ในปี 1920 เดอะซีแอตเทิลสตาร์ (The Seattle Star) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอเมริกัน ตีพิมพ์ข่าวหน้าหนึ่งเกี่ยวกับเด็กสาวคนหนึ่งที่เผลอทำมีดบาดหน้าแข้งตัวเองเป็นแผล ในระหว่างที่กำลังโกนขนขา หากคนยุคปัจจุบันได้เห็นข่าวนี้อาจไม่เข้าใจว่าทำไมอุบัติเหตุธรรมดาๆ เช่นนี้ถึงได้รับความสนใจมากพอที่จะครองพื้นที่บนหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง

นั่นเป็นเพราะการโกนขนอ่อนสั้นๆ บนร่างกายสำหรับคนสมัยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและ ‘ประหลาด มาก

แม้ว่าวัฒนธรรมการกำจัดขนกายจะมาๆ หายๆ เป็นบางช่วง แต่ไม่มีช่วงไหนเลยที่มันถูกจำแนกด้วยเพศ ในช่วงที่คนไม่นิยมกำจัดขน ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายต่างก็ไม่กำจัดขนกันทั้งคู่ แต่ช่วงใดที่การกำจัดขนกลับมาเป็นที่นิยม ทั้งหญิงและชายต่างก็ปฏิบัติตามกันโดยไม่แบ่งแยก เช่น ในยุคโรมันโบราณ การมีผิวเรียบเนียนเป็นคุณลักษณะที่ถูกเชื่อมโยงกับชนชั้น ยิ่งผิวเนียนเท่าไร ก็ยิ่งดูเหมือนชนชั้นสูงมากขึ้นเท่านั้น หญิงชายชาวโรมันจึงนิยมใช้ขี้ผึ้งหรือบางครั้งก็ใช้เปลือกหอย ในการกำจัดขนบนร่างกาย

แต่ถ้านี่คือเรื่องจริง แล้วการโกนขนบนตัวของผู้หญิง เลื่อนสถานะจากเรื่องสยองสองบรรทัดบนหน้าหนังสือพิมพ์ มาเป็นวัฒนธรรมความงามกระแสหลักภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษได้อย่างไร

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นประมาณร้อยกว่าปีก่อน เมื่อ ‘ยิลเลตต์’ (Gillette) แบรนด์มีดโกนชื่อดัง พยายามที่จะวางขายผลิตภัณฑ์ ‘มีดโกนสำหรับสุภาพสตรี’ เพื่อตีตลาดผู้บริโภคหญิงเป็นครั้งแรก

(ภาพ: St. Louis Post-Dispatch, Gillette Safety Razor Company)

1920s: โฆษณาชวนเชื่อและนิตยสารผู้หญิง

การกำจัดขนใต้วงแขนและขนขาในฐานะวิธีการเสริมสวยและดูแลรักษาความสะอาด เป็นคอนเซปต์ที่คนสมัยนั้นไม่เคยได้ยินมาก่อน การจะขายมีดโกนเพื่อจุดประสงค์นี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย สื่อสิ่งพิมพ์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการโน้มน้าวใจ ด้วยข้อความที่มีโทนเสียงเชิงสั่งสอนสาวๆ ให้รู้ว่าการเปลือยวงแขนหรือท่อนขาที่ไม่ได้รับการโกนนั้นเป็นเรื่องน่าอายแค่ไหน

(ภาพ: Harper’s Bazaar)

ประจวบกับจังหวะที่สิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารหรับผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา กำลังเดินทางเข้าสู่ยุคการผลิตแบบ Mass Production ที่เน้นปริมาณเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มยอดการเข้าถึง ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ (Harper’s Bazaar) นิตยสารแฟชั่นผู้หญิงชื่อดัง ที่เล็งเป้าหมายผู้อ่านเป็นกลุ่มชนชั้นกลางช่วงบนไปจนถึงชนชั้นไฮโซ ก็ได้กลายมาเป็นสื่อเจ้าแรกที่สานต่อเจตนารมณ์ของยิลเลตต์ โดยหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงในบทความโฆษณาชิ้นหนึ่ง พาดหัวว่า

‘หากไม่มีขนรักแร้ ก็ไม่มีอะไรต้องอาย’

โดยใช้ชายกระโปรงที่กำลังค่อยๆ หดสั้นขึ้นทีละน้อยตามกระแสนิยม รวมถึงชุดราตรีแขนกุดที่กำลังฮอตฮิตในหมู่หญิงสาวรุ่นใหม่ขณะนั้น เป็นเหตุผลบังหน้าเพื่อส่งเสริมให้พวกเธอเริ่มรู้จักที่จะโกนขนรักแร้และขนหน้าแข้งเสียบ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน นิตยสารผู้หญิงอีกหลายเจ้าก็เริ่มหันมาเกาะกระแสนี้ ด้วยการตีพิมพ์บทความของตัวเองที่มีใจความคล้ายกัน ในช่วงหน้าร้อนที่สาวๆ สามารถสวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นได้โดยไม่ดูแปลกตา

แม้จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจพอสมควร แต่ในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าไม่นานเทรนด์นี้ก็จะเริ่มเก่าและเลิกเป็นที่พูดถึงไปเอง เหมือนเทรนด์แฟชั่นอื่นๆ ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปภายในเวลาไม่กี่ปี

1940s: สงครามโลกทำถุงน่องขาดตลาด

กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็แทบจะไม่มีหญิงสาวคนไหนไม่กำจัดขนอีกแล้ว โดยเฉพาะหลังจากทศวรรษ 1940 ที่คาบเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 

อันที่จริง ก่อนหน้านั้นเทรนด์การโกนขนขาเริ่มซาลงไปมาก เพราะคนเริ่มหันมาสวมกระโปรงยาวและถุงน่องอีกครั้งหลังจากแฟชั่นแฟลปเปอร์ (Flapper) เลิกเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1930

แต่สุดท้ายยอดขายมีดโกนและครีมกำจัดขนก็ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ด้วยอานิสงส์ของการขาดแคลนถุงน่องในช่วงสงครามโลก เนื่องจากวัสดุที่ดีที่สุดในการผลิตร่มชูชีพและถุงดินปืนคือเส้นใยไนลอน กำลังผลิตไนลอนเกือบทั้งหมดจึงถูกกักตุนเอาไว้ใช้เฉพาะกับสินค้าที่จำเป็นในการทำสงครามเท่านั้น

เมื่อไม่มีถุงน่องวางขายในตลาดอีกต่อไป สาวๆ ก็หมดทางเลือก จำต้องปล่อยขาโล่งในที่สาธารณะบ่อยขึ้น แบรนด์ต่างๆ ที่เล็งเห็นโอกาสเจาะตลาดในช่วงเวลาอันเหมาะเจาะนี้ จึงรีบควักสารพัดกลยุทธ์การตลาดออกมาใช้แข่งกันขายผลิตภัณฑ์

หนึ่งในโวหารเด่นๆ ที่พบได้บ่อย คือการเล่นกับความกลัวที่จะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยการสร้างมายาคติว่าหากปล่อยขนบนตัวไว้โดยไม่กำจัด อาจถูกสังคมรังเกียจ หรือกลายเป็นหัวข้อซุบซิบนินทาได้

(ภาพ: Vox, Neet)

1960s: การมาถึงของคลื่นสตรีนิยมลูกที่ 2

คลื่นสตรีนิยมลูกที่ 2 (Second-Wave Feminism) เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์รุ่นนี้ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายทศวรรษ 1970 

ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เริ่มหันมาเน้นประเด็นความเท่าเทียมกันทางพฤตินัยมากกว่าทางนิตินัยเพียงอย่างเดียว เช่น ขยับขยายจากเรื่องสิทธิทางกฎหมายที่เป็นหัวใจหลักของคลื่นสตรีนิยมลูกแรก ออกไปสำรวจประเด็นความไม่เท่าเทียมที่ซับซ้อนขึ้นอย่างสถานะความเป็นรองของผู้หญิง รวมถึงความสองมาตรฐานของสังคมที่ให้อำนาจและอิสระกับเพศชายมากกว่า

มาตรฐานความงามที่คับแคบเป็นหนึ่งในความสองมาตรฐานเหล่านั้น และการไว้ขนรักแร้ หรือการปฏิเสธไม่กำจัดขนบริเวณต่างๆ บนร่างกาย ก็นับเป็นหนึ่งในการแสดงออกทางสัญลักษณ์หลายอย่างที่เริ่มขึ้นในช่วงนี้

1980s: บราซิลเลียนแว็กซ์ เลเซอร์ และบิกีนีเว้าสูง

ด้วยกระโปรงที่สั้นขึ้นและชุดว่ายน้ำที่เว้าขาสูงขึ้น ผู้หญิงยุค 80s จึงมีเรื่องขนๆ ให้ต้องกังวลเยอะขึ้นตามไปด้วย การโกนขนแบบเฉพาะจุดเริ่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป สาวๆ หลายคนแทบจะต้องโบกครีมโกนให้ทั่วตัว แล้วโกนให้เกลี้ยงเป็นประจำก่อนอาบน้ำ มีดโกนในยุคนี้จึงเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น และถูกออกแบบให้สามารถโกนได้เร็วขึ้นกว่ามีดโกนรุ่นเก่า

นอกจากการโกนและการใช้ครีมกำจัดขนแล้ว ตัวเลือกที่สะดวกสบายและแพร่หลายก็เริ่มมีให้เลือกเพิ่มมากขึ้น อย่างการให้บริการบราซิลเลียนแว็กซ์ (Brazillian Wax) ตามซาลอน ไปจนถึงหัตถการเลเซอร์กำจัดขนตามสถานเสริมความงาม

ณ จุดนี้ การดูแลร่างกายของตัวเองให้ ‘ไร้ขน’ ได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ผู้หญิงเรียนรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าควรต้องทำ โฆษณาในยุคนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอนผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้รู้ว่าการมีขนเป็นเรื่องไม่ดีอย่างไรอีกต่อไป

‘การต่อสู้เรื่องขนๆ’ ที่ยังคงดำเนินต่อไปในศตวรรษที่ 21

  จูเลีย โรเบิร์ตส (Julia Robert) นักแสดงสาวขวัญใจอเมริกา ผู้มีชื่อเสียงโด่งดั่งจากผลงานดังในยุค 90s อย่างผู้หญิงบานฉ่ำ (Pretty Woman) ได้เปิดฉากศตวรรษที่ 21 ด้วยการปรากฏตัวในชุดเดรสแขนสั้นปักเลื่อมสีแดงสด ณ งานพรีเมียร์ภาพยนตร์รักบานฉ่ำที่น็อตติงฮิลล์ (Notting Hill)

(ภาพ: Reuters)

ทันทีที่โรเบิร์ตส์แย้มยิ้มกว้างหวานฉ่ำอันเป็นเอกลักษณ์ ก่อนยกแขนสูงขึ้นเพื่อโบกมือให้แฟนๆ ที่มารอ ขนรักแร้ของเธอที่โผล่พ้นแขนเสื้อออกมาก็ได้ทำให้ภาพถ่ายที่ออกมาในตอนนั้นกลายเป็นวินาทีประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมป็อปร่วมสมัย

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การปรากฏตัวครั้งนี้ของเธอได้สร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างขึ้นในสังคม บทสนทนามากมายที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ก็เกิดขึ้น 

แน่นอนว่าปี 2000 อาจถือว่ายังเร็วเกินไป จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบใจเมื่อได้เห็นกลุ่มขนดกดำใต้วงแขนของโรเบิร์ตส แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์นี้ได้สั่นคลอนมาตรฐานความงามของเพศหญิงในแบบที่คนคุ้นเคย จุดประกายให้หลายคนเริ่มฉุกคิดถึงขนตัวของผู้หญิงว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ

แต่กระนั้นก็ตาม ในขณะที่ขนบนร่างกายผู้ชายถูกวาดภาพบนสื่อให้เป็นสัญลักษณ์แทนความ ‘มาดแมน’ และ ‘เซ็กซี่’ เราแทบไม่เคยเห็นขนของผู้หญิงบนจอโทรทัศน์จริงๆ แม้แต่ในโฆษณามีดโกน ก็ยังปรากฏภาพนางแบบหญิงกำลังใช้ใบมีดโกนขาของเธอ… ที่ไม่มีขนอยู่แล้วตั้งแต่แรก!

จนกระทั่งอีก 20 ปีให้หลัง เมื่อแบรนด์มีดโกนยุคใหม่ ‘บิลลี’ (Billie) ปล่อยโฆษณาตัวหนึ่งออกมาภายใต้แคมเปญ ‘Project Body Hair’

(ภาพ: Billie)

ทุกคนมีมัน โลกอาจเสแสร้งทำเหมือนมองไม่เห็น แต่มันมีอยู่จริง และเมื่อไรก็ตามที่คุณอยากโกน บิลลีจะอยู่ตรงนี้กับคุณ” 

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สื่อโฆษณา ที่มีการถ่ายทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นหนวด ไรขนคิ้ว ขนรักแร้ ขนหน้าแข้ง หรือแม้กระทั่งขนในที่ลับของผู้หญิงได้อย่างชัดเจนสมจริง โดยจัดแสงและมุมกล้องให้ทุกๆ ฉากที่มีเส้นขนปรากฏอยู่ออกมาสวยงามราวกับผลงานศิลปะ

(ภาพ: Billie)

เอ่อ สวยก็เ-ี้ยละ ดูแล้วคลื่นไส้ไปหมด

ผู้หญิงคนไหนอยากไว้แบบนี้ก็แล้วแต่นะ แต่อย่ามาตีโพยตีพายทีหลังก็แล้วกัน ถ้าถูกใครเขามองเหยียดด้วยสายตาขยะแขยง

แค่เห็นภาพ กลิ่นอับก็โชยมาเลย

ในขณะเดียวกัน ก็มีเสียงชื่นชมที่แบรนด์นำเสนอการโกนให้เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ได้ดีกว่าการปล่อยขนทิ้งไว้ตามธรรมชาติตรงไหนเลย

จอร์จินา กูลีย์ (Georgina Gooley) เจ้าของแบรนด์มีดโกนบิลลี ให้สัมภาษณ์ว่าเธอคาดหวังเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่ดูโฆษณานี้แล้วรู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่สบายใจ หรือแม้กระทั่งขยะแขยงที่ได้เห็นเส้นขนเหล่านี้บนร่างกายของนางแบบ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่แบรนด์ต้องการ เพราะในทุกการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การถูกคนบางกลุ่มไม่พอใจไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่อะไรเลย

“หากผู้คนได้เห็นภาพนี้บ่อยขึ้นและเข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมจึงไม่ควรคาดหวังให้ผู้หญิงทุกคนต้องกำจัดขนกาย  ฉันหวังว่าเราจะได้เห็นภาพขนบนร่างกายรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้หญิงจะสามารถเลือกที่จะไว้ขนหรือกำจัดขนบนร่างกายของพวกเธอได้ตามแต่ใจต้องการ เหมือนที่ผู้ชายสามารถเลือกที่จะโกนหนวดเคราของพวกเขาหรือไม่โกน โดยไม่รู้สึกกดดันอะไร” 

ที่มา

https://www.beppy.com/en/blog/women-body-positivity/when-did-women-start-shaving-history-of-depilation-part-1/

https://chroniclingamerica.loc.gov/lccn/sn87093407/1920-05-24/ed-1/seq-16/

https://www.bustle.com/articles/137072-100-years-of-shaving-ads-show-how-weve-been-tricked-into-going-hairless-photos

https://www.vogue.com/article/julia-roberts-underarm-armpit-hair-notting-hill-premiere-1999-busy-tonight-interview

https://www.allure.com/story/billie-razor-ad-campaign-unshaven-pubic-underarm-hair

https://www.youtube.com/watch?v=XYsacX9LwSw 

https://www.youtube.com/watch?v=P4DDpS685iI 

Tags: , , , , , , , , ,