บริตนีย์ สเปียร์ส (Britney Spears) ถือเป็นหนึ่งในซูเปอร์สตาร์ที่ล้มลุกคลุกคลานและต่อสู้กับแรงกดทับต่างๆ ในชีวิตของตนเองมาอย่างยาวนานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต พ่อที่ชี้นิ้วคอยบงการไม่ให้เธอใช้ชีวิตอย่างอิสระ และชีวิตรักที่ไม่ราบรื่นนัก

ในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘The Woman in Me’ บริตนีย์เปิดเผยความทรงจำมากมายจากมุมมองของเธอเองที่เราอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน หนึ่งในนั้นคือความลับของความสัมพันธ์กับ จัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) ที่เธอเก็บงำไว้ในใจมานานถึง 20 ปี

ประสบการณ์การทำแท้งในยุคสมัยที่การทำแท้งยังผิดกฎหมายเกือบทุกรัฐในสหรัฐอเมริกานั่นเอง

บริตนีย์เล่าว่า การทำแท้งจำเป็นต้องเกิดขึ้นที่บ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถเก็บทุกอย่างเป็นความลับจากทุกคน ยกเว้นผู้จัดการของเธอ เธอต้องกินยาเม็ดเล็กๆ สำหรับยุติการตั้งครรภ์ที่ทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรง เธอยังจดจำได้ว่า ตลอดเวลาหลายชั่วโมงที่เธอนอนร้องไห้อยู่บนพื้นห้องน้ำ แม้จัสตินจะไม่ได้พาเธอไปส่งโรงพยาบาล แต่เขาก็ตามเธอเข้ามานอนอยู่ข้างๆ กันและดีดกีตาร์ให้ฟัง เพราะหวังว่าเสียงดนตรีอาจช่วยอะไรได้บ้าง

ถ้าให้ฉันตัดสินใจเองคนเดียว ฉันคงไม่มีวันทำมันหรอก แต่จัสตินมั่นใจว่า เขายังไม่อยากกลายเป็นพ่อคน

จนถึงวันนี้ เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันทุกข์ทรมานใจมากที่สุดเท่าที่ฉันเคยประสบมาในชีวิต” บริตนีย์เล่า

เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดว่า เราควรจะกล่าวโทษจัสตินหรือไม่ และโทษได้มากแค่ไหนว่า เขาเป็นต้นเหตุของประสบการณ์การทำแท้งอันเจ็บปวดนี้ เพราะในขณะนั้น เขาตกอยู่ในที่นั่งที่คนอายุน้อยมากมายก็เคยผ่านมาเช่นกัน นั่นคือความวิตกกังวลเนื่องจากยังไม่พร้อมมีลูก

(พิจารณาแยกเป็นคนละประเด็นกับเรื่องที่เขาพยายามทำลายชื่อเสียงของเธอหลังเลิกรากัน)

หากเหตุการณ์ทั้งหมดถูกเปิดเผยตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งเขาและเธออาจต้องถูกสาธารณชนตราหน้าว่าเป็นฆาตกรฆ่าลูก แต่อาจเพราะเรื่องเพิ่งถูกนำมาเปิดเผยในยุคสมัยที่การทำแท้งกลายเป็นวิถีปกติในการวางแผนครอบครัว คำถามที่ตามมาจึงซับซ้อนกว่าเรื่องเบสิกๆ อย่าง ‘การทำแท้งผิดศีลธรรมหรือไม่?’ หรือ ‘จะเลือกอยู่ฝ่าย Pro-Life หรือ Pro-Choice?’

คอลัมน์ Gender สัปดาห์นี้ The Momentum ขอชวนผู้อ่านมาสำรวจข้อถกเถียงทางจริยธรรมเกี่ยวกับพลวัตของอำนาจในการตัดสินใจทำแท้ง (หรือเก็บเด็กเอาไว้) ทั้งในฐานะ ‘เจ้าของครรภ์’ และ ‘เจ้าของสเปิร์ม’ บนจุดยืน ‘Pro-Choice’ ที่ตั้งคำถามต่อว่า แล้วใครบ้างที่มีส่วนร่วมใน ‘Choice’ ที่ว่า?

เมื่อเจ้าของครรภ์ต้องการยุติการตั้งครรภ์

  ในบทความซีรีส์การทำแท้งของ The Atlantic ที่เปิดให้ผู้หญิงและผู้ชายส่งอีเมลเข้ามาดีเบตกัน ตัวแทนฝ่ายชายภายใต้นามแฝง ‘โทนี’ เล่าถึงความทุกข์ที่เขาได้รับจากการตัดสินใจทำแท้งของแฟนเก่า

  มันยากมากอยู่แล้วที่จะต้องทำความเข้าใจว่าเธอกำลังท้องลูกของผมอยู่ แทบไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ผมจะไม่มีสิทธิลงความเห็นอะไร ในการตัดสินใจอนาคตของเด็กที่ผมมีส่วนช่วยสร้างขึ้นมา แม้จะกลัวแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าแกเป็นเด็กคนหนึ่ง เป็นลูกของผม และผมทำได้ทุกอย่างเพื่อแก

เขาส่งอีเมลเข้ามาเพื่อแสดงจุดยืนว่า ผู้ชายก็ได้รับผลกระทบและมีส่วนรับผิดชอบในตัวเด็กในครรภ์ที่อาจเกิดมาเช่นกัน เสียงของผู้ชายจึงควรได้รับการได้ยิน

เพื่ออธิบายจุดยืนของตนเองให้โทนีเข้าใจ ตัวแทนฝ่ายหญิงเจ้าของนามแฝง ‘IANAL’ เปรียบเทียบการตั้งครรภ์เหมือนการทำสัญญาร่วมกัน ด้วยสถานะที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่แตกต่างกันในการยุติ (หรือป้องกัน) การตั้งครรภ์ รวมถึงโอกาสในการใช้สิทธิดังกล่าวในระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน

อนุมานว่าสัญญานี้ถูกร่างขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจจะมีเซ็กซ์ หากไม่ต้องการให้มีการทำแท้งเกิดขึ้น ฝ่าย ‘เจ้าของสเปิร์ม’ สามารถใช้สิทธิในการป้องกันการตั้งครรภ์เสียตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการใส่ถุงยางและตกลงกับคู่นอนเรื่องวิธีคุมกำเนิดอย่างรัดกุม

แต่สำหรับฝ่าย ‘เจ้าของครรภ์’ นอกจากจะมีสิทธิในการคุมกำเนิดแบบเดียวกัน หลังจากที่ตนเองตั้งครรภ์แล้ว หากต้องการ พวกเขายังมีสิทธิในการเลือกที่จะทำแท้งได้ โดยยึดเอาความสบายใจของตนเป็นหลัก

เหตุผลที่นี่เป็นเงื่อนไขที่ยุติธรรมในมุมมองของฉัน เป็นเพราะผู้หญิงและผู้ชายเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน สิทธิและบทบาทของพวกเขาย่อมแตกต่างกันไปด้วย [โทนี] พูดถึงปัญหาแค่ตอนอุ้มท้อง แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงคนหนึ่งอาจต้องเผชิญปัญหาสุขภาพไปตลอดชีวิตจากการตั้งท้องครั้งหนึ่ง ไม่ได้มีปัญหาแค่ช่วงเก้าเดือนก่อนคลอดเท่านั้น” IANAL อธิบาย

แล้วหากเจ้าของสเปิร์มเป็นฝ่ายต้องการยุติการตั้งครรภ์ล่ะ?

จอห์น ฮาร์ดวิก (John Hardwig) นักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญด้านชีวจริยธรรม (Bioethics) เขียนถึงบทบาทของผู้ชายในการตัดสินใจทำแท้ง โดยตั้งคำถามกับแนวคิดที่ว่า ‘การตัดสินใจที่เกี่ยวกับเด็กในครรภ์ควรของเป็นของฝ่ายหญิงอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเลือกเก็บเด็กไว้หรือทำแท้งก็ตาม’

ฮาร์ดวิกเชื่อว่า หากคำตอบสุดท้ายคือการตัดสินใจทำแท้ง เจ้าของครรภ์มีสิทธิเด็ดขาดที่จะดำเนินการตามนั้น แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เชื่อว่า เช่นเดียวกับที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนสมควรถูกยัดเยียดความเป็นแม่ ย่อมไม่มีผู้ชายคนไหนสมควรยัดเยียดความเป็นพ่อให้เช่นกัน

เพราะในกรณีที่ฝ่ายหญิงต้องการที่จะเก็บเด็กเอาไว้โดยขัดกับความต้องการของฝ่ายชาย ต่อให้เธอจะสามารถบอกอนุญาตให้เขาเป็นอิสระจากความรับผิดชอบทางวัตถุต่อตัวเด็ก แต่เธออาจไม่สามารถปลดปล่อยเขาจากข้อผูกมัดทางศีลธรรมที่บังคับให้เขาจำนนต่อความรู้สึกว่า ‘ควร’ รับผิดชอบในตัวเด็กได้ และนั่นอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในอนาคตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่แน่ว่าการตัดสินใจที่จะทำแท้งของบริตนีย์อาจเกิดขึ้นจากความคิดแบบเดียวกัน

“(การตั้งท้อง)เป็นเรื่องน่าตกใจ แต่สำหรับฉัน มันไม่เคยเป็นเรื่องน่าเศร้า ฉันรักจัสตินมากเหลือเกินและคาดหวังอยู่แล้วว่า วันหนึ่งเราจะสร้างครอบครัวด้วยกัน ติดแค่ว่าวันนั้นดันมาถึงเร็วกว่าที่คิด” บริตนีย์บรรยายถึงความรู้สึกนึกคิดในตอนนั้นลงในหนังสือของเธอ แต่แน่ละว่า จัสตินไม่แฮปปี้เรื่องที่ฉันท้อง เขาบอกว่าเรายังไม่พร้อมที่จะมีลูกเข้ามาในชีวิต เรายังเด็กเกินไป”

แม้จะสั่นกลัวและรู้ตัวเองดีเพียงไรว่าไม่ได้อยากทำแท้ง แต่ในท้ายที่สุด บริตนีย์ก็เคารพความคิดเห็นของจัสตินและตัดสินใจทำตามความต้องการของเขา แม้ว่าในเวลานั้น การทำแท้งจะยังผิดกฎหมายและถูกตีตราให้เป็นเรื่องชั่วร้ายก็ตาม

อิสรภาพเหนือร่างกาย VS อิสรภาพเหนือความเจริญพันธุ์?

อาจเป็นเพราะการทำแท้งเพิ่งได้รับการยอมรับในสังคม และผ่านกระบวนการทำให้ถูกกฎหมายได้เพียงไม่นาน จึงยังไม่มีข้อกฎหมายที่สามารถชี้ขาดสิทธิของแต่ละฝ่ายได้ แต่แน่นอนว่าเคยมีการถกเถียงถึงการร่างกฎหมายที่เป็นไปได้ขึ้นมา

เช่น กลุ่ม ‘Choice for Men’ ในสหรัฐฯ ที่ผลักดันให้มีการร่างกฎหมายกำหนดให้มีช่วงเวลาที่ฝ่ายชายสามารถทำหนังสือยอมรับหรือปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเงินต่อตัวเด็กอย่างเป็นทางการ โดยเสนอให้เป็นภายในช่วง 1 เดือน หรือ 1 ไตรมาสแรกของครรภ์

หมายความว่า เมื่อฝ่ายหญิงรับรู้ว่าฝ่ายชายปฏิเสธไม่รับผิดชอบ เธอจะต้องเลือกระหว่างการยุติการตั้งครรภ์ หรืออุ้มท้องต่อไปจนกระทั่งคลอดเด็กออกมา แล้วรับผิดชอบเลี้ยงดูเด็กคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ดี ความกังวลของการร่างกฎหมายในลักษณะนี้ คืออาจกลายเป็นการส่งเสริมให้ประชากรชายใส่ใจการคุมกำเนิดน้อยลง อีกทั้งยังอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ ‘สร้างหลักประกัน’ ของฝ่ายชาย เพื่อให้ตนเองมีตัวเลือกที่จะทอดทิ้งเด็กได้ทันทีที่ความสัมพันธ์กับแม่เด็กไม่ราบรื่น

เมื่อยังไม่มีหลักการที่น่าเชื่อถือหรือกฎหมายใดๆ รองรับ ข้อถกเถียงว่าอำนาจในการเลือกที่จะทำแท้งหรือเก็บเด็กไว้ ควรเป็นของเจ้าของครรภ์อย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว หรือควรชั่งน้ำหนักร่วมกันกับเจ้าของสเปิร์ม จึงเป็นการงัดข้อกันระหว่าง อิสรภาพเหนือร่างกาย (Bodily Autonomy) ของเจ้าของครรภ์ กับอิสรภาพเหนือความเจริญพันธุ์ (Reproductive Autonomy) ของเจ้าของสเปิร์ม

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-67136898

https://people.com/britney-spears-reveals-how-she-and-justin-timberlake-kept-her-abortion-secret-8374349

https://www.theatlantic.com/health/archive/2016/08/how-much-say-should-a-guy-have-with-abortion/623442/

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1002/hast.432

Tags: , , , , , ,