“ปวดท้องเมนส์ก็กินยาสิ เดี๋ยวก็หาย”
“ลาป่วยอีกแล้ว ลาทุกเดือน สำออยทุกเดือน”
“อั้นเมนส์ไว้ไม่ได้เหรอ”
อาการปวดท้องเพราะประจำเดือนคือสิ่งที่ผู้หญิงแทบทุกคนต้องเผชิญในทุกเดือน บางคนมีอาการปวดท้องรุนแรง ลามไปจนถึงปวดหลัง ปวดก้นและต้นขา ควบคู่กับอาการท้องเสีย คลื่นไส้ หน้ามืด จนต้องพบแพทย์พร้อมกับกินยาอย่างสม่ำเสมอ หลายคนปวดท้องจนทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก ต้องใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบตรงหน้าท้อง และมีผู้หญิงอีกมากที่อยู่ในช่วงประจำเดือนแล้วไม่ได้มีอาการปวดท้องจนน่าเป็นห่วง เพราะร่างกายของผู้หญิงทุกคนล้วนมีความแตกต่างเป็นของตัวเอง จึงทำให้แต่ละคนมีอาการปวดประจำเดือนที่แตกต่างกันออกไป
สมาคมสูตินรีเวชและสูติศาสตร์สเปนเผยข้อมูลน่าสนใจว่า มีผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนขั้นรุนแรงอยู่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ในหลายเคสอาการเจ็บป่วยนี้ไม่ได้มาแค่เฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน แต่มาตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ก่อนจะมีประจำเดือน และอาการดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเธอเป็นอย่างมาก จนทำให้รัฐบาลสเปนพิจารณาเพิ่มกฎหมายด้านสาธารณสุข ให้เพศหญิงสามารถลาหยุดเพราะปวดประจำเดือนได้ 3 วันต่อเดือน
‘Period Leave’ เสือกระดาษแห่งการลาป่วย
สเปนไม่ใช่ประเทศแรกที่มองว่าประจำเดือนคือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หลายสิบปีที่ผ่านมามีหลายประเทศพยายามบังคับใช้กฎหมายลาป่วยเพราะปวดประจำเดือนเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ฯลฯ รวมถึงองค์กรและบริษัทจำนวนมากที่ผลักดันนโยบาย ‘Period Leave’ อนุญาตให้เพศหญิงลาป่วยในช่วงมีประจำเดือนได้ (ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีข้อบังคับและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป)
นโยบาย Period Leave ในองค์กรหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะบริษัทไม่ต้องการให้พนักงานเกิดความรู้สึกแย่ต่อกัน เพราะมีผู้หญิงหลายคนที่จำเป็นต้องลาป่วยในทุกเดือน จึงพยายามทำให้การลาป่วยด้วยเหตุผลดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ คล้ายกับย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือสิทธิที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่ได้เอาเปรียบเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้สิทธิลาป่วยเพราะปวดประจำเดือน หรือพนักงานเพศอื่นๆ ที่ไม่สามารถลาป่วยด้วยเหตุผลดังกล่าวได้
แม้องค์กรจำนวนมากจะมีนโยบายที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกับความตั้งใจเดิมที่ตั้งมั่นไว้ ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า มีพนักงานหญิงน้อยกว่า 0.9 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้สิทธิลาป่วยในนโยบาย Period Leave และเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้พวกเธอไม่กล้าลาป่วยเพราะปวดประจำเดือน คือความรู้สึกอับอาย รู้สึกผิด คิดว่าตัวเองกำลังเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน เกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกบริษัทตักเตือน บางเคสไม่ยอมลาเพราะถูกเพื่อนร่วมงานนินทา หรือประเด็นที่หัวหน้าเพศชายไม่เข้าใจเหตุผลที่ทำให้ต้องขาดงาน เพราะคิดเอาเองว่าประจำเดือนคือเรื่องปกติที่ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งที่มีนโยบาย Period Leave กลายเป็นกฎที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ โดยที่ไม่มีใครกล้าใช้
ความเท่าเทียมคือการเข้าใจถึงความแตกต่างทางสรีรวิทยา
ข้อมูลจากวารสาร Health Care for Women International ปี 2017 รวบรวมความคิดเห็นเรื่องการลาป่วยเพราะปวดประจำเดือนของพนักงานบริษัทในสหรัฐอเมริกา เผยให้เห็นคำตอบที่ชวนให้ขบคิดกันต่อเพราะผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กังวลว่านโยบาย Period Leave คือบ่อเกิดแห่งความไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่มีประจำเดือน และคิดว่าบางบริษัทอาจหลีกเลี่ยงข้อพิพาทนี้ด้วยการจ้างเพศชายหรือเพศทางเลือกอื่นๆ แทนการจ้างให้ผู้หญิงมาทำงาน ที่สร้างเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้างว่าแนวคิดดังกล่าวคือการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง
หากจะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ อาจต้องย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องความแตกต่างทางกายภาพและสรีรวิทยาของเพศชายและหญิง นาตาลี เบรดี (Nathalie Brady) พนักงานหญิงในบริษัทเอเจนซีที่ออสเตรเลีย แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า มีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุชัดเจนถึงความต่างของร่างกายมนุษย์ เพศหญิงจะมีกระบวนการทำงานที่ไม่เหมือนกับเพศชาย หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศหญิงจำเป็นจะต้องได้รับสวัสดิการบางอย่างเพื่อช่วยทุเลาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ผู้หญิงหลายคนพยายามชี้แจงว่าสิทธิเรื่องการลาป่วยเพราะปวดประจำเดือน หรือสิทธิอื่นๆ อย่างสวัสดิการผ้าอนามัย ไม่ใช่สิทธิพิเศษที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นสิทธิพึงจะได้ตามหลักสุขภาวะและอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรี ส่วนเพศชายหรือเพศอื่นๆ ที่มีระบบการทำงานในร่างกายแตกต่างจากเพศหญิง แล้วต้องการได้รับสวัสดิการหรือการเยียวยาใดๆ ก็สามารถออกมาเรียกร้องได้เหมือนกับที่ผู้หญิงหลายคนกำลังทำกันอยู่
ไม่ใช่แค่เรื่องวันลาที่เป็นปัญหา เวลานี้หลายครอบครัวทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะยากจนช่วงมีประจำเดือน (Period Poverty) สภาวะที่ผู้หญิงจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สกอตแลนด์ ฯลฯ ไม่มีเงินมากพอจะซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้ หลายคนจำเป็นต้องหยุดเรียน หยุดงาน ใช้กระดาษชำระหรือเศษผ้าแทนผ้าอนามัย แล้วคนที่ทั้งยากจนและมีอาการปวดประจำเดือนขั้นรุนแรงก็จะได้รับผลกระทบหนักมากกว่าที่คิด เพราะการขาดงานของผู้หญิงหลายคนส่งผลต่อรายได้ของครอบครัว จากปัญหาที่แรกเริ่มเหมือนจำกัดอยู่แค่เพศหญิง เมื่อมองลึกลงไปจึงพบว่า ประจำเดือนก็ส่งผลกระทบถึงคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
วันลากับภาวะยากจนเพราะประจำเดือน คือสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมที่รัฐบาลหลายประเทศและองค์กรอีกจำนวนมากพยายามหาทางแก้ไข แต่สิ่งที่สร้างอุปสรรคในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น ค่านิยม วัฒนธรรม และความเชื่อบางประการ ทำให้ประจำเดือนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสกปรก แม้จะเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ก็ตาม หลายพื้นที่บนโลกยังคงมองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่เลวร้าย ต่ำต้อย น่ารังเกียจ เห็นได้จากการห้ามเข้าสถานที่บางแห่ง หรือการที่ผู้หญิงในบางประเทศต้องซื้อผ้าอนามัยแบบหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องซ่อนหรือกลัวที่จะบอกคนอื่นว่าตัวเองอยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน
มีคนจำนวนไม่น้อยบนโลกนี้ที่พยายามเปลี่ยนแปลงค่านิยมดังกล่าว ประชาชนคนทั่วไป นักการเมือง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเท่าเทียม หรือคนดังในแวดวงบันเทิง เพื่อทำให้ประจำเดือนกลายเป็นสิ่งปกติที่ทุกคนสามารถพูดถึงได้อย่างตรงไปตรงมา
เวลานี้ สเปนกำลังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการลาป่วยเพราะปวดประจำเดือน กฎหมายที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสุขภาพและสิทธิในการเจริญพันธุ์ของสตรี หลังจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2022 คณะรัฐมนตรีสเปนอนุมัติข้อเสนอให้ผู้หญิงมีสิทธิลาป่วย 3 วันต่อเดือน ด้วยเหตุผลว่ามีประจำเดือน และอาจเพิ่มเป็น 5 วันได้ตามความเหมาะสม และถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่านเมื่อไร สเปนจะกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการลาป่วยเพราะปวดประจำเดือนอย่างเป็นทางการ
ร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจเสริมอยู่ด้วย เช่น ข้อกำหนดให้โรงเรียนและสถานศึกษาจัดเตรียมผ้าอนามัยให้กับนักเรียนหญิง เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือการแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับสตรีในถิ่นทุรกันดารและเขตชายแดน รวมถึงกฎหมายการยกเว้นภาษีผ้าอนามัย ที่ค่อนข้างครอบคลุมในทุกความต้องการของผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศสเปน
เมื่อหันกลับมามองยังประเทศไทย เราจะพบว่าเคยเกิดการเรียกร้องเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะและอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีอยู่หลายครั้ง นักเคลื่อนไหวหลายรุ่นหลายยุคสมัยพยายามบอกกับรัฐบาลว่า รัฐต้องมีงบประมาณสนับสนุนสุขภาวะที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ควรปรับลดราคาผ้าอนามัยด้วยการเปลี่ยนให้อยู่ในหมวดสินค้าควบคุม ไม่ใช่จัดผ้าอนามัยให้อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยจนทำให้หลายคนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้
เรื่องเหล่านี้คือประเด็นพื้นฐานสำคัญที่ควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะหากแต่ละฝ่ายมองเรื่องผ้าอนามัยและอาการปวดประจำเดือนด้วยมุมมองที่ต่างกันสุดขั้ว ซ้ำยังไม่มีการเปิดรับฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การขยับทางความคิดของสังคมก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
อ้างอิง
https://www.campaignasia.com/article/period-leave-a-privilege-or-a-basic-right/468177
https://womensagenda.com.au/latest/spain-set-to-approve-monthly-menstrual-leave/
https://www.dw.com/en/spain-cabinet-approves-menstrual-leave-bill/a-61830181
https://www.france24.com/en/live-news/20220517-spanish-cabinet-approves-paid-menstrual-leave
Tags: ผู้หญิง, Period, สิทธิสตรี, Period Leave, woman, ประจำเดือน, ผ้าอนามัย, เฟมินิสต์, ความเท่าเทียมทางเพศ, สิทธิทางเพศ, Gender, เมนส์, เพศ, ปวดท้องประจำเดือน