“พี่ไม่อยากกินยาไขมันเลยอะหมอ” พี่เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเข้ามาปรึกษากับผมหลังทราบผลการตรวจเลือดประจำปีว่าค่าไขมันในเลือดผิดปกติ

“ค่าตัวไหนหรอครับ” ผมต้องการรู้รายละเอียด

“ก็ LDL น่ะสิ เป็นไขมันตัวเลวใช่มั้ยหมอ ของพี่ได้ 170” แสดงว่าเจ้าหน้าที่ท่านนี้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชนิดและค่าปกติของไขมันในเลือดมาบ้างแล้ว แต่ไม่วายย้อนกลับไปที่คำถามเดิม “แล้วอย่างนี้พี่ต้องกินยามั้ยอะ”

คำถามสั้นๆ ที่ต้องการคำตอบแค่ “ต้อง” หรือ “ไม่ต้อง” นี้ดูเหมือนจะง่าย แต่ความจริงแล้วอาจจะต้องนั่งคุยกันนานสองนานเลยก็ได้

เพราะเวลาเจาะเลือดตรวจระดับไขมันจะได้ค่าออกมาทั้งหมด 4 ค่าด้วยกัน ได้แก่

  1. คอเลสเตอรอลรวม (total cholesterol)

  2. ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride: TG)

  3. ไขมันดี (High-density lipoprotein cholesterol: HDL-C)

และ 4. ไขมันเลว (Low-density lipoprotein cholesterol: LDL-C) ซึ่งเดิมค่าไขมันชนิดนี้จะได้จากการคำนวณตามสูตรของ Friedewald (ภาพที่ 1) แต่ปัจจุบันสามารถตรวจวัดโดยตรงได้แล้ว

ภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ของไขมันในเลือดทั้ง 4 ค่า

ในการรายงานผลไขมันแต่ละตัวจะมีวงเล็บค่าปกติไว้ข้างท้าย (ใครมีสมุดตรวจสุขภาพประจำปีอยู่กับตัวลองหยิบขึ้นมาเปิดตามกันได้ครับ) คนส่วนใหญ่จะมีคอเลสเตอรอลสูง บางคนมีไตรกลีเซอไรด์สูง แต่ค่าที่หมอจะเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือ “ไขมันเลว” เพราะแนวทางการรักษาภาวะไขมันผิดปกติของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2559 กำหนดให้ใช้ไขมันชนิดนี้ในการรักษาและตรวจติดตาม

เนื่องจากเป็นไขมันที่จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด จนเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองตีบตามมา (เป็นที่มาของชื่อ “ไขมันเลว” นั่นเอง)

“แล้วอย่างนี้พี่ต้องกินยามั้ยอะ”

ค่าปกติของไขมันเลวที่มักจะวงเล็บไว้คือ “น้อยกว่า 130 มก./ดล. (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)” แต่ถ้าใครมีโรคประจำตัว ระดับไขมันที่ควรจะเป็นก็จะต่ำลงอีก เช่น โรคเบาหวานต้องน้อยกว่า 100 เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน ยิ่งถ้าเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาแล้ว จะต้องต่ำกว่า 70 เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาตีบซ้ำ ด้วยหลักการ “ยิ่งต่ำยิ่งดี” จึงควรได้รับยาลดไขมันตั้งแต่ตรวจพบ

ทว่าคนทั่วไปที่ตรวจสุขภาพแล้วเจอไขมันในเลือดสูงยังไม่จำเป็นต้องกินยาเลยทันที และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนได้ 3-6 เดือน แล้วมาตรวจระดับไขมันในเลือดซ้ำ หากยังสูงอยู่ถึงค่อยกินยาในภายหลัง

ยกเว้นใน 2 กรณี คือ

  1. ไขมันเลวสูงมาก คือมากกว่าหรือเท่ากับ 190 มก./ดล. หรือ

  2. มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีก 10 ปีข้างหน้าสูงมาก คือตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ที่จะควรเริ่มกินยาลดไขมันเลยเหมือนกลุ่มที่มีโรคประจำตัว

ทั้งนี้เพราะไขมันที่สูงจะค่อยๆ สะสม หลอดเลือดจะค่อยๆ ตีบ กว่าจะอุดตันเส้นเลือดจนเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือสมองขาดเลือดใช้ระยะเวลานานเป็นปีๆ จึงไม่ต้องรีบลดระดับไขมันในเลือดอย่างรวดเร็วเหมือนกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูง

อีกทั้งการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ (Cardiovascular: CV disease) ยังเกิดจากปัจจัยอื่นๆ อีก จึงจำเป็นต้องนำมาคำนวณร่วมกันเป็นค่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีก 10 ปีข้างหน้า เรียกว่า Thai CV Risk Score ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการวิจัยในกลุ่มพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2528

หรือถ้าใช้วิธีการคำนวณของอเมริกาจะเรียกว่า 10-year risk of atherosclerotic cardiovascular (ASCVD) events แต่เกณฑ์จะไม่เท่ากันคือ 7.5%

“ของพี่ต้องคำนวณความเสี่ยงก่อน”

อย่างในกรณีของเจ้าหน้าที่ท่านนี้มีค่าไขมันเลวเท่ากับ 170 มก./ดล. ซึ่งยังไม่เกิน 190 จึงต้องมาคำนวณความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนว่าจะเข้าเกณฑ์ในข้อ 2 หรือไม่

ซึ่งการคำนวณ Thai CV Risk Score นั้นทำได้ไม่ยาก และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Thai CV Risk Calculator (ถึงเวลาของคนที่มีสมุดตรวจสุขภาพติดตัวอยู่แล้วครับ) โดยจะต้องกรอกค่าตัวแปรทั้งหมด ได้แก่ อายุ, เพศ, การสูบบุหรี่, โรคเบาหวาน, ค่าความดันฯ ตัวบน, ค่าไขมันในเลือด 3 ชนิด สำหรับกรณีใช้ผลเลือด คือ คอเลสเตอรอลรวม ไขมันเลว และไขมันดี

หรือกรณีไม่ใช้ผลเลือดจะใช้ค่าส่วนสูง และรอบเอวแทน

ภาพที่ 2 ตัวอย่างการคำนวณความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยแอปพลิเคชัน

จากตัวอย่างในภาพที่ 2 ผมลองสมมติผู้ป่วยขึ้นมา (สมมติไขมันเลวเท่ากับ 170 ให้เหมือนกับพี่เจ้าหน้าที่) กรอกข้อมูลพื้นฐานและจากการตรวจสุขภาพ 🡪 เลือกว่าจะ “ใช้” หรือ “ไม่ใช้” ผลเลือด 🡪 กรอกข้อมูลต่อจนครบ แล้วกด “แสดงผล” ก็จะได้ค่า Thai CV Risk Score ออกมาเท่ากับ 1.93% แปลผลว่าคนไข้สมมติรายนี้มีโอกาสป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบในอีก 10 ปีข้างหน้าเท่ากับ 1.93% ซึ่งยังไม่เกิน 10% จึงยังไม่ต้องเริ่มกินยาทันที

“อย่างนี้พี่ก็ยังไม่ต้องกินยาสิหมอ” พี่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นดีใจ หลังจากผมคำนวณความเสี่ยงแบบเดียวกันให้ คงเพราะเขายังไม่อยากกินยา “เดี๋ยวพี่จะไปออกกำลังกายให้เยอะขึ้นแทน”

“หมอช่วยสั่งยาไขมันให้พี่หน่อย”

ช่วงนี้เป็นช่วงตรวจสุขภาพประจำปีของพี่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานสาธารณสุขในอำเภอที่ผมทำงานอยู่ ส่วนผมนั่งตรวจอยู่ที่ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีช่วงที่ยังไม่มีเคสตรวจ พอพี่พยาบาลเปิดดูผลเลือดในโปรแกรมเวชระเบียนก็จะถามความเห็นจากผมเดี๋ยวนั้นเลย

ส่วนใหญ่ถ้าอายุยังไม่มาก ค่าไขมันเลวเกินไม่เยอะ เมื่อคำนวณความเสี่ยงฯ ให้ก็จะยังไม่สูง

แต่ความคาดหวังต่อวิธีรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม คือ #ทีมอยากกินยา กับ #ทีมยังไม่อยากกินยา ซึ่งก็ต้องอธิบายถึงแนวคิดในการรักษาโรคไขมันในเลือดสูงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (หมายความว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต หากมีหลักฐานงานวิจัยใหม่) ข้อดี-ข้อเสียในการกินยา โดยถ้าเริ่มกินยาแล้วก็ต้องกินยาให้สม่ำเสมอ เพราะยาลดไขมันต้องกินมื้อก่อนนอน เป็นประจำทุกวัน ด้วยเหตุผลการออกฤทธิ์ของยา

และระดับไขมันในเลือดจะเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาเป็นเดือนๆ ขึ้นไป จึงนัดตรวจติดตามทุก 3-6 เดือน

ที่สำคัญคือถึงจะกินยาแล้ว ก็ต้องควบคุมอาหาร และเพิ่มการออกกำลังกายด้วย

 

หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายแนวคิดในการรักษาโรคไขมันในเลือดสูงเท่านั้น ผู้ที่ตรวจพบภาวะไขมันในเลือดผิดปกติต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินโรคร่วมและวางแผนการรักษาเป็นรายบุคคล

Tags: , , , ,