เดิมทีการค้าทาสเคยเป็นกิจการที่รุ่งเรืองมากในยุคสมัยหนึ่ง ผู้คนที่มีอำนาจเหนือกว่าทั้งฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน เพศ หรือสีผิว สามารถซื้อคนที่ด้อยกว่าได้ตามใจ โดยเลือกคนที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการมากที่สุด เช่น คนที่ร่างกายแข็งแรงกำยำ คนที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และคนที่ตอบสนองรสนิยมทางเพศของตัวเองในธุรกิจค้าประเวณี

วันเวลาเปลี่ยนผ่าน การค้าทาสขายมนุษย์ที่เคยเป็นเรื่องปกติกลับไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป ในศตวรรษที่ 20 หลายพื้นที่บนโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน (Human rights) และเริ่มยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกัน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และมองว่าการค้ามนุษย์คือการกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จนพื้นที่ที่เจริญแล้วแทบทุกแห่งไม่อาจยอมรับการซื้อ-ขายมนุษย์ด้วยกันเองอีกต่อไป

ถ้าให้พูดตามความจริง ทุกพื้นที่บนโลกก็ยังคงมีการซื้อขายมนุษย์อยู่ แต่ถูกบิดตาม ‘กระบวนการทำให้เป็นสินค้า’ (Commoditization) ปัจจุบัน มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าของการแลกเปลี่ยนเป็นของตัวเอง และถูกทำให้เป็นสินค้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่เราอาจเรียกคุณค่าของการแลกเปลี่ยนนั้นว่า ผลตอบแทนที่เป็นได้ทั้ง ‘ค่าจ้าง’ ‘เงินเดือน’ หรือ ‘สวัสดิการอื่นๆ’ ตามความตกลงของผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า ‘เจ้านาย’ กับ ‘ลูกน้อง’

เมื่อไรก็ตามที่การซื้อ-ขายอยู่นอกเหนือข้อตกลง เกิดการหว่านล้อม บังคับขืนใจ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิด พยายามฆ่า ทำให้อีกฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรองจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งที่เกิดขึ้นจะถือว่าเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมายร้ายแรง โดยเฉพาะกับการค้ามนุษย์เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ และจะยิ่งรุนแรงเลวร้ายกว่าเดิมเมื่อการค้ากามนั้นเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

 

การค้ากามในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ไม่นานมานี้สังคมไทยเพิ่งจะวิพากษ์วิจารณ์การค้ามนุษย์โรฮีนจาในประเทศไทย ที่มีหลักฐานหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า ผู้มีอำนาจหลายหน่วยงานของไทย ได้เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับการขายคนด้วยกันเอง จนทำให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยรายงานเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2565 ว่าไทยอยู่ในบัญชีกลุ่มเทียร์ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด สร้างความอับอายในระดับสากล 

ยังไม่ทันได้สะสางประเด็นการค้ามนุษย์ระดับชาติที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตอนนี้สังคมไทยยังคงต้องพูดเรื่องดังกล่าวกันต่อไป เมื่อมีข่าวว่าผู้มีอำนาจในระบบข้าราชการ ตระกูลนักการเมืองท้องถิ่น และคนทำงานด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังซื้อ-ขายบริการทางเพศเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางกันอย่างโจ่งแจ้งเหมือนไม่กลัวความผิดใดๆ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เกิดการจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นคดีดังกล่าวยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจในสังคมมากนัก เนื่องจากการค้าบริการทางเพศเป็นคดีที่พบเจอได้ทุกที่ ก่อนตำรวจจะสอบสวนเพิ่มเติมจนพบว่า ยังมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ตกสำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 มีข่าวการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกครั้ง คราวนี้มีการบุกตรวจค้นบ้านพักของบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายราย ก่อนพบหลักฐานที่เชื่อมโยงว่าผู้เสียหายจำนวนมากเป็นเด็กและเยาวชนใน ‘บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสุราษฎร์ธานี’ โดยเคสที่สร้างความรู้สึกสะอิดสะเอียนที่สุดเคสหนึ่ง คือการนำเด็กอายุ 12 ปี ไปให้บริการทางเพศลูกค้าวัย 79 ปี 

เดิมทีความหมายของ ‘บ้านพักเด็กและครอบครัว’ คือการดำเนินงานภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดของเด็กๆ กลุ่มเปราะบาง แต่ตอนนี้บ้านพักฯ ที่ว่าในบางจังหวัดกลับกลายเป็นแหล่งค้ามนุษย์ชั้นดี

กลุ่มค้ามนุษย์จะรับออเดอร์จากลูกค้าว่าต้องการเด็กแบบไหน เพศอะไร มีบุคลิกลักษณะอย่างไร ก่อนจะเลือกเด็กจากบ้านพักเด็กและครอบครัวมาตอบสนองความต้องการทางเพศของลูกค้า ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็น ‘ผู้มีอำนาจ’ หรือ ‘คนใหญ่คนโตในพื้นที่’

แม้คนไทยจำนวนมากจะยืนยันว่ามนุษย์เราเท่าเทียมกัน แต่คำว่าคนใหญ่คนโตกับผู้มีอำนาจก็ยังคงปรากฏให้เห็นจนชินตา เมื่อมีข่าวว่าคนใหญ่คนโตเหล่านี้ซื้อบริการทางเพศเด็กจากกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีครอบครัวและอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล สังคมจึงตั้งคำถามว่าบุคคลเหล่านั้นคือใคร มีหน้าที่การงานอะไร และเรียกร้องให้เผยแพร่รายชื่อผู้ขายและผู้ซื้อออกมาให้หมด

เรื่องราวนี้บานปลายใหญ่โตกว่าเดิมเมื่อมีรายงานเพิ่มเติมว่า พิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เข้ามาแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวน โทรสั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับต่ำกว่าในบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปเกลี้ยกล่อมให้เหยื่อยอมความ ขอให้เรื่องมันแล้วกันไป จนทำให้เจ้าหน้าที่ในบ้านพักฯ ทำตามคำสั่งด้วยการพยายามอ้อนวอนให้เด็กๆ ยอมความ ไปจนถึงการข่มขู่และทำร้ายร่างกายเด็กๆ ในความดูแลของตัวเอง

การบีบบังคับของผู้มีอำนาจเหนือกว่า ส่งผลให้เหยื่อที่เป็นเยาวชนเกิดความเครียดสะสม พวกเขาวิตกกังวล ร้องไห้ตลอดเวลา มีอาการตื่นตระหนก เหยื่อบางรายพยายามหาทางออกด้วยการทำร้ายตัวเอง กรีดแขน หรือพยายามฆ่าตัวตาย จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพาผู้เสียหายที่เครียดหนักมาพักรักษาตัวที่กรุงเทพมหานคร 

หลังผู้มีอำนาจพยายามปกปิดซ่อนเร้นความเลวร้ายของตัวเองและพรรคพวก แต่กลับทำไม่สำเร็จ เรื่องฉาวเหล่านั้นกระจายไปทั่วยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง สังคมจับตามองคดีค้ามนุษย์ที่มีผู้ต้องหามากถึง 42 ราย แถมเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง ตอนนี้รายชื่อลูกค้าที่ใช้บริการกับกลุ่มค้ามนุษย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีถูกเปิดเผยออกมาเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘คนใหญ่คนโต’ ตามที่ว่าไว้ เช่น ลำยอง บุญสพ วัย 79 ปี ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนท่าสะท้อน หรือคำนึง สมบัติแก้ว รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อำเภอพุนพิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร นายแพทย์ ครูบาอาจารย์อีกหลายราย และลูกชายของอดีตนักการเมืองชื่อดัง

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเด็กๆ ในบ้านพักฯ พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการเซ็นคำสั่งย้ายด่วนรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่ในบ้านพักที่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานในคดีล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนทันที 

ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในข้อหาขัดขวางกระบวนการสอบสวนสืบสวนกระบวนการค้ามนุษย์ และข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนพนักงานในบ้านพักเด็กและครอบครัวที่ทำตามคำสั่งของรองอธิบดีฯ จะถูกดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายเด็ก และมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดขวางกระบวนการสืบสวนสอบสวน

ดูเหมือนว่าผู้กระทำผิดทั้งแก๊งค้ามนุษย์ ผู้ซื้อบริการ ผู้พยายามปกปิด จะได้รับผลของการกระทำของตัวเองกันถ้วนหน้า แต่สังคมก็ยังไม่ค่อยไว้วางใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะมีตัวอย่างแสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าคนที่มีอำนาจมักลอยตัวเหนือปัญหา หรือได้รับโทษทางกฎหมายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะพวกเขามักมีวิธีหลีกเลี่ยงและผ่อนหนักให้เป็นเบาอยู่เสมอ 

 

สังคมตั้งคำถามต่อ ‘คนใหญ่คนโต’ นักล่ากามผู้กระทำผิดซ้ำ

ย้อนกลับไปยังช่วงแรกที่เกิดเรื่อง ผู้คนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยชื่อผู้กระทำผิด เพราะตอนนั้นคนส่วนใหญ่รู้แค่ว่าผู้ซื้อบริการทางเพศมีตำแหน่งอะไร เป็นครู เป็นหมอ เป็นลูกนักการเมือง แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าคนไหน จนกระทั่งวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าวไทยพีบีเอสเปิดเผยรายชื่อผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีก 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นคนในตระกูลนักการเมืองท้องถิ่น คือ แสงโรจน์ กาญจนะ ลูกชายของ ชุมพล กาญจนะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

การเป็นลูกหลานนักการเมืองอาจทำให้หลายคนเกิดความครหา เกิดความตั้งแง่เล็กๆ ในใจ แต่คงไม่หนักหนาเท่ากับประวัติคดีความเก่าๆ ของ แสงโรจน์ กาญจนะ ที่ถูกนำมาเผยแพร่ เพราะเขาเพิ่งถูกออกหมายจับฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังมีคดีอาชญากรรมทางเพศยาวเป็นหางว่าว เช่น

ปี 2542 คดีพยายามฆ่า เพราะดวลปืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในผับ

ปี 2543 ใช้อาวุธปืนยิงพนักงานขับรถของสำนักงานสรรพากรจนเสียชีวิต ถูกจำคุก 10 ปี 

ปี 2544 คดียาเสพติด แต่ยกฟ้อง

ปี 2548 คดีข่มขืนกระทำชำเรานักศึกษาหญิง แต่ยกฟ้อง

ปี 2549 คดีข่มขืนหญิงชาวเมียนมา 2 ราย ใช้อาวุธปืนข่มขู่ กักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ยกฟ้องเพราะพยานกลับประเทศ

ปี 2551 คดีข่มขืนนักศึกษา ปวส. ใช้อาวุธปืนข่มขู่ แต่ยกฟ้อง

ล่าสุดในคดีค้ามนุษย์เยาวชนในบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสุราษฎร์ธานี แสงโรจน์ถูกตั้งข้อหา 5 ข้อหา มีผู้เสียหายรวมแล้ว 7 คน โดยกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระรวม 10 กรรม ได้แก่ 

  1. กระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม 
  2. กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม 
  3. พรากหรือร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร 
  4. พาหรือร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม 
  5. ร่วมกันชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กกระทำผิด

การเป็นลูกหลานในตระกูลนักการเมืองท้องถิ่นควบคู่กับประวัติคดีอาชญากรรมที่ระบุว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์กระทำผิดซ้ำ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทย ผู้ใช้โซเชียลฯ บางรายตัดพ้อต่อว่าเปรียบเทียบกับตัวเองว่า ถ้าผู้ก่อเหตุเป็นคนธรรมดา มีฐานะยากจน ฐานะปานกลาง ไม่ได้เป็นลูกหลานนักการเมือง จะยังรอดออกมาก่อเหตุซ้ำแบบนี้ได้หรือไม่

มีการวิจารณ์ว่า คนในตระกูลนักการเมืองคนหนึ่งละเมิดสิทธิผู้อื่นจนชิน ไล่ยิงคน กักขังหน่วงเหนี่ยว และมีคดีข่มขืนหลายครั้ง ส่วนคนอื่นๆ ในครอบครัวเดียวกันก็เป็นโฆษกกรรมาธิการเด็กและสตรี ไปตัดริบบิ้นเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ผู้ใช้โซเชียลฯ เกิดการต่อประเด็นถกเถียงไปว่า แม้คนสองคนจะเป็นครอบครัวเดียวกัน ใช้นามสกุลเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรเหมารวมว่าความผิดของคนคนหนึ่งจะทำให้ทั้งตระกูลผิดไปเสียหมด และมีบางรายแสดงความคิดเห็นโต้กลับว่า หากคนในครอบครัวไม่ได้ก่อเหตุ แต่ช่วยปกปิดความผิด ไม่พยายามช่วยแก้ปัญหา ก็คงถือเป็นการกระทำที่ย่ำแย่ไม่ต่างกัน

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าวยังไม่มีท่าทีจบลง เมื่อมีนามสกุลนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง จึงเกิดการเรียกร้องไปยัง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ให้ตัวแทนของพรรคควรออกมาชี้แจงต่อประชาชนว่าจะไม่มีความพยายามช่วยเหลือ หรือปกปิดความผิดให้กับลูกหลานของอดีตคนในพรรค

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีเสียงเรียกร้องให้ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความรับผิดชอบและชี้แจงต่อประเด็นค้ามนุษย์ในบ้านพักเด็กฯ ให้ชัดเจน 

จุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่าคนทำผิดจะต้องไม่อยู่เหนือกฎหมาย พรรคการเมืองไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนเรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์ แต่ถ้ามีกรณีที่พยายามมุ่งทำลายทางการเมืองด้วยการหาความเชื่อมโยงให้พรรคเกี่ยวข้องกับคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จะถือว่าเป็นการเมืองน้ำเน่าที่ไม่สร้างสรรค์

หลังแสงโรจน์ถูกออกหมายจับ 5 ข้อหา และไม่มาตามหมายเรียกของตำรวจ วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เขากับทนายความเดินทางมามอบตัวที่สถานีตำรวจภูธรสุราษฎร์ธานี เบื้องต้นให้การปฏิเสธทุุกข้อกล่าวหา ก่อนช่วงเช้าของวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่า พนักงานสอบสวนนำตัวแสงโรจน์ไปขออำนาจจากศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อฝากขังและคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะไปก่อความยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน แต่สุดท้ายเขาได้สิทธิปล่อยตัวชั่วคราวเหมือนกับผู้ซื้อบริการทางเพศคนอื่นๆ ที่ได้รับการประกันตัวออกไปหมดแล้ว 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่า ทำไมผู้ต้องหาคดีร้ายแรงที่พัวพันการค้ากามเด็ก และส่วนใหญ่กระทำผิดแบบเดิมซ้ำๆ ถึงได้รับโอกาสที่ไม่ควรจะได้รับ หรือเป็นเพราะว่าพวกเขาคือ ‘อภิสิทธิ์ชน’ เป็น ‘ชนชั้นวีไอพี’ อย่างที่สังคมครหาจริงๆ 

ทว่าไม่กี่ชั่วโมงหลังมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจนประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันไปไกล ศาลมีคำสั่งเพิกถอนปล่อยตัวชั่วคราว และส่งตัวแสงโรจน์เข้าฝากขังที่เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีเพื่อรอการพิพากษาต่อไป 

ไม่ได้มีแค่การค้ามนุษย์เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศเท่านั้น ยังมีคนอีกมากที่ถูกจับมาเป็นแรงงานในเรือประมง แรงงานในบ้าน แรงงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ จับไปเป็นขอทานตามถนน ที่เหยื่อจะเป็นใครก็ได้ เพศใดก็ได้ และมีสัญชาติใดก็ได้

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฉบับเดียวกับที่ระบุว่าไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 ยังระบุอีกว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์ ไม่มีการแสดงความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว และในบางการสืบสวนเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด สนับสนุนให้กิจกรรมการค้าที่ผิดกฎหมายยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ต้องหาทางแก้ไขที่ถูกต้องให้ได้โดยเร็วที่สุด

 

อ้างอิง

 

Tags: , , , , , , , ,