“หมอคะ ขอหน้าแบบนี้”

ภาพหญิงสาวที่มีดวงตากลมโต ใบหน้าเรียวสวย ผิวใสเนียนกริบ ที่ใบหน้าก็ดูคล้ายเจ้าของโพสต์อยู่บ้าง แต่กลับไม่ใช่เสียทีเดียว มาพร้อมกับแคปชันบรรยายถึงตัวเองในภาพแบบข้อความด้านบน เราพบเห็นสิ่งนี้บ่อยในช่วงนี้จากการมาของฟีเจอร์ AI (Beauty) Profile ของแอปพลิเคชัน SNOW

ก่อนที่ภาพโปรไฟล์สไตล์เกาหลีเช่นนี้จะเป็นที่นิยม เดิมทีเราก็มีฟีเจอร์ที่ทำให้ได้รูปภาพสวยๆ ของตัวเองมากมาย เช่น ฟิลเตอร์ในอินสตาแกรม ที่บางครั้งถ้าไม่ใช้ก็ถึงกับโพสต์สตอรี่ให้คนอื่นเห็นไม่ได้ หรือย้อนไปนานกว่านั้นก็อาจเป็นฟิลเตอร์หน้าสุนัขสุดฮิต ที่ช่วยเบลอผิวให้วิ้งวับจาก Snapchat รวมถึงแอปพลิเคชัน TikTok ที่มีเอฟเฟกต์ให้เลือกจนนับไม่ถ้วนทั้งแบบภาพและวิดีโอ

เราคุ้นเคยกับฟีเจอร์เพื่อความงาม ในระดับที่เรียกได้ว่าไม่แพ้กับที่คุ้นเคยในโซเชียลมีเดียนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่การกระทำที่ผิดอะไร แต่ภายใต้การสร้างความสมบูรณ์แบบผ่านหน้าจอ ก็มีข้อควรระวังที่อาจส่งผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน

จาก IG Filter สู่ AI Beauty ความงามจากโซเชียลมีเดียฟีเจอร์อาจเป็นผลเสียได้อย่างไร

การปรับดวงตาให้กลมโตอัตโนมัติ ใบหน้าและจมูกที่เรียวเล็กลงภายในไม่กี่วินาที ผิวที่ถูกเบลอให้เรียบเนียน พร้อมด้วยเครื่องสำอางแบบทิพย์ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแต่งจริงก็ถ่ายออกมาดูจัดเต็มได้ ฯลฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยมาตรฐานความงามที่แฝงอยู่ ซึ่งมันสะท้อนว่าเราต้องการที่จะดูงามอย่างไร และสังคมต้องการที่จะมองความงามแบบไหน

ฟิลเตอร์ รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ สำหรับตกแต่งภาพเซลฟี่ เช่น แอปพลิเคชัน MEITU เป็นเครื่องมือที่อาศัยเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการปรับเปลี่ยนใบหน้าเพื่อสร้างรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม จากที่เคย ‘โป๊ะ’ ด้วยการแต่งภาพให้หน้าเรียวหรือผอมลงแล้วเกิดปรากฏการณ์บ้านเบี้ยว หรือใส่ฟิลเตอร์แต่งหน้าแล้วคิ้วลอย ทุกวันนี้ฟีเจอร์เพื่อความงามพัฒนามากขึ้นจากการเรียนรู้อย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ จนถึงขั้นที่เราสร้างภาพโปรไฟล์ด้วยการคลิกไม่กี่ครั้ง แล้วออกมาเป็นรูปภาพตัวเราในเวอร์ชันที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ

เอฟเฟกต์ชื่อ ‘Bold Glamour’ จาก TikTok ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากความแนบเนียนจนถึงขั้นน่ากลัว เพราะมันทำให้หน้าของคุณสวยเป๊ะแบบไม่มีโป๊ะ แม้ว่าจะทดลองเอาสิ่งกีดขวางมาไว้ตรงใบหน้าแต่เอฟเฟกต์ก็ยังไม่หลุดออกไป ไม่เหมือนกับฟีเจอร์เพื่อความงามส่วนใหญ่ที่ยังคงมีข้อบกพร่องตรงนี้ สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป๊ะของฟีเจอร์เพื่อความงามจากการพัฒนาของแอปพลิเคชัน แต่มันไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป เพราะบางทีมันก็ทำให้เราแยกไม่ออกว่าความสมบูรณ์แบบที่เห็นนั้นคือเรื่องจริงหรือเปล่า

นอกจากความอันตรายที่ปรากฏชัด อย่างเรื่องความเสี่ยงต่อการโดนละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น กรณีของแอปพลิเคชัน FaceApp ที่เคยตกเป็นประเด็นเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้ การใช้ฟีเจอร์เพื่อความงามยังอาจมีอันตรายอื่นๆ ที่แฝงมา โดยเฉพาะการสร้างผลกระทบต่อจิตใจ

ความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การใช้ฟีเจอร์เพื่อความงามกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งความสมบูรณ์แบบในที่นี้ คือการที่ฟิลเตอร์ช่วยส่งเสริมให้เรามีรูปลักษณ์ตามค่านิยมความงามของสังคมในปัจจุบัน จนเหมือนว่าเมื่อใช้ฟิลเตอร์เราจะได้เห็นตัวเองในอุดมคติ กล่าวคือเป็นเราในแบบที่ดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งทำให้คนจำนวนมากรู้สึกดีกับรูปลักษณ์ที่ปรากฏบนหน้าจอ

ประเด็นอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมามีความงามแบบไอดอลเกาหลีเหมือนภาพที่ทำจากแอปพลิเคชัน SNOW หรือสวยคมแบบสายฝอที่ขยับตัวทำอะไรก็เห็นขนตาเรียงเป็นแพโดดเด่นแบบในฟิลเตอร์ พวกเรายังคงเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่ได้มีผิวอันเนียนเรียบไร้ที่ติเหมือนภาพที่โพสต์ในอินเทอร์เน็ต มีรูปแบบของจมูกที่แตกต่างกันไป ไม่ได้ออกมาเรียว โด่ง สวยได้รูป หรือใบหน้าเรียวเล็กที่บางคนต่อให้ผ่านการฉีดโบท็อกซ์ก็ไม่สามารถลดลงไปได้ อาจกล่าวได้ว่าในบางครั้งฟีเจอร์เพื่อความงามก็มีผลลัพธ์ที่ออกมาเกินจริง และไม่ได้ทำให้เราเห็นตัวเราในรูปแบบที่ดีที่สุดอยู่ดี

มาตรฐานความงามที่ไม่สมจริงเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ เช่น ปัญหาเรื่องความกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์และระดับของความนับถือตนเองที่ต่ำลงจากความไม่พึงพอใจในหน้าตา ไปจนถึงการเสพติดตัวตนและภาพลักษณ์อันสมบูรณ์แบบที่สร้างขึ้นได้ผ่านฟีเจอร์เพื่อความงามในโซเชียลมีเดีย

มีฟิลเตอร์จากแอปพลิเคชัน FaceApp ที่ครั้งหนึ่งถูกร้องเรียนว่าเป็น ‘ฟิลเตอร์เหยียดเชื้อชาติ’ โดยฟิลเตอร์ดังกล่าวทำให้ผิวสว่างขึ้นและปรับเปลี่ยนรูปทรงของจมูกให้เป็นไปตามแบบชาวตะวันตกผิวขาว พร้อมคำโปรยว่ามันจะช่วยให้คุณดูดีมากขึ้น ฟีเจอร์ที่บอกว่าสร้างมาเพื่อเพิ่มความงามและสร้างความสมบูรณ์แบบ จึงเป็นอีกสิ่งที่อาจเพิ่มอคติทางเชื้อชาติได้ เพราะความสมบูรณ์แบบที่ว่าคือการต้องมีเชื้อชาติเป็นชนผิวขาว

ขณะเดียวกัน ยังมีฟิลเตอร์แสดงถึงอาการ ‘Fatphobic’ (เกลียดกลัวความอ้วน) ที่เป็นเทรนด์ในแอปพลิเคชัน TikTok โดยฟิลเตอร์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้ตัวพองใหญ่ขึ้น พร้อมกับสร้างรอยย่นบนใบหน้า โดยผู้ใช้มีการเล่นฟิลเตอร์ในตอนต้น และปลดฟิลเตอร์ออกในท้ายคลิป เพื่อให้ดูว่าความจริงแล้วพวกเขานั้นมีรูปลักษณ์ที่งดงามพร้อมทำท่าโล่งใจที่ตนไม่ได้ดู ‘น่าเกลียด’ เหมือนในฟิลเตอร์ ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ถูกโจมตีกลับอย่างหนัก

การใช้ฟิลเตอร์มีข้อดี คืออย่างน้อยให้เราได้รูปภาพที่ดูสวยงาม หรือสร้างความพึงพอใจในรูปลักษณ์ตามอุดมคติของเราได้ แต่มันก็เป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานความงามที่ยังคงจำกัดอยู่อย่างแคบๆ และยังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างตามบรรทัดฐานทางเพศโดยไม่รู้ตัว ฟีเจอร์เพื่อความงามทั้งหลายล้วนแล้วแต่ผลิตขึ้นมาเพื่อผู้ใช้ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งมันอาจเกิดจากความคาดหวังให้ผู้หญิงมีรูปลักษณ์ที่ดูสมบูรณ์แบบตามมาตรฐานความงาม และผู้คนก็ต้องวิ่งตามมันไปเรื่อยๆ ทั้งที่ความสมบูรณ์แบบที่ว่านั้นอาจจะไม่มีจริง

ที่มา

–  https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2023/06/09/picture-perfect-the-hidden-consequences-of-ai-beauty-filters/?sh=6e51072a7d5d 

https://www.forbes.com/sites/annahaines/2022/12/19/how-ai-avatars-and-face-filters-are-affecting-our-conception-of-beauty/?sh=603104004117 

https://www.bbc.com/news/newsbeat-39702143

https://www.dailymail.co.uk/femail/article-11077847/TikTok-slammed-fatphobic-filter-puffs-faces-youd-look-like-ugly.html

Tags: , , , , , , , ,