ปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือ ‘แอร์โฮสเตส’ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนส่วนใหญ่จะนึกภาพตามว่าต้องเป็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดี ตัวสูง สมส่วน มีบุคลิกภาพที่สง่างาม ด้วยเหตุผลประกอบความเข้าใจว่าแอร์โฮสเตสจำเป็นต้องมีคุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามา เพราะพวกเธอเปรียบเสมือนหน้าตาของสายการบิน บ้างก็ว่าเพราะต้องหน้าตาดูดีเพื่อให้ผู้โดยสารสบายตา ซึ่งสังคมไทยมีภาพจำที่ดีเกี่ยวกับแอร์โฮสเตสจนถึงกับมีคำเรียกอาชีพดังกล่าวว่าเป็น ‘นางฟ้า’
อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีเนื้องานน่าสนใจ ซ้ำยังเปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งได้เดินทางไปเปิดโลกกว้างในหลายประเทศ ได้พูดคุยกับผู้คนต่างชาติต่างภาษา และได้รับค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เหตุผลหลายประการทำให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นอาชีพที่มีอัตราการแข่งขันสูง เป็นเป้าหมายของหลายคน แม้ว่าอาชีพนี้ไม่ได้จะเป็นกันได้ง่ายๆ ก็ตาม
แอร์โฮสเตสเป็นอาชีพที่ต้องมีเกณฑ์การคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากผู้สมัครจะต้องมีความสามารถทางด้านภาษาแล้ว ยังต้องพ่วงด้วยส่วนสูง น้ำหนัก บุคลิกภาพ ฯลฯ ที่แม้ว่าจะดูสมเหตุสมผลในบางแง่มุม แต่หากลงลึกถึงรายละเอียด ก็อาจทำให้เกิดคำถามว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่
“ทุกสายการบินจะดูส่วนสูง น้ำหนัก และถ้าไม่ตรงเกณฑ์ พวกเขาจะไม่มีวันเรียกคุณมาสัมภาษณ์ และถ้าถูกจ้างงาน คุณต้องห้ามมีน้ำหนักเกินกว่าที่สายการบินกำหนดไว้ ต้องรักษาน้ำหนักให้เท่าเดิมเสมอ อย่างเช่นฉันที่ก็ต้องรักษาน้ำหนักให้น้อยกว่าที่สายการบินกำหนดไว้ประมาณ 6.8 กิโลกรัม”
แอนน์ ฮูด (Ann Hood) นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ ‘Fly Girl’ ที่บอกเล่าประสบการณ์การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้อีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นลูกเรือของสายการบิน Trans World Airlines (TWA) ตั้งแต่ช่วงปี 1978
สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิง ก็ยังคงเป็นอาชีพที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความงามแบบเดิมไม่ต่างจากในอดีต และกลายเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นว่าพวกเขามีรูปลักษณ์ที่ดูสมบูรณ์แบบตลอดเวลา แม้ว่าจะผ่านการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ต้องการทำงานเป็นแอร์โฮสเตสจะต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน เริ่มจากรอบ Pre-Screen คือการยื่นเรซูเม่ ที่นอกจากจะมีการวัดทักษะภาษา บุคลิกภาพ ความมั่นใจ และพิจารณาจากรูปร่างหน้าตา ยังต้องห้ามมีร่องรอยที่แสดงถึงความไม่สมบูรณ์ทั้งผิวหน้าและผิวกาย เช่น รอยแผลเป็น รอยข่วน รอยสัก สิว และจุดด่างดำ ข้อกำหนดยิบย่อยเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นคลิปจำนวนมากในอินเทอร์เน็ต ที่จะสอนวิธีการกลบรอยแผลเป็นเพื่อสมัครแอร์โฮสเตส ตั้งแต่การใช้เครื่องสำอางไปจนถึงวิธีเลเซอร์ เรียกได้ว่าผิวพรรณอันไร้ที่ติได้กลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่พนักงานต้อนรับจำเป็นต้องมี
สำหรับน้ำหนักของผู้สมัคร จะมีการกำหนดในประกาศรับสมัครว่าต้องมีความเหมาะสมกับส่วนสูง อย่างไรก็ตาม คำว่าเหมาะสมของหลายๆ สายการบินก็ไม่เหมือนกัน ผู้สมัครรวมถึงลูกเรือจำนวนมากจำเป็นต้องลดและควบคุมน้ำหนัก ให้เป็นไปตามความเหมาะสมตามข้อกำหนดของแต่ละสายการบิน
ในปี 2019 ลูกเรือราว 100 คน จากสายการบินปากีสถาน โดนยื่นคำขาดให้ลดน้ำหนักเกือบ 13 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 6 เดือน มิเช่นนั้นจะถูกพักงาน สายการบินให้เหตุผลว่ามีผู้โดยสารตำหนิว่าพนักงานมีรูปร่างอ้วน แต่สายการบินก็ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดและแจ้งปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใด หรือปี 2014 หน่วยงานที่ดูแลด้านการบินพลเรือนของอินเดีย กำหนดให้แอร์โฮสเตสต้องมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 18-22 จึงจะสามารถขึ้นบินได้
นอกจากเรื่องผิวพรรณหรือน้ำหนัก การจะเป็นลูกเรือจำเป็นต้องมีคุณสมบัติอื่น เช่น ฟันต้องขาวและเรียงตัวสวย ต้องมีใบหน้าที่สมมาตร ฯลฯ ทั้งหมดนี้แสดงถึงการให้ความสำคัญกับมาตรฐานความงามที่มีมากกว่าอาชีพอื่น
ธรรมชาติมนุษย์ทุกคนนั้นเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย หากมองในแง่นี้ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินยังคงเป็นอาชีพที่ถูกจำกัดไม่ให้แสดงออกถึงตัวตนที่แตกต่างของแต่ละคน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่ถูกละเลยอย่างการใช้เพศแบ่งแยกตำแหน่งเป็น ‘แอร์โฮสเตส’ กับ ‘สจ๊วต’ ซึ่งยังคงเป็นภาพที่คุ้นเคยในสายการบินส่วนใหญ่ การห้ามมีรอยสักนอกร่มผ้า ห้ามมีรอยแผลเป็น ที่ต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียดไม่ว่าจะแผลใหญ่หรือเล็ก รูปแบบของทรงผม การแต่งหน้า และการแต่งตัวที่ถูกต้องตามเพศสภาพแต่กำเนิด
อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมาก ทั้งที่เรื่องทั้งหมดอาจไม่ได้มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานบริการของพนักงานลดลงแต่อย่างใด ซ้ำยังลบเลือนอัตลักษณ์ของบุคคลในหลายด้าน
ปัจจุบัน หลายสายการบินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ล่าสุดสายการบิน Virgin Atlantic ประกาศยกเลิกกฎการแต่งกายแยกชายหญิง พนักงานสามารถเลือกเครื่องแบบที่ตนอยากใส่ได้โดยไม่ต้องอิงกับเพศกำเนิด ลบภาพจำเดิมที่แบ่งพนักงานตามเพศว่าแอร์โฮสเตสคือสาวใส่กระโปรง ส่วนสจ๊วตคือชายหนุ่มใส่กางเกงขายาว รวมถึงการเพิ่มสรรพนามระบุเพศที่ไม่ได้มีแค่ชายหญิงอีกต่อไป
ประเด็นเครื่องแต่งกายและสรรพนามที่มีความเป็นกลางทางเพศ ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับวงการลูกเรือ สายการบิน Virgin Atlantic อ้างอิงรายงานหนึ่งฉบับที่ระบุว่า การให้พนักงานได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตน จะช่วยเพิ่มความสุขในภาพรวมได้ถึง 65% ส่งผลดีต่อการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และทำให้พนักงานรู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้น
ลูกเรือทุกคนของสายการบินต่างๆ ควรจะได้เป็นพนักงานที่ทำงานอย่างมีความสุขและได้เป็นตัวเอง เพราะหน้าที่หลักของพนักงานคือการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ใจที่รักงานบริการ และรอยยิ้มที่มาจากใจจริง จึงน่าจะสำคัญมากกว่าการทำให้พนักงานทุกคนมีภาพลักษณ์ที่ดูไร้ที่ติเหมือนๆ กัน
ที่มา
https://www.pinknews.co.uk/2022/09/28/virgin-atlantic-gender-identity-update/
https://edition.cnn.com/travel/article/confessions-1980s-flight-attendant/index.html
https://www.insider.com/pakistan-international-airlines-tells-cabin-crew-to-lose-weight-2019-1
Tags: Beauty Standard, แอร์โฮสเตส, Gender