ในช่วงสายของวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 แองกัส คลาวด์ (Angus Cloud) นักแสดงหนุ่มดาวรุ่งชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักจากบทบาท ‘เฟซโก’ (Fezco) ใน Euphoria (2019) ซีรีส์ค่ายเอชบีโอ (HBO) เรื่องดัง เสียชีวิตลงในวัยเพียง 25 ปี จากการใช้ยาเกินขนาด
เป็นธรรมดาที่ผู้คนจะคาดเดากันไปต่างๆ นานา ถึงความเป็นไปได้ว่าชีวิตที่ดับสูญไปอย่างน่าเสียดายของแองกัส อาจเกิดจากการฆ่าตัวตาย คงเพราะอดไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงการจากไปของเขากับดารานักแสดงคนอื่นๆ ที่เลือกจบชีวิตตัวเองลง ด้วยแรงขับเคลื่อนของโรคซึมเศร้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ลิซ่า คลาวด์ (Lisa Cloud) แม่ของแองกัส ไม่อาจทนนิ่งดูดายปล่อยให้ลูกชายของเธอถูกเข้าใจผิดต่อไปได้
“แม้ลูกชายของฉันจะยังโศกเศร้าที่พ่อของเขาจากไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่วันสุดท้ายของเขาเป็นหนึ่งวันที่เปี่ยมไปด้วยความสุข เขากำลังจัดห้องใหม่ ย้ายของไปตรงนั้นตรงนี้ด้วยความตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ที่เขารัก เขาวางแผนจะช่วยจ่ายค่าเทอมให้น้องๆ และวางแผนจะเป็นที่พึ่งให้กับฉันทั้งในด้านจิตใจและด้านการเงิน เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะจบชีวิตของตัวเองเลย
“แองกัสไม่เคยปิดบังเรื่องที่เขากำลังต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต เราจึงหวังว่าการจากไปของเขาจะสามารถเป็นเครื่องเตือนใจให้กับคนอื่นๆ ว่าพวกเขาไม่ได้ตัวคนเดียวและไม่ควรที่จะต่อสู้กับมันเงียบๆ คนเดียว”
นั่นคือถ้อยแถลงจากครอบครัวของแองกัส ซึ่งกลายเป็นเหมือนเงาสะท้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมและข้อมูลทางสถิติประการหนึ่ง ที่ผูกโยงเพศภาวะ สุขภาพจิต และการฆ่าตัวตายเอาไว้ด้วยกัน
ปัจจุบัน ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง 3-4 เท่า แม้ว่าผู้หญิงจะมีแนวโน้มว่าจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชายถึงเท่าตัวก็ตาม
ความขัดแย้งในตัวเองของข้อมูลชุดนี้ เกิดจากการที่ผู้หญิงมักปิดบังอาการซึมเศร้าของตนเองน้อยกว่า และเปิดใจเข้ารับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีอัตราการรอดชีวิตและหายจากภาวะซึมเศร้ามากกว่า
ต้นตอของปัญหานี้หยั่งรากลึกอยู่ท่ามกลางภาระหน้าที่และบทบาทของเพศชายภายใต้ค่านิยมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายถูกสังคมคาดหวังให้มีความเป็นผู้นำ เด็ดขาด มีความมั่นคงทางการเงิน และมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง การขอความช่วยเหลือจึงถือเป็นของแสลงสำหรับผู้ชาย
นาตาชา บิจลานี (Natasha Bijlani) แพทย์ชำนาญการแห่งแผนกจิตเวช โรงพยาบาลไพรเออรีโรแฮมตัน (Priory Hospital Roehamton) สหราชอาณาจักร พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตของผู้ชายกับแนวคิดความเป็นชายที่ล้าสมัยว่า
“ที่ผ่านมา ผู้ชายมีแนวโน้มจะไม่เข้ารับความช่วยเหลือด้านปัญหาสุขภาพจิตมาโดยตลอดด้วยหลายเหตุผล รวมไปถึงความกลัวที่จะถูกตีตราและภาพจำ ‘ผู้ชายเข้มแข็ง’ ที่ยังคงมีอิทธิพลในสังคมปัจจุบัน การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกจึงกลายเป็นสัญญาณแห่งความอ่อนแอ”
ในขณะที่ผู้หญิงเผชิญกับความคาดหวังในด้านเดียวกันน้อยกว่ามาก จึงไม่รังเกียจที่จะพึ่งพาอาศัยกัน ขอคำปรึกษาจากผู้อื่น หรือแสดงด้านที่เปราะบางของตนออกมามากกว่าผู้ชาย
จากผลการสำรวจของเครือข่ายโรงพยาบาลไพรเออรี มีผู้ชายมากถึง 40% ที่ไม่เคยบอกใครเรื่องปัญหาสุขภาพจิตที่ตัวเองกำลังเผชิญเลย แม้ว่าอาการของพวกเขาจะเข้าข่ายภาวะเครียด โรควิตกกังวล หรือแม้แต่โรคซึมเศร้า โดยระบุเหตุผลว่า
– ‘ฉันเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันด้วยตัวเอง’ (40%)
– ‘ฉันไม่อยากเป็นภาระของใคร’ (36%)
– ‘ฉันอับอายเกินกว่าจะบอกใคร’ (29%)
– ‘คนส่วนใหญ่มีอคติต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิต’ (20%)
สำหรับพวกเขาเหล่านี้ ต่อให้จะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างหนักหน่วง แต่หากยังไม่ถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ก็จะยังคงมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ หรือแม้แต่ปรึกษาผู้อื่นเรื่องสภาพจิตใจของตน
หากตอนนี้คุณกำลังกังวลเกี่ยวกับใครสักคน ว่าเขาอาจจะต้องทนทุกข์และต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองเพียงลำพัง จนถึงขั้นอยากตัดสินใจจบชีวิต ให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขา หรือลองมองหาสัญญาณเหล่านี้
1. ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่กะทันหันจนผิดสังเกต แม้แต่ท่าทีที่ดู ‘ใจเย็น’ ผิดปกติ ก็ถือเป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ และในบางครั้งมันหมายความว่าเขาได้ ‘ตัดสินใจ’ ที่จะทำบางสิ่งบางอย่างอย่างแน่วแน่แล้ว
2. คำพูดหรือท่าทางที่ดูสิ้นหวังเกี่ยวกับชีวิตหรืออนาคต
3. พูดคุย เขียนข้อความ ค้นคว้าข้อมูล หรือแสดงความสนใจเกี่ยวกับความตายและการฆ่าตัวตายโดยไม่มีที่มาที่ไป
4. คำพูดที่ฟังดูเหมือนคำบอกลาหรือคำสั่งเสีย
5. ดูพยายามเก็บตัวโดดเดี่ยว ตีตัวออกห่างจากครอบครัว เพื่อนฝูง และคนใกล้ชิด
6. ซื้อสินค้าที่สามารถใช้ฆ่าตัวตายได้โดยไม่มีเหตุผลรองรับที่น่าเชื่อถือ หรือมีการเก็บสะสมตัวยาบางอย่างที่แพทย์จ่ายให้เอาไว้เป็นจำนวนมาก
7. แสดงอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับบางอย่างอย่างรุนแรง
8. หันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
แน่นอนว่าการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผู้อื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแต่ละบุคคลย่อมมีปัจจัยหลายอย่างที่นำมาซึ่งพฤติกรรมที่ดูเข้าข่ายโดยไม่ได้มีปัญหาสุขภาพจิตเลยก็ได้
ทว่าการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตนเองนั้นอาจยากยิ่งกว่า พอล แม็คลาเรน (Paul McLaren) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ จึงแนะนำให้ผู้ชายหรือใครก็ตามที่กำลังสงสัยว่าตนอาจกำลังทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า หมั่นถามและตอบคำถามง่ายๆ 4 ข้อ เพื่อเช็กสภาพจิตใจของตัวเองในระดับเบื้องต้น
1. คุณยังรู้สึกดีใจหรือตื่นเต้นเวลาเกิดเหตุการณ์ที่น่ายินดี อย่างการได้ใช้เวลาดีๆ กับเพื่อน/ครอบครัว การมีความรัก หรือความสำเร็จในหน้าที่การงานอยู่ไหม?
2. แพสชันส่วนตัวหรืองานอดิเรกที่รัก เช่น การทำงานศิลปะ การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ ยังทำให้คุณมีความสุขได้อยู่หรือไม่? หากไม่ มีสาเหตุใดที่อาจทำให้คุณรู้สึกหมดกำลังใจที่จะทำสิ่งเหล่านี้ไหม?
3. คุณรู้สึกว่าตนเองไม่มีสมาธิในการทำงาน ดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ จนผิดสังเกตบ้างหรือไม่?
4. พักนี้ คุณรู้สึกห่างเหินหรือรู้สึกว่าตามเหตุการณ์ต่างๆ ในแวดวงสังคมของตัวเองไม่ทันหรือไม่? หากใช่ คุณคิดว่าตัวเองกำลังเผลอหลีกเลี่ยงหรือตีตัวออกห่างจากทุกคนโดยไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า?
อ้างอิง
https://variety.com/2023/tv/news/angus-cloud-mother-remembers-son-last-day-1235688708/
https://people.com/all-about-angus-cloud-parents-siblings-7568303
https://www.priorygroup.com/blog/why-are-suicides-so-high-amongst-men
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9675500/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5388903/
https://www.mdpi.com/1660-4601/9/3/760
https://www.sallyspencerthomas.com/hope-illuminated-podcast/73
Tags: Gender, บทบาททางเพศ, ความเป็นชาย, แองกัส คลาวด์, โรคซึมเศร้า, สุขภาพจิต, depression, ฆ่าตัวตาย, suicide, Gender Role, Mental Health, Euphoria