วันของ อั๊ส-อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ มักเริ่มต้นขึ้นด้วยการหิ้วแล็ปท็อปและหนังสือสักเล่มออกไปนั่งในร้านกาแฟที่เงียบสงบ เพื่อทำงานเขียนหนังสือของเธอ ในชีวิตประจำวันไม่มีใครมาตั้งคำถามถึงเรื่องเพศสภาพของอั๊ส เพราะจากภายนอกเธอคือผู้หญิงคนหนึ่ง

แต่เมื่อได้นั่งลงและพูดคุย ความเป็นตัวเธอซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะอั๊สเกิดมานอกกรอบของเพศสภาพชาย-หญิง แต่มีภาวะอินเตอร์เซ็กซ์ที่เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับคนรอบข้างและสังคมที่จะเข้าใจในสิ่งที่เธอเป็น 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ให้คำนิยามของอินเตอร์เซ็กซ์ว่า ผู้ที่กำเนิดมาพร้อมลักษณะทางเพศที่ไม่ตรงกับแนวคิดแบบแบ่งแยกเพศทั่วไปว่าด้วยร่างกายของผู้ชายหรือผู้หญิง โดยประมาณการว่า มีประชากรมากถึง 1.7% เกิดมาพร้อมกับลักษณะอินเตอร์เซ็กซ์

อั๊สบอกว่าไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องมาเข้าใจในสิ่งที่เธอเป็นทุกอย่าง ขอเพียงแค่เคารพเธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุทางเพศของเธอ

มุสลิม อินเตอร์เซ็กซ์ อัตลักษณ์ทับซ้อนของอิชย์อาณิคม์

“เป็นเรื่องปกติที่ถูกล้อเลียน เป็นแกะดำอย่างไรก็โดนอยู่แล้ว ทั้งในสังคมมุสลิมและในโรงเรียน”

ในตอนแรกเกิดอั๊สถูกระบุเพศว่า เป็นผู้ชายและถูกเลี้ยงดูมาเหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เธอเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายทั้งส่วนสูงที่ไม่เพิ่มขึ้น และหน้าอกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันอั๊สไม่เคยมองว่า ตัวเองเป็นเด็กผู้ชายตั้งแต่ต้น แต่สังคมหล่อหลอมให้เธอต้องเลือกเพศนี้ อั๊สจึงเติบโตมาเหมือนเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่ชอบเล่นโลดโผน แต่มักใช้เวลาอยู่กับการอ่านหนังสือและเพื่อนกลุ่มผู้หญิง

“พ่อแม่เข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรอบข้างจะเข้าใจ” อั๊สเล่าถึงบริบทในครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยกันในรูปแบบครอบครัวใหญ่ “เขาพยายามสอนให้เป็นเด็กผู้ชายที่เราไม่ได้อยากเป็น ต้องพูดจาโผงผาง เล่นชกต่อย แต่เราไม่ได้มีความอยากเป็นผู้ชาย ไม่เคยมีสักลมหายใจที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชาย”

อั๊สเล่าต่อว่า คนแรกที่เข้าใจในความเป็นเธอและไม่ตัดสินคือแม่ของเธอ แม่เป็นต้นแบบความเป็นผู้หญิงที่มีความอดทน ใจดีและอ่อนโยน ทำให้เธออยากเติบโตไปเป็นเหมือนแม่ แม้ในตอนนั้นเธอไม่สามารถหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า สิ่งที่ตัวเธอเป็นอยู่คืออะไร จนกระทั่งในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย อั๊สได้โอกาสพูดคุยกับ นาดา ไชยจิตต์ บุคคลอินเตอร์เซ็กซ์ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Intersex Thailand ทำให้เธอเห็นว่า กระบวนการเติบโตของเธอไม่ใช่การเติบโตของคนที่เกิดมามีร่างกายตรงกับเพศกำเนิดของตนเอง 

“ไม่ควรไปตัดสินเพศกันตั้งแต่กำเนิด ทุกคนมีสิทธิในการเลือกเพศของตัวเองผ่านสำนึกทางเพศของตัวเอง และมันอาจจะไม่ได้ตรงกับเพศกำเนิด”

อั๊สมองว่า เด็กที่เกิดมาเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ไม่ควรถูกระบุเพศในตอนแรกเกิด แต่ควรให้ร่างกายได้พัฒนาไปก่อน และให้สิทธิคนอินเตอร์เซ็กซ์ได้ระบุเพศของตนเองที่สอดคล้องไปกับทิศทางการเจริญเติบโตของร่างกาย การถูกระบุว่าเป็นเพศชายได้สร้างความสับสนให้อั๊ส และความคาดหวังจากสังคม รวมทั้งเรื่องของศาสนาและความเชื่อ

“การเป็นอินเตอร์เซ็กซ์เคยสั่นคลอนความเชื่อของเราต่อศาสนา เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังว่าการเป็นคนข้ามเพศนั้นผิด ทั้งที่จริงมันคือการเล่าปากต่อปากกันมา”

อั๊สอ้างถึงหะดีษ (Hadith) ที่เป็นบันทึกรวบรวมพระวจนะของศาสดานบีมุฮัมมัด เธอบอกว่า การเป็นภาวะเพศกำกวมหรืออินเตอร์เซ็กซ์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดบาป รวมทั้งควรปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ให้เติบโตมาถึงช่วงเวลาเจริญพันธุ์ เพื่อให้เขาเลือกเพศอีกทีหนึ่ง สิ่งนี้ส่งผลให้เธอยังคงศรัทธาในพระเจ้า เพราะหลักศาสนาอิสลามมีคำตอบให้เธอในเรื่องนี้ รวมทั้งอาจารย์ทางศาสนาที่เธอเคารพนับถือไม่ได้มองว่าสิ่งที่เธอเป็นคือเรื่องผิดบาป

“ไม่ว่าเราจะนับถืออะไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อว่ามีสักสิ่งที่สร้างจักรวาลนี้มา สิ่งนั้นรังสรรค์ให้มีความแตกต่างหลากหลาย เพราะมันคือความสวยงามของโลกใบนี้”

อั๊สกล่าวในวันที่เธอนิยามตนเองว่า เป็นทรานส์เจนเดอร์ อินเตอร์เซ็กซ์ และนักขับเคลื่อนสิทธิของบุคคลข้ามเพศที่เป็นมุสลิม เธออยากนำเสนอความเป็นคนข้ามเพศกับความเป็นมุสลิม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว 

สิทธิในการเลือก การผ่าตัดยืนยันเพศในวัย 60 ปีของพักตร์วิไล

ไก่-พักตร์วิไล สหุนาฬุ เกิดและเติบโตในชนบทของภาคอีสาน เขาเล่าว่า ถูกทำคลอดโดยหมอตำแยและถูกระบุให้เป็นผู้หญิง ไก่มีความรู้สึกชอบผู้หญิงมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเขามีความคิดอยากผ่าตัดยืนยันเพศสภาพเป็นผู้ชาย แต่คนในหมู่บ้านกับเรียกคนลักษณะแบบไก่ว่า ‘ทอม’ เขาพยายามหาความรู้จากในห้องสมุด แต่ไม่พบข้อมูลที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจได้เลย

เมื่ออายุ 18 ปี ไก่เริ่มมีหน้าอกและประจำเดือน และพบพัฒนาการร่างกายที่แตกต่างออกไปคือ มีลักษณะคล้ายลำลึงค์และถุงอัณฑะค่อยๆ โตขึ้นอย่างช้าๆ เขาเจ็บปวดและทรมานทุกครั้งที่มีรอบเดือน รวมทั้งยังคงเก็บความฝันที่อยากผ่าตัดยืนยันเพศสภาพจนกระทั่งในวัย 60 ปี

“เราไม่อยากมีหน้าอก มันไม่มีความสุขเมื่อเห็นหน้าอกของตัวเอง”

ไก่เล่าเรื่องราวของตนเอง ในวันที่เขารอผ่าตัดนำหน้าอกออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2565 ไก่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจการเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวมถึงตรวจโครโมโซมที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา 

“เราต้องเดินทางมา กทม.ทั้งหมด 9 ครั้ง เจอหมอศัลยกรรม หมอต่อมไร้ท่อ หมอสูตินารี หมอที่เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เซ็กซ์และจิตแพทย์”

หลังผ่านการรับรองทางการแพทย์ ไก่เล่าว่าในกรณีของเขาสามารถใช้สิทธิบัตรทองในการผ่าตัดยืนยันเพศสำหรับคนอินเตอร์เซ็กซ์ แต่ก็จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าห้องพิเศษ, ค่ายานอกบัญชี รวมทั้งค่าตรวจโครโมโซมเพื่อยืนยันความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ของตนเอง

“ถ้าพร้อมและบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ควรผ่าตัดตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะปลอดภัยกว่า”

ไก่ให้คำแนะนำแก่อินเตอร์เซ็กซ์คนอื่นๆ โดยเสริมว่าในเรื่องการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพนั้น คือกระบวนการทำความเข้าใจตนเองเป็นอันดับแรก ต่อมาคือเรื่องของการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและสุขภาพจิตใจ ไก่เน้นย้ำว่าการผ่าตัดยืนยันเพศให้กับคนอินเตอร์เซ็กซ์ ไม่ควรตัดสินใจโดยผู้ปกครองตั้งแต่ที่คนอินเตอร์เซ็กซ์ยังมีอายุน้อย แต่ควรให้พวกเขาโตพอที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะที่ผ่านมามีหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดยืนยันเพศโดยที่ไม่ได้เลือกด้วยตนเอง

“อินเตอร์เซ็กซ์บางคนถูกเลือกให้เป็นเพศหญิง แต่พอโตขึ้นเขาอยากเป็นผู้ชาย อยากบอกผู้ปกครองให้ลูกหลานของพวกเขาเลือกเพศของตัวเองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว”

ไก่ถือเป็นคนอินเตอร์เซ็กซ์ที่ผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน วันนี้เขานิยามตนเองว่าเป็นทอม ทรานส์เจนเดอร์และอินเตอร์เซ็กซ์ รวมทั้งเป็นนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศปีเข้าสู่ปีที่ 36 แล้ว

สิทธิของคนอินเตอร์เซ็กซ์อยู่ตรงส่วนใดในวงการแพทย์และกฎหมาย?

“อินเตอร์เซ็กซ์คือ การผสมผสานของอวัยวะเพศตั้งแต่กำเนิด โดยมีหลายปัจจัยทั้งทางโครโมโซน ฮอร์โมนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิด”

เอ้-รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ ผู้ก่อตั้งเพจเรื่องเล่าพี่หมอเอ้ ให้ความรู้ด้านสุขภาพเพศ หมอเอ้เป็นแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ทางเพศ (แพทยสภา), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า อินเตอร์เซ็กซ์ถือเป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ของคุณลักษณะทางเพศหนึ่ง 

ในทางการแพทย์จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้การดูแลระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนกับคนกลุ่มนี้ เพราะระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติจะส่งผลต่อสุขภาพ กระดูก สมอง และพัฒนาการของคนอินเตอร์เซ็กซ์ แต่สำหรับการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ ควรมีการชะลอไม่ระบุเพศให้กับกลุ่มอินเตอร์เซ็กซ์ จนกว่าพวกเขาจะรับรู้เพศสภาพของตนเอง

“พ่อแม่ต้องมีความรู้และความเข้าใจ เปิดใจกับเรื่องเพศที่หลากหลายมากกว่าชาย-หญิง คนที่เกิดมาเป็นอินเตอร์เซ็กซ์คือคนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพ่อแม่เข้าใจ”

หมอเอ้กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าทุกคนเข้าใจความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและปกติ พ่อแม่และคนรอบข้างก็จะยอมรับคนอินเตอร์เซ็กซ์ได้มากขึ้น รวมทั้งพวกเขาก็จะมีสิทธิในการดำรงชีวิตที่ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

ในขณะเดียวกันได้มีการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศ โดยหนึ่งในร่างดังกล่าวถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่ม Intersex thailand ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่หมวดการห้ามไม่ให้ผ่าตัดเลือกเพศ และสามารถที่จะไม่ระบุเพศให้กับทารกอินเตอร์เซ็กซ์ได้

“ถ้าคลอดออกมาแล้ว แพทย์ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชายหรือหญิง (มีอวัยวะเพศคลุมเครือ) สามารถเว้นว่างเอาไว้ก่อนได้ ไม่ต้องระบุเพศให้เด็ก”

พรีส-ณฐกมล ศิวะศิลป ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Intersex Thailand ได้กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศคือ คำว่า ‘บูรณภาพทางร่างกาย’ ซึ่งหมายถึงสิทธิอันสมบูรณ์ในการกำหนดโดยอิสระในเนื้อตัวร่างกาย ร่างกายของทุกคนมีสิทธิที่ได้รับการเคารพ ความมั่นคงปลอดภัย ศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์จากบุคคลอื่น

“มันคือการกำหนดอาณาเขตในร่างกายตนเองว่า เรามีสิทธิสมบูรณ์ที่จะเอาอะไรไว้หรือเอาอะไรออก” 

พรีสเล่าประสบการณ์ของตนเองว่า เธอมีเนื้องอกอยู่บริเวณเต้านมที่มีสิทธิ์พัฒนาไปเป็นมะเร็ง แต่หากเธอนำหน้าอกออก มันก็จะแบนราบไม่เหมือนหน้าอกผู้หญิง จึงเป็นสาเหตุให้เธอเลือกเก็บมันไว้ถึง 20 ปี เพราะมองว่าคือบูรณภาพทางร่างกายของเธอ

“อยากให้สังคมยอมรับว่า โลกนี้ไม่ได้มีเพศทางชีววิทยาแค่ผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น เพศเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและหลากหลาย”

สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าคนคนนั้นมีเพศกำเนิดหรือนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองว่าอย่างไร แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่คนคนนั้นต้องการการดูแลสุขภาพอย่างไร และเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับพวกเขาหรือไม่คือหัวใจสำคัญ

“อินเตอร์เซ็กซ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การบอกตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่คือร่างกายของฉันและฉันรักมันทุกส่วน อาจจะดีกับคนคนนั้นมากกว่า สร้างพื้นที่ที่ทำให้เขารักตัวเองอย่างที่เขาเป็น”

พรีสกล่าวทิ้งท้ายก่อนเล่าให้ฟังว่า สัญลักษณ์วงกลมสมบูรณ์สีม่วงของชาวอินเตอร์เซ็กซ์ คือความหมายว่า ร่างกายคนอินเตอร์เซ็กซ์มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องถูกตัดแต่งตามธรรมชาติของคนนั้นๆ

เคารพฉันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

“คือฉันเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่จะเป็นอะไรก็ได้ในสิ่งที่ฉันอยากเป็น”

อั๊สบอกกับเรา โดยมีหนังสือ Areeya metaya วางอยู่ข้างกายเธอ มันคือนวนิยายอิงวิทยาศาสตร์ ที่สอดแทรกเรื่องราวทางจิตวิญญาณ เธอตอบคำถามว่าคนรอบข้างควรปฏิบัติอย่างไรต่อเธอด้วยคำตอบว่า

“แค่ปฏิบัติต่อเราเหมือนมนุษย์คนอื่น เคารพในหลักการคนเท่าเทียมกัน แม้อินเตอร์เซ็กซ์จะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศที่ชวนสับสนสำหรับใครหลายคนก็ตามที”

ความสับสนนี้ส่งผลในชีวิตของอัสหลายด้านรวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ เธอเล่าว่ารสนิยมทางเพศของเธอยังคงเป็นแบบสเตรท (Straight) คือชอบคนที่มีอัตลักษณ์เป็นผู้ชาย (Masculine) แต่เธอก็ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ตนเองเป็น ให้คนที่เข้ามามีความสัมพันธ์ด้วยเข้าใจไปซะทั้งหมด

“ต่อให้เขารับได้และไปกันต่อ ภาวะของเรามันก็ไม่ได้เหมือนกับคนข้ามเพศคนอื่น มันเต็มไปด้วยคำถาม รวมทั้งเราก็ไม่สามารถตอบสนองเขาได้ดีเท่ากับผู้หญิง”

อย่างไรก็ดีอั๊สยังคงเชื่อในความรัก และเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความรักที่ดี 

“เราอยากแต่งงาน อยากมีลูก แม้รู้ว่าภาวะของตัวเองจะไม่สามารถให้กำเนิดลูกได้ แต่การมีลูกตอนนี้ก็มีได้หลายรูปแบบ”

ชีวิตและเป้าหมายของอั๊สไม่แตกต่างอะไรจากค่านิยมของสังคมปัจจุบันคือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้มีความรักที่ดี มีที่อยู่อาศัยความมั่นคงภายในชีวิต รวมทั้งการสร้างครอบครัวในแบบของเธอเอง แม้รู้ดีว่าสังคมไทยทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ยังคงสับสนระหว่างความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์กับคนข้ามเพศ ที่มีพื้นที่ซ้อนทับกัน กล่าวคือ คนข้ามเพศคือกลุ่มคนที่รู้สึกไม่ตรงกับคุณลักษณะทางเพศของตัวเอง แต่สำหรับคนอินเตอร์เซ็กซ์คือ การที่พวกเขาไม่รู้ว่าอวัยวะของตนเองนั้นจะพัฒนาไปเป็นในลักษณะเพศชายหรือเพศหญิงอย่างชัดเจน เพราะเราต่างอยู่บนโลกที่ค่าความปกติของเพศกำเนิดมีแค่หญิง-ชาย สิ่งที่เป็นอย่างอื่นนอกจากนั้นกลายเป็นความผิดปกติไปโดยปริยาย 

ผลงานชิ้นนี้ถูกผลิตภายใต้โครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development

ซ้าย ณฐกมล ศิวะศิลป (พรีส) กลาง พักตร์วิไล สหุนาฬุ (ไก่) ขวา นาดา ไชยจิตต์ กลุ่ม Intersex Thailand

Tags: , , , , ,