สำหรับคนตรงเพศ การใช้ห้องน้ำสาธารณะเป็นเรื่องเรียบง่ายและตรงตัว ผู้ชายตรงเพศเข้าห้องน้ำผู้ชาย ผู้หญิงตรงเพศเข้าห้องน้ำผู้หญิง อาจมีบางครั้งที่เร่งรีบจนเผลอเข้าผิดห้องบ้าง ก็แค่ทนอายไม่กี่วินาทีแล้วเดินออกมา สุดท้ายคนเหล่านี้รู้ดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นที่ของตัวเอง

แต่สำหรับคนที่มีเพศสภาพต่างจากเพศกำเนิด เช่น หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ หรือนอนไบนารี ชีวิตพวกเขาลำบากกว่านั้น เข้าห้องน้ำที่ตรงกับเพศกำเนิดก็รู้สึกแปลกแยก เข้าห้องน้ำอีกเพศหนึ่งก็ถูกกีดกัน มองแรง ก่นด่า ราวกับไม่มีที่ไหนเป็นที่ของพวกเขาเลยสักแห่ง

ในขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมใกล้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยถูกชาวโลกยกยอซ้ำๆ ว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ ที่สุดประเทศหนึ่ง เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า

แล้วเมื่อไรกัน คนตัว T ในประเทศไทยจะมีสิทธิใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างสบายใจกว่านี้

เมื่อไรประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์ของ LGBTQIA+ จะโอบรับความหลากหลายได้จริงๆ ไม่ว่าจะในงานแต่งหรือในห้องน้ำก็ตาม

ที่ทางของคนข้ามเพศ

แบบสำรวจปี 2015 จากสหรัฐอเมริกาเผยว่า คนข้ามเพศสัญชาติอเมริกันเกือบ 60% เคยหลีกเลี่ยงการใช้ห้องน้ำสาธารณะเนื่องจากกลัวการปะทะ 32% เคยถึงขั้นจำกัดสิ่งที่กินหรือดื่มเพื่อให้ไม่ถ่ายระหว่างวัน และ 12% เคยถูกคุกคามทางวาจาในห้องน้ำสาธารณะ 

ถึงแม้ไทยจะยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติชัดเจน แต่คนข้ามเพศในประเทศเราก็เผชิญปัญหาจากการเข้าห้องน้ำมาตลอดเหมือนกัน ยกตัวอย่าง เมื่อกลางปี 2024 แซมมี่ หญิงข้ามเพศวัย 27 ปีถูกตำรวจมาขอตรวจเอกสารและถามถึงเพศกำเนิดต่อหน้าคนมากมาย เพียงเพราะแวะใช้ห้องน้ำผู้หญิงในปั๊ม 

ตำรวจอธิบายว่า แซมมี่เข้าห้องน้ำนาน ทำให้โดนสงสัยว่าเป็นผู้ชายปลอมตัวมาทำมิดีมิร้ายผู้หญิง แต่ความจริงเธอแค่ถ่ายหนักเฉยๆ และหากเป็นผู้หญิงตรงเพศก็คงไม่โดนกล่าวหาโดยไร้หลักฐานแบบนี้ ในทางตรงกันข้าม สมมติแซมมี่เลือกเข้าห้องน้ำชายแทน ทั้งที่ไว้ผมยาว ใส่ชุดเดรส แต่งหน้า ผู้ชายก็คงไม่ต้อนรับเธอเช่นกัน

“แล้วเราจะไปเข้าที่ไหน” แซมมี่ตั้งคำถาม “เราจะไปเข้าห้องน้ำผู้ชาย ผู้ชายก็กังวลว่าสาวแบบเราจะไปแอบดูเขาหรือเปล่า ไปเข้าห้องน้ำผู้หญิงก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันทำให้เห็นว่า เราดูเหมือนจะเป็นเพศหลังๆ ที่โดนนึกถึงเลยนะ”

ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัย

อาจเพราะห้องน้ำเป็นสถานที่สำหรับการทำธุระส่วนตัว หลายคนจึงหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์หรือเอ็กซ์ (X) รายหนึ่งออกมาส่งเสียงว่าอึดอัดใจที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับหญิงข้ามเพศ

“กะเทยยังกลัวผู้ชาย แล้วทำไมผู้หญิงถึงกลัวกะเทยไม่ได้ แค่ไม่อยากเข้าห้องน้ำร่วมกับกะเทยเหมือนที่กะเทยไม่อยากเข้าห้องน้ำชาย”

ข้างต้นคือหนึ่งในทวีตที่มียอดรีทวีตหลักหมื่น ยอดเข้าชมหลักล้าน และมีโควตเห็นด้วยอีกจำนวนมาก ตอกย้ำว่า ถึงแม้ปัจจุบันหญิงข้ามเพศจะเริ่มได้รับโอกาสมากขึ้นแล้วในหลายแวดวง ลึกๆ สังคมไทยก็ยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยกับพวกเธอ จนไม่สามารถแบ่งปันพื้นที่ได้ โดยหลายคนให้เหตุผลว่า กลัวหญิงข้ามเพศเหล่านี้จะเป็นผู้ชายปลอมตัวมา

อย่างไรก็ตามวิจัยปี 2018 จาก UCLA พบว่า แท้จริงแล้วนโยบายสนับสนุนคนข้ามเพศ ‘ไม่ได้ส่งผล’ และ ‘ไม่มีความเชื่อมโยง’ กับความปลอดภัยในห้องน้ำ นอกจากนี้ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในห้องน้ำคือ การทำลายทรัพย์สินทางรัฐและแอบเล่นยา ไม่ใช่การที่ผู้ชายปลอมตัวเป็นหญิงมาทำอนาจารอย่างที่เข้าใจกัน

ห้องน้ำคนข้ามเพศ VS. ห้องน้ำรวมทุกเพศ

จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายคนเสนอให้ทำห้องน้ำสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกที่วินวินทุกฝ่าย ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงโต้แย้งว่า แนวทางนี้รังแต่จะทำให้คนข้ามเพศรู้สึกโดนแบ่งแยกเข้าไปใหญ่ ทั้งที่ความจริงพวกเขาแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนคนอื่นๆ

 อีกแนวทางที่เริ่มได้รับความสนใจในฝั่งตะวันตกคือ การทำห้องน้ำรวมทุกเพศ (All-Gender Restroom) ไม่ต้องแบ่งหญิงชายอีกต่อไป ซึ่งฟังเผินๆ อาจดูน่ากลัว ไม่ปลอดภัย ผู้หญิงน้อยคนนักจะสะดวกใจใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ชาย แต่สถาปนิกหลายคนก็มีไอเดียบรรเจิดในการพัฒนาห้องน้ำประเภทนี้

สถาปนิกจากทั้งองค์กร Stalled! และบริษัท Mahlum เสนอคล้ายๆ กันคือ ต้องทำห้องน้ำให้เป็น ‘พื้นที่เปิด’ มากขึ้น แน่นอนว่าพื้นที่ทำธุระส่วนตัวจริงๆ จะปิดมิดชิดเหมือนเดิม แต่พื้นที่ส่วนกลางของห้องน้ำ เช่น บริเวณนั่งรอหรืออ่างล้างมือ ควรโล่งโปร่ง มองเห็นได้จากภายนอก ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาจะได้ช่วยกันสอดแนมอันตราย หากมีคนจำนวนมากจับตาดูตลอดเวลา แนวโน้มในการเกิดอันตรายย่อมลดลง

ผังห้องน้ำรวมทุกเพศที่ออกแบบโดย Stalled! และ Mahlum

สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงห้องน้ำสาธารณะก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในสังคม คือต้องใช้เวลา บางทีห้องน้ำรวมทุกเพศอาจเป็นทางออกหรืออาจไม่ใช่ ทุกฝ่ายยังต้องถกเถียงระดมสมองกันต่อไป กว่าจะได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามในการถกเถียงทั้งหมดทั้งมวล อยากให้พึงระลึกไว้ว่า สิทธิในการใช้ห้องน้ำสาธารณะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และผู้ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่ควรได้สิทธิดังกล่าว

ไม่มีใครอยากฝืนระบบขับถ่ายทั้งวันจนมีปัญหาไต ไม่มีใครอยากถูกขับไล่เพียงเพราะจะทำธุระส่วนตัว

การสนับสนุน LGBTQIA+ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การอ่านนิยายวายหรือชื่นชมผู้หญิงตรงเพศว่ามี ‘จริตกะเทย’ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องในชีวิตประจำวันเหล่านี้ด้วย

อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-usa-lgbt-survey-idUSKBN13X0BK/ 

https://www.thaich8.com/news_detail/135387 

https://link.springer.com/article/10.1007/s13178-018-0335-z  

https://www.stalled.online/design 

https://metropolismag.com/viewpoints/why-architects-must-rethink-restroom-design-in-schools/

Tags: , ,