ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เราต้องแบกรับเป็นประจำในแต่ละเดือน?
นอกจากค่ากิน ค่าอยู่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว บางคนก็ยังต้องจ่ายเงินให้กับค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ส่งเงินจุนเจือครอบครัว หรือมีการใช้จ่ายส่วนตัวที่แตกต่างกันไป และแน่นอนว่าสำหรับผู้มีประจำเดือนหรือผู้หญิงทุกคน การจ่ายเงินเพื่อซื้อผ้าอนามัยในแต่ละเดือน ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่กลายเป็นความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกทีหนึ่ง แม้ว่าทุกคนจะเลือกไม่ได้ก็ตามว่าอยากมีประจำเดือนหรือไม่
ทำให้ Period Poverty หรือความยากจนประจำเดือน เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา และเป็นประเด็นสำคัญของ วันสุขอนามัยประจำเดือน (Menstrual Hygiene Day) ในวันที่ 28 พฤษภาคมของทุกปี โดยข้อมูลจากสหประชาชาติ เผยว่า ปัญหาความยากจนทำให้ทุกวันนี้ผู้มีประจำเดือน ซึ่งรวมถึงเด็กๆ จำนวนกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยหรือเข้าถึงบริการสุขอนามัยที่ถูกต้องในช่วงที่มีประจำเดือนได้ และจะยิ่งทวีความยากลำบากขึ้นไปในสภาวะสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่
มีประชากรราว 2.3 ล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณฉนวนกาซา (Gaza) ซึ่งเป็นพื้นที่สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และกว่าครึ่งหนึ่งจากจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง โดยมีการคาดการณ์ว่า ผู้มีประจำเดือนเกือบ 7 แสนคนอาศัยอยู่ในฉนวนกาซา ซึ่งหมายความว่า ผู้คนจำนวนมากกำลังประสบปัญหาความยากจนจากการมีประจำเดือนขณะที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามในเวลาเดียวกัน
“ฉันต้องทนทุกข์ทรมานเวลาที่มีประจำเดือน นอกจากจะไม่มีน้ำสำหรับทำความสะอาดแล้ว ยังไม่มีผ้าอนามัยให้ใช้อีกด้วย” พนักงานของมูลนิธิ ActionAid Palestine ที่มุ่งขจัดปัญหาความยากจน เล่าถึงสถานการณ์การใช้ชีวิตของผู้คนที่มีประจำเดือนที่ฉนวนกาซาว่าเป็นอย่างไร
สงครามนำมาซึ่งปัญหาความอดอยาก ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย การเข้าถึงการศึกษาหรือบริการสาธารณะอื่นๆ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ระบบที่ล้มเหลวถูกตอกย้ำซ้ำเติมยิ่งขึ้นในวิกฤตที่ดำเนินอยู่ กระทั่งความต้องการของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ความรุนแรงทางเพศ และประเด็นในมิติทางเพศอื่นๆ ถูกมองข้ามไป ซึ่งรวมถึงการได้รับสุขอนามัยที่ถูกต้องในช่วงประจำเดือนด้วย
ปัจจุบันเมืองราฟาห์ (Rafah) ในพื้นที่ฉนวนกาซากลายเป็นที่พักพิงของผู้อพยพพลัดถิ่นมากกว่าล้านคน จากเดิมในช่วงก่อนสงครามที่บริเวณนี้มีประชากรราว 2.8 แสนคนเท่านั้น ความแออัดเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของคนที่นั่นไปโดยสิ้นเชิง โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (The United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East: UNRWA) ประเมินว่า ผู้อพยพราว 486 คนมีห้องน้ำเพียง 1 ห้องเท่านั้นในศูนย์พักพิงของเมืองราฟาห์
โมนา เด็กสาววัย 17 ปีที่อาศัยอยู่ในเมืองราฟาห์ โดยปกติแล้วเธอจัดการกับอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงด้วยเครื่องดื่มร้อนๆ ห่อตัวในผ้าห่ม ไปจนถึงกินยาแก้ปวด แต่เมื่อต้องหลบภัยสงครามในสภาพแวดล้อมอันแออัด การเข้าห้องน้ำก็เป็นไปได้ยากกว่าเดิมหลายเท่าตัว นอกจากนี้เธอยังอาเจียนจากการปวดประจำเดือน ขณะที่ต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ความเป็นส่วนตัว เพราะมีผู้พลัดถิ่นกว่า 45 คนในบ้านหลังเล็กหลังหนึ่ง
“ทั้งบ้านมีห้องน้ำเพียงห้องเดียวและทุกคนต้องใช้ร่วมกัน ฉันรู้สึกอับอายเมื่อต้องต่อแถวเข้าห้องน้ำในช่วงที่มีประจำเดือน มันทำให้ฉันลำบากทั้งกายและใจ” โมนากล่าว
การขาดแคลนน้ำและผ้าอนามัย ทำให้ผู้มีประจำเดือนไม่สามารถอาบน้ำและรักษาความสะอาดได้อย่างถูกต้อง โดยปัจจุบัน ผู้คนในฉนวนกาซาเข้าถึงน้ำเพียง 1.5-2 ลิตรต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานอยู่ที่ 3 ลิตรต่อวัน นอกจากไม่ได้รักษาความสะอาดโดยการอาบน้ำแล้ว ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากในสงครามยังถูกบังคับให้ใช้ผ้าอนามัยซ้ำ ผู้อพยพบางคนในราฟาห์เลือกที่จะตัดเต็นท์ที่พวกเธอใช้เป็นที่พักพิง แทนการใช้ผ้าอนามัยอย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งแน่นอนว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ในพื้นที่สงคราม ผ้าอนามัยเป็นสิ่งหายากแม้แต่ในร้านขายยา และแม้ว่าจะมีสินค้าที่ใช้ทดแทนได้อย่างแผ่นอนามัย แต่คุณภาพของสินค้าก็ถือว่าแย่มาก สวนทางกับราคาที่สูง ที่สำคัญไม่แพ้ความเสี่ยงทางร่างกายก็คือความเสี่ยงทางจิตใจ ความตึงเครียดจากสถานการณ์อาจทำให้ประจำเดือนของแต่ละคนมีความคลาดเคลื่อน อาจมาบ่อยขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นความเจ็บป่วยเช่นกัน
สุขอนามัยที่ดีถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การทำงาน การได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้อย่างปกติสุขในสภาวะสงคราม สงครามมิได้เพียงสร้างความรุนแรงในแต่ละวัน แต่ยังได้เผยโฉมหน้าของความไม่เท่าเทียมทางสังคมในมิติอื่นๆ อีกด้วย
ที่มา
https://news.un.org/en/story/2023/05/1137067
Tags: ความจนประจำเดือน, Gender, War, สงคราม, Period Poverty