**บทความนี้พูดถึงการข่มขืน**
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2025 ศาลสูงแห่งรัฐฉัตตีสครห์ (Chhattisgarh) ประเทศอินเดีย ปล่อยตัวชายวัย 40 ปีที่มีเซ็กซ์แบบผิดธรรมชาติกับภรรยาโดยไม่ได้รับความยินยอม จนกระทั่งเธอเสียชีวิต โดยคำตัดสินของศาลอ้างว่า กิจกรรมทางเพศระหว่างสามีภรรยาไม่นับเป็นการข่มขืน จึงเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากประชาชน
คดีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 หลังจากหญิงสาวคนหนึ่งเข้าแจ้งความกับผู้พิพากษาศาลแขวงว่า เธอถูกสามีบังคับร่วมเพศแบบผิดธรรมชาติ ทำให้เจ็บหนัก จากนั้นเธอก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลภายในวันเดียวกัน อ้างอิงจากรายงานการชันสูตรศพ สาเหตุการเสียชีวิตคือ เยื่อบุช่องท้องอักเสบและลำไส้ใหญ่ตอนปลายทะลุ
ต่อมาในปี 2019 สามีของหญิงสาวถูกจับและศาลชั้นต้นเขตบาสตาร์ (Bastar) รัฐฉัตตีสครห์ตัดสินให้จำคุก 10 ปี ภายใต้ความผิดทางอาญา 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 377 ข่มขืน, มาตรา 376 มีเซ็กซ์แบบผิดธรรมชาติ และมาตรา 304 ทำให้คนตายโดยไม่เจตนาฆ่า
แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เพราะสามียื่นอุทธรณ์กับศาลสูง คดีจึงถูกรื้อกลับมาพิจารณาใหม่ มีการขึ้นศาลอีกครั้งในปี 2024 แต่ไม่ได้ข้อสรุป กระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลสูงฉัตตีสครห์เพิ่งตัดสินชัดเจนว่า จำเลยไม่ผิด โดยอ้างอิงกฎหมายมาตรา 375 ซึ่งระบุข้อยกเว้นไว้ดังนี้
“หากอายุของภรรยาเกิน 18 ปี การร่วมเพศหรือกิจกรรมทางเพศใดๆ ก็ตามที่สามีกระทำต่อภรรยาจะไม่ถือเป็นการข่มขืน”
ศาลสูงมองว่า ข้อยกเว้นควรครอบคลุมทั้งในกรณีข่มขืนและเซ็กซ์ผิดธรรมชาติ คำตัดสินเอาผิดตามมาตรา 377 และ 366 โดยศาลชั้นต้นจึงถูกปัดตกไป ในส่วนของคำตัดสินเอาผิดมาตรา 304 ศาลสูงกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลรองรับหรือพยานหลักฐานมากพอ นอกจากคำให้การของเหยื่อที่เสียชีวิตไปแล้ว
สุดท้ายจำเลยจึงพ้นผิดทุกข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวจากคุกทันที
ปัจจุบันการข่มขืนระหว่างคู่สมรส (Marital Rape) ถือเป็นความผิดอาญาในมากกว่า 100 ประเทศ และอันที่จริงในอินเดียก็เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ประชาชนจำนวนมากมองว่า กฎหมายมาตรา 375 ล้าหลังและลิดรอนสิทธิผู้หญิง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลสูงสุดของอินเดียเคยมีการพิจารณาแก้ไขมาตรานี้ไปแล้วรอบหนึ่ง แต่คณะผู้พิพากษาไม่สามารถหาข้อสรุปได้ การพิจารณาจึงถูกเลื่อนออกไป
ระหว่างการพิจารณานี้ รัฐบาลอินเดียได้ออกคำให้การโต้แย้งต่อศาลสูงสุดด้วยว่า ถึงแม้ความยินยอมจะเป็นสิ่งสำคัญ และสามีควรได้รับโทษหากไม่เคารพความยินยอมของภรรยา แต่การตัดสินโทษดังกล่าวเป็น ‘การข่มขืน’ ถือว่า ‘รุนแรงเกินควร’ และอาจมีผลอย่างหนักต่อความสัมพันธ์คู่สมรส ก่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างมากในสถาบันครอบครัว
อ้างอิงจากแบบสำรวจ National Family Health Survey ปี 2019-2021 ผู้หญิงอินเดียที่แต่งงานแล้ว 32% เคยถูกสามีกระทำรุนแรงทางกาย ทางใจ หรือทางเพศ และพบว่า ในหมู่ผู้หญิงแต่งงานแล้วที่เคยประสบความรุนแรงทางเพศ มีผู้ก่อเหตุเป็นสามีปัจจุบัน 82% และเป็นสามีเก่า 13.7%
ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ภาพ ‘สถาบันครอบครัว’ ในอุดมคติที่รัฐบาลอินเดียต้องการปกป้องเป็นแบบไหน และหาก ‘ความวุ่นวาย ที่รัฐบาลเกรงกลัว ช่วยให้ผู้หญิง 32% หลุดพ้นจากสามีตัวอันตรายได้ จะไม่เป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าหรอกหรือ
เมื่อย้อนกลับมามองที่ประเทศไทยอาจพบว่า เราเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขาเท่าไรนัก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ระบุไว้ว่า หากการข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังต้องการอยู่ด้วยกันต่อไป “ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้”
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 281 กำหนดให้การข่มขืนระหว่างคู่สมรสเป็น ‘ความผิดที่ยอมความได้’ หากไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าคนจำนวนมาก หรือผู้ถูกกระทำไม่ได้เจ็บหนักหรือเสียชีวิต
ทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนให้เห็นคุณค่าและขนบธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกันของ 2 ประเทศ ตั้งแต่เล็กจนโต พวกเรามักจะถูกสอนว่า อย่าไปยุ่งเรื่องผัวๆ เมียๆ ปัญหาระหว่างคู่สมรสเป็นสิ่งที่ควรซุกซ่อนไว้ลึกที่สุด ไม่ให้คนนอกรับรู้ และไม่ใช่กงการของรัฐที่จะมาช่วยแก้ไข
แต่เมื่อเรื่องผัวๆ เมียๆ ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงทางเพศ เมื่อผู้ข่มขืนสามารถรอดพ้นจากโทษอาญา แค่เพราะฝ่ายถูกข่มขืนมีชื่ออยู่บนทะเบียนสมรสร่วมกับเขา อาจถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราต้องพิจารณาขนบธรรมเนียมใหม่
คุณค่า ‘สถาบัน’ ครอบครัวที่เราให้ความสำคัญนักหนา แท้จริงแล้วช่วยปกป้อง ‘คน’ ในครอบครัวได้มากน้อยเพียงใด
เป็นคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ
อ้างอิง
https://www.cbsnews.com/news/india-rape-in-marriage-government-opposes-update-law/
https://www.scobserver.in/wp-content/uploads/2023/03/Counter-Affidavit-by-Union-Marital-Rape.pdf
https://dhsprogram.com/pubs/pdf/FR375/FR375.pdf
https://www3.ago.go.th/legald/wp-content/uploads/2021/11/v-213-date_21_06_2562.pdf
Tags: Gender, อินเดีย, Marital Rape