ปัจจุบัน หลายคนคงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่เอื้ออำนวยให้เพศชายมีบทบาทในสถาบันทางสังคมต่างๆ หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ‘ปิตาธิปไตย’ แต่ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อน โลกนี้ยังมีพื้นที่ที่ผู้หญิงเป็นผู้นำมาก่อน โดยวัฒนธรรมดังกล่าวจะถูกเรียกว่า ‘สังคมอำนาจฝ่ายมารดา’ (Matriarchal Society) หรือการสืบสายตระกูลทางมารดาเป็นหลัก ทำให้เกิดความคิดและค่านิยมเคารพนับถือแค่เพศหญิงเท่านั้นกระจายตัวอยู่ทั่วโลก

วัฒนธรรมอำนาจฝ่ายมารดาปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ เช่น เผ่ามินังกาเบาในประเทศอินโดนีเซีย เผ่ากาสีและเผ่ามูเซอในประเทศจีน หรือเผ่าบริบรีในประเทศคอสตาริกา จุดร่วมที่เผ่าเหล่านี้มีเหมือนกัน คือการให้คุณค่าและบทบาทแก่เพศหญิง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ลดทอนหรือกีดกันเพศชายออกจากสังคม ก่อนค่านิยมดังกล่าวจะลดความสำคัญไปตามยุคสมัย ตามคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง และการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างถิ่น

1

ภายใต้เงาของเทือกเขาหิมาลัย ใกล้เคียงแถบชายแดนของมณฑลยูนนานและเสฉวน ยังมีชนเผ่าที่มีความซับซ้อนทางวัฒนธรรมและยึดหลักเคารพเพศหญิง ให้ผู้หญิงมีอำนาจเหนือผู้ชายแทบทุกเรื่อง เช่น นามสกุลจะสืบทอดผ่านฝ่ายหญิง การจัดการเงินภายในครอบครัว ทั้งการหาเงินและบริหารรายรับ-รายจ่ายภายในบ้าน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตรแต่เพียงผู้เดียว การเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยชอบธรรม และคนที่มีอำนาจในบ้านส่วนใหญ่จะเป็นยายหรือแม่ ส่วนผู้ชายจะเป็นผู้ช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่ฝ่ายหญิงจะเอ่ยปากบอกให้ทำ

การสืบทอดอำนาจจากแม่ไปยังลูกสาวจะเกิดขึ้นเมื่อลูกสาวอายุ 12 ปี โดยที่ลูกสาวต้องแยกไปอยู่ห้องส่วนตัว เป็นสัญลักษณ์ว่าเด็กหญิงพร้อมเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ วิธีหาคู่ของหญิงสาวเผ่านี้คือการจัด ‘ระบำกองไฟ’ ให้ชายหนุ่มเข้ามาสะกิดมือหญิงสาวที่ตนสนใจ และหากหญิงสาวมีใจให้เหมือนกันก็จะสะกิดมือตอบ

การแต่งงานไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเผ่ามูเซอ เมื่อผู้ชายถูกใจหญิงสาวบ้านไหนก็จะไปปาหินที่หน้าต่างห้องหญิงผู้นั้น หากผู้หญิงแง้มหน้าต่างต้อนรับโดยไม่ปิดหนี ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ชายหนุ่มปีนขึ้นหน้าต่างนั้นได้ และชายผู้นั้นจะแขวนหมวกของตนไว้ที่หน้าต่างเพื่อบอกกับชุมชนว่าหญิงสาวบ้านนี้เลือกคู่ครองแล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะร่วมหลับนอนกันได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีแต่งงาน หากฝ่ายหญิงท้องก็ไม่มีความจำเป็นต้องสืบสาวราวเรื่องว่าใครเป็นพ่อเด็ก ผู้ที่เลี้ยงดูเด็กคือฝ่ายหญิงและมารดาของฝ่ายหญิงเท่านั้น และวัฒนธรรมนี้จะไม่มีคำว่า ‘พ่อ’ แสดงให้เห็นว่าผู้ชายในเผ่าไม่ได้มีอำนาจหรือหน้าที่ดูแลบุตรเลย

2

บางคนให้นิยามถึงศาสนาที่มีลักษณะของการนับถือธรรมชาติ หรือเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติว่าศาสนาผี (Animism) ซึ่งทั้งจีนตอนใต้และอุษาคเนย์มีศาสนาที่นับถือผีและธรรมชาติคล้ายกัน สังเกตได้ว่าชุมชนที่ให้อำนาจแก่ผู้หญิงจะนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลากหลายและทุกสิ่งที่ล้วนมาจากธรรมชาติ

วัฒนธรรมของเผ่ามูเซอขยายอิทธิพลมาถึงเมียนมาตอนเหนือ รวมถึงภาคเหนือและอีสานของไทย บวกอีกหนึ่งตัวแปรคือศาสนาผีซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมืองของชาวอุษาคเนย์ในสมัยก่อน การนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติโดยที่เรียกสิ่งพวกนี้ว่า ‘ผี’ ไม่ได้หมายถึงวิญญาณคนตายตามที่เราเข้าใจ แต่หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเคารพบูชาประจำถิ่นที่คอยทำหน้าที่ปกป้อง ปัดเป่าภัยธรรมชาติและความเจ็บป่วยต่างๆ

ชาวอุษาคเนย์นับถือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา ป่า ลำธาร แม่น้ำ และไร่นา ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้คำว่า ‘แม่’ เรียกหลายสิ่งในธรรมชาติ อย่างแม่คงคา แม่ธรณี และเจ้าแม่ตานี ทำให้เห็นว่าคนสมัยก่อนมองผีเป็นเพศหญิงเสียส่วนใหญ่

บริบทของผู้หญิงในแถบนี้เน้นและให้ความสำคัญกับความเป็นแม่หรือเครือญาติฝั่งแม่ ผู้หญิงเป็นตัวแทนของการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ ความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอุษาคเนย์มองเพศหญิงคือการเป็นตัวกลางสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีบรรพบุรุษ ตามความเชื่อเรื่องการสืบทอดสิ่งต่างๆ ทางผู้หญิง มากไปกว่านั้น ตำแหน่งร่างทรงจะสืบทอดส่งต่อให้กับลูกสาวคนโตอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าสถานะของผีเพศหญิงยังคงสูงกว่าเพศชายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวอีสานของไทยแตกต่างจากเผ่ามูเซอคือ ‘การแต่งงาน’ ปกติเรามักคุ้นเคยกับประเพณีหญิงแต่งเข้าบ้านชาย ในทางกลับกัน ชาวอีสานเคยมีวัฒนธรรมให้ชายแต่งเข้าบ้านหญิง ดังสุภาษิต ‘เอาลูกเขยมาเลี้ยงพ่อเฒ่าแม่เฒ่าปานได้ข้าวมาใส่เล้าใส่เยีย’

หากเกิดสถานการณ์ที่ฝ่ายหญิงย้ายเข้าบ้านฝ่ายชาย ชาวอีสานจะถือว่าเป็นอัปมงคล ดังสุภาษิต ‘เอาลูกสะใภ้มาเลี้ยงย่า ปานเอาผีเอาห่ามาใส่เฮือนใส่ชาน’

3

เมื่อความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อพื้นเมืองที่อยู่คู่กับท้องถิ่นมาแสนนาน แล้วทำไมเราถึงไม่เห็นในสังคมปัจจุบัน ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้วัฒนธรรมนี้หายไป?

แท้จริงแล้ววัฒนธรรมพื้นเมืองไม่ได้หายไปเสียทีเดียว แต่ถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อเสียมากกว่า

ทางภาคกลางและอีสานของไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมชุดเดียวกัน และภาคกลางหรือแถบสุโขทัยก็ได้รับวัฒนธรรมตะวันตกก่อนภาคอีสาน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศในช่วงล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเอื้อให้สุโขทัยและอยุธยาค้าขายกับภายนอกได้ ขณะที่อีสานและล้านนาเป็นพื้นที่ปิด ทำให้ไม่สามารถรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ง่ายนัก จึงยึดกับความเชื่อพื้นเมืองเป็นหลัก แต่เมื่อการขยายตัวของสุโขทัยและอยุธยานำพาชุดความเชื่อใหม่ ศาสนา และการค้าเข้ามา จึงเกิดการถ่วงดุลระหว่างศาสนาพื้นเมืองกับศาสนาใหม่ขึ้น

ศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือศาสนาพุทธ พราหมณ์-ฮินดู จากประเทศอินเดีย และศาสนาคริสต์จากประเทศโปรตุเกส ศาสนาที่อยู่ในคลื่นกระแสหลักอย่างศาสนาพุทธและคริสต์ มีข้อแตกต่างชัดเจนกับศาสนาพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำสอน คัมภีร์ และการขับเคลื่อนอิทธิพลของศาสนา รวมถึงศาสนาพื้นเมืองไม่มีคัมภีร์ ไม่มีการจดบันทึก และไม่มีศาสดาชัดเจน จึงไม่ยากที่จะถูกศาสนาที่คิดว่าตัวเองมีอารยะเหนือกว่า กลืนกินและปัดความสำคัญของศาสนาผีเหลือเป็นเพียงความเชื่อหรือนิทานปรัมปราท้องถิ่น

ศาสนาจากอินเดียสร้างการเปลี่ยนแปลงให้วัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านกระบวนการสันสกฤตาภิวัตน์ หรือทำให้เป็นสันสกฤต (Sanskritization) คนในชนชั้นต่ำกว่าในระบบวรรณะเคลื่อนที่ขึ้นไปตามชนชั้น ด้วยพิธีกรรมและการปฏิบัติตามอย่างชนชั้นที่สูงกว่าหรือชนชั้นปกครอง กล่าวคือเหล่าผู้มาเยือนไม่ว่าจะเป็นนักบวช พ่อค้า หรือผู้ที่นับถือในศาสนาพุทธ พราหมณ์-ฮินดู มองว่าศาสนาผีหรือศาสนาพื้นเมืองเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าตน เป็นพวกไร้อารยะไม่สามารถอ่านและเขียนได้ จึงนำจุดอ่อนเหล่านี้มากดดันให้คนพื้นเมืองยอมรับวัฒนธรรมของตนโดยที่ยังคงความเป็นศาสนาพื้นเมืองไว้ได้ในบางส่วน เช่นเดียวกับกระบวนการสั่งสอนให้เป็นคริสต์ศาสนิกชน (Christianization) ของชาวตะวันตก

สิ่งที่กล่าวมาล้วนเกิดขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ช่วงที่เกิดการค้า และแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรต่างๆ ยกตัวอย่างในช่วง ค.ศ. 1510 เป็นต้นมา กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ความต่อเนื่องจากการค้าขายกับชาติตะวันตกเป็นระยะเวลานาน ซึมซับวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงการพยายามทำให้ตัวเองตามความเจริญของชาติตะวันตกให้ทัน ส่งผลให้ความเชื่อพื้นเมืองถูกลดความสำคัญลงเรื่อยมา

ไม่เพียงเท่านี้ ยังคงมีผู้คนถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธเป็นตัวแปรหลักที่ลดทอดบทบาทของผู้หญิงในสังคมหรือไม่ ศาสนาพุทธอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เติบโตอย่างเข้มแข็งในภูมิภาคนี้ สร้างฐานอำนาจปิตาธิปไตยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งการปรับคำสอนให้เข้ากับระบอบการปกครองในยุคนั้น รวมถึงหลายยุคสมัยก็นำศาสนามาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างอำนาจปกครอง โดยหนึ่งผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดจากการเติบโตของความเป็นปิตาธิปไตยในสยาม คือ พ.ร.บ.นามสกุล ที่ระบุให้บุตรต้องใช้นามสกุลของฝ่ายชายเท่านั้น

Tags: , , , , ,