ผู้เขียนได้ยินคำพูดติดปากว่า ‘ช้างเท้าหลัง’ มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ คำพูดดังกล่าวกลายเป็นเรื่องล้าสมัยเพราะปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ทุกคนก็ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แต่คำถามคือ ‘ตลาดงาน’ เป็นกลางให้ค่าแรงงานชายและแรงงานหญิงเท่าเทียมกันหรือไม่
หลายคนคงไม่แปลกใจที่คำตอบคือ ‘ไม่’ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่เรามองว่าเปิดกว้างและมีความเท่าเทียมทางเพศ ช่องว่างรายได้ระหว่างชาย-หญิง ก็ยังมีปรากฏให้เห็น บ้างถ่างกว้างถึง 35 เปอร์เซ็นต์ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ บ้างแตกต่างกันนิดหน่อยคือราว 10 เปอร์เซ็นต์ เช่น ประเทศสวีเดน ส่วนค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโออีซีดี (The Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) จะอยู่ที่ 13.9 เปอร์เซ็นต์
หากอ่านสถิติแบบกำปั้นทุบดิน นั่นหมายความว่า หากผู้ชายทำงานได้เงินเฉลี่ย 100 บาท ผู้หญิงจะได้ค่าตอบแทนเฉลี่ย 86.1 บาทนั่นเอง
ช่องว่างดังกล่าวปรากฏอยู่ในทุกอุตสาหกรรมแม้แต่แวดวงนักแสดง อย่างกรณีอื้อฉาวของซีรีย์ The Crown ที่แคลร์ ฟอย (Claire Foy) ผู้รับบทบาทสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งกวาดรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากหลายเวที กลับได้ค่าตอบแทนต่ำกว่า แมตต์ สมิธ (Matt Smith) ผู้รับบทเจ้าชายฟิลิปที่ไม่ได้มีบทบาทและได้รับเสียงชื่นชมมากเท่าไรนัก
หลายคนอาจสงสัย ว่าทำไม?
การกดค่าแรงผู้หญิงนั้นมีมาอย่างเนิ่นนาน เช่น ในเอกสารเก่าแก่สมัยโรมันระบุค่าแรงของผู้หญิงที่ต่ำกว่าอย่างมาก ในอดีตกาล งานของหญิงกับชายมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ผู้หญิงจะรับบทบาททำงานที่ใช้ ‘แรงกาย’ น้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้ชายได้ค่าแรงที่สูงกว่า แนวคิดดังกล่าวสืบทอดมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งแยกขาดระหว่างสารพัดงานบ้าน (ที่ไม่ได้รับค่าแรง) ซึ่งควรเป็นของผู้หญิง และงานในโรงงานซึ่งใช้เครื่องจักรราคาแพงขนาดยักษ์ซึ่งควรจะเป็นของผู้ชาย สอดคล้องกับค่านิยมยุควิกตอเรียนที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่อยู่เหย้าเฝ้าเรือน ส่วนผู้ชายมีบทบาทในการปกครอง และต้องทำงาน “ตามธรรมชาติ”
ในซีรีย์ The Crown ที่แคลร์ ฟอย (Claire Foy) ผู้รับบทบาทสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งกวาดรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากหลายเวที กลับได้ค่าตอบแทนต่ำกว่า แมตต์ สมิธ (Matt Smith) ผู้รับบทเจ้าชายฟิลิป
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับผู้หญิงในอดีตที่มักถูกกีดกันทางการศึกษา ทำให้ช่องว่างรายได้ชาย-หญิงถ่างกว้าง เพราะนอกจากจะถูกกดค่าแรงในตลาดแรงงานแล้ว ยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาในระบบเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและสมัครงานในตำแหน่งที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น
แต่โทษทีนะจ๊ะ ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างชาย-หญิงกลายเป็นเรื่องโบร่ำโบราณไปแล้ว โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะปัจจุบันในกลุ่มประเทศโออีซีดี นักศึกษาที่จบปริญญาตรีเกินครึ่งเป็นผู้หญิง แม้ว่าในสาขาอย่างวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์จะมีสัดส่วนบัณฑิตหญิงเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมากหากเปรียบเทียบกับความไม่เท่าเทียมในอดีต
แล้วต้นเหตุความแตกต่างของค่าตอบแทนอยู่ที่ตรงไหนกัน ?
ผู้เขียนขอหยิบข้อมูลภูมิทัศน์รายได้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 อังกฤษได้ประกาศใช้กฎหมายความเท่าเทียม (Equality Act) ซึ่งกำหนดให้องค์กรที่มีลูกจ้างจำนวน 250 คนขึ้นไปรายงานความแตกต่างระหว่างรายได้ของชายและหญิงโดยเปรียบเทียบค่ามัธยฐาน (Median) ซึ่งคิดจากการเรียงผลตอบแทนของลูกจ้างชายและหญิงจากมากไปน้อย และเปรียบเทียบจากชายและหญิงที่อยู่กึ่งกลางแถว การใช้ค่ามัธยฐานจะหลีกเลี่ยงการบิดเบือนจากค่าผิดปกติ (Outliers) ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยไม่สะท้อนค่ากลางที่แท้จริง
รายงานล่าสุดระบุรายได้ระหว่าง พ.ศ. 2560 – 2561 ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รวบรวมข้อมูลจากองค์กร 10,556 แห่ง พบว่าช่องว่างทางรายได้ระหว่างชายและหญิงในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 11.8 เปอร์เซ็นต์ หากแยกเป็นรายอุตสาหกรรม จะพบว่าธุรกิจก่อสร้าง การเงิน และประกัน แม้กระทั่งแวดวงการศึกษามีช่องว่างระหว่างรายได้ของชายและหญิงสูงที่สุด 3 อันดับแรก ส่วนอุตสาหกรรมที่เท่าเทียมมากที่สุด คือบริการอาหารและที่พัก อย่างไรก็ดี ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่ผู้หญิงได้รายได้เฉลี่ยมากกว่าผู้ชาย
นอกจากการแบ่งประเภทรายอุตสาหกรรม ชุดข้อมูลดังกล่าวยังพาเราล้วงลูกลงไปให้ลึกขึ้น โดยเปรียบเทียบสัดส่วนชายหญิงของผู้มีเงินได้ในแต่ละควอไทล์ หรือแบ่งประชากรในแต่ละบริษัทออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ตามรายได้ พบว่ายิ่งควอไทล์สูงขึ้นมากเท่าไหร่ สัดส่วนของผู้หญิงก็จะน้อยลงตามลำดับ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงเพียง 39 เปอร์เซ็นต์เเท่านั้น
ธุรกิจก่อสร้าง การเงิน และประกัน แม้กระทั่งแวดวงการศึกษามีช่องว่างระหว่างรายได้ของชายและหญิงสูงที่สุด 3 อันดับแรก
สุเชตา นาดคานี อาจารย์ด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่าหากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงประกอบด้วยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ จะส่งผลให้ช่องว่างทางรายได้ระหว่างชายและหญิงแคบลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารได้นั้น งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้เปิดเผยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “โทษทัณฑ์จากความเป็นแม่ (Motherhood Penalty)”
เฮนริค คลีเวน (Henrik Kleven) จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ร่วมกับเจคอบ ซูกัลด์ (Jakob Søgaard) และคามิลล์ ลานดี (Camille Landais) ทำการวิจัยในประเทศเดนมาร์กที่นับว่ามีตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) เข้มแข็ง และมีความเท่าเทียมทางเพศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก พบข้อสรุปที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะการมีลูกคนแรกทำให้รายได้ของผู้หญิงลดลงราว 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่มีลูกคนแรกหรือผู้หญิงที่ไม่มีลูก ผลก็คือ ทีมวิจัยประมาณการว่าการมีลูกนั้นคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างชายและหญิง
ปัจจุบันประเทศแถบสแกนดิเนเวียเปิดโอกาสให้ทั้งพ่อและแม่สามารถลาคลอดไปดูแลลูกได้ แต่ผลปรากฏว่าผู้ชายจะใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิง อีกทั้งการลาคลอดของผู้หญิงจะมีช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า โดยบางประเทศอาจให้ผู้หญิงลาคลอดได้ถึง 1 ปี แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวย่อมมีประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่ แต่ก็อาจไม่ส่งผลดีนักต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
‘โทษทัณฑ์จากความเป็นแม่’ เป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ในปัจจุบัน ซึ่ง เฮนริค คลีเวน มองว่าอาจมีสาเหตุจากสองประการหลัก คือ สังคมยังมองว่าผู้หญิงยังต้องรับบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูลูก งานที่ต้องเดินทางไกลเป็นประจำ หรือต้องใช้เวลาการทำงานที่ยาวนานจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อีกคำอธิบายหนึ่งคือคุณแม่ต่างยินยอมพร้อมใจและให้ค่ากับเวลาที่จะได้อยู่ดูแลลูกๆ มากกว่าคุณพ่อนั่นเอง
มองกลับมาที่ประเทศไทย งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าช่องว่างระหว่างรายได้ของชายและหญิงไทยมีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยหลงเหลือเพียงราว 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การศึกษาจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าภาวะดังกล่าวพบได้ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ในส่วนของแรงงานนอกระบบนั้น ช่องว่างรายได้ที่ลดลงเป็นผลมาจากกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงโอกาสทางการศึกษาของผู้หญิงที่มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สังคมยังมองว่าผู้หญิงยังต้องรับบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูลูก งานที่ต้องเดินทางไกลเป็นประจำ หรือต้องใช้เวลาการทำงานที่ยาวนานจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 75 จากทั้งหมด 144 ประเทศตามรายงาน The Global Gender Gap Report ซึ่งพิจารณา 4 มิติคือ สุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง โดยในแง่เศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างชาย-หญิงของไทยนับว่าค่อนข้างต่ำ แต่ไทยก็ยังสอบตกในแง่สัดส่วนของผู้หญิงในแวดวงการเมือง รวมถึงอัตราเข้ารับการศึกษาเองก็ยังนับว่าไม่โดดเด่นมากนัก หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ (อันดับ 10) ก็นับว่ายังมีโอกาสให้พัฒนาอีกมาก
ในยุคที่วาทกรรม ‘ช้างเท้าหลัง’ ดูจะล้าสมัย หลายคนอาจแหนงหน่ายกับการพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความเท่าเทียมของชายและหญิง จนอาจลืมมองในภาพใหญ่ไปว่า แม้สังคมภายนอกดูเหมือนจะให้ค่าชายหญิงเท่าเทียมกัน แต่ก็ใช่ว่าอคติที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานจะถูกกลบหายไปภายในไม่กี่ทศวรรษ
เอกสารประกอบการเขียน
- The Global Gender Gap Report 2017
- What’s to blame for the gender pay gap? The housework myth
- Gender pay gap: Four things we’ve learnt
- A stunning chart shows the true cause of the gender wage gap
- The gender pay gap
- Gender pay gap: what we learned and how to fix it
- http://genderpaygap.uk
- Royal pay gap? ‘The Crown”s Queen Elizabeth paid less than her prince
- Rwanda’s women make strides towards equality 20 years after the genocide
Fact Box
หากใครเคยอ่านรายงาน The Global Gender Gap Report อาจสะดุดตาที่พบชื่อประเทศรวันดา ติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา
รวันดาเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้หญิงทำงานสูงถึง 86 เปอร์เซ็นต์ แซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วไปหลายประเทศ นอกจากนี้ รวันดายังมีผู้หญิงในรัฐสภาเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้นโยบายรัฐและกฎหมายให้ความสำคัญกับผู้หญิงอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงในรวันดาก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างสูงทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ ต้องสืบย้อนกลับไปถึงโศกนาฏกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ ค.ศ. 1994 ที่ชาวรวันดาเสียชีวิตไปถึง 800,000 คน และผู้หญิงถูกข่มขืนกว่า 350,000 ราย ภายในช่วงเวลาเพียง 100 วัน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของรวันดาเป็นผู้หญิงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เหล่าผู้หญิงที่รอดชีวิตจึงต้องเข้าไปรับหน้าที่และความรับผิดชอบที่ครั้งหนึ่งสงวนไว้เฉพาะผู้ชาย เกิดเป็นกฎหมาย นโยบาย และระบบการศึกษาที่ให้ค่าและความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ