“ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน”

“ชอบคนอายุน้อยครับ ชุดนักเรียนเห็นแล้วอารมณ์ขึ้นดี”

เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา สืบนครบาลบุกจับ เปรม-วัชรวิทย์ สูงนารถ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาคดีพรากผู้เยาว์ จากการปล่อยคลิปวิดีโอขณะมีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถึง 3 ครั้ง (ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ) หลังพยายามตามง้อให้ผู้เสียหายกลับมาคืนดีแต่ไม่เป็นผล

“ไม่อยากมีชีวิตต่อ” คือคำที่หนึ่งในผู้เสียหายก้มกราบเท้าแม่และขออนุญาตลาตาย จากประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง 

ภายหลังการจับกุมพบว่า ไม่ได้มีผู้เสียหายเพียงคนเดียว เพราะในมือถือและคอมพิวเตอร์ของเปรมมีคลิปผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 15 คลิป พร้อมภาพวาบหวิวของนักเรียนผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ราย สิ่งสำคัญคือหากย้อนเวลากลับไป ณ วันเวลาถ่ายคลิปวิดีโอจะพบว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีอายุระหว่าง 12-15 ปี 

“บางทีเด็กต้องการที่พึ่ง เขามาหาด้วยสายตากังวล พอเราให้คำแนะนำไป สายตาเขาก็เปลี่ยน ตาเขาเป็นประกาย เรารู้สึกว่าช่วยเด็กได้ เราเป็นที่พึ่งของเด็กได้” เปรมให้สัมภาษณ์กับรายการสารคดี ฉันจะเป็นครู ทาง ThaiPBS เมื่อปี 2562

‘ชอบคนอายุน้อย เห็นแล้วอารมณ์ขึ้น ต้องใส่ชุดนักเรียน’ 

‘เมื่อให้คำแนะนำ สายตานักเรียนเปลี่ยนไป’ 

‘ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์’ 

สิ่งเหล่านี้สามารถบอกอะไรได้บ้าง The Momentum ชวนขยายประเด็นจากข่าวว่า เห็นมิติทางสังคมอะไรบ้างจากกรณีนี้?

Child Grooming

สมาคมป้องกันการทารุณกรรมเด็กแห่งชาติ (NSPCC) สหราชอาณาจักร นิยามคำว่า ‘กรูมมิ่ง’ (Grooming) คือการกระทำที่ผู้กระทำพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความไว้ใจ สร้างสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ต่อเด็ก หรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อจัดการควบคุม แสวงหาประโยชน์ ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ

หากดูจากบทสัมภาษณ์ของเปรมจะพบว่า เข้าข่ายการ ‘กรูมมิ่ง’ เพราะเขาสร้างความไว้วางใจต่อเด็ก มอบความเชื่อมั่นอย่างที่ให้สัมภาษณ์ว่า “บางทีเด็กต้องการที่พึ่ง เขามาหาด้วยสายตากังวล พอเราให้คำแนะนำไป สายตาเขาก็เปลี่ยน ตาเขาเป็นประกาย

เมื่อเด็กเกิดความไว้วางใจ เปรมจึงแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวไปจนถึงขอพัฒนาความสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ และถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ ทั้งนี้เขายังระบุอีกว่า มีรสนิยมชอบเด็ก เวลามีเพศสัมพันธ์มักใช้เชือกผูกมัดมือมัดเท้า ในลักษณะขึงพืด ผ้าปิดตา และผู้หญิงต้องสวมใส่ชุดนักเรียน

Pedophilian

โรคใคร่เด็ก หรือเปโดฯ ย่อมาจากคำว่า Pedophilia หมายถึงพวกผู้ใหญ่ที่มีความต้องการทางเพศต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี รวมไปถึงกลุุ่มที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (Minor) และมองเด็กเป็นวัตถุทางเพศ หากย้อนดูบทสัมภาษณ์คงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก ทุกคนคงสามารถตัดสินกันเองได้ว่า เปรมเป็นพวกใคร่เด็กหรือไม่?

อีกสิ่งที่อยากจะเน้นในประเด็นนี้คือ หลายครั้งสังคมขาดความเข้าใจ และมองว่าเป็นการตกลงคบกันของทั้งสองฝ่าย (Consent) แต่ในภาวะที่อีกคนมีอำนาจเหนือกว่า ทั้งแง่บทบาท อาชีพ และอายุ ซึ่งกรณีนี้ เปรมเป็นครูฝึกสอน (ช่วงเริ่มมีความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียน) จนถึงปัจจุบันที่เป็นครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา สถานที่ที่เขาใช้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน สร้างความไว้วางใจและแสวงหาประโยชน์กับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ สิ่งนี้สามารถเรียกว่าเป็นการสมยอม ตกลงปลงใจของทั้งสองฝ่าย หรือความรักได้อีกหรือ? 

ท้ายที่สุดความคิดและอคติเหล่านี้ อาจนำไปสู่การโยนความผิดให้กับเหยื่อ (Victim Blaming) อย่างข้อความที่มักเห็นกันบ่อยๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เด็กมันยั่วเลยหลวมตัวไปหน่อย, เด็กมันเล่นด้วย หรืออาจมองด้วยสายตาโรแมนติก (?) ว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม ความรักไม่มีอายุ และนี่ไม่ใช่โรคใคร่เด็ก

ถามอีกครั้ง เราสามารถเรียกสิ่งนี้ว่าความรักได้จริงๆ หรือ? 

Power Imbalance

อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลในความสัมพันธ์อย่างไร หากให้ยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ผ่านเหตุการณ์ที่ทุกคนคงผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เช่น ข่าวครูใช้อำนาจในทางมิชอบต่อนักเรียน หากมาหลับนอนด้วยจะให้เกรด 4 ในวิชาที่สอน, ถ้าจ่ายเงินจะแก้ศูนย์ให้ หรือหากไม่มาคบกันจะให้เกรด 1 หรือสอบไม่ผ่าน

เหล่านี้คือความไม่สมดุลกันทางอำนาจ (Power Imbalance) แค่ตัวอย่างในห้องเรียนน่าจะทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจนแล้ว แต่ลองมาดูในความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเปรมกับนักเรียน ที่เขาขออัดคลิปขณะมีเพศสัมพันธ์ ใช้เชือกมัดมือมัดเท้า ลองจินตนาการกันดูว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจจากช่วงอายุและบทบาทหน้าที่หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กก็สามารถมีความรักไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่ในภาวะที่ความรักอยู่ในความสัมพันธ์แบบรักต่างวัย (Age Gap) ที่เราต้องให้ความระวังมากกว่าเดิม เพราะนอกจากอำนาจที่ไม่สมดุลกันแล้ว ยังอาจถูกเอาเปรียบจากผู้ที่มีอายุมากกว่าได้

Patriarchy

จุดร่วมของหลายเหตุการณ์คือการไม่ยอมรับความจริง จนนำไปสู่ความรุนแรง แต่เดิมเคยเป็นจุดศูนย์กลาง กำหนดทิศทางทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนภาพปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี อย่างกรณีของเปรมจะเห็นว่า เขาพยายามขอคืนดีกับนักเรียนหญิง แต่ผู้หญิงไม่สนใจแม้เขาจะตามง้อหลายครั้งก็ตาม ท้ายที่สุด เขาเลือกความรุนแรงด้วยการปล่อยคลิปลับของทั้งคู่สู่โลกออนไลน์พร้อมระบุตัวตนของเด็กนักเรียน 

ความรุนแรงแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่มักเห็นตามหน้าสื่ออยู่เป็นประจำ และเชื่อว่าคงมีเหตุการณ์อีกมากที่ไม่ได้ปรากฏบนหน้าข่าว เช่น ข่าวที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในขณะนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา หญิงสาวบอกเลิกแฟนหนุ่ม และเดินทางมาเก็บของที่ห้อง ผู้ชายไม่ยอมรับการเลิกรา ใช้เสียมงัดห้องเพื่อเข้ามาทำร้ายร่างกายแฟนสาว แต่หญิงสาวซ่อนตัวอยู่ จนท้ายที่สุดใช้เสียมตีเจ้าอาวาสจนเสียชีวิตแทน

ยังมีข่าวเลิกรา ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงเข่นฆ่าอีกมาก เมื่อผู้หญิงเป็นฝ่ายขอยุติความสัมพันธ์ แต่ผู้ชายไม่ยอมรับความจริง จนนำไปสู่ความเห็นแก่ตัวและความรุนแรง เหมือนดังประโยคที่กล่าวว่า ‘ถ้ากูไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีใครได้’ 

สื่อ สำนักข่าว ควรวางตัวอย่างไร

ขอไม่ระบุว่า มีสื่อหรือสำนักข่าวช่องไหนบ้างที่รายงานข่าวการกระทำของเปรมว่า เป็นครูหนุ่มหน้าตาดีหรือเป็นครูหล่อจึงสามารถล่อลวงเด็กได้ แน่นอนว่ารสนิยมเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในกรณีดังกล่าวควรใช้คำวิเศษณ์อย่าง ‘หล่อ’ มาใช้รายงานข่าวเพื่ออธิบายสถานการณ์นี้จริงหรือ? สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการลดทอนมุมมองในมิติอื่นหรือไม่ เพราะนอกจากเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในเนื้อข่าวแล้ว อาจนำไปสู่การโทษเหยื่อและลดทอนความรุนแรงของผู้กระทำได้ เช่นก็ครูมันหล่อเด็กมันเลยสนใจ 

อนาคตของการศึกษาไทย

“คุณจบครุศาสตร์คุณต้องรู้ดี หัวใจของการเป็นครูเป็นอย่างไร”

“หัวใจของการเป็นครู คือให้เคารพผู้เรียนอย่างเต็มที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้เติบโต” 

“จะเตือนภัยอย่างไร”

“ถ้าจะมีความรักกับนักเรียนไม่ควร ทำหน้าที่ตัวเองให้เต็มที่คือการสอนและให้ความรู้ ไม่ใช่ทำให้ผู้เรียนเสียหายแบบนี้… ต้องมีการเช็กตรวจสอบ คือให้ผู้ปกครองมีความใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น ปรึกษาหารือ คุยกับเด็กทุกวัน หาเวลาคุยกับลูกบ่อยๆ และให้ลูกเปิดใจคุยด้วยครับ”

ข้างต้นคือบทสนทนาระหว่างเปรมกับตำรวจ หลังเขาถูกจับกุมพร้อมหลักฐาน แม้เขาจะรู้ดีว่าหัวใจและหน้าที่ของการเป็นครูคืออะไร ซ้ำยังพูดและท่องได้อย่างแม่นยำ แต่ทุกอย่างกลับสวนทางกับคำพูดของเขาทั้งสิ้น

ในห้วงเวลาที่ลูกหลานไปเรียนหนังสือ แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้ปกครองไว้ใจฝากฝัง คือโรงเรียนและครู แต่ ณ วันนี้ วลีอย่างคำว่า ครูคือผู้ให้ ผู้สร้าง และผู้พัฒนา จะกลายเป็นเพียงวลีสวยหรูที่มีไว้เพียงท่องจำตอนสอบสัมภาษณ์เท่านั้นหรือไม่ 

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่กรณีแรกในการล่วงละเมิดทางเพศ และการฉกฉวยโอกาสจากเด็กที่อายุน้อย ถึงเวลาหรือยังที่กระทรวงศึกษาธิการ และประเทศไทยต้องหาทางรับมือแก้ไข เพราะหัวใจหลักของการเป็นครูไม่ใช่แค่เรื่องการท่องจำ แต่เราควรมีการคัดกรองมากกว่านี้หรือไม่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่ถูกแสวงหาประโยชน์ ควบคุม จากช่องโหว่ของอำนาจและช่วงอายุจากคนใกล้ตัวอย่าง ‘คุณครู’

Fact Box

  • หากประสบเหตุการณ์การถูกขู่หรือแชร์รูปโป๊เปลือย สามารถแจ้งและเข้าใช้งานได้ทาง https://takeitdown.ncmec.org/ 
  • บริการ Take It Down ก่อตั้งมาเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน โดยศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติ (National Center for Missing and Exploited Children) 
  • เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี แต่มีความกังวลว่ารูปภาพเมื่อเป็นเยาวชนจะถูกเผยแพร่ สามารถใช้บริการโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนขณะใช้บริการ
Tags: , , , , , , , , , ,