จากปรากฏการณ์ “ทีมเมียสารวัตร” ตัวละครที่แสดงโดยไบร์ท วชิรวิชญ์ ในซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน (2Gether The Series)” (คั่นกู) ที่โด่งดังในจีน ที่ทำให้แฟนคลับชาวจีนยอมเปิด VPN เพื่อมาติดตามไบร์ทในทวิตเตอร์ ไม่เพียงการได้ติดตามไบร์ทเท่านั้นแต่ยังทำให้แฟนคลับชาวจีนเห็นถึงความเคลื่อนไหวอื่นๆ รอบตัวไบร์ทอีกด้วย ตามมาด้วยดราม่าที่เริ่มต้นจากความเข้าใจผิด นำไปสู่การถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติระหว่างจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีน มาตรการคุมเข้มทางอินเทอร์เน็ตของชาวจีน จนกลายเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งของโลก

จึงเกิดงานเสวนาในรูปแบบออนไลน์ ในหัวข้อ “#savebright: วิวาทะบนพื้นที่ทับซ้อนของชุมชนจินตกรรมออนไลน์” วันที่ 24 มกราคม 2563 จัดโดยศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนศึกษาในด้านภาพยนตร์จีน วัฒนธรรมจีนมาร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าว

Why Y? มาจากไหน 

กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์เล่าถึงวัฒนธรรมวายในมุมมองของตัวเองว่า “Y หรือ BL มาจาก Yaoi / Boys’ Love เป็นความรักระหว่างชายกับชาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เนื่องจากมีมาก่อนหน้าบ้างแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เด่นชัด หรือปรากฏตัวให้เห็นมาก ซึ่งในภาษาจีนมีคำว่า 同志 (tongzi : ออกเสียงว่าถงจื้อ) ที่แปลว่าสหาย เรารู้จักคำว่าสหายในบริบทของคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีไว้เพื่อลดระยะห่างทางชนชั้นของคอมมิวนิสต์ แต่ปรากฏการณ์ของวัฒนธรรมวายทำให้ความหมายของคำว่า ‘ถงจื้อ’ เปลี่ยนในเวลาต่อมา เนื่องจากถูกนำมาใช้เพื่อความรักมากขึ้น และยังมีคำอื่นอีก อย่างคำว่า 同心爱 (คนรักเพศเดียวกัน) ก็ถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมวายด้วย”  

นอกจากนี้กรพนัช ยังเล่าย้อนถึงที่มาของวัฒนธรรมวายว่า นิยามของวายที่ใช้ในภาษาจีนจะเจออยู่สองคำคือ หนึ่ง 耽美 (danmei) มีที่มาจากคำว่า Tanbi ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเดิมทีวัฒนธรรมวายในญี่ปุ่นไม่ได้มีพื้นที่ให้แสดงออกมากเท่าใดนัก แต่ต่อมาก็เริ่มเฟื่องฟูในยุค 70-80 ที่แสดงให้เห็นความรักชายกับชาย พอยุค 80 งานจากญี่ปุ่นเหล่านั้นถูกนำมาเผยแพร่ในหมู่ผู้หญิงจีนมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่งานวรรณกรรม แต่ยังมีการ์ตูนที่ตามเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคมีหลายรูปแบบ บางคนเริ่มจากอ่านนิยายวาย บางคนเริ่มจากการอ่านการ์ตูน ต่อมาวัฒนธรรมวายในญี่ปุ่นขยายใหญ่มากขึ้นเพราะได้รับความนิยมอย่างสูง จนกลายเป็นวัฒนธรรมย่อย (subculture)

และเนื่องจากกระแสที่มีมากขึ้นจนภายหลังกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยแล้ว สิ่งที่มาพร้อมกันนั่นคือคำเรียก กรพนัชให้มุมมองในเรื่องนี้ไว้วว่า “ต่อมามีคำเหยียดเรียกคนที่ชอบวายว่า 腐女 (funü) ในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีคำเรียกว่า fujoshi ซึ่งคำว่า fu แปลว่าเน่า หรือบูด เป็นการสะท้อนความคิดที่มีต่อสาววายว่า เป็นผู้หญิงไม่ปกติ เพราะเห็นคนปกติรักกันดีๆ ไม่ชอบ การกระทำเหล่านี้จึงเหมือนของบูดของเสีย อย่างไรก็ตามคำเหยียดเมื่อถูกใช้มากๆ ก็ถูกทำให้กลายเป็นปกติ (normalize) ไปในที่สุด ในสังคมจีน ผู้หญิงที่เป็นสาววายก็เรียกแทนตัวเองด้วยคำนี้ไปเสียเลย ขณะเดียวกันคำดังกล่าวในสายตาของสาววายไม่ได้ถือว่าเป็นคำเหยียดหรือลดทอนคุณค่า อีกทั้งยังรู้กันโดยทั่วไปว่านี่คือคำเรียกสาววาย ต่อมาคำว่า 腐 (fu) ที่แปลว่าเน่า หรือบูดก็ถูกนำมาแทนคำว่าวายไปโดยปริยาย คำว่าละครวายหรือซีรีส์วายในภาษาจีนใช้คำว่า ‘fujù’ แปลตรงตัวเลยก็แปลว่าเป็นละครเน่าเปื่อย จะเห็นได้ว่ามันถูกเอามาแทนหรือเป็นคำที่รู้กันไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้คำว่า 同性恋 (คนรักเพศเดียวกัน) เพราะความเป็นวายในแง่หนึ่งไม่ได้ถูกยึดโยงกับเพศสภาวะ สาววายไม่จำเป็นต้องเข้าใจคนรักเพศเดียวกัน ในขณะที่กลุ่ม LGBT ก็ไม่ได้รู้สึกคล้อยตามหรือเห็นด้วย บางคนก็อาจจะสนับสนุนบ้าง คำว่า ‘fu’ ที่แปลว่าเน่า บูดนี้จึงเสมือนคำยืม คำแทนของสาววาย”

กลุ่มผู้บริโภควาย มาจากอะไร?

กรพนัช ที่เล่าว่าเธอเองเป็นสาววายที่คลุกคลีกับวัฒนธรรมวายมาอย่างยาวนาน บอกว่า “แม้ว่าวายจะมีมาก่อนหน้าในสังคมจีน แต่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมคลาสสิกเท่านั้น หากคนไม่ได้เรียนด้านนี้ก็ไม่สนใจอ่าน ไม่ได้กลายเป็นเรื่องแมส (mass) หรือเป็นวัฒนธรรมมวลชน ขณะเดียวกันการเข้ามาของการ์ตูน หนังสือ ละคร นิยาย จากญี่ปุ่นต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเปิดพรมแดนข้ามชาติ เป็นการข้ามพื้นที่เข้ามาและสิ่งที่มาเปิดพรมแดนคืออินเทอร์เน็ต ทำให้ชุมชนคนได้เจอกัน ในยุคแรกนั้นสาววายจะไปรวมตัวกันใน Geocities ไปสร้างบ้าน หรือที่เรียกว่าแฟนด้อมในปัจจุบัน หากชอบงานประเภทใดก็เข้าไปอยู่ในบ้านนั้นๆ หากมีคนเขียนงานมา วาดการ์ตูนวาย วาดโดจิน หรือเขียนเรื่องให้ตัวละครชายจากเรื่องต่างๆ ชอบกัน แล้วอยากให้คนอ่าน ในยุคนั้นต้องโหลดผ่านบิตทอร์เรนต์ (BitTorrent) ที่ชื่อว่า eMule เป็นรูปลาสีน้ำตาล”

“แต่ที่ทำให้กระแสวายในจีนเติบโตมากๆ คือการเติบโตของรักแห่งสยาม ต้องให้เครดิตกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ตอนนั้นโด่งดังมากก็จะมีกลุ่มทำแฟนซับขึ้นมา จะเห็นได้ว่าแต่ละคนมีที่มาจากหลากหลายที่ ทั้งจากการ์ตูนญี่ปุ่น จากภาพยนตร์รักแห่งสยาม อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคมีหลายกลุ่ม และที่สำคัญคือในยุคของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ถือเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้ามา ลักษณะของชุมชนจึงเปิดกว้างมาก ไม่ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน หรือล็อกอินด้วยชื่อ นามสกุลจริง ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการเปิดเว็บบอร์ดที่คล้ายกับพันทิป เรียกว่า ‘BBS’ มีการเอางานวายไปลงในเว็บบอร์ด เอาไว้พูดคุยพบปะกัน นอกจากเว็บบอร์ดแล้วยังมีเว็บไซต์อีกหนึ่งที่โด่งดังมากคือ fanfiction.net หากเข้าไปจะพบกับนิยาย แฟนฟิกชั่น แฟนอาร์ต ภาพวาดจำนวนมาก มีทั้งนิยายวายที่แต่งใหม่แบบไม่อิงต้นฉบับ ถือได้ว่าเป็นยุคเบ่งบานทางอินเทอร์เน็ตของจีนเป็นการวางรากฐานของวัฒนธรรมวาย”

“ต่อมาในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง การเซ็นเซอร์บนอินเทอร์เน็ตจะเข้มข้นมากขึ้น ยกตัวอย่างการกวาดล้างครั้งใหญ่ในปี 2015 การควบคุมบนอินเทอร์เน็ตเข้มข้นมากจนกระทั่งมีการจัดแบล็คลิสต์สื่อเลย เช่นสื่อไหนที่ชักจูงให้เยาวชนทำผิดกฎหมาย มีเนื้อหาลามก อนาจาร ส่งเสริมความรุนแรง ขัดต่อศีลธรรม ก็โดนเซ็นเซอร์ การ์ตูนที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเหล่านี้หรือพวกเว็บที่เคยลงการ์ตูนและอนิเมะก็ถูกทำให้หายไป สิ่งนี้จะเห็นอีกอย่างว่ามีความเข้าใจผิดเรื่องผู้บริโภคด้วย รัฐบาลมองว่าเยาวชนเป็นผู้เสพ และมองว่าควบคุมเด็กเหล่านี้ไม่ได้จนรัฐต้องยื่นมือมาจัดการ ซึ่งผู้บริโภคเองก็ไม่ได้มีแค่เด็ก คนอายุมากกว่านั้นก็มี แต่รัฐก็ยื่นมือเข้ามาควบคุมไปแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ AO3 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เอาไว้ลงแฟนฟิกชั่นก็โดนรัฐบาลสั่งแบนไป การมีมือที่สามเข้ามายุ่งในเรื่องแบบนี้ เรื่องมักจะวุ่นวายเสมอ”  

ข้อถกเถียง และพื้นที่ทับซ้อนบนวัฒนธรรมวาย

กรพนัช กล่าวว่าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อ “เกิดความรู้สึกอยากเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คือชอบตัวละครในการ์ตูน ในโดชิน แต่ก็มีความรู้สึกหวงแหนในตัวละครนั้น รู้สึกไม่ดีใจหากตัวละครแต่งงานมีครอบครัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าขนาดตัวละครสมมติยังเกิดความรู้สึกอย่างนี้ แล้วนึกภาพกรณีของน้องไบร์ท กลุ่มแฟนคลับจีนก็อาจจะมีความรู้สึกนี้ มันเหมือนกับเรื่องที่แยกไม่ออกระหว่างโลกของวาย กับโลกแห่งความจริง เราต้องเข้าใจว่ายังมีบางส่วนที่แยกตรงนี้ไม่ออก และนอกจากเรื่องการมีแฟนสาวในชีวิตจริงแล้ว ยังมีข้อถกเถียงกันอีก บางทีในการ์ตูน นิยายวายก็มีพวกเนื้อที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและญาติพี่น้อง (incest) การจิ้นกันระหว่างคนอายุมากกับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (Pedophile) จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมวายก็มีปัญหาในตัวมัน ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่เสมอเพราะมีคนที่แยกไม่ออก”

วัฒนธรรมข้ามชาติ การไหลภายใต้โลกาภิวัตน์

นัทธนัย ประสานนาม วิทยากรอีกคนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องวัฒนธรรมวายไว้ว่า “วัฒนธรรมวายไม่ได้เติบโตเฉพาะในไทย หรือจีน แต่เป็นวัฒนธรรมข้ามชาติ เติบโตได้มากในเอเชียตะวันออก จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จะเห็นได้ว่าจากการถกเถียงสะท้อนว่าคนจีนบริโภควายเยอะมาก และไม่ได้บริโภคแค่ซีรีส์วายของจีนเท่านั้น”

กรพนัชมองเรื่องการเติบโตของวัฒนธรรมวายว่า “ในเอเชียตะวันออก มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย ผู้หญิงถูกปิดกั้นการแสดงออกทางเพศ กดขี่ในแง่ของร่างกายและจิตใจ การเข้าสู่วัฒนธรรมวายเลยเป็นการปลดปล่อยพันธนาการที่มีต่อโครงสร้างทางสังคม เป็นการเปิดจินตนาการอย่างหนึ่ง วายจึงเป็นเหมือนภาพตัวแทนที่ผู้หญิงพยายามหลุดออกจากโครงสร้างทางสังคม อีกแง่ก็เป็นรสนิยมส่วนตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเอเชียตะวันออกก็ทำให้วัฒนธรรมวายเติบโต เพราะการเปิดปรารถนา เปิดจินตนาการด้วย” 

ขณะเดียวกัน เมื่อวัฒนธรรมวายมีลักษณะข้ามชาติ จึงต้องอธิบายนิยามของคำว่าวัฒนธรรมด้วย ซึ่งนัทธนัยกล่าวว่า “วัฒนธรรมวายมีลักษณะเป็น Uneasy alliances คือมีกลุ่มเข้ามาเป็นภาคีหลายกลุ่ม มีเรื่องราวที่เชื่อมกันไว้ แต่ก็ค่อนข้างประดักประเดิด มีลักษณะเป็นภาคีที่ไม่ง่าย มันทับซ้อนกันไปหมด ในการถกเถียงก็มีความเป็นพวกเดียวกันอยู่ ตามความหมายของวัฒนธรรมก็เป็นการดิ้นรนอยู่แล้ว ดังนั้นวัฒนธรรมแฟนคลับหรือวัฒนธรรมวายจึงเหมือนสู้กับคนอื่น แต่ในอีกแง่ก็สู้กันเองด้วย”

และไม่เพียงแค่วัฒนธรรมวายที่มีลักษณะข้ามชาติแล้ว วัฒนธรรมแฟนมีตติ้งนับว่าอยู่ในลักษณะเดียวกัน เพราะมีคนมาอยู่รวมกันหลายกลุ่ม อุตสาหกรรมเหล่านี้พาสาววายเดินทางข้ามชาติ ซีรีส์วายอย่างเดือนเกี้ยวเดือนเคยจัดแฟนมีตติ้งที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ หรือ ซีรีส์ไต้หวัน History3 ก็เคยมีแฟนมีตติ้งที่เกาหลีใต้ เคยเขียนโพสต์ขอบคุณแฟนๆ ด้วยภาษาไทย จึงกล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมข้ามชาติ และที่ไทยเองนอกจากผลิตซีรีส์วายส่งออกให้ที่อื่น ก็มีการรับเข้ามาด้วย หรือแม้แต่การทำงานร่วมกันกับทุนจีน นัทธนัยกล่าวว่า “เราจะเห็นโลโก้ของบริษัทจีนเวลาซีรีส์ฉาย ดาราบางคนมีต้นสังกัดที่จีนด้วย ละครวาย ซีรีส์วายจึงไม่ใช่แค่สมบัติของไทย แต่เป็นวัฒนธรรมร่วม เป็นสมบัตินานาชาติ มีลักษณะเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนหลายมิติเลย”

ไบร์ทไม่ใช่คนแรกในวัฒนธรรมวาย? 

นัทธนัยกล่าวว่าไบร์ทไม่ใช่คนแรกที่เจอดราม่าจากชุมชนวาย โดยยกตัวอย่างถึงนักแสดงจากซีรีส์ 网络剧 Heroin / Addicted Web drama อย่างหวงจิ่งอวี๋ และสวี เว่ยโจว สองนักแสดงนำที่เมื่อซีรีส์ได้รับความนิยมสูงสุด เพียงไม่นานก็ถูกแบน ตั้งแต่ยังฉายไม่จบ ต่อมาเมื่อมีแฟนมีตติ้งนอกประเทศ ทั้งคู่ยังไม่สามารถยืนร่วมกันบนเวทีได้ จนกลายเป็นดราม่าข้ามประเทศที่โด่งดังและเจ็บปวดทุกครั้งที่พูดถึง และจากกรณีของคริส พีรวัส และ สิงโต ปราชญา สองนักแสดงนำจากซีรีส์ SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ที่โดนยกเลิกงานแฟนมีตติ้งที่มาเลเซีย เนื่องจากสำนักงานพิพิธภัณฑ์มาเลเซียขอยกเลิกการให้เช่าหอประชุมสำหรับจัดงาน เพราะมองว่าขัดกับค่านิยมทางศาสนาและถือเป็นการชุมนุมของกลุ่ม LGBT 

ซีรีส์ SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง

นัทธนัยจึงมองว่าไบร์ทไม่ใช่ดารารายแรกที่พบกับดราม่าจุกจิกเช่นนี้ เพียงแค่เมื่อมีวัฒนธรรมข้ามชาติ จะเจอเนื้อหาและประเด็นในการถกเถียงที่ซับซ้อน จากตอนแรกที่อาจจะเริ่มแค่แฟนคลับจีนหึงหวงที่มีแฟนสาว แต่ต่อมาเมื่อพบประเด็นเรื่องรัฐชาติ ก็เทน้ำหนักไปที่เรื่องดังกล่าวแทน จนดราม่ากลายเป็นเรื่องถกเถียงข้ามชาติในที่สุด ด้านกรพนัชกล่าวว่า “ปัญหาหลักสำหรับอาจารย์มองว่าคือการแปลข้อความ เพราะความหมายบางอย่างอาจขาดหาย ตกหล่น หรือมีการเติมแต่งลงไปในระหว่างการแปล อีกทั้งวัฒนธรรมวายในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่เปิดด้วย มีตัวละครมากขึ้น มีคนหลากหลายที่เข้ามาอยู่ในชุมชน ดราม่าจึงทวีคูณความซับซ้อน มีหลายเหตุการณ์มาเกี่ยวโยงกันไปหมด และอาจจะมีคนที่ผ่านทางมา เป็นมือที่สามมาร่วมวงด้วย ทุกคนจึงอาจจะต้องวางอัตตา”

นอกจากประเด็นการถกเถียงดราม่าแล้ว นัทธนัยยังตอบคำถามเรื่องสาววายกับการส่งเสริม LGBT ว่า “LGBT ไม่เท่ากับละครวาย เพราะละครวายไม่ได้ลงมาสำรวจอัตลักษณ์กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่สนใจการพัฒนาของตัวละคร อุปสรรค ความรัก เรื่องโรแมนติกในเรื่องมากกว่าส่งเสริมหรือเรียกร้องอะไรบางอย่าง และความแตกต่างอีกประการคือ ซีรีส์ที่เป็น LGBT เวลามีความรักตัวเอกจะต้องเลือก come out หรือพิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนว่าเป็นเกย์ แต่ซีรีส์วายไม่ใช่แบบนั้นคือไม่มีเพศเลย มองว่านี่คือความรักที่ไม่จำกัดเพศและบริสุทธิ์ เรื่องเพศในซีรีส์วายจึงถูกเกลี่ยให้จางหายไปเลย ในบริบทของซีรีส์วายคือการหลงรักแบบไม่ระบุเพศ ระบุแค่เราชอบใครสักคนเท่านั้นเอง”  

โดยกรพนัชก็เสริมว่า “วายเป็นแฟนตาซีแบบหนึ่ง เป็นจินตนาการของผู้แต่ง สาววายที่จีนบางคนก็ไม่ได้ชอบเกย์ น่างงมาก แต่ก็ชอบซีรีส์วายเพราะเนื้อเรื่องของซีรีส์วายมันหอมหวาน สวยงาม จึงกล่าวได้ว่ามันค่อนข้างซับซ้อน”

 

Fact Box

  • คั่นกู หรือซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน (2Gether The Series)” เป็นซีรีส์วาย (ชายรักชาย) ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน สร้างปรากฏการณ์จน #คั่นกู ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่ตอนแรกที่ออนแอร์ ต่อมาตอนที่ 5 #คั่นกู ก็ทะยานขึ้นอันดับ 1 ของเทรนด์โลกในที่สุด ความโด่งดังไม่เพียงมีอยู่แค่ในไทยเท่านั้น แต่สองนักแสดงนำอย่าง ไบร์ท วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน ยังโด่งดังในประเทศจีนมากอีกด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนมีมาตรการคุมเข้มทางอินเทอร์เน็ต ปิดกั้นเว็บไซต์บางอย่าง หากต้องการเข้าถึงจะต้องเปิด VPN ซึ่งทวิตเตอร์เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดตามนักแสดงทั้งสอง ดราม่าเกิดขึ้นเมื่อ “ไบร์ท” รีทวีตโพสต์ของช่างภาพคนหนึ่งที่เรียกฮ่องกงว่าเป็นประเทศ ทวีตดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่แฟนชาวจีนอย่างมาก เพราะคนจีนยึดถือหลักการจีนเดียว และย้ำอยู่เสมอว่า ฮ่องกงไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของจีน 
  • ดราม่ายังโหมกระพือเข้าไปอีกเมื่อแฟนคลับจีนนำข้อความของไบร์ทที่เคยคอมเมนต์ไอจีของ นิว วีรญาแฟนสาวไปแปลเป็นภาษาจีน ซึ่งในข้อความดังกล่าวไบร์ทชมแฟนสาวว่า “สวยจัง เหมือนสาวจีนเลย” แต่นิว แฟนสาวตอบกลับว่า “รายง่ะ” เมื่อแฟนคลับจีนนำข้อความส่วนนี้ไปแปลว่า What? หรือ 什么 ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่านิวไม่ชอบที่ไบร์ทชมตนว่าสวยเหมือนสาวจีน นอกจากนี้ใต้รูปดังกล่าวเพื่อนของนิวยังคอมเมนต์ถามว่ารูปภาพดังกล่าวแนวไหน นิวตอบกลับว่า “ไต้หวัน” ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดว่านิวไม่ชอบจีน และสนับสนุนการแบ่งแยกประเทศ แฟนคลับจีนที่สั่งสมความไม่พอใจมาก่อนหน้าจึงเปิดฉากต่อว่าแฟนสาวของไบร์ท นำไปสู่การติด #nnevvy ถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นระหว่างจีน ไต้หวัน ฮ่องกง กลายเป็นเรื่องราวข้ามชาติในที่สุด
Tags: ,