*คำเตือน: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งจากอนิเมะ เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ (Oshi no Ko) *

ลองจินตนาการภาพตัวเองกำลังเดินกลับบ้าน ด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยวและร่างกายที่เหนื่อยล้าจากทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน ไม่มีใครหรืออะไรรออยู่ที่บ้าน คุณรับปากกับตัวเองเป็นครั้งที่ร้อยว่า คราวหน้าจะไม่ยอมทำงานล่วงเวลาตามคำโน้มน้าวแกมบังคับของหัวหน้าอีก แม้ว่าลึกๆ แล้วจะรู้อยู่แก่ใจว่า หากอีกฝ่ายต้องการ คนตัวเล็กๆ แบบคุณก็คงไม่มีอำนาจไปปฏิเสธอะไรได้

ชีวิตซ้ำซากจำเจแบบนี้จะจบลงเมื่อไรกัน คุณถอดถอนใจระหว่างที่กำลังเดินข้ามถนน

ทันใดนั้น ลมหนาววูบหนึ่งพัดผ่านมา วินาทีที่คุณสังเกตเห็นว่า รถบรรทุกคันใหญ่กำลังพุ่งเข้ามาด้วยความเร็วก็สายไปเสียแล้ว คุณถูกชนเข้าอย่างจัง น่าแปลกที่เมื่อลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง คุณพบว่าตัวเองกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่รู้จัก ในร่างกายที่ไม่คุ้นเคย แม้จะรู้สึกสับสนงุนงงอยู่บ้าง แต่ความสุขหนึ่งของการมาถึงที่นี่ คือการได้ปลดเปลื้องความทุกข์ ความเบื่อหน่าย และภาระหน้าที่ในชีวิตก่อนหน้าที่ล่ามคุณด้วยโซ่ตรวน

ข้างต้นคือตัวอย่างของเรื่องราวประเภทที่เราเรียกกันว่า ‘อิเซไก’ ทับศัพท์มาจากคำภาษาญี่ปุ่น ‘異世界’ ที่แปลว่า ‘ต่างโลก’ ใช้เรียกบันเทิงคดีแฟนตาซีประเภทหนึ่ง ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 2000s นับตั้งแต่ความสำเร็จของ อินุยาฉะ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน (1996) Spirited Away (2001) จนถึง Sword Art Online (2012) อนิเมะดัดแปลงจากไลต์โนเวล ซึ่งถือเป็นผลงานดังชิ้นแรกๆ ที่ตีความคำว่า ‘ต่างโลก’ ออกมาในรูปแบบโลกเสมือนจริงในเกม

แม้จะเป็นที่นิยมมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในปัจจุบันยังมีงานแนวอิเซไกผลิตออกมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของนิยาย มังงะ มันฮวา อนิเมะ ฯลฯ หากเราลองเปิดดูหมวดยอดฮิตของแพลตฟอร์มเว็บตูน ก็จะพบว่า กว่าครึ่งค่อนชาร์ตเป็นผลงานแนวทะลุมิติไปต่างโลก หรือแนวกลับชาติมาเกิดแทบทั้งสิ้น

ภาพถ่ายหน้าจอจากแอปพลิเคชัน Line Webtoon และ Kakao Webtoon

และหากถามถึงผลงานแนวกึ่งอิเซไกที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในปีนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้น เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ (Oshi no Ko) ที่เพิ่งออกฉายบนเน็ตฟลิกซ์จนจบซีซันไปหมาดๆ ถือเป็นหนึ่งในอนิเมะที่คนคาดหวังและรอติดตามมากที่สุดเรื่องหนึ่งของครึ่งปีแรก

อนิเมะเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ โกโร่ นายแพทย์หนุ่มวัย 30 ต้นๆ และแฟนคลับตัวยงของ โฮชิโนะ ไอ ไอดอลสาวดาวรุ่งจากวงบีโคมาจิ ที่เพิ่งประกาศพักงานไป เขาบังเอิญเข้าไปเกี่ยวข้องกับไอในฐานะหมอผู้ดูแลครรภ์ แต่กลับถูกฆ่าตายเสียก่อนที่จะได้ทำคลอดให้กับเธอ

ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง โกโร่ได้กลับชาติมาเกิดเป็น โฮชิโนะ อควอมารีน ลูกแฝดคนโตของไอ และหลังจากใช้ชีวิตในฐานะหนูน้อยอควา (ชื่อเรียกสั้นๆ ของอควอมารีน) ไปได้สักพัก เขาก็ได้ค้นพบว่า โฮชิโนะ รูบี้ น้องสาวฝาแฝดของเขาเอง ก็เป็นแฟนคลับของไอที่กลับชาติมาเกิดเช่นกัน

ภาพ: Doga Kobo

แม้จะได้รับความนิยมอย่างมากจากพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่และตัวละครที่ซับซ้อนมีมิติ แต่ในขณะเดียวกัน เกิดใหม่เป็นลูกโอชิก็ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นด้วยเช่นกัน

บันเทิงคดีแนวอิเซไกในฐานะ ‘Power Fantasy’

แม้ตัวคำจะแปลว่า ‘ต่างโลก’ แต่ในความเป็นจริง มีแก่นเรื่องและองค์ประกอบร่วมอื่นๆ อีกหลายประการที่ทำให้งานเขียนหนึ่งๆ ถูกเรียกว่าอิเซไก นอกจากจะหมายถึงการทะลุมิติไปยังโลกอื่นๆ เช่น โลกต่างมิติ โลกในเกม โลกในนิยาย ฯลฯ ยังครอบคลุมถึงการย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หรือการกลับชาติมาเกิดใหม่ในโลกเดิมอีกด้วย

ช่วงชีวิตก่อนหน้าและปูมหลังของตัวละครเอกมักถูกใส่เข้ามาในช่วงต้นของเรื่อง เนื่องจากจุดขายหลักของอิเซไก คือแนวคิดเกี่ยวกับการให้ ‘โอกาสครั้งที่สอง’ ในการเริ่มชีวิตใหม่ รวมไปถึงความน่าสนใจของเส้นทางที่ตัวละครเอกเลือกเดิน โดยใช้ความรู้และประสบการณ์จากชีวิตก่อนหน้า

โทรปหนึ่งที่พบได้บ่อย คือการที่เงื่อนไขภายใต้ตัวตนใหม่ (หรือในหลายกรณีก็เป็นตัวตนเดิม ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป) ได้ไปปลดล็อก ‘อำนาจ’ ที่จะกระทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตก่อนหน้า นับว่าเป็นสูตรสำเร็จของเนื้อเรื่องสไตล์ Escapism ที่เล่นกับแฟนตาซีของผู้ชม/ผู้อ่าน ที่เกิดจากความรู้สึกเชื่อมโยงกับข้อจำกัดในชีวิตก่อนหน้าของตัวละครเหล่านี้

นำมาสู่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะร่วมของตัวละคร ‘ภาชนะ’ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้บรรจุตัวตนของผู้เสพที่แทรกเข้ามาโดยเฉพาะ คือมักเป็นตัวละครรูปลักษณ์เรียบง่าย ไม่เตะตา บุคลิกกลางๆ เช่น มุโคดะ สึโยชิ จากอิเซไกแนว Slice of Life เรื่องล่าสุด สกิลสุดพิสดารกับมื้ออาหารในต่างโลก (2023) อดีตพนักงานเงินเดือน ผู้นำความรู้และแนวคิดจากชีวิตในโลกทุนนิยม มาใช้ประโยชน์ในการลงทุนในต่างโลกโดยแทบไม่มีคู่แข่ง

ภาพ: MAPPA

หากลองสังเกต หมอโกโร่เองก็มีภาพลักษณ์ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับเขาที่ถูกเปิดเผยในช่วงต้นมีไม่มากนัก เขาใช้ชีวิตก่อนหน้าอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีการพูดถึงคนรัก เพื่อนฝูง หรือครอบครัว เมื่อกลับมาเกิดใหม่เป็นอควา ก็เหมือนกลับว่า ความว่างเปล่านี้ถูกเติมเต็มด้วยความรักจากโอชิ (推し แปลว่าเมมเบอร์ที่สนับสนุน หรือ ‘เมน’ นั่นเอง) ในฐานะแม่

ในทำนองเดียวกัน ตัวละครดำเนินเรื่องหญิงในเว็บตูนแนวอิเซไก มักเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาก่อนในชีวิตก่อนหน้า ส่วนมากมักเป็นชีวิตในชาติที่แล้วก่อนทะลุมิติ หรือบางครั้งก็เป็นชีวิตในชาติเดียวกันก่อนจะย้อนเวลากลับมาแก้ไขอดีต

โทรปที่เป็นที่นิยมอย่างมาก คือการทะลุมิติมาเป็นตัวละครที่มีจุดจบแบบ Death End อาทิ ตัวละคร วันทอง ใน วันทองไร้ใจ (2021) ผู้พยายามต่อสู้เพื่อเปลี่ยนเนื้อเรื่อง จากเดิมที่ต้องตกเป็นเมียของทั้งขุนช้างและขุนแผน ถูกตราหน้าเป็นวันทองสองใจ และโดนประหารในที่สุด

การบรรลุความปรารถนาทางเพศที่ดู ‘ชอบธรรม’ ขึ้นภายใต้เงื่อนไขใหม่

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือหนึ่งใน ‘อำนาจ’ ที่ตัวละครหลักมักได้รับภายใต้เงื่อนไขใหม่ คือโอกาสในการใกล้ชิดสัมผัสเนื้อตัวกับตัวละครซึ่งถูกเขียนให้ ‘เป็นที่ปรารถนาในทางเพศ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวละครที่หากเผลอไปเอื้อมกรายด้วยร่างกายเดิม อาจนำมาซึ่งปัญหาด้านศีลธรรมได้ อย่างตัวละครเด็ก/ผู้เยาว์

ภาพ: 8bit, Maho Film

เงื่อนไขใหม่ที่ว่านี้อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ร่างกายใหม่ที่ดูไร้พิษสงเพราะเป็นเด็กอย่างใน เพราะพระเจ้าเลือกเลยได้เกิดใหม่มาเลี้ยงสไลม์ในต่างโลก (2020) หรือไม่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์ไปเลยโดยปริยายอย่างใน เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว (2018)

ภาพ: Studio Bind

หรือบางครั้งก็มีเงื่อนไขด้านความสัมพันธ์ร่วมด้วย เป็นต้นว่ามาเกิดใหม่เป็นคนรัก หรือคนในครอบครัวของตัวละครที่ตกเป็นวัตถุทางเพศ อย่างใน เกิดชาตินี้พี่ต้องเทพ (2021) หรือเกิดใหม่เป็นลูกโอชิ

บทสนทนาที่ร้อนแรงเกี่ยวกับ โฮชิโนะ อควาและรูบี้ เริ่มต้นขึ้นหลังจากฉากที่ทั้งคู่พูดคุยกันเรื่องการดูดนมจากเต้าของไอ (ซึ่งในขณะที่ให้นมลูกก็ยังอายุประมาณ 17 ปีและถือเป็นผู้เยาว์) ออกฉาย เนื่องจากพวกเขาไม่ได้พูดคุยกันเรื่องนี้ในฐานะเด็กไร้เดียงสา แต่เป็นในฐานะผู้ใหญ่ที่มีความคิดความอ่านในร่างเด็ก ซ้ำร้ายทั้งคู่ยังเคยใช้ชีวิตเป็นแฟนคลับที่มีความปรารถนาต่อตัวไออีกด้วย

แม้จะมีเสียงส่วนหนึ่งที่โต้แย้งว่า สุดท้ายหมอโกโร่ที่มาเกิดเป็นอควาก็ตัดสินใจดื่มนมจากขวดเป็นหลัก แถมยังตำหนิรูบี้ที่ฉวยโอกาสกับไอ แต่ประเด็นด้านศีลธรรมที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของอควากับตัวละครอื่นๆ ก็ยังคงวนกลับมาเรื่อยๆ เช่น บทสนทนาดังต่อไปนี้ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์

พยาบาล:การที่หมอหมกมุ่นกับเธอมันดูลามก หมอใช้ซารินะจังเป็นข้ออ้างเพื่อปลดปล่อยความปรารถนาของตัวเองหรือเปล่า

หมอโกโร่:อย่าโง่หน่อยเลยน่า กล้าสาบานต่อซารินะเลย ผมสนับสนุนไอด้วยใจจริงๆ

พยาบาล:แต่ถ้าเด็กที่ชื่อไอชวนหมอไปเดต หมอก็จะไปใช่ไหมล่ะ

ภาพ: Doga Kobo

ในฉากดังกล่าว หมอโกโร่ถูกเขียนให้พูดบทอะไรก็ได้ที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของตัวละครนี้ในประเด็นความใคร่ต่อผู้เยาว์ เขาจะสวนเพื่อนร่วมงานแบบทันควันเลยก็ได้ว่า “จะบ้าหรือ! เด็กคนนั้นอายุ 16 เองนะ!” แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฉากคือเขากลับไม่ตอบคำถาม เปลี่ยนเรื่อง ไล่พยาบาลคนนั้นกลับไปทำงาน โดยฉากที่แสนน่าอึดอัดดังกล่าว ถูกเล่าด้วยจังหวะตลกขบขัน

นอกจากนี้ ยังมีบทพูดในมังงะตอนล่าสุดของรูบี้ต่อหน้าอควา ที่ในชาตินี้เป็นพี่ชายร่วมสายเลือดของเธอเอง ส่วนในชาติที่แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่าตัวเองเกือบ 20 ปี

รูบี้: เคยบอกไว้ใช่ไหมว่า ถ้าหนูอายุ 16 เมื่อไรจะแต่งงานด้วยน่ะ

รูบี้: คุณหมอคะ ตอนนี้หนูอายุ 16 แล้วนะ 

ภาพ: Yen Press

แม้ตอนนี้มังงะจะยังไม่จบ และยังไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวจะมีทิศทางการดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไร มีความเป็นไปได้ที่ผู้เขียนจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง อควากับรูบี้ ต่อไปอีกมากน้อยขนาดไหน หลายฝ่ายคาดเดากันว่า ด้วยจุดขายของเรื่องที่ปูมาเพื่อเสียดสีวงการบันเทิงตั้งแต่แรก ผู้เขียนคงไม่ยอมตกม้าตาย หรือเสียคะแนนนิยมง่ายๆ ด้วยการสนับสนุนความสัมพันธ์ Incest อย่างเปิดเผยแน่นอน

ทว่าสิ่งที่น่ากังวลจึงไม่ใช่ประเด็นแค่ว่า ในท้ายที่สุด อควาและรูบี้จะรักกันหรือไม่ เพราะต่อให้ เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ จะเลี่ยงบาลีไปจนจบ ไม่ลงเอยด้วยความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างอควากับรูบี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า สถานการณ์และบทพูดหลายจากหลายฉาก คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการคิดคำนวณมาอย่างดีแล้วล่วงหน้าว่า จะสามารถเอาใจผู้ชมพ่อยกแม่ยก ‘คู่ชิป’ อควา-รูบี้ได้อย่างไร

นำมาสู่คำถามสำคัญประการหนึ่งให้เราได้ขบคิดกันต่อ คือแท้จริงแล้ว น้ำเสียงโรแมนติกในฉากระหว่างอควากับรูบี้นั้น ถูกเขียนขึ้นมาด้วยเหตุผลเบื้องหลังหรือความรู้สึกนึกคิดแบบใด

สะท้อนสังคม?

วิพากษ์สังคม?

หรือ Romanticize?

Tags: , , , , , , , ,