กลายเป็นประเด็นร้อน หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาประเทศอิรักเพิ่งผ่านร่างการแก้ไขกฎหมาย Personal Status Law โดยร่างการแก้ไขนี้จะเพิ่มอำนาจตัดสินใจให้กับองค์การทางศาสนาในเรื่องการแต่งงาน หย่าร้าง เลี้ยงดูบุตร ฯลฯ นักเคลื่อนไหวและประชาชนจำนวนมากกังวล เนื่องจากการตีความบางรูปแบบในศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ (Shia) อาจอนุญาตให้เด็กอายุเพียง 9 ปีแต่งงานได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1959 อิรักออก Personal Status Law ฉบับแรก นับว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในหมู่ประเทศอาหรับ เพราะเป็นกฎหมายที่คำนึงถึงความเชื่อจากหลายๆ นิกาย แล้วยังปกป้องสิทธิของผู้หญิงกับเด็กตามบรรทัดฐานสากลด้วย Personal Status Law สมัยนั้นกำหนดให้อายุขั้นต่ำสำหรับการแต่งงานเป็น 18 ปี หรือกรณีพิเศษจริงๆ อาจอนุโลมเป็น 15 ปีได้ หากผู้ปกครองยินยอม
หากพิจารณาเผินๆ เหมือนจะเป็นมาตรการคุ้มครองที่ชัดเจน ตรงตัว อย่างไรก็ตามสถิติจาก UNICEF เผยว่า การแต่งงานกับเด็ก (Child Marriage) ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอิรัก ผู้หญิงอิรัก 28% แต่งงานตอนอายุน้อยกว่า 18 ปี และ 7% แต่งงานตอนอายุน้อยกว่า 15 ปี หมายความว่า บางการแต่งงานที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย
หนึ่งในรูปแบบการแต่งงานที่เกิดขึ้นจริงแต่ผิดกฎหมายคือ มุตะฮ์ (Mutah) หรือการแต่งงานชั่วคราว เป็นการแต่งงานที่มีระยะเวลาจำกัด อาจเป็นหลักปี หลักเดือน หรือแม้กระทั่งหลักชั่วโมง ฝ่ายชายมักจะมีค่าตอบแทนให้ฝ่ายหญิง และในช่วงที่เป็นคู่สมรสกันก็สามารถมีเซ็กซ์กันได้
ผู้สนับสนุนมุทะฮ์มองว่า เป็นสิ่งที่ไม่ได้เสียหายอะไร ตราบใดที่ทั้ง 2 ฝ่ายยินยอม ส่วนผู้ต่อต้านมุตะฮ์ค้านว่า ผู้หญิงหลายคนไม่ได้มีทางเลือก หากอยากหนีความยากจนก็ต้องยอมแต่งงานเพื่อเงิน นอกจากนี้มุตะฮ์ยังเอื้อให้เกิดการค้าประเวณี โดยเฉพาะการค้าประเวณีเด็ก
ในสารคดี Iraq’s Secret Sex Trade จาก FRONTLINE นักข่าวชายคนหนึ่งแสร้งทำเป็นว่าอยากแต่งงานแบบมุตะฮ์กับเด็กหญิงวัย 13 ปี จึงเข้าไปขอให้ผู้นำศาสนาช่วย ผลคือผู้นำศาสนา 8 ใน 10 คนยอมตกลงดำเนินการให้
ขนาดมีกฎหมายห้ามชัดเจน การแต่งงานกับเด็กยังสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายแบบนี้ แล้วเมื่อกฎหมายถูกแก้ให้คลุมเครือกว่าเดิม ชะตากรรมของเด็กๆ จะเป็นอย่างไร ไม่แปลกที่ประชาชนจะหวาดหวั่น
จากที่ร่างการแก้ไข Personal Status Law ฉบับล่าสุดมอบอำนาจให้องค์การทางศาสนารับรองการแต่งงานตามดุลพินิจ และให้การรับรองดังกล่าวมีผลทางกฎหมาย นักเคลื่อนไหวมองว่าจะกลายเป็นช่องโหว่สำหรับการแต่งงานกับเด็ก เพราะในหมู่ผู้ยึดแนวทางคำสอนของญะอ์ฟัร (Jafaar) อิหม่ามลำดับที่ 6 แห่งนิกายชีอะฮ์ หลายคนตีความว่า ผู้หญิงสามารถแต่งงานได้เมื่ออายุ 9 ปีขึ้นไป
อีกประการคือ จากเดิมที่แม่มีสิทธิเป็นผู้ปกครองลูกจนถึงอายุ 15 ปี ร่างนี้เสนอให้ลดขอบเขตอายุเหลือ 7 ปีเท่านั้น หลังจากปีที่ 7 เด็กจะตกอยู่ใต้ปกครองของใครยังเป็นเรื่องคลุมเครือ แต่บางสายของนิกายชีอะฮ์เชื่อว่า พ่อควรเป็นผู้ปกครองและผู้มีสิทธิขาดคนเดียวในตัวลูก
ร่างการแก้ไขนี้ถูกอ่านในสภาครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2024 พร้อมกับเสียงต่อต้านจากทุกภาคส่วน แบบสำรวจความคิดเห็นชาวอิรัก 61,648 คน พบว่า 73.2% ไม่เห็นด้วยกับร่าง สมาชิกสภา นักกฎหมาย นักเคลื่อนไหว ตลอดจนประชาชนธรรมดาต่างก็คัดค้านหัวชนฝา
“เจ้าหน้าที่รัฐเอาเวลามายื่นร่างแสนล้าหลังนี้ แทนที่จะไปจัดการกับคอร์รัปชันและการก่อการร้าย ร่างนี้กำลังทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และพวกเราทุกคนควรต่อต้านมัน” คายซ์ ราฮีม (Qais Raheem) พนักงานรัฐที่มีลูกสาว ประนาม
อย่างไรก็ตามเดือนกันยายน 2024 ศาลสูงสุดของอิรักตัดสินแล้วว่า ร่างนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถดำเนินการต่อไปได้ กระทั่งวันที่ 21 มกราคม 2025 สภาโหวตผ่านร่างในที่สุด สร้างความร้อนใจแก่ผู้หญิงทั่วประเทศ
“ประเทศอิรักไม่เคยพบเห็นความถดถอยและความหยาบช้าอย่างที่ได้เห็นในวันนี้มาก่อน” ซาจจาด ซาเลม (Sajjad Salem) สมาชิกสภาหญิงอิสระ กล่าว
ภายหลังจากการโหวตจบลง อาเลีย นาซซิฟ (Alia Nassif) หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการกฎหมายของสภา โพสต์ว่า การโหวตเกิดขึ้นโดยที่จำนวนผู้เข้าประชุมไม่ถึงขั้นต่ำตามเกณฑ์ เธอจึงจะยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณาผลโหวตเป็นโมฆะ
เราคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายกฎหมายจะออกมาในรูปแบบไหน ก็ได้ แต่ภาวนาขอให้เด็กผู้หญิงทุกคนปลอดภัย มีชีวิตวัยเยาว์อย่างที่ควรจะมี
อ้างอิง
https://data.unicef.org/wp-content/uploads/cp/child-marriage/Child-marriage-profile_IRQ.pdf
https://www.bbc.co.uk/news/extra/iuKTEGjKgS/teenage_iraq_brides
https://www.pbs.org/wgbh/frontline/documentary/iraqs-secret-sex-trade/transcript/
https://www.cbc.ca/news/world/iraqi-marriage-bill-could-legalize-child-marriage-1.2572520
https://www.hrw.org/news/2024/09/19/iraqs-amended-personal-status-law-could-make-9-year-olds-brides
Tags: Gender, แต่งงาน, สิทธิสตรี, อิรัก, สิทธิเด็ก