7 คน คือจำนวนเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยพระสงฆ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 และทั้ง 7 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายในกุฏิ หรือตามมุมต่างๆ ของศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธเรียกขานว่า ‘วัด’
วัดสร้างขึ้นเป็นสถานประกอบศาสนกิจ ทั้งยังเป็นสถานพำนักของคณะสงฆ์
การประกอบศาสนกิจของสงฆ์ นิยามไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า งานทางศาสนาที่ภิกษุสามเณรเป็นต้นปฏิบัติ เช่น การทำวัตร สวดมนต์ หรือเผยแพร่ศาสนาเป็นศาสนกิจของสงฆ์
จากนิยามของวัดและความหมายของการประกอบศาสนกิจ ไม่มีส่วนใดแปลความได้ว่า วัดสามารถถูกใช้เป็นที่ร่วมหลับนอนระหว่างพระสงฆ์กับสามเณร หรือสามารถมีการร่วมเพศภายในศาสนสถานได้
“พระรูปนี้ ลูบคลำของสงวนผมในกุฏิ มันเป็นที่นอนของเขา ตอนนั้นผมกลัวมาก พยายามออกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ หรือเล่นเกมกับเพื่อนเพื่อไม่ให้เขาลวนลาม”
ต้น (นามสมมติ) บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ณ กุฏิพระวัดป่าแห่งหนึ่ง จังหวัดลำปาง หลังถูกล่อลวงให้ร่วมหลับนอนกับพระสงฆ์เป็นเวลา 7 วัน อ้างว่าเพื่อสะเดาะเคราะห์ ในช่วงค่ำพระสงฆ์รูปดังกล่าวพยายามลูบคลำเป้าของเด็กชายโดยไม่ได้รับความยินยอม พฤติกรรมนี้นิยามเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment)
เหตุใดการบำเรอราคะจึงเกิดขึ้นใน ‘วัด’ ศูนย์รวมศรัทธาศาสนาพุทธ อะไรคือช่องโหว่ที่นำมาสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ความศรัทธา อำนาจ ที่ติดมากับผ้าเหลืองมีผลอย่างไรกับเด็กผู้เป็นเหยื่อ The Momentum เชิญทุกท่านเปิดมุมมองไปด้วยกัน
กำหนัด
กำหนัด เป็นความปรารถนาในกาม มนุษย์ย่อมมีความกำหนัดโดยธรรมชาติ แต่ตามหลักศาสนาพุทธ ที่บัญญัติให้พระสงฆ์ต้องละทางโลกเพื่อจิตใจอันบริสุทธิ์ ความกำหนัดจึงถือเป็นเรื่องต้องห้ามในหมู่นักบวช และต้องหาวิธีละขาดจากกามราคะ
ตั้งต้นจากอารมณ์ทางเพศ จวบจนสำเร็จความใคร่ มีระบุโทษไว้ใน อาบัติสังฆาทิเสส 13 อันหมายถึง ครุกาบัติ (โทษหนัก) ทางสงฆ์ ข้อที่ 1 ระบุว่า ห้ามปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน (เปียก) หมายความว่า พระสงฆ์ต้อง ‘ห้าม’ กระทำสิ่งใดอันทำให้น้ำอสุจิไหลจากอวัยวะเพศ เว้นแต่ฝันเปียก แม้จะถูกระบุให้เป็นโทษหนัก แต่หากพลาดทำน้ำอสุจิเคลื่อนโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจยังสามารถแก้อาบัติสังฆาทิเสสนี้โดยปฏิบัติตามระเบียบพระวินัยเคร่งครัด เพื่อชำระความมัวหมอง หรือเรียกว่า อยู่กรรม
ความกำหนัดหรืออารมณ์ทางเพศเป็นปกติของมนุษย์ในทางวิทยาศาสตร์ ทว่าการ ‘ห้าม’ มิให้พระสงฆ์ดำเนินการใดๆ ให้อสุจิเคลื่อน ปรากฏชัดในพระธรรมวินัย
“เป็นพระมีอารมณ์ทางเพศบาปไหม” เป็นหนึ่งในกระทู้สอบถามความเห็นบนเว็บไซต์ซึ่งมีผู้ตอบกลับมากมาย
“ลด ละ เลิก ได้ทันก็จะไม่บาป”
“ถ้าเกิดอารมณ์ทางเพศรู้ทัน ดับไป ไม่บาป”
“ก็ขออนุโมทนากับพระใหม่ทุกท่านที่มีศรัทธาบวช เพื่อสืบสานพระศาสนา เมื่อบวชแล้วก็ขอให้ปฏิบัติตนให้ดี มีอารมณ์ได้ แต่อย่าขาดความชั่งใจ ไปละเมิดทั้งในที่แจ้งและที่ลับ เพราะมันเป็นโทษกับตนเองไม่มากก็น้อย”
ไร้หลักปฏิบัติและวิธีการที่ชัดเจน มีเพียงความวุ่นวายจากความคิดเห็นเบียดเสียดกันในกระทู้ บทสรุปสุดท้ายคือ พระสงฆ์ต้องระงับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อเลี่ยง ‘บาป’ ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งปล่อยวาง นั่งสมาธิ หาสิ่งอื่นทำ ไม่แตกต่างจากข้อสอบวิชาสุขศึกษา ที่ถามว่า มีอารมณ์ทางเพศต้องปฏิบัติอย่างไร
ก) เตะฟุตบอล
ข) อ่านหนังสือ
ค) นั่งสมาธิ
ง) ถูกทุกข้อ
เมื่อหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามิได้บัญญัติวิธีปฏิบัติ เพื่อชำระความกำหนัดอย่างชัดเจน ความต้องการทางเพศจึงลงเอยด้วยปัญหาที่ใหญ่กว่าการสำเร็จความใคร่ธรรมดา เมื่อเหล่าพระสงฆ์และกลุ่มนักบวชพากันเสาะหาตัวช่วยใหม่ จากทรัพยากรมนุษย์ที่ยังอ่อนต่อโลกนั่นคือ ‘เด็กวัด’
“ก็นวดๆ ไป แล้วเขาให้เปลี่ยนไปนวดในห้อง ให้นวดที่อวัยวะเพศครับ”
สามเณรรูปหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยรัฐ หลังถูกพระอาวุโสวัดหนึ่ง ในอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ล่วงละเมิดทางเพศโดยการสั่งให้ปฏิบัติตาม ทว่าสามเณรรูปนี้มิใช่รายแรกที่ถูกพระอาวุโสเรียกเข้ากุฏิบำเรอตนเอง ยังมีเด็กอีกรายที่ถูกพระสงฆ์ล่อลวงให้สำเร็จความใคร่ แลกเงิน 30 บาท โดยสงฆ์รูปดังกล่าวอ้างว่า ปวดด้วยอาการไส้เลื่อน
‘ไส้เลื่อน’ เป็นข้ออ้างของพระสงฆ์รูปดังกล่าว กล่อมเด็กน้อยผู้อ่อนต่อพฤติการณ์คุกคามทางเพศ ให้ทำตามคำสั่งจนสำเร็จความใคร่ ในขณะที่เด็กเข้าใจว่าสิ่งที่ไหลออกมาจากอวัยวะเพศของสงฆ์นั้นเป็นเพียงฉี่สีขาว
ไม่มีวิชาเรียนใด บรรจุวิชาป้องกันตัวจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศให้เด็กวัย 11 ขวบร่ำเรียนเป็นกิจจะลักษณะ ไม่แปลกที่เด็กจะเข้ากุฏิไปตามคำเชื้อเชิญของโรคจิตในคราบผู้ทรงศีลและเริ่มปฏิบัติตามคำบอกของพระรูปดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอน
ที่น่าสังเกต คือวิธีหลอกล่อของพระสงฆ์ด้วยการมอบสินทรัพย์ส่วนหนึ่งเป็นรางวัลชักจูงเด็กให้ทำในสิ่งที่ต้องการ ในกรณีนี้คือเงิน 30 บาท มอบไว้เพื่อให้เด็กเข้าใจว่า เมื่อทำสิ่งนี้สำเร็จจึงจะได้รางวัล การหว่านล้อมด้วยการสัญญาว่าจะให้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (Child Grooming) ทำให้เด็กเชื่ออย่างสุดใจว่า การนวดอวัยวะเพศให้พระสงฆ์นั้น เป็นแค่การปรนนิบัติผู้ใหญ่ตามปกติ ส่วนความต้องการจริงจากการ กอด จูบ ลูบ หอม จะถูกบิดเบือนโดยสงฆ์ว่าทำไปเพราะความเอ็นดู
อย่าไรก็ตาม ความ ‘กำหนัด’ ที่ไม่มีวิธีคลายในศาสนาพุทธ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหล่าพระสงฆ์ทั้งหนุ่มและชราไม่มีวิธีจัดการกับตนเองอย่างที่ควรจะเป็น จึงเป็นส่วนขับเน้นให้กระโจนเข้าหาเด็กที่ยังไร้เกราะป้องกันตัว ผ่านการเลี่ยงบาลีต่างๆ นานา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมของตน
“มานวดกันไส้เลื่อน”
“ดูดเจี๊ยว เพราะหมั่นไส้”
“เห็นเด็กน่าเอ็นดูเลยอุ้ม”
อาวุโส-คนดี
9
11
13
14
ตัวเลขข้างต้น คือ ‘อายุ’ ของเด็ก ผู้ถูกพระผู้ใหญ่เรียกเข้ากุฏิ และบังคับให้สนองความใคร่
แง่หนึ่งเด็กทำตามด้วยความไม่รู้ผิดถูก หรืออาจรู้แต่ไม่กล้าต่อต้านเพราะเกรงจะโดนทำร้าย ส่วนอีกแง่ คือการมองความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ตามขนบปฏิบัติแบบไทยที่กำชับให้เด็กต้องเคารพและเชื่อฟัง
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ มารยาทในสังคม การใช้คำพูดคำจา เชื่อฟังผู้ใหญ่” คือคำพูดของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มอบแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์) อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563
หากยึดตามขนบสังคมไทย ผู้ใหญ่ คือผู้มีวัยหรือยศถาที่ผู้ (อายุ) น้อยต้องเคารพ ให้เกียรติ กระทั่งเชื่อฟังและหรือปฏิบัติตามคำสั่ง สิ่งนี้อาจเรียกว่าเป็นอำนาจเหนือที่มาพร้อมความอาวุโส ร่วมด้วยมุมมองที่ยกย่องผู้ใหญ่เป็นผู้มากประสบการณ์ อาบน้ำร้อนมาก่อน ผู้เกิดทีหลังจึงต้องสงวนท่าทีและเชื่อฟัง มุมมองนี้ติดตามมาถึงในวัด ซึ่งกลุ่มพระพี่เลี้ยงมักได้รับมอบหมายให้ควบคุม ดูแลเหล่าสามเณรภาคฤดูร้อน หรือเด็กที่มาเรียนในระบบการศึกษาของสงฆ์ ในฐานะผู้อาวุโสกว่า
อย่างไรก็ดี การปลูกฝังให้เด็กเชื่อฟังให้ผู้ใหญ่อย่างไร้เงื่อนไข เป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ ให้เหล่าพระสงฆ์ฉวยโอกาสจากอำนาจที่มาพร้อมกับความอาวุโสบังคับให้เด็กปฏิบัติตาม ในมวลข่าวการล่วงละเมิดทางเพศสามเณรภายในวัด ตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน พบว่าผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ มีตั้งแต่พระสงฆ์ยศสูง เจ้าอาวาส กระทั่งพระพี่เลี้ยงที่อายุไล่เลี่ยกับสามเณรหรือเด็กที่มาอยู่วัด
การต้องเชื่อฟัง ทำตาม เป็นหลักปฏิบัติไม่กี่อย่างที่เด็กๆ หรือสามเณรเหล่านี้ทำได้ เมื่อไม่มีส่วนไหนในการศึกษาสอนให้ปฏิเสธหรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กวัย 9-14 ปี เหล่านี้จึงคล้อยตามคำบอกของพระพี่เลี้ยงและเจ้าอาวาสอย่างสุดใจ
นอกเหนือจากความเป็นผู้ใหญ่ การผูกโยงความดีเข้ากับศาสนาโดยมีพระสงฆ์เป็นตัวแทนความดี บริสุทธิ์ มีส่วนสร้างภาพตัวละครคุณธรรมในสายตาของเด็ก ผ่านการมองเห็นพฤติกรรมกราบไหว้ของพ่อแม่ที่ใส่บาตรอยู่หน้าบ้าน หรือการสอนให้ยกมือไหว้ทุกครั้งเมื่อพบสงฆ์ จะมีสิ่งใดที่เด็กจะนำมาใช้เพื่อปฏิเสธความต้องการของตัวละครเหล่านี้ ในเมื่อสังคมมองว่าเขาดีประหนึ่งไม่มีใครหลุด QC หรือมีประวัติมัวหมองสักคน
ซ้อน
หากใครสักคนโดนล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน สถานที่ราชการ ฯลฯ การแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ใช้หลักกฎหมายบ้านเมืองตัดสินโทษผู้ก่อเหตุ เป็นทางออกที่ผู้ถูกกระทำจะร้องเรียกความยุติธรรมให้ตนได้
แต่หากใครสักคน ถูกล่วงละเมิดทางเพศภายในพุทธศาสนสถาน และมีผู้ก่อเหตุเป็นพระสงฆ์ เส้นทางการได้มาซึ่งความยุติธรรมไม่ได้มีเพียงกฎหมาย แต่มีกระบวนการที่ซ้อนทับกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง
วิธีการที่ว่า คือการลงโทษภิกษุตามพระธรรมวินัยหรือการลงนิคหกรรม ในกรณีสามเณรหรือเด็กในอาณัติของวัดถูกพระสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ การร้องเรียนอาจเริ่มจากแจ้งพระผู้ใหญ่ หรือเจ้าอาวาสในวัดนั้นทราบ เพื่อให้คณะสงฆ์ตั้งคณะกรรมการสงฆ์สอบสวนข้อเท็จจริง จากผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยเป็นการตั้งคณะสงฆ์ที่มียศสูงกว่าพระสงฆ์ผู้ก่อเหตุขึ้นมาสอบสวน
เส้นทางสอบสวนโดยคณะสงฆ์ดำเนินไปอย่างลับๆ ไม่มีการบันทึกภาพ ไร้ผลสรุปการสอบสวน มีเพียงการ รู้กันเอง ในคณะสงฆ์ด้วยกัน หากพบว่าพระสงฆ์ผู้นั้นทำผิดพระธรรมวินัยจริง กระบวนการต่อไปคือ การเทียบโทษกับสิ่งที่ได้กระทำไป เช่น หากพระสงฆ์รูปดังกล่าวสำเร็จความใคร่จนน้ำอสุจิเคลื่อน โดยไม่ได้สอดใส่ทางทวารหนัก โทษที่ได้รับคือการถูกปรับอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งไม่จำเป็นต้องสึกออกจากความเป็นพระ
แต่หากถึงขั้นนำอวัยวะเพศสอดใส่ทางทวารแล้วนั้น โทษทางพระธรรมวินัยจะสูงกว่า คือถูกปรับปาราชิก ผู้ก่อเหตุต้องลาสมณเพศหรือสึกภายใน 24 ชั่วโมง
การทำน้ำอสุจิเคลื่อนในนิยามอาบัติสังฆาทิเสส พูดให้ง่ายคือพระสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง บ้างก็ตีความว่าการให้สามเณรช่วยสำเร็จความใคร่ด้วยมือหรือปาก ยังไม่ถึงขั้น ปาราชิก ที่ผู้กระทำความผิดต้องสอดใส่อวัยวะเพศของตนเข้าสู่ทวารหนักทวารเบาจนครบองค์
โทษอาบัติสังฆาทิเสส พระผู้ล่วงละเมิดทางเพศไม่จำเป็นต้องขาดจากความเป็นพระ เพียงชดเชยโทษผ่านการปฏิบัติตนให้อยู่ในร่องในรอยใต้ความเป็นนักบวชอย่างเคร่งครัด เพื่อหลุดพ้นจากอาบัติ
ที่สำคัญคือ แม้การตัดสินปาราชิกจะหนักถึงขั้นต้อง ลาสมณเพศ แต่ใช่ว่าจะปิดประตูแสวงบุญของพระผู้กระทำผิดทางเพศได้ เพราะท้ายที่สุดการอุปัชฌาย์ (บวช) ใหม่อีกครั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระอุปัชฌาย์ หาใช่การคัดกรองจากหน่วยประวัติอาชญากรรมแต่อย่างใด
กระบวนการ สอบกันเอง ของคณะสงฆ์ เกิดขึ้นเพื่อวินิจฉัยความผิดทางพระธรรมวินัยเป็นเหมือนธรรมเนียมอย่างไม่เป็นทางการ แต่คำถามคือ การตัดสินกันเองในที่ลับเป็นไปอย่างไม่เอนเอียงใช่หรือไม่ การล่วงละเมิดทางเพศเป็นกฎหมายอาญา เหตุใดจึงไม่ใช้ระบบเดียวในการตัดสินโทษ การสอบสวนในที่ลับมีเหตุผลจากข้อกังวลเรื่องข้อมูลผู้เสียหายที่ต้องปกปิด หรือเป็นเพียงการปิดประตูการรับรู้สถานการณ์ความไม่ปกติในวงการสงฆ์ สุดท้ายเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศของสงฆ์จะได้รับความยุติธรรมจริงหรือ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า กระบวนการซ้อนกฎหมายนี้ จะไม่ได้เป็นเพียงโต๊ะไกล่เกลี่ยหรือศาลเตี้ย ระหว่างเด็กและผู้กระทำความผิด เพื่อให้เรื่องนี้สูญหายไปอย่างเงียบๆ
คนเหมือนกัน แต่อำนาจไม่เท่ากัน
“เขาก็กลัวว่าพูดไปแล้ว ใครจะเชื่อว่าโดนพระรูปนี้ล่วงละเมิดทางเพศจริง ในเมื่อเขาเป็นพระผู้ใหญ่ มีหน้าตาทางสังคม มีคนเคารพนับถือมากหน้าหลายตา และคนศรัทธาเยอะ พอพูดว่าพระรูปนี้ทำอะไรที่สวนทางกับสิ่งที่คนเชื่อ เณรก็กลัว และไม่ออกมาร้องเรียน เพราะกลัวไม่มีใครปกป้อง”
นี่เป็นคำบอกเล่าของ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในบทความ ปิดเทอมนี้ สามเณรภาคฤดูร้อนจะปลอดภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศเพียงใด เผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซีไทย กับเหตุเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในคดีล่วงละเมิดทางเพศเณรโดยโจทก์เป็นพระชื่อดังที่มีคณะศรัทธามาก
เมื่อการร้องเรียนเกิดขึ้นพร้อมกับการมีโจทก์เป็นพระชื่อดัง แรงศรัทธากลั่นกลายเป็นความเกลียดชังถาโถมใส่ครอบครัวของเด็กผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนทั้งผู้เป็นแม่ และลูกน้อยประสบกับปัญหาทางจิตใจไปตามๆ กัน
เช่นเดียวกันกับต้า ที่ให้สัมภาษณ์กับเราถึงความเกรงต่ออำนาจของพระเนื่องจากแรงศรัทธาของคนในครอบครัว หากตัวเขาบอกว่าโดนพระชื่อดังล่วงละเมิดทางเพศ แล้วใครจะเชื่อ
“แม่ผมศรัทธาพระรูปนี้มาก ถ้าบอกแม่ เขาจะไม่เข้าใจเราแน่ๆ ด้วยความที่ผมยังเด็ก ครอบครัวยังมองผมว่าไม่มีวุฒิภาวะ
“ผมกลัวแม่ไม่เชื่อผม แล้วไปเชื่อพระแทนผม” ต้าพูด
เมื่อพระในชุดจีวรน่าเลื่อมใสกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีเมตตา ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความศรัทธาของคนจึงเกิดขึ้น อีกวิธีเพิ่มแรงศรัทธาให้เข้มข้น และรวดเร็ว คือการตั้งตนเป็นผู้รู้เช่นเห็นชาติ บ้างตั้งโต๊ะทำนายดวง บ้างเปิดกุฏิไล่ภูตผี ขอบเขตของพระบางกลุ่มในศาสนาพุทธ จึงขยายกว้างออกไปมากกว่าการเป็นผู้เผยแผ่แสดงธรรมเทศนา แต่ยังเป็นผู้วิเศษในสายตาของลูกศิษย์หรือกลุ่มผู้ศรัทธาเช่นกัน
“พี่คนหนึ่ง ชวนผมกับครอบครัวไปดูดวงกับพระรูปหนึ่งที่ลำปาง ผมเป็นคนกลัวผีเลยไม่กล้าดู แต่พี่ผมเรียกให้เข้าไปหาพระรูปนี้ แล้วเขาก็พูดข้อมูลของผมตรงทุกอย่าง บอกผมว่าจะตายจากการทำงาน ตอนนั้นแม่ผมตกใจมาก
“หลังพระบอกว่าผมจะโดนอะไร เขาก็บอกวิธีแก้มาหลายวิธี แต่มีวิธีหนึ่งที่เขาบอกมาคือ ให้ผมนอนกับเขา 7 วัน เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้หายไป”
ต้าเชื่อครอบครัวและยอมมานอนกับพระวัดป่าแห่งนี้แต่โดยดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงศรัทธาได้ส่งต้ามาอยู่ในที่แห่งนี้ และมันยังทำให้ต้าถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่คืนแรกที่เข้านอน
เมื่อความศรัทธาที่แรงกล้า ผูกติดอยู่กับคนคนหนึ่งในคราบผ้าเหลือง ย่อมตามมาด้วยความรู้สึกถึงความบริสุทธิ์พร้อมของผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลทางศาสนา บ้างศรัทธา เพราะมองว่าเป็นผู้มิมีประวัติมัวหมอง ให้หลักธรรมนำชีวิตแก่ชาวบ้าน บ้างมองว่าเป็นนักพัฒนาช่วยเหลือชาวบ้านยามทุกข์ยาก ลองคิดดูว่าความบริสุทธิ์ที่ส่งออกสู่สายตาของชาวบ้านนับร้อย นับพัน ไม่นับรวมเหล่าข้าราชการ นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งอาจศรัทธาร่วมกัน หากมีใครสักคนอายุไม่ถึง 17 ปี ประกาศกร้าวว่า พระรูปนั้นล่วงละเมิดทางเพศตน จะเกิดอะไรขึ้น
ฐานะทางสังคมก็มีส่วนอย่างมากกับความอดทนในการต่อสู้ หากเหยื่อเป็นบุตรหลานในครอบครัวร่ำรวย เงินและเวลาที่เสียไปเพื่อความคืบหน้าของคดีความอาจไม่ใช่ปัญหา กลับกัน หากเหยื่อเป็นบุตรหลานในครอบครัวผู้ยากไร้ เวลาแต่ละนาทีและเงินที่สูญเสียไปกับการดำเนินคดี อาจถูกมองว่าสำคัญน้อยกว่าการนำไปทำมาหากินสร้างรายได้ ปล่อยให้การล่วงละเมิดทางเพศเลือนหายไปในความทรงจำของแต่ละคนด้วยกลไกทางเวลา
การดำเนินคดีกับผู้นำแห่งความศรัทธาอย่างพระชื่อดัง อาจได้ไม่คุ้มเสียหากคิดรวมสถานการณ์ที่ครอบครัวและตัวเด็กผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องประสบ หลังลูกศิษย์ผู้ศรัทธาพระชื่อดังรับรู้ว่า พระที่เขาศรัทธาจะถูกกล่าวหาว่าละเมิดทางเพศ แทนที่เหยื่อและครอบครัวผู้เสียหายจะได้รับแรงสนับสนุน อาจเป็นคำด่าทอ โทษเหยื่อ กระทั่งการบิดประเด็นว่า การร้องเรียนของเหยื่อเป็นไปเพื่อทำลายแรงศรัทธาหรือชื่อเสียงของพระชื่อดังที่พวกเขานับถือ
“ตอนนั้นหากเลือกได้ผมก็จะแจ้งความนะ แต่ตอนนั้นผมเลือกจะไม่สนใจ และปล่อยมันไป ตอนนี้พระรูปนี้ก็ยังอยู่ แม่ของผมยังไปหาเขาอีกหลังจากที่เขาล่วงละเมิดทางเพศผม” ต้าย้อนความหลัง
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน ชนชั้นทางอำนาจที่ติดมาพร้อมคำว่า เณรชั้นผู้น้อย พระชั้นผู้ใหญ่ หรืออำนาจที่มาพร้อมกับสถานะที่ไม่เท่ากันทางสังคมในขณะที่อีกฝ่ายมีแรงศรัทธามหาชนหนุนหลัง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นเพียงเด็กจากครอบครัวยากจนหรือชนชั้นกลางธรรมดา เป็นไปได้ว่าสุดท้ายเสียงร้องเรียนอาจไม่เกิดขึ้น เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสียหากเทียบกับสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอภายหลัง อย่างความอับอายจากการถูกล้อเลียนในวัยเด็ก ยิ่งหากผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเพศกำเนิดชาย อาจถูกมองว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าเพศกำเนิดหญิง จากมุมมองแบบปิตาธิปไตย
นี่จึงเป็นที่มาของตัวเลขผู้ถูกล่วงละเมิดฯ ที่อาจ ‘ต่ำ’ เกินค่าความเป็นจริง อย่างน้อยในจำนวนที่ไม่ถูกนับนี้ยังมีกรณีของต้า ที่ไม่แม้แต่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ผลักเด็กเข้าวัด
ที่ไหนมีเด็ก ที่นั่นมีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก บ้าน ล้วนมีเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็กปรากฏในหน้าข่าวบ่อยครั้ง แล้วไฉน ‘วัด’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีเด็กมากมาย จะหลุดพ้นจากความเสี่ยงจากการล่วงละเมิดทางเพศ
อาจเป็นเรื่องดีหากวัดจะถูกจัดลำดับเป็นสถานที่ต้องเฝ้าระวัง ต่อการล่วงละเมิดทางเพศ และการแสวงประโยชน์ทางเพศในเด็ก
ขณะที่เหตุการณ์พระผู้ใหญ่หลอกล่อสามเณรเข้ากุฏิเกิดขึ้นทุกปี วัดยังคงเป็นจุดหมายของการส่งลูกมาบำเพ็ญกุศลให้พ่อแม่ แม้ว่านั่นไม่ใช่แนวคิดที่ผิดเพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า วัดไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองพึงระลึกไว้เสมอ
ไม่ใช่แค่สามเณรภาคฤดูร้อนที่ประตูวัดเปิดรับเด็กน้อยวัยซนเข้ามาในเขตพุทธาวาส แต่ยังรวมถึงเด็กน้อยผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เด็กกำพร้าครอบครัว รวมถึงเด็กชาติพันธ์ุ ล้วนมีวัดเป็นปลายทางแห่งโอกาสยามไร้ที่พึ่ง การให้ความปลอดภัยแก่เด็กเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเร่งมือทำอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย ระเบียบ และข้อห้ามระหว่างสามเณรกับพระผู้ใหญ่ในวัด ที่จะช่วยสร้างเขตแดนชัดเจนในการอยู่ร่วมกันในศาสนสถานมากขึ้น
มากกว่านั้นคือ การยอมรับปัญหาและหาแนวทางป้องกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจัง
หากวันนี้แก้ไขปัญหาได้ ผ้าเหลืองของสงฆ์จะยังคงความน่าศรัทธา แต่หากปล่อยช้า เกิดปัญหาซ้ำซาก นี่อาจเป็นปลายทางสุดท้ายก่อนถึงยุคเสื่อมสลายของพุทธศาสนาก็เป็นได้
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/cy9zjd73pdeo
https://www.youtube.com/watch?v=KMxFtCF2-wU&t=37s
Tags: พุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, พระ, ล่วงละเมิดทางเพศ, มหาเถรสมาคม, วงการสงฆ์, สามเณร, สามาเณรฤดูร้อน, Gender, บวชฤดูร้อน, อำนาจ, คณะสงฆ์, เพศ, วัด