่างไรว่าเมื่อครั้งโบราณโน้น ผู้ชาย ‘ใหญ่’ หรือ ‘เหนือ’ กว่าผู้หญิงเหมือนในปัจจุบันจริงๆ ตามมาด้วยคำถามที่ว่า – ก็แล้วอาการ ‘ใหญ่’ หรือ ‘เหนือ’ กว่าที่ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่

เชื่อไหมครับว่าคำตอบต่อคำถามนี้วางตัวอยู่บน ‘การค้นพบ’ ทางวิทยาศาสตร์!

 

เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เล่าถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งที่เราค้นพบในมนุษย์โบราณ ซึ่งถ้าแค่ค้นพบเฉยๆ ก็ไม่กระไรนัก แต่การค้นพบนี้มีการนำมา ‘ตีความ’ อีกต่อหนึ่ง แล้วการตีความที่ว่าก็นำไปสู่คำตอบ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของคำถามที่เราจั่วหัวเอาไว้ข้างต้น

การค้นพบนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน เป็นการขุดค้นและศึกษาซากกระดูกของมนุษย์โบราณสมัยนีโอลิธิค (Neolithic) กับยุคบรอนซ์ (Bronze Age) ถึง 175 ร่าง

ใครๆ ก็รู้ใช่ไหมครับว่าจีนนั้นเป็นประเทศที่ชายกับหญิงมีสถานะแตกต่างกันแค่ไหน โดยเฉพาะจีนยุคโบราณ คือถ้าใครมีลูกเป็นหญิงนี่แทบจะต้องเอาขี้เถ้ายัดปาก เพราะการเกิดเป็นหญิงไม่มีความสำคัญอะไรเท่าไหร่เลย ไม่เหมือนการมีลูกเป็นชายที่จะทำหน้าที่สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลต่อไปได้

เล่ากันว่าแม้แต่ขงจื่อเองยังเคยพูดไว้ว่าผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่จัดการได้ยาก ถ้าปล่อยให้ผู้หญิงอยู่ใกล้ตัวมากเกินไป เธอก็จะไม่เชื่อฟังหรือกระด้างกระเดื่องได้ แต่ถ้าให้ผู้หญิงอยู่ห่างตัวเกินไปก็จะเกิดความเกลียดชังขึ้นมาได้เหมือนกัน พูดอีกอย่างก็คือ – เอาใจไม่ถูกนั่นแหละครับ คำกล่าวที่ว่ากันว่าเป็นของขงจื่อนี้จะเป็นขงจื่อจริงหรือไม่ก็ไม่รู้นะครับ แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือคำพูดทำนองนี้แสดงให้เห็นถึง ‘อคติทางเพศ’ ที่แพร่หลายในดินแดนจีนมาตั้งแต่โบราณนานนมแล้ว

ดังนั้น การศึกษาซากกระดูก 175 ร่างที่ว่านี้ เมื่อมีการค้นพบอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงเป็นชาย จึงน่าสนใจและน่านำมาเล่าต่อเป็นอย่างยิ่ง

 

เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ในซากกระดูกทั้ง 175 ร่างนั้นมีการศึกษาเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (หรือ connective tissue) ซึ่งก็คือคอลลาเจนที่ยังหลงเหลืออยู่ มีการศึกษาธาตุที่เป็นองค์ประกอบในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ว่านี้ และพบว่ามีธาตุสองธาตุที่มีนัยเกี่ยวข้องกับอาหาร

อย่างแรกก็คือคาร์บอน เพราะการตรวจสอบคาร์บอนที่หลงเหลืออยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจะทำให้เรารู้ว่าคนกิน ‘ธัญพืช’ (grain) ประเภทไหนบ้าง อย่างที่สองคือไนโตรเจน การตรวจสอบไนโตรเจนที่เหลืออยู่จะทำให้เรารู้ว่าคนคนนั้นกิน ‘เนื้อ’ มากน้อยแค่ไหน

ยิ่งพอซากกระดูกที่ว่ามีอยู่ด้วยกันสองยุค คือยุคนีโอลิธิค (คือราวๆ 10,000 ปีที่แล้ว) กับยุคบรอนซ์ (คือราวๆ 2,000 ถึง 3,000 ที่แล้ว) ก็เลยทำให้เราศึกษาเปรียบเทียบได้ว่าคนสองยุคนี้กินอาหารแตกต่างกันอย่างไร
แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เปรียบเทียบแค่นั้นนะครับ เพราะเมื่อนำผลมาพินิจดูอย่างละเอียด เขาพบด้วยว่ามนุษย์ในยุนีโอลิธิคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง จะกินอาหารเหมือนๆ กัน คือกินทั้งเนื้อและธัญพืช

ต้องบอกก่อนว่ายุคนีโอลิธิคนี่คือยุคที่มนุษย์เริ่มหันมาทำเกษตรเป็นครั้งแรก คือเริ่มจะอยู่ติดที่ เพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ดังนั้น การพบว่ามนุษย์ยุคนี้กินอาหารเหมือนกันทั้งสองเพศจึงเป็นการบ่งบอกว่าก่อนหน้านี้มนุษย์สองเพศน่าจะกินอาหารแบบเดียวกันมาโดยตลอด
แต่พอพ้นยุคนิโอลิธิคไปแล้ว ‘เมนู’ ของมนุษย์เพศชายกับเพศหญิงกลับเริ่มแตกต่างกัน!

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า ‘เมนู’ อาหารของคนสองเพศนั้นจะเริ่มแตกต่างกันเมื่อมนุษย์ค่อยๆ เริ่มทำเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อมาถึงยุคบรอนซ์ ก็จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าผู้หญิงกับผู้ชาย (ในจีน) กินอาหารแตกต่างกัน

หลายคนอาจจะบอกว่าก็แน่ละสิ เพราะเมื่อเราปลูกธัญพืชได้ มนุษย์ก็ต้องกินอาหารประเภทแป้งและธัญพืชต่างๆ มากขึ้น แต่ผลการศึกษาระบุว่าเมื่อมาถึงยุคบรอนซ์แล้ว ผู้ชายก็ยังคงกินธัญพืชและกินเนื้อเหมือนกับในยุคนีโอลิธิคอยู่ดี ในขณะที่ผู้หญิงกลับกินเนื้อน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ กระดูกของผู้หญิงแสดงให้เห็นถึงอาการกระดูกเปราะบาง (เรียกว่า cribra orbitalia) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าในตอนเด็กๆ ผู้หญิงไม่ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องพอเพียง ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับคติความเชื่อที่ว่าเด็กผู้หญิงไม่ใช่เกียรติใช่ศรีของวงศ์ตระกูล ไม่เหมือนเด็กผู้ชาย จึงน่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการเลี้ยงดูเด็กหญิงคงทำไม่ค่อยดีนัก ทำให้ได้รับสารอาหารน้อย

เขาบอกว่าผู้หญิงจะกินเนื้อน้อยลง แต่หันมากินวีต (Wheat) มากขึ้น ซึ่งทำให้นักมานุษยวิทยาหลายคนตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่าที่ผู้หญิงต้องกินวีตแทนเนื้อ เป็นเพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจระหว่างเพศขึ้นมา

สมัยนีโอลิธิค ผู้หญิงจะเป็นผู้ดูแลจัดการทรัพยากรพอๆ กับผู้ชาย อาหารที่ได้รับจึงเหมือนๆ กัน แต่พอมาถึงยุคหลังๆ โอกาสในการจัดการทรัพยากรทางอาหารของผู้หญิงลดลง คนที่มีโอกาสสั่งสมความมั่งคั่งมากกว่าคือผู้ชาย ทำให้เกิดการใช้อำนาจแบบใหม่เพื่อกดผู้หญิง

นอกจากนี้ ปลายยุคบรอนซ์ในจีนยังเป็นยุคที่เกิดสงครามไปทั่วทั้งดินแดนจีนด้วย สงครามทำให้เกิดความรุนแรงและแน่นอน – ในความรุนแรงที่ต้องขันแข่งกันนั้น เพศชายย่อมเป็นที่พึงปรารถนามากกว่าเพศหญิงที่ถูกมองว่าอ่อนแอ

 

มีนักจิตวิทยาอธิบายเอาไว้ว่าการที่ผู้ชาย ‘กดขี่’ ผู้หญิงมาตลอดประวัติศาสตร์ (ส่วนใหญ่ของโลกน่ะนะครับ) เป็นเพราะผู้ชายมีความปรารถนาในอำนาจและการควบคุม ทำให้ผู้ชายต้องพยายามเอาชนะและปราบคนกลุ่มอื่นอยู่เสมอ จริงอยู่ว่าไม่ใช่ผู้ชายทุกคนเป็นอย่างนี้ และผู้ชายบางกลุ่ม (เช่น คนที่เป็นทาสหรือมีสีผิวชาติพันธุ์แตกต่าง) ก็ถูกกดพอๆ กับผู้หญิงเหมือนกัน แต่คนที่มีอำนาจสูงสุดและสามารถ ‘กด’ คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ดี เพียงแต่ต้องเป็นผู้ชายในกลุ่ม ‘อัลฟ่าเมล’ เท่านั้นเอง

สตีเฟน โกลด์เบิร์ก นักสังคมวิทยาที่โด่งดัง เสนอว่าการที่ผู้ชายเป็นอย่างนี้เป็นเพราะผู้ชายมีลักษณะที่ชอบการแข่งขันโดยธรรมชาติ และการที่ผู้ชายชอบการแข่งขันเป็นผลมาจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่อยู่ในตัว ฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดความก้าวร้าวและอยากควบคุม ดังนั้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ชายจะเป็นแบบนี้

นอกจากจีนแล้ว เราจะเห็นว่าทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และในเอเชีย (คือแทบทั้งโลกที่เป็น ‘โลกเก่า’) ผู้หญิงจะอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายมาตลอด ในบางที่ ถ้าผู้หญิงถูกข่มขืน จะต้องส่งตัวเมียของชายที่เป็นผู้ข่มขืนไปรับโทษ (เช่น ให้เมียของชายคนนั้นถูกข่มขืนบ้าง) แม้กระทั่งในสังคมกรีกโบราณที่ถือว่าทรงปัญญาและเป็นต้นกำเนิดประชาธิปไตย ก็ยังไม่ได้มอบสิทธิใดๆ ให้ผู้หญิงในการตัดสินเลือกตั้ง ทั้งยังมีข้อกำหนดในการควบคุมบังคับผู้หญิงหลายอย่าง เช่น ห้ามออกนอกบ้านในตอนค่ำ เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้ การค้นพบ ‘ร่องรอย’ ของอาหารและความแตกต่างในการกินระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในกระดูกชาวจีนโบราณ จึงพอจะบ่งบอกถึงแนวโน้มได้ว่าความไม่เสมอภาคทางเพศนั้นไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่เริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เราลงหลักปักฐานกลายเป็นสังคมเกษตรนั่นเลยทีเดียว

ดังนั้น ความเสมอภาคทางเพศจึงไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างขึ้นได้ง่ายดายนัก เพราะมันเป็นมรดกตกทอดที่เกิดขึ้นยาวนานเหลือเกิน

 

ภาพประกอบ: คุณเค

Tags: , , , , , , , , , , ,