“ดูจมูกเธอสิ น่าเกลียดมาก”
“ทำไมไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้อวบอ้วนแบบนี้ได้ไง”
“ผอมเกินไป น่ากลัวมาก กินข้าวบ้างนะ”
“เป็นไอดอลก็ต้องฟังทุกอย่างที่แฟนคลับบอกสิ”
ความคิดเห็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและพบเห็นได้บ่อยครั้งตามเว็บบอร์ด เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรม K-Pop ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จึงมีกลุ่มแฟนคลับกระจายตัวอยู่ทุกที่ และด้วยความที่มีหลายวงให้เลือกติดตาม ความหลากหลายของแฟนคลับก็มากขึ้นตามไปด้วย เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นคอมเมนต์มหาศาลที่ทั้งชื่นชมและตำหนิติติงศิลปินที่ชื่นชอบ
“แฟนคลับก็วิจารณ์ศิลปินที่ชอบด้วยเหรอ”
“วิจารณ์สิ บางทีก็ต่อว่าศิลปินแรงกว่าแอนตี้แฟนด้วยซ้ำ”
การวิพากษ์วิจารณ์ ตักเตือน หรือแสดงความผิดหวังหากศิลปินหรือคนดังที่ชื่นชอบกระทำผิดถือเป็นเรื่องดี เพราะแสดงให้เห็นถึงการมีวิจารณญาณ การแยกแยะถูกผิดโดยลดความลำเอียงหรืออคติ แต่มีหลายครั้งที่ศิลปินยังไม่ทันได้ทำผิด พวกเขาและเธอจะถูกคอมเมนต์ว่ากล่าว วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก บุคลิก ท่าทาง การพูด หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างสีผมหรือการตัดผมสั้นหรือไว้ผมยาว ไปจนถึงการได้รับความคาดหวังจากแฟนคลับที่อยากให้ผอมกว่านี้ สวยกว่านี้ หน้าเรียวกว่านี้
ฮอ ยุนจิน (Huh Yunjin) สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปจากวง เล เซราฟิม (LE SSERAFIM) อาจเป็นหนึ่งในไอดอลจำนวนมากที่ได้รับบาดแผลจากคอมเมนต์ที่ว่า จนสามารถรวบรวมประสบการณ์ที่ตัวเองพบเจอมาเขียนเป็นเพลงที่มีชื่อว่า I≠Doll ที่เมื่อออกเสียงแล้วพ้องกับคำว่าไอดอล (Idol) สะท้อนอีกมุมหนึ่งของผู้ได้รับเสียงวิจารณ์ซึ่งหลายครั้งคนที่คอมเมนต์เสร็จแล้วก็ลืมไป ส่วนเจ้าตัวนั้นจำไม่มีวันลืมว่าตัวเองได้รับความเกลียดชังแบบไหนบ้าง
แต่ก่อนจะเอ่ยถึงความนัยที่ซ่อนอยู่ใน I≠Doll เราอยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับเธอแบบคร่าวๆ เสียก่อน
ฮอ ยุนจิน เด็กสาวจากอเมริกาที่มาตามฝันยังเกาหลีใต้
ผู้คนส่วนใหญ่รู้จัก ฮอ ยุนจิน เด็กฝึกที่บินไกลมาจากสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกผ่านรายการ Produce 48 (2018) เซอร์ไววัลไอดอลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างวงการบันเทิงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้เด็กฝึกจากสังกัดต่างๆ และสมาชิกจากเกิร์ลกรุ๊ปตระกูล 48 ของญี่ปุ่นอย่าง AKB48, SKE48, NMB48 และ HKT48 มาร่วมแข่งขันกัน โดยผู้ชนะ 12 อันดับแรก จะได้ฟอร์มวงเกิร์ลกรุ๊ปที่ชื่อว่า IZONE (ไอซ์วัน หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกตามการออกเสียงในภาษาเกาหลีว่า ไอจือวอน)
ยุนจินเป็นเด็กฝึกฝั่งเกาหลีใต้จากค่าย Pladis ที่เข้าร่วมแข่งขันพร้อมกับ อี กาอึน (Lee Kaeun) อดีตสมาชิกวง After School
ระหว่างการแข่งขัน รายการ Produce 48 เผยให้เห็นฉากความขัดแย้งระหว่างยุนจินกับ ยาบุกิ นาโกะ (Yabuki Nako) ผู้เข้าแข่งขันจากฝั่งญี่ปุ่น สมาชิกวง HKT48 โดยรายการจะแบ่งผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดออกเป็นกลุ่มย่อยและทำการแสดงร่วมกัน ยุนจินกับนาโกะที่เป็นตัวเต็งในตำแหน่งเมนโวคอล (นักร้องหลัก) ต่างอยากยืนอยู่ในตำแหน่งเซ็นเตอร์ เพื่อได้ท่อนร้องที่จะได้โชว์ศักยภาพของตัวเองให้มากที่สุด
เมื่อมีคนที่ต้องการเป็นเซ็นเตอร์ถึงสองคน แต่ตำแหน่งนี้มีได้แค่หนึ่งเดียว เพื่อนในวงจึงโหวตตามความคิดส่วนตัวว่าอยากเห็นใครเป็นเซ็นเตอร์ของทีม ผลออกมาคือนาโกะเป็นผู้ชนะ แต่ยุนจินร้องขอโอกาสจากเพื่อนอีกครั้ง ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้ชมเห็นคือความอึดอัดของเพื่อนร่วมทีม จนนาโกะเอ่ยขึ้นมาว่ากลัวบรรยากาศแย่ลง และคิดว่ายุนจินควรได้ยืนในตำแหน่งเซ็นเตอร์
ซีนดังกล่าวทำให้ผู้ชมจำนวนมากตั้งกระทู้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างก็ตำหนิทั้งสองคน บ้างก็ตำหนิยุนจิน ด่าทอว่าเธอเห็นแก่ตัว นิสัยไม่ดี ไม่ยอมรับฟังเสียงข้างมาก เหมือนเป็นเด็กเอาแต่ใจที่อยากจะได้ทุกอย่างไปคนเดียว รวมถึงความคิดเห็นอื่นๆ ที่ว่าไม่อยากให้เธอเป็นหนึ่งในผู้ชนะการแข่งของซีซันนี้
เมื่อมองจากความคิดเห็นอีกด้านหนึ่งของแฟนคลับทั้งคู่ ตอนที่มีปัญหานี้เลี่ยงยากมาก แฟนคลับของยุนจินมองว่าเวลานั้นเธออยู่ในอันดับ 22 เสี่ยงตกรอบ เพราะการแข่งในรอบที่เกิดประเด็นดราม่าจะมีคนผ่านเข้ารอบเพียงแค่ 30 คน และอาจรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้โชว์ความสามารถทั้งหมดที่มี จึงลองขอโอกาสครั้งที่ 2 จากเพื่อนๆ ส่วนทางด้านแฟนคลับบางส่วนของนาโกะ ก็มองว่าหากนาโกะปฏิเสธที่จะให้โอกาสยุนจิน ตัวของนาโกะก็อาจเป็นผู้ที่ต้องรับคอมเมนต์แย่ๆ แทนก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม มีหลายครั้งที่ทำให้เห็นว่ารายการเซอร์ไววัลประเภทนี้ เร้าอารมณ์คนดูด้วยการตัดต่อที่ไม่เป็นความจริง 100% ยกตัวอย่างกรณีสมมติเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนเคยแบ่งปันมุมมองดังกล่าวไปแล้วในบทความ หยาดเหงื่อ หยดน้ำตา การจัดอันดับ: ทำไมอุตสาหกรรม K-POP ถึงเสพติดเซอร์ไววัล
‘เด็กฝึก A ถูกเรียกมาให้สัมภาษณ์เพื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการแข่งขันรอบกลุ่ม มองตัวเองไว้แบบไหน เด็กฝึก A ตอบว่า “ฉันคิดว่าตัวเองจะต้องได้อันดับสูงๆ เพราะฉันเชื่อในความสามารถของตัวเอง และขอบคุณเพื่อนร่วมทีมมากๆ ที่ช่วยผลักดันให้ฉันมีความมั่นใจมากขึ้น ขอบคุณที่ร่วมมือกันแสดงโชว์ที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยทำมา” แต่รายการอาจหั่นประโยคลงเหลือเพียงแค่ “ฉันต้องได้อันดับสูง เพราะความสามารถของฉัน” สร้างคาแรกเตอร์เป็นคนมั่นใจแล้วตัดถ้อยคำขอบคุณเพื่อนๆ ออกไปจนหมด
‘การตัดฉากบางฉากที่ไม่เกี่ยวข้องกันแล้วประกบให้ดูเหมือนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมพบเห็นได้บ่อยๆ เช่น ระหว่างออกอากาศ ผู้ชมจะเห็นว่าเด็กฝึก B หัวเราะเยาะเด็กฝึก C ที่ทำพลาด แต่ความจริงเด็กฝึก B กำลังหัวเราะเรื่องอื่นอยู่ แต่ถูกตัดต่อให้เหมือนว่ากำลังขำกับความล้มเหลวของคนอื่น
‘ผู้ชมบางคนที่รู้ทันหรือรู้สึกได้ก็จะมองออกว่าอาจเป็นการสร้างดราม่าเพื่อให้รายการมีกระแส ส่วนผู้ชมบางกลุ่มที่เห็นแล้วเชื่อไปเลย พวกเขาจะกลายเป็นผู้กระพือประเด็นในโซเชียลมีเดีย เช่น การโพสต์ว่า “เด็กฝึก B ทำตัวไม่เหมาะสม ฉันจะไม่โหวตให้เด็กคนนี้ และขอให้คนอื่นอย่าโหวตให้กับเขาหรือเธอ” ที่ทำให้รายการได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการตัดต่อ’
ที่ต้องยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมตินี้ เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เราได้เห็น อาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการแก้ตัวแทนการกระทำของผู้เข้าแข่งขัน
ในรายการมีช่วงที่ผู้เข้าแข่งขันได้ระบายความในใจกับ ยุน โบรา (Yoon Bora) อดีตสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง Sistar ซึ่งเป็นครูฝึกสอน ยุนจินบอกว่าเธออ่านคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเธอทั้งหมด ใส่ใจมากว่าผู้คนคิดอย่างไรกับตัวเอง ก่อนเริ่มร้องไห้และบอกอีกว่าได้เห็นคอมเมนต์เชิงลบทั้งตำหนิ ด่าทอ และผิดหวังในตัวเธอเยอะมาก
โบราได้ปลอบใจว่าสุดท้ายแล้วรายการนี้ก็เป็นการแข่งขัน ไม่แปลกที่ยุนจินจะรู้สึกว่าต้องพยายามทำหลายๆ อย่าง ต้องซ้อมให้หนัก ต้องทำให้ผู้ชมเห็นว่าเธอมีความสามารถในการร้องเพลงมากแค่ไหน และทำทุกทางเพื่อให้ผ่านเข้ารอบ แต่อยากให้ยุนจินที่ยังเด็กอยู่ หันมามองคอมเมนต์เชิงบวกที่คอยสนับสนุนชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ มากกว่าคอมเมนต์ที่วิจารณ์เธอแบบรุนแรง ก่อนสุดท้ายเราจะได้เห็นว่าเธอทั้งขอบคุณและขอโทษนาโกะกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
ยุนจินจบการแข่งขันไปด้วยอันดับ 26 ใน Episode 11 ข่าวคราวของเธอเงียบหายไปพักหนึ่ง จึงได้รู้ว่าเธอพักจากการตามฝันไอดอล กลับไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ก่อนสำนักข่าวหลายเจ้าจะระบุว่าเธอถูกค่าย Source Music and HYBE ดึงตัวมาร่วมโปรเจกต์เกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ ร่วมกับสมาชิกคุ้นหน้าคุ้นตาจากรายการ Produce 48 อย่าง มิยาวากิ ซากุระ (Miyawaki Sakura) อดีตสมาชิกวง HKT48 และได้เดบิวต์กับวง IZONE เพราะจบการแข่งขันด้วยอันดับ 2 รวมถึง คิม แชวอน (Kim Chaewon) อีกหนึ่งสมาชิกจากวง IZONE ที่จบการแข่งขันด้วยอันดับ 10
ทันทีที่มีข่าวว่าผู้เข้าแข่งขันจาก Produce 48 ถึงสามคนจะมารวมทีมเป็นเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ แฟนคลับเคป็อปจำนวนมากต่างตั้งตารอดูวงดังกล่าวทั้งในแง่คอนเซปต์ แนวเพลง ไปจนถึงสมาชิกคนอื่นๆ ที่ยังไม่เปิดตัว
ตอนนี้ยุนจินก้าวเข้าสู่โลกไอดอลอย่างเป็นทางการแล้ว
I≠Doll ไอดอลก็คน ไม่ใช่ตุ๊กตาของใคร
“I’m more than just your pretty face”
“เมื่อวานคุณเรียกฉันว่าตุ๊กตา แต่วันนี้เรียกฉันว่าอีตัวแสบ”
“พวกเขาชอบเห็นฉันสับสนย่ำแย่ เฝ้าดูหญิงสาวตกอยู่ในความทุกข์ แต่ฉันก็เป็นคนเหมือนกับคุณไม่ใช่เหรอ”
“Idol doesn’t mean your doll to fuck with”
ข้อความข้างต้นคือเนื้อเพลง I≠Doll กว่า 2.30 นาที ที่ฟังและดูเรื่องราวทั้งหมด ยุนจินคล้ายกับกำลังถ่ายทอดความอัดอั้นตันใจจากเรื่องราวต่างๆ ที่พานพบมาเล่าให้จบในเพลงเดียว
ภาพตัวการ์ตูนน่ารักๆ ที่ยุนจินวาดไว้ในมิวสิกวิดีโอ เมื่อเทียบการแต่งกายจะรู้ทันทีว่าเธอกำลังวาดภาพตัวเองในช่วงเวลาต่างๆ การทำงานร่วมกับเพื่อนๆ LE SSERAFIM ก่อนบางช่วงบางตอนที่เผยให้เห็นการแชตกันของผู้คนที่วิจารณ์ไอดอลด้วยความสนุกสนาน
“เห็นรูปหรือยัง?”
“เห็นแล้ว จมูกบ้งมาก ฮ่าๆ”
“plastic surgery monster”
“พวกเธอน้ำหนักขึ้นแบบสุดๆ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าไอดอลเกาหลีส่วนใหญ่มักต้องแบกความคาดหวังของแฟนคลับและผู้คน ไอดอลหญิงจะต้องมีรูปร่างหน้าตาตรงตามอุดมคติ (ที่ใครก็ไม่รู้เป็นผู้กำหนดไว้) จะต้องสวย ถ้าไม่สวยตรงตามมาตรฐานก็ต้องมีความสามารถอลังการมาทดแทน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือทุกคนต้องมีรูปร่างผอมเพรียว ห้ามอวบ ห้ามอ้วน รวมถึงกฎข้อสำคัญอย่าง ‘ไอดอลห้ามเดต’ โดยเฉพาะไอดอลที่ยังไม่ได้มีอายุในวงการมาก กำลังเก็บเกี่ยวชื่อเสียง ถ้าเดตเมื่อไรเตรียมรับคอมเมนต์ด่าทอในทวิตเตอร์หรือแม้กระทั่งเข้ามาเมนต์ด่าในอินสตาแกรมส่วนตัวได้เลย
นอกจากนี้ บางทีบุคคลที่สร้างความเจ็บช้ำให้กับไอดอลนั้นไม่ใช่แค่คนทั่วไปที่นั่งพิมพ์ข้อความร้ายๆ อยู่ในห้อง แต่อาจหมายถึงทุกคนที่มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของไอดอลกลายเป็นสินค้าหรือจะต้องสมบูรณ์แบบจนเกินไปก็เป็นได้
หากใครเคยดูสารคดีที่เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการฟอร์มวง LE SSERAFIM ของค่ายเพลง Source Music and HYBE ที่สร้างเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้าง เนื่องจากบางช่วงบางตอนเผยให้เห็นทั้งกฎเกณฑ์เข้มงวด การอดหลับอดนอนเพื่อฝึกซ้อม การควบคุมน้ำหนัก หรือลักษณะบางอย่างที่คล้ายว่ามีบรรยากาศ Gaslighting ระหว่างค่ายเพลงกับตัวศิลปิน ที่เคยเขียนเอาไว้ในบทความ ผอมเท่ากับสวย? ค่านิยมความงามที่เป็นพิษในสารคดีไอดอล LE SSERAFIM
‘พนักงานชายคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นเชิงแนะนำว่าสมาชิกทั้งหมดจำเป็นต้องควบคุมน้ำหนักมากกว่าเดิม บอกว่าพวกเธอควรมีรูปร่างแบบที่เขามองว่าเหมาะสม ไปจนถึงข้อเสนอแนะว่าหากจำเป็นก็ต้องกินสลัดให้มากกว่านี้ ในขณะที่ไอดอลเองไม่ได้มองว่าพวกเธอมีน้ำหนักตัวมากเกินไป
‘สารคดีเผยให้เห็นว่าพวกเธอต้องซ้อมหนักทั้งการร้อง การเต้น การแสดงสื่ออารมณ์ ฝึกภาษาต่างประเทศ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างหนัก เรียนรู้ทุกอย่างเพื่อให้ไอดอลคนหนึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ค่ายมองว่าควรจะมี แล้วตอนนี้ต้นสังกัดยังกดดันเรื่องรูปร่างของพวกเธอ เพราะมองว่าไอดอลหญิงจำเป็นต้องผอมเพรียว ตามที่บริษัทกำหนดไว้ว่าหุ่นแบบไหนคือความสวยที่พวกเขาต้องการ’
อีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ได้เล่าในบทความเดิม คือการที่ยุนจินแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ในตอนที่เธอพยายามอย่างหนักเพื่อไปให้ถึงเกณฑ์ที่สังคมกำหนด เพื่อทำให้ไร้ข้อบกพร่องให้ได้มากที่สุด แรกเริ่มผู้คนต่างชื่นชมยกย่อง แต่พอเวลาผ่านไป จากคำชมเชยเริ่มกลายเป็นการวิจารณ์ว่ายุนจินพยายามหนักมากก็จริง ทว่าดูแล้วกลับไม่ค่อยจะมีเสน่ห์เสียเท่าไร
ความคิดเห็นนี้ทำให้พีออน่า (FEARNOT) หรือกลุ่มแฟนคลับของ LE SSERAFIM แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ด้วยการเชื่อมโยงกับเพลง I≠Doll ในท่อนที่ว่า
“พวกเขาพยายามหาว่าฉันมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง”
ค่านิยมเก่าของวงการไอดอลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง?
“บ่นธรรมเนียมปฏิบัติวงการไอดอล แล้วมาเป็นไอดอลทำไม”
“ทำไมถึงกล้าเรียกการด่าทอและคุกคามคนอื่นว่าเป็นธรรมเนียม”
“อะไรแย่ๆ ก็เปลี่ยนบ้างก็ได้แม่ อย่าดักดาน”
กระแสตอบรับที่มีต่อเพลง I≠Doll ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรกคือฝั่งที่ชื่นชมการทำเพลงของยุนจินตั้งแต่การแต่งเพลง การเป็นโปรดิวเซอร์ การวาดภาพประกอบในมิวสิกวีดิโอทั้งหมดด้วยตัวเอง รวมถึงแสดงความเข้าใจถึงสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อออกมา เพราะไอดอลจำนวนมากต่างก็แบกความกดดันหลายทาง ถูกคุกคามความเป็นส่วนตัว ถูกสั่งให้ทำในสิ่งที่แฟนคลับบางคนอยากจะเห็นหรืออยากให้เป็น แม้สิ่งที่ว่ามานี้จะไม่ใช่ตัวตนของพวกเขาเลยก็ตาม
บางคนที่ฟังเพลงนี้จบอาจรู้สึกว่ายุนจินเป็นเด็กสาวที่ไม่เปิดรับความคิดเห็นของผู้คนหรือไม่ เป็นคนแรงๆ ที่ถึงขั้นนั่งแต่งเพลงเพื่อด่ากลับเนติเซน (ชาวเน็ตเกาหลี) และฟังเสียงวิจารณ์มากเกินไปจนหมกมุ่นหรือเปล่า
แต่เมื่อสังเกตให้ดี เนื้อเพลงของเธอกล่าวถึงคนที่ต่อว่าด่าทอเธอด้วยคำพูดร้ายๆ ซึ่งหากมองในมุมตรงกลาง ยุนจินที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเธอ ทำไมถึงได้รับความคิดเห็นด่าทอทั้งที่เธอยังไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ใช่เรื่องเข้าท่าเลยถ้าเธอจะต้องก้มหน้าก้มตารับฟังฟีดแบ็กเหล่านี้ตลอดไป หรือไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เธอจะไม่ปล่อยผ่าน แล้วลองลุกขึ้นมาโต้ตอบผ่านเพลงดูสักครั้ง
นอกจากนี้ ความแปลกที่คนในวงการไอดอลทำกันจนเคยชินอย่างการค้นหาไฟลต์บินของศิลปิน ขับรถตามศิลปินกลับที่พัก พยายามโทรหา รุกล้ำความเป็นส่วนตัว เดินประกบที่สนามบินจนศิลปินเกิดอุบัติเหตุ ด่าทอแรงๆ เวลามีข่าวเดต เวลาศิลปินทำบางอย่างที่ไม่ถูกใจตัวเอง หรือแม้กระทั่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ฯลฯ
การกระทำเหล่านี้ไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรือเป็นเรื่องปกติที่คนซึ่งต้องการเป็นไอดอลควรพบเจอเลยแม้แต่น้อย
เมื่อมองยังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจนถึงทุกวันนี้ การที่ศิลปินและไอดอลลุกขึ้นมาสื่อสารบางอย่างผ่านงานเพลงนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะพวกเขาคือศิลปิน คนทำเพลง คนในแวดวงดนตรี ที่หวนทำให้กลับไปตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่โวยวายเวลาไอดอลแต่งเพลงรัก เพลงเศร้า เพลงอกหัก แต่กลับแค้นเคืองเวลาเขาระบายว่าทนทุกข์กับการกระทำของคนบางกลุ่มมากแค่ไหน
ยุนจินก็เป็นอีกหนึ่งคนที่วาดหวังไว้ว่า ถ้าเป็นไปได้ เธอก็อยากลองพยายามเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางอย่างในวงการไอดอลดูสักครั้งอยู่เหมือนกัน
“I wanna change the idol industry”
หวังว่าความฝันและความพยายามของเธอจะเป็นจริงในสักวัน
Tags: เพศ, 허윤진, Kpop, ฮอ ยุนจิน, ความเท่าเทียม, เลเซราฟิม, ฟิมมี่, เคป๊อป, เซรามิก, ไอดอลเกาหลี, อุตสาหกรรมเคป๊อป, เจนเดอร์, LE SSERAFIM, Huh Yunjin, Yunjin, Gender, HUHYUNJIN_IDOLL