ในฐานะหญิงเควียร์ที่รักชอบ ดึงดูด และคบหากับผู้หญิง คอมมูฯ เลสเบี้ยนเป็นหนึ่งในหลายๆ กลุ่มคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วยมากที่สุด ที่โตมาได้โดยไม่รู้สึก ‘ผิดปกติ’ จนเกินไปนัก ก็เพราะเกิดมาในยุคสมัยที่เราสามารถตามหาคนที่ชอบอะไรเหมือนกันได้บนโลกออนไลน์ และบังเอิญว่าคนเหล่านั้นที่เราหาเจอในช่วงวัยหนึ่ง ก็คือเลสเบี้ยนนี่แหละ

แต่ถึงจะรู้สึกถึงความเชื่อมโยงด้วยอย่างไร ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่าเราไม่ได้รักชอบ ดึงดูด และคบหาแค่กับผู้หญิงเพียงเพศเดียว เลสเบี้ยนจึงไม่เคยเป็นนิยามที่เรารู้สึกสบายใจที่จะใช้เรียกตัวเอง

พอโตขึ้นมาหน่อยก็มีโอกาสได้รู้จักคำว่าเควียร์ ไบเซ็กชวล หรือแพนเซ็กชวล ซึ่งตรงกับเพศวิถีของตัวเองกว่ามาก แต่เพราะคำกลุ่มนี้มีความหมายเชื่อมโยงกับความเป็น ‘หญิงรักหญิง’ น้อยกว่าคำว่าเลสเบี้ยน เพราะฉะนั้น เมื่อแน่ใจแล้วว่าจะเรียกตัวเองว่าอะไร เราจึงรู้สึกถึงช่องว่างแคบๆ ช่องหนึ่ง ซึ่งเบียดแทรกอยู่ระหว่างอัตลักษณ์ของเรากับคอมมูฯ หญิงรักหญิง

ความรู้สึกจากการถูกปฏิบัติอย่าง ‘คนนอก’ หรือแม้กระทั่งความไม่เชื่อใจ เพราะกลัวจะเป็น ‘เลสเบี้ยนปลอม’ รักสนุก ที่สุดท้ายก็จะต้องกลับไปรักกับผู้ชายในสักวันหนึ่ง ทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดสาหัสสากรรจ์อะไรมากมาย แต่ก็เป็นความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ชาวเควียร์ส่วนใหญ่ต้องเผชิญไปตลอดชีวิต

สำหรับเรา ด้วยเหตุผลหลายประการ คำว่า ‘แซฟฟิก’ (Sapphic) ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในการรับรู้ของคนไทยได้ไม่นาน สามารถแก้ไข Pain Point ความไม่สบายใจที่จะถูกเรียกว่าเลสเบี้ยน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบใจในความรู้สึกวูบโหวงเพราะการมีอยู่ของช่องว่างระหว่างตัวเราและคอมมูฯ หญิงรักหญิงได้ (อาจแค่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ถือว่าแก้ได้) 

แต่ประเด็นสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือแซฟฟิกไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่เป็นที่รู้จักมากขนาดนั้น

‘Sapphic’ คืออะไร? มาจากไหน?

เราเริ่มทำความรู้จักคำว่าแซฟฟิกอย่างจริงจังครั้งแรกตอนยังเป็นนักศึกษา แม้ก่อนหน้านั้นจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างและพอรู้ว่ามีความหมายคล้ายเลสเบี้ยน แต่หลังจากสังเกตเห็นว่าหลายคนนิยามตัวเองว่า ‘ไม่ใช่เลสเบี้ยน แต่เป็นแซฟฟิก’ ก็เกิดความสงสัยถึงข้อแตกต่างระหว่างสองคำนี้ขึ้นมา

ภาพเขียน ‘Sappho and Erinna in a Garden at Mytilene’ (1864) โดย Simeon Solomon

ทั้ง ‘เลสเบี้ยน’ และ ‘แซฟฟิก’ ต่างมีที่มาจากบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์คนเดียวกัน นั่นคือกวีหญิงกรีกโบราณเลื่องชื่อ นามว่า ‘แซฟโฟแห่งเกาะเลสบอส’ (Sappho of Lesbos) เจ้าของผลงานกลอนเพลงที่สำรวจตัวตนและอารมณ์ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน โดยมีผู้บอกเล่าเป็น ‘ข้า’ ซึ่งแตกต่างจากงานของกวีเอกคนอื่นๆ เช่น โฮเมอร์ (Homer) ที่มักบอกเล่าเรื่องราวด้วย ‘น้ำเสียงแห่งสวรรค์’ ทำให้บทกลอนของแซฟโฟให้ความรู้สึกที่ส่วนตัวและใกล้ชิดมากกว่า

อัตลักษณ์ทางเพศของแซฟโฟยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมีข้อมูลบันทึกไว้ว่าในชีวิตจริง เธอฆ่าตัวตายเพราะความรักที่มีต่อชายคนหนึ่ง ทำให้มีการคาดเดาต่างๆ นานาว่า เธออาจเป็นได้ทั้งเลสเบี้ยนที่ถูกสังคมกดทับ เป็นหญิงไบเซ็กชวลที่ชอบได้หลายเพศ หรือกระทั่งว่าเป็นหญิงสเตรทที่เพียงหยิบยกเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง มาเขียนในกวีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ทั้ง ‘เลสเบี้ยน’ จากชื่อเกาะเลสบอส และ ‘แซฟฟิก’ จากชื่อของแซฟโฟ กลายมาเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์หญิง-หญิง โดยในช่วงแรกทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกันและใช้แทนกันได้ เนื่องจากคอนเซปต์ของการรักได้หลายเพศอย่างไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล หรือเควียร์ ยังไม่ใช่แนวคิดที่ผู้คนคุ้นเคย

ทว่าเมื่อเข้าศตวรรษที่ 21 ความหมายของแซฟฟิกก็เริ่มขยับขยายจากเดิม กลายมาเป็น ‘Umbrella Term’ -ชื่อเรียกที่ให้ความหมายครอบคลุมเป็นวงกว้างขึ้น เหมือนกับร่มคันใหญ่ ที่สามารถครอบรวมคนหลากอัตลักษณ์ ทั้งเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล หรือเควียร์เอาไว้ ภายใต้จุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกดึงดูดกับผู้หญิง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงอย่างเดียว) สามารถใช้แทนกันกับคำว่า ‘หญิงรักหญิง’ (Woman-Loving Woman: WLW) ได้

ส่วนเลสเบี้ยนก็เริ่มมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงขึ้น คือหมายถึงผู้หญิงที่รักชอบแค่ผู้หญิงเท่านั้น โดยไม่ดึงดูดกับเพศอื่นๆ เลย หากจะอธิบายให้เห็นภาพชัดที่สุด คือเลสเบี้ยนถือเป็นเซตย่อย (Subset) ของเซตที่ใหญ่กว่าคือแซฟฟิก ในขณะที่แซฟฟิกเป็นเซตที่ไม่ได้มีสมาชิก หรือเซตย่อยภายในเซตเพียงเลสเบี้ยนเท่านั้น แต่ยังมีไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล เควียร์ ฯลฯ เป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน

แผนภาพอัตลักษณ์ต่างๆ ภายใต้ร่มแซฟฟิก (ที่มา: @gaydro)

กล่าวคือ ‘เลสเบี้ยน = แซฟฟิก’ แต่ ‘แซฟฟิก ≠ เลสเบี้ยนเสมอไป’ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผู้ที่มีเพศวิถีแบบอื่นด้วยนั่นเอง

ชื่อเรียกอัตลักษณ์นั้นสำคัญไฉน?

หากใครยังพอจำได้ ในขบวนนฤมิตไพรด์ที่จัดขึ้นเมื่อปีก่อน มีคู่รักหญิง-หญิงคู่หนึ่งสวมชุดเจ้าสาวมาร่วมเดินขบวน ทำให้พวกเธอตกเป็นจุดสนใจของผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก หลายคนเก็บภาพของพวกเธอมาชื่นชมในความน่ารัก โดยบอกเล่าต่อๆ กันในโซเชียลฯ ว่าพวกเธอเป็นคู่เลสเบี้ยนที่มีความสุขมากเพียงใด

แต่เนื่องจากมีฝ่ายหนึ่งในความสัมพันธ์นี้ เรียกตัวเองว่าไบเซ็กชวล ไม่ใช่เลสเบี้ยน จึงมีคนรู้จักของพวกเธอออกมาทวีตข้อความเสนอให้เรียกพวกเธอว่า ‘คู่รักแซฟฟิก’ แทนคำว่า ‘คู่รักเลสเบี้ยน’ ที่ไม่ได้สอดคล้องอัตลักษณ์จริงๆ ของทุกฝ่ายจะดีกว่า

เคยรู้สึกไหมว่ากำลังทำให้เรื่องเพศ​เป็นเรื่องยาก เรียกอันนั้นไม่ได้ เรียกอันนี้ไม่ได้ มีศัพท์​ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แค่คนสองคนรักกัน ทำไมต้องใส่ใจกับชื่อเรียกขนาดนั้นด้วย

ในตอนนั้น แซฟฟิกยังเป็นคำใหม่มากสำหรับสังคมไทย เสียงตอบรับที่ผู้คนมีต่อข้อเสนอดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ และความเหนื่อยหน่ายที่ต้องจำชื่อเรียกเพิ่ม จากที่มีอยู่แล้วตั้งมากมาย ส่วนคนในคอมมูฯ ก็ตอบรับความไม่เข้าใจนั้นด้วยความโกรธกรุ่น ความขัดแย้งนี้ได้รับความสนใจมากจนแม้แต่เติร์ด เทพลีลายังโควตทวีตดังกล่าว เพื่อถามความเห็นของผู้ที่ติดตามเขาว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง

(ที่มา: @Teddix)

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศเกิดใหม่ และถูกบัญญัติเพิ่มแทบจะตลอดเวลา สังเกตได้จากชื่อย่อ LGBTQIAN+ ที่ยาวขึ้นทุกๆ ไม่กี่ปี จากเดิมที่มี LGBT แค่ 4 ตัวอักษร

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคอมมูฯ แซฟฟิกในตอนนั้น จึงเป็นปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยังคงเกิดขึ้นอยู่ และแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะกับนิยามต่างๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นคนข้ามเพศ (Transgender) เอเซ็กชวล (Asexual) นอนไบนารี (Nonbinary) อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) รวมถึงอัตลักษณ์อื่นๆ ที่ยังถูกเบียดขับให้หลุดออกจากสปอตไลต์ในคอมมูฯ หลากหลายทางเพศ

หากถามความเห็นของเรา เราคิดว่าปัญหานี้เกิดจากคนนอกและคนในคอมมูฯ บางส่วน มองนิยามต่างๆ เหล่านี้เป็นระบบซับซ้อนตายตัวที่ต้องมานั่งเรียนรู้ด้วยการท่องจำเหมือนตารางอักษรสูงกลางต่ำ หรือตารางเทนส์ (Tense) ทั้ง 12

ในความเป็นจริง อัตลักษณ์ทางเพศก็เหมือนชื่อ แน่นอน คงไม่มีใครรู้จักชื่อของทุกคนบนโลก มีคนมากมายที่เราไม่รู้จักชื่อ หรือรู้จักแต่ไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไร บางครั้งก็รู้แล้วว่าเขียนอย่างไร แต่เพราะสะกดยากจึงยังเขียนผิด หรือบางทีเราก็เผลอสลับชื่อคนสองคนที่รูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กันโดยไม่ได้ตั้งใจ

แม้จะหลงลืมบ้างในช่วงแรกก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะใครๆ ก็ผิดพลาดได้ แต่หากเจ้าของชื่อต้องมาคอยแก้แล้วแก้อีกว่า ชื่อของฉันไม่ใช่ชื่อนี้ ไม่ได้สะกดแบบนี้ แต่เราก็ยังคงไม่ใส่ใจจะจดจำ หรือเรียกให้ถูกต้องเลย นี่ต่างหากคือการไม่เคารพ และไม่ให้เกียรติตัวตนของผู้อื่น

หากคิดเช่นนี้ หลักการของการเรียกชื่ออัตลักษณ์ทางเพศของผู้อื่นก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เราปฏิบัติต่อนิยามเหล่านี้ให้เหมือนกับชื่อคนไปเสียก็สิ้นเรื่อง 

เมื่อไม่รู้ ก็จงถาม หากรู้แล้วเผลอลืม ก็ถามใหม่ หากถามแล้วฟังไม่เข้าใจ ก็ขอให้เขาช่วยอธิบาย

อย่างคำว่าแซฟฟิก หากว่ามันฟังดูฝรั่งจนเกินไป พูดไม่เข้าปาก สื่อสารก็ไม่เข้าใจ จะเปลี่ยนไปเรียกด้วยคำที่เข้าใจได้ในทันที อีกทั้งยังคงความหมายเดิมไว้ได้อย่างคำว่า ‘หญิงรักหญิง’ ก็ย่อมได้

หรือถ้าหากไม่เคยรู้ถึงข้อแตกต่างมาก่อน ทำให้เผลอเรียกไปว่าเลสเบี้ยน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะลบตัวตนของใคร ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ขอเพียงแค่มีใจที่เปิดกว้างพร้อมรับฟังเมื่อเจ้าตัวขอให้เรียกด้วยชื่อที่แท้จริง และไม่รังเกียจที่จะเรียนรู้ว่าทำไมเขาจึงเรียกตัวเองเช่นนั้นก็เพียงพอ

อ้างอิง

Chandra. (2021). “Why ‘Sapphic’ Is Back In Style” Autostraddle. https://www.autostraddle.com/why-sapphic-is-back-in-style-definition-meaning-trend/

duBois, P. (1995). Sappho Is Burning. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 0-226-16755-0.

Hamou, Y. (2022). “What Does It Mean to Be Sapphic?” them. https://www.them.us/story/what-does-sapphic-mean

Online Etymology Dictionary. “Sapphic (adj)”. https://www.etymonline.com/word/Sapphic#etymonline_v_22727

https://twitter.com/mayamashami/status/1533992498988650496?s=46&t=1RlErhzHiYf20XImH-HLhw

https://twitter.com/Teddix/status/1534530059934892033?t=My1P9hBvNglS2zXhofMeKg&s=19

Tags: , , , , , ,