ชนชั้น ตัณหา และสัญชาตญาณสัตว์ป่าในการดำรงเผ่าพันธุ์

หากจะมีองค์ประกอบเอกลักษณ์ใดของงานเขียนโทรปนี้ที่ตื่นเต้นเร้าอารมณ์ ในแบบที่หาไม่ได้จากงานเขียนวายแนวอื่น องค์ประกอบที่ว่านั้นก็คงจะหนีไม่พ้น 3 สิ่งนี้

‘โอเมกาเวิร์ส’ (Omegaverse) หรือ ‘A/B/O’ คือฌองย่อยของจินตนิยายอีโรติกชาย-ชาย มีลักษณะร่วมคือเป็นงานจินตนาการถึงโลกที่มนุษย์มีเพศรองเป็น ‘อัลฟา’ ‘เบตา’ และ ‘โอเมกา’ ซึ่งจะเกี่ยวพันสถานภาพทางสังคมของแต่ละคน 

ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการจัดลำดับชั้นทางสังคมในฝูงสัตว์วงศ์สุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมาป่า

• อัลฟา (α) – เช่นเดียวกับหมาป่าจ่าฝูง มนุษย์เพศรองอัลฟาทั้งชายและหญิงเกิดมากับสัญชาตญาณความเป็นผู้นำ ร่างกายกำยำแข็งแรง และสถานะทางสังคมระดับยอดพีระมิด นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือความสามารถในการทำให้โอเมกาตั้งครรภ์ได้

• โอเมกา (Ω) – หากอัลฟาคือยอดพีระมิด โอเมกาก็คือมนุษย์ฐานพีระมิดที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด มีรูปลักษณ์และบุคลิกอ่อนโยน บอบบาง มีสัญชาตญาณ ‘ความเป็นแม่’ หากเป็นผู้หญิงก็จะมีอวัยวะสืบพันธุ์ต่างๆ เหมือนมนุษย์เพศหญิงตามปกติ ไฮไลต์ของเพศนี้จึงมักอยู่ที่ตัวละครโอเมกาชายซึ่งมีระบบสืบพันธุ์ที่สามารถตั้งครรภ์ได้

• เบตา (β) — อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือคนปกติทั่วไป โดยมากแล้วจะไม่มีและไม่สามารถสัมผัสได้ถึงฟีโรโมนเหมือนอัลฟาและโอเมกา จึงมักได้รับบทเป็นตัวประกอบในเรื่องเสียส่วนใหญ่

นอกจากระบบชนชั้นที่จัดลำดับความสำคัญให้ลดหลั่นกันไปตามสถานะทางสังคม คล้ายสถานะของหมาป่าแต่ละตัวที่จะส่งผลต่ออำนาจต่อรองในฝูง ตัวละครในนิยายโอเมกาเวิร์สยังรับเอาพฤติกรรมทางเพศและลักษณะการสืบพันธุ์แบบสุนัขมาด้วย เช่น การปล่อยฟีโรโมนดึงดูดเพศตรงข้าม การติดสัด ซึ่งโดยส่วนมากมักทับศัพท์เอาว่า ‘ฮีต’ (Heat) หรือ ‘รัต’ (Rut) เพื่อให้ฟังแล้วรื่นหูขึ้น โดยภาวะฮีต หรือรัตที่่ว่านี้ จะส่งผลให้อัลฟาและโอเมกาถูกควบคุมโดยสัญชาตญาณดิบเหมือนสัตว์ป่าที่ต้องการผสมพันธ์ุจนขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เมื่อต้องอยู่ใกล้เพศตรงข้าม

หรือแม้กระทั่งการน็อต (Knotting) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสภาวะที่อวัยวะเพศของอัลฟาและโอเมกาถูกล็อกติดกันหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจจินตนาการภาพตามยากสำหรับคนไม่คุ้นเคย แต่ใครที่เคยเลี้ยงหมา หรืออาศัยอยู่ในละแวกที่มีหมาจรเยอะ น่าจะเคยมีโอกาสได้เป็นสักขีพยาน ‘การติดเป้ง’ หลังการผสมพันธุ์ของสุนัขอยู่บ้าง

นั่นแหละ คือปรากฏการณ์เดียวกัน

หากตอนนี้คุณกำลังประหลาดใจที่นักอ่านต้องปูพื้นฐานมากมายถึงเพียงนี้ ในการจะเริ่มอ่านนิยายโอเมกาเวิร์สสักเรื่องหนึ่ง ข่าวร้ายคือข้อมูลที่คุณได้อ่านไปทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนยอดที่โผล่พ้นน้ำทะเลของภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์

แต่ข่าวดีก็คือเราไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลทั้งหมดนั่น เพียงเพื่อจะเข้าใจว่าผู้คนกำลังกังวลเรื่องอะไรเมื่อได้ยินคำว่านิยายโอเมกาเวิร์ส

(1)

The Rise of ‘Omegaverse’

เมื่อได้ลองค้นคว้าข้อมูลดู เราก็ได้พบว่าคอนเซปต์พื้นฐานของโอเมกาเวิร์สมีที่มาที่น่าตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว เวลาที่ได้ยินชื่อแฟรนไชส์ไซไฟอวกาศอย่างสตาร์วอร์ส (Star Wars) หรือสตาร์เทรค (Star Trek) ประชากรกลุ่มเป้าหมายหลักที่ผู้คนคิดถึงมักเป็นผู้ชาย

น่าแปลกที่กลุ่มคนแรกๆ ที่หลงใหลสตาร์เทรคมากเสียจนต้องเอามาเขียนเป็นแฟนฟิกกลับเป็นผู้หญิง

ตอนหนึ่งของสตาร์เทรคที่ได้รับความนิยมในหมู่แฟนซีรีส์ผู้หญิงอย่างล้นหลาม คือ ‘Amok Time’ (EP 2×05) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวงจรการสืบพันธุ์ของชาววัลแคน โดยในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ ‘Pon Farr’ ที่วนมาทุกๆ 7 ปี ชายชาวดาววัลแคนอาจตายได้ หากไม่ได้จับคู่ผสมพันธุ์ภายใน 8 วัน

ภาพ: Paramount Pictures

และนั่นก็เหมือนไปจุดประกายอะไรบางอย่าง ทำให้มีแฟนฟิกวาย (Slash Fic) ระหว่างสป็อคกับตัวละครชายอื่นๆ ในเรื่องถูกผลิตขึ้นมามากมาย จนกระทั่งอีก 50 ปีให้หลัง ความลุ่มหลงในคอนเซปต์ ‘ความใคร่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้’ ก็ได้กลายมาเป็นกระดูกสันหลังของแฟนฟิกโทรปโอเมกาเวิร์ส ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในแฟนดอม Supernatural (2005-2020) และ Teen Wolf (2011-2017)

ภาพ: CW, MTV

แล้วเรื่องก็เริ่มพีกขึ้นเรื่อยๆ ก็ตอนที่ความนิยมเริ่มลามมาฝั่งเอเชียในปี 2019-2020

ณ ช่วงเวลาที่ความนิยมของฟิกหมวดนี้ยังวนเวียนอยู่ในแค่ Archive of Our Own หรือ Wattpad ในช่วงก่อนปี 2018 แม้บนแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีฟิกโอเมกาเวิร์สอยู่เป็นแสนๆ เรื่อง แต่ก็เป็นแฟนฟิกเสียเยอะ ประชากรเป้าหมายจึงมีความเฉพาะกลุ่ม (Niche) อยู่มาก

แต่ทันทีที่เริ่มมีการแปลและเผยแพร่รายละเอียดของโทรปนี้ในเอเชีย ก็เริ่มมีนิยาย มังงะ และเว็บตูนโอเมกาเวิร์สที่เป็นผลงานออริจินอลถูกผลิตขึ้นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น เกาหลี หรือไทย 

เป็นต้นว่า หากทุกคนลองเปิดแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มนิยายหรือเว็บตูนของไทยดูตอนนี้ จะพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของงานเขียนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแอปฯ เป็นงานโอเมกาเวิร์ส

 

(2)

ข้อวิพากษ์จากฝ่ายค้าน

1. ผลกระทบของการเอา ‘สื่อลามก’ ขึ้นมา ‘บนดิน’

แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์ในประเด็นนี้อยู่ตลอด แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดและจริงจังเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2022 เมื่อผู้จัดรายหนึ่งประกาศ ว่ามีแผนจะถ่ายทำซีรีส์ โดยอิงเนื้อเรื่องจากนิยายโอเมกาเวิร์สที่โด่งดังบนแพลตฟอร์มนิยาย readAwrite 

หนึ่งในความกังวลหลักคือ ผลกระทบต่อเยาวชนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อเหล่านี้ หลังจากคลิปรีวิวนิยายใน Tiktok เริ่มเป็นที่นิยม ก็เริ่มมีหลายคนพบเห็นบทสนทนาที่น่ากังวล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ข้อเท็จจริงด้านเพศศึกษา เช่น 

– การสอดใส่ทางทวารหนัก (Anal Sex) โดยไม่ต้องเล้าโลม (Foreplay) หรือใช้สารหล่อลื่น 

– ความเป็นไปได้ที่ผู้ชายบางคนจะสามารถท้องได้จริง (มีคนมาตอบว่า ‘จริง’ จำนวนมาก) 

– การเกิดอาการฮีตเหมือนในนิยาย

ภาพ: บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @view_zy

และนี่คือผลพวงจากการที่เยาวชนสามารถเข้าถึงโอเมกาเวิร์สในรูปแบบนิยายได้โดยง่ายเพียงเท่านั้น เมื่อมีข่าวว่าจะมีการดัดแปลงเป็นซีรีส์ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเข้าถึงง่ายและแพร่หลายเป็นวงกว้างยิ่งกว่านิยาย แม้แต่ฝ่ายที่ชื่นชอบโอเมกาเวิร์สบางส่วนก็ยังออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ทำให้ในที่สุดโปรเจกต์นี้ต้องถูกพับไป

 

2. สร้างความชอบธรรมให้การละเมิด ‘Consent’

อย่างที่เกริ่นถึงไปแล้วข้างต้น ธรรมชาติที่ถูกออกแบบขึ้นมาในโอเมกาเวิร์สได้สร้างความชอบธรรมและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ในการละเมิดความยินยอม (Consent) หรือกดดันให้ยอมมีเพศสัมพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นอาการติดสัด (ฮีต หรือ รัต) ตามธรรมชาติของโอเมกาและอัลฟา ซึ่งเอื้อให้เกิดการ ‘ขืนใจโดยไม่ตั้งใจ’ หรือการบอกกล่าวให้ความยินยอมภายใต้อิทธิพลของ ‘ความใคร่ที่ไม่สามารถเลี่ยงได้’ ในรูปแบบของฟีโรโมน

น้อยมากที่ผู้กดขี่ (ซึ่งรับบทพระเอก) ในเรื่องจะถูกวาดภาพให้ดูเป็นผู้กดขี่จริงๆ เพราะในเมื่อไม่ได้ตั้งใจข่มขืน ก็ไม่ควรจะมีความผิดอะไรติดตัวมากมายนัก เพียงเสียเวลาสักองก์หรือสององก์ในการสำนึกผิด ก็คู่ควรที่จะได้รับการให้อภัยและสามารถครองรักกับเหยื่อต่อได้แล้ว

 

3. น้ำเสียง ‘เหยียดผู้หญิง’ (Misogyny) ในงานโอเมกาเวิร์ส

เมื่อผู้หญิงถูกดึงออกจากสมการตามบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) ของจักรวาลนี้ แล้วแทนที่ด้วยโอเมกา แม้พวกเขายังต้องเจอกับปัญหาโครงสร้างในลักษณะเดียวกัน ปัญหาเหล่านั้นกลับไม่ถูกสำรวจเลย แต่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดฉากเซ็กซ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ภาพ: HBO

เปรียบเทียบง่ายๆ คือแม้ว่านวนิยายเรื่องเล่าของสาวรับใช้ (The Handmaid’s Tale) นิยายของแอตวูด (Margaret Atwood) และนิยายโอเมกาเวิร์สจะเล่าถึงภาวะที่ต้องยอมจำนนต่อโครงสร้าง และมีชีวิตอยู่ฐานะ ‘แม่พันธุ์’ และ ‘วัตถุทางเพศ’ ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยเหมือนกัน

แต่ในขณะที่แอตวูดคอยเน้นย้ำถึงความทุกข์ทรมานที่ต้องถูกกักขังในสถานะดังกล่าวในแทบทุกบท นิยายโอเมกาเวิร์สมักมีฉากที่ขับเน้นถึงความสุขสมลึกๆ ในใจของโอเมกาที่ถูกอัลฟาตีตราเป็นเจ้าของ ซ้ำร้ายยังเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรม ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์’ ว่าควรจะต้องประกอบไปด้วยพ่อ-แม่-ลูก

 

4. เนื้อหากดทับและลบตัวตน ‘Trans Men

เหตุผลประการแรกที่ทำให้ได้รับคำวิจารณ์ในประเด็นนี้ คือความจริงที่ว่าโอเมกาเวิร์สถูกสร้างขึ้น โดยตั้งอยู่บนบรรทัดฐานที่ว่า ‘ผู้ชายท้องได้’ ไม่มีอยู่จริง จึงต้องสร้างโลกแฟนตาซีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น และนั่นอาจถูกมองว่าเป็นการลบตัวตนของผู้ชายท้องได้ที่มีอยู่จริง นั่นคือชายข้ามเพศ (Trans Men)

นอกจากนี้ โอเมกาเวิร์สยังเป็นจักรวาลที่ยึดติดกับเพศลักษณ์และระบบสืบพันธุ์โดยกำเนิดของมนุษย์อย่างมาก ซึ่งบังเอิญว่าในโลกของความเป็นจริง ก็ดันเป็นแนวคิดทำนองเดียวกันนี้นี่แหละ ที่เป็นวาทกรรมหลักซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ

(3)

ข้อแก้ต่างจากฝ่ายสนับสนุน

1. นักเขียนไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบสังคม

เพราะนิยายไม่ใช่หนังสือเรียน ส่วนนักเขียนก็ไม่ใช่ครู การโบ้ยปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักอ่านเยาวชน ให้เป็นความผิดของโอเมกาเวิร์ส หรือนิยายวายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการกล่าวเกินจริง

ความรู้ด้านเพศศึกษาที่อ่อนด้อยเป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่โครงสร้าง เช่น การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรเพศศึกษาในระบบการศึกษาภาคบังคับให้เข้มแข็งขึ้น หรือการส่งเสริมให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นเพศภายในสถาบันครอบครัว ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุด้วยการตรวจสอบควบคุมสื่อที่ถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิง

 

 2. ใครๆ ก็มี ‘Kink’ เป็นของตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือข่มขืน ก็ล้วนถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงทั้งสิ้น

นี่คือความจริงที่คงไม่มีใครบังอาจโต้แย้ง แต่ถึงกระนั้น คอนเทนต์ BDSM และ Rape Fantasy ก็ยังได้รับการยอมรับและมีพื้นที่ให้สามารถโลดแล่นได้ในฐานะกิจกรรมทางเพศที่อยู่เหนือบรรทัดฐานปกติ (Kink)

ภาพ: Lezhin, Libre

เช่นนั้นแล้ว เหตุใดผู้ที่ชื่นชอบโอเมกาเวิร์ส ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น Kink แบบหนึ่ง จึงถูกโจมตีและเหยียดหยามรสนิยมทางเพศส่วนบุคคล (Kink Shaming) อยู่ฝ่ายเดียว

 

3. ศักยภาพของโอเมกาเวิร์สในฐานะ Queer Speculative Fiction

แน่นอนว่าระบบโครงสร้างทางสังคมที่ถูกออกแบบมาให้มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจอย่างเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ ย่อมเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ไม่มีนักเขียนจินตนิยาย (Speculative Fiction) คนไหน เบือนหน้าหนีได้โดยไม่เหลียวหลังมอง

อย่างประเด็น Toxic Masculinity เข้มข้นในเวิร์สที่ดูท่าแล้วน่าจะเอามาเขียนเป็นเรื่องเสียดสี (Satire) ความเป็นชายที่เป็นพิษในโลกความเป็นจริงได้ยาวเป็นเล่มๆ

หรือแม้แต่ตัวละครที่ควรจะน่าเบื่อที่สุดในเวิร์สอย่างชนชั้นเบตา ก็สามารถถูกนำมาเขียนจิกกัดปรากฏการณ์ Bystander Effect ซึ่งเกิดขึ้นจริงกับกลุ่ม ‘คนมุง’ ในสังคม ที่มักยืนมองดูเหยื่อถูกกระทำได้โดยไม่เดือดร้อน เพราะตนไม่ได้รับผลกระทบอะไร

จึงไม่แปลกที่คนจำนวนหนึ่งจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า โอเมกาเวิร์สคือประเภทงานเขียนที่เลวร้ายด้วยตัวของมันเอง

 

(4)

ในฐานะนักเขียน การเซนเซอร์ทางศีลธรรมที่อาจส่งผลต่อเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน คือหนึ่งในประเด็นที่ติดค้างอยู่ในใจเรานานที่สุดหลังจากที่ได้รับรู้ถึงข้อถกเถียงเรื่องนิยายโอเมกาเวิร์ส

อาจเพราะรู้ดีว่าเมื่อ 50-60 ปีก่อน นิยายเรื่องโลลิตา (Lolita) ของนาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) เคยเป็นผลงานที่ถูกมองว่าชั่วร้ายและสกปรกโสมมเสียจนถูกแบนในหลายประเทศ คุณค่าทางวรรณศิลป์ใดๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในผลงานชิ้นนี้จึงถูกกลบด้วยความอื้อฉาวในคราวนั้นจนหมด

กว่าจะถูกเรียกขานว่าเป็น ‘ผลงานชิ้นเอก’

กว่าคนจะเริ่มมองเห็นว่าแท้จริงแล้ว นาโบคอฟไม่ได้ตั้งใจเขียนให้นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายรักโรแมนติกระหว่างพ่อเลี้ยงกับเด็กสาว แต่เป็นเรื่องราวจากมุมมองที่บิดเบี้ยวของผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก

กว่าโลลิตาจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ก็ใช้เวลาหลายปีทีเดียว

ภาพ: Pathé

แม้จนถึงตอนนี้ผู้เขียนก็ยังจินตนาการภาพไม่ออกว่า งานเขียนโอเมกาเวิร์สจะมีโอกาสกลายมาเป็นผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกอย่างโลลิตาในสักวันหนึ่งได้อย่างไร แต่แน่นอนว่านั่นอาจเป็นเพราะตนเองมีทัศนคติที่คับแคบ จนมองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของมันก็ได้

ฉะนั้น สิ่งที่เราตกผลึกได้จากข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่ข้อสรุปตายตัวว่านิยายโอเมกาเวิร์สมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ หรือประเด็นที่สามารถขับเคลื่อนสังคมได้จริงหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ว่า

 

1. ในฐานะสายผลิต มีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชน ซึ่งยังเปราะบางเกินกว่าจะเข้าใจความซับซ้อนของความรุนแรงทางเพศ เข้าถึงเนื้อหาที่เราผลิต

แรกเริ่มเดิมที โอเมกาเวิร์สนั้นถูกผลิตขึ้นมาในฐานะสื่อลามก (Pornography) อยู่แล้ว ต่อให้อนาคตงานโทรปนี้จะสามารถเป็นได้มากกว่านี้หรือไม่ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าขณะนี้มันก็ยังถูกผลิตขึ้นและถูกเสพในฐานะสื่อลามกเป็นหลัก

เช่นเดียวกับที่เราไม่มีทางยอมปล่อยให้หนังสือโลลิตา หรือเรื่องเล่าของสาวรับใช้ ตกไปถึงมือน้องๆ หลานๆ ของเราในวัยที่เขายังไม่พร้อมอย่างเด็ดขาด ต่อให้นักวิชาการสาขาวรรณคดีวิจารณ์จะอวยเทคนิคการเขียนของนาโบคอฟ หรือแอตวูดว่าแยบคายและงดงามเพียงใดก็ตาม ดังนั้น นิยายโอเมกาเวิร์สเองก็ควรถูกเผยแพร่ จัดเก็บ และส่งต่อด้วยความระมัดระวังไม่ต่างกัน

ทว่าความท้าทายหนึ่งของโจทย์นี้ก็คือลำพังแค่นักเขียนคนหนึ่งจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวคนเดียวได้มากน้อยเพียงใด

นอกเหนือจากความตระหนักรู้ส่วนบุคคลของนักเขียน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง คือระบบที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวางเอาไว้ให้ อย่างฟีเจอร์ยืนยันอายุ (Age Verification) ที่เชื่อถือได้ ผนวกกับการจัด Content Rating ตามช่วงอายุอย่างเข้มงวด

 

2. วัฒนธรรมการวิพากษ์ในชุมชนนักเขียน-นักอ่านออนไลน์ของไทย อ่อนแอเกินไปหรือไม่

ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบ ขอความกรุณากดออกไปเงียบๆ

นี่คือ Disclaimer ที่นักเขียนออนไลน์นิยมเขียนแปะไว้ที่หน้าโฮมของนิยายที่สุด เป็นประโยคที่เราเห็นมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยประถมที่เริ่มอ่านนิยายออนไลน์หน้าจอคอมเป็นครั้งแรกในเว็บไซต์ Dek-D

จนขึ้นชั้นมัธยม สอบเข้ามหาลัย กระทั่งเข้าวัยทำงานไปแล้ว ข้อความ Disclaimer หน้าบทความที่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาอ่านผ่านแอปฯ บนมือถือ ก็ยังคงใจความเดิมไม่ต่างจากเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ศิลปินทุกคนย่อมหวาดกลัวที่จะได้ยินคำวิจารณ์ การที่นักอ่านในยุคปัจจุบันเริ่มตระหนักได้มากขึ้นว่า ไม่ควรมองข้ามสุขภาพจิตและกำลังใจของนักเขียน นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ดี

แต่ในขณะเดียวกัน ขอบเขตในการคอมเมนต์อย่าง ‘มีมารยาท’ ก็ดูจะค่อยๆ แคบลงทุกที จนน่ากลัวว่าคำว่า ‘ติ’ ใน ‘ติชม’ จะกลายคำล่องหนไปเสียแล้ว

สุดท้ายแล้ว แม้ข้อครหาที่ว่านิยายโอเมกาเวิร์สปลูกฝังวัฒนธรรมการข่มขืน เหยียดผู้หญิง และกดทับความหลากหลายทางเพศ จะเป็นข้อกล่าวหาที่มีเหตุผล แต่หากคำวิจารณ์เหล่านั้นถูกรับฟัง ก็คงมีนักเขียนส่วนหนึ่งที่พัฒนางานเขียนไปเรื่อยๆ จนหลุดจากวังวนนี้ได้สักวัน

แต่สักวันที่ว่านั้นจะมีโอกาสมาถึงหรือไม่ ในเมื่อยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร เราทุกคนก็ดูจะยิ่งเปราะบางเกินกว่าจะรับฟังคำวิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น 

 

อ้างอิง

Busse, K. Pon Farr, Mpreg, Bonds, and the Rise of the Omegaverse. 

Hannah, M. Queerness in Fanfiction: Gender, Queer Bodies, and the Omegaverse. https://www.tor.com/2022/07/11/queerness-in-fanfiction-gender-queer-bodies-and-the-omegaverse/  

Horrigan, R. The Misogynistic Undertones of the Omegaverse. https://medium.com/@rbec.horrigan/the-misogynistic-undertones-of-the-omegaverse-8223e2a78169  

Ren, A. Queer Dreams and Female Fantasy: BL as an LGBT Space in East Asia. https://cssh.northeastern.edu/asianstudies/wp-content/uploads/sites/14/2021/08/Queer-Dreams-and-Female-Fantasy_-BL-as-an-LGBT-Space-in-East-Asia-1.pdf  

Sung, M. What the hell is the Omegaverse, and why is it all over TikTok? https://sea.mashable.com/culture/15475/what-the-hell-is-the-omegaverse-and-why-is-it-all-over-tiktok  

Tabularasa. Fetishizing Gay Relationship: When Ship and Fan Fiction Turn Toxic. https://magdalene.co/story/fetishizing-gay-relationship-when-ship-and-fan-fiction-turn-toxic  

Weisser, J.T. Transmasculinities and Pregnant Monstrosity: Hannibal Omegaverse Fan-Fiction. https://cultivatefeminism.com/issues/issue-two-bodies/transmasculinities-and-pregnant-monstrosity-hannibal-omegaverse-fan-fiction/ 

Gunderson, M. Heats, knots and hierarchies: Speculative genders in omegaverse fanfiction. https://elmcip.net/critical-writing/heats-knots-and-hierarchies-speculative-genders-omegaverse-fanfiction 

Tags: , , , , , , , , , , , , ,