“ในฐานะกีฬา การไม่แบ่งแยกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ การปกป้องความสมบูรณ์ของเกมการแข่งขันหญิงระดับนานาชาติและความปลอดภัยของผู้เล่น”

จอฟฟ์ อัลลาไดซ์ (Geoff Allardice) ผู้บริหารระดับสูงของสภาคริกเก็ตนานาชาติ (International Cricket Council) อธิบายการตัดสินใจการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เรื่อง ‘คุณสมบัติทางเพศ’ ในการแข่งขัน ทำให้ ICC กลายเป็นองค์กรกีฬาล่าสุดที่สั่งแบน ‘ผู้เล่นข้ามเพศ’ จากการแข่งขันหญิงนานาชาติ ในเงื่อนไขที่ว่า หากพวกเขาผ่าน ‘วัยแรกรุ่น’ ของผู้ชายไปแล้ว

ผู้บริหารระดับสูงของ ICC กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากกระบวนการปรึกษาหารือที่ครอบคลุมและเริ่มขึ้นจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ และสอดคล้องกับหลักการสำคัญที่ถูกพัฒนาขึ้นในระหว่างการพิจารณา

ก่อนหน้านี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สมาคมกีฬาอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายในแนวทางเดียวกัน คือ สมาคมรักบี้ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กรีฑา และรักบี้ลีก โดยมีการกล่าวอ้างถึงข้อกังวลเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ หรือ ‘ความปลอดภัย’

นโยบายล่าสุดนี้เกิดขึ้นเพียงสองเดือนหลังจากที่ แดเนียล แมคกาเฮ (Danielle McGahey) จากแคนาดา กลายเป็นนักคริกเก็ตข้ามเพศคนแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการ ในการแข่งขัน T20 World Cup America หญิง กับนักกีฬาจากทีมชาติบราซิล แมคกาเฮ ลงเล่นทั้ง 6 นัดในการแข่งขันรอบคัดเลือกของทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว เพื่อเพิ่มจำนวน ‘การติดทีมชาติ’ ในการแข่งขันที่ไม่ได้เป็นทางการของ ICC 

ก่อนหน้านี้ แมคกาเฮ ได้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมดในการลงแข่งขัน ภายใต้กฎระเบียบฉบับก่อนหน้าของ ICC ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 และเคยถูกแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนเมษายน 2021 อย่างไรก็ตาม ICC กล่าวว่า กฎใหม่จะขึ้นอยู่กับหลักการต่อไปนี้ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญ คือ 

1. การคุ้มครองความสมบูรณ์ของเกมสตรี

2. ความปลอดภัย

3. ความเป็นธรรม

4. การไม่แบ่งแยก

นั่นหมายความว่าผู้เข้าร่วมแข่งขันที่เคยผ่านช่วง ‘วัยแรกรุ่นชาย’ จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในเกมสตรีสากล โดยไม่ต้องคำนึงถึงการผ่าตัดแปลงเพศใดๆ ที่พวกเขาอาจดำเนินการไปแล้ว

“ตอนนี้ฉันไม่มีอะไรจะพูดมากนัก แต่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก เห็นได้ชัดว่าการข้อสรุปที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากถือเป็นการสิ้นสุดอาชีพคริกเก็ตระดับนานาชาติของฉัน” แมคกาเฮ กล่าวกับ BBC Sport

นโยบายที่ส่งผลเป็นวงกว้าง

นโยบายใหม่นี้ ซึ่งนำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการแพทย์ของ ICC และมี ดร.ปีเตอร์ ฮาร์คอร์ต (Peter Harcourt) เป็นประธาน จะเกี่ยวข้องกับการแข่งขันคริกเก็ตหญิงนานาชาติเท่านั้น อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศจะได้รับอนุญาตให้มีนโยบายของตนเองสำหรับเกมการแข่งขันในประเทศ

ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการคริกเก็ตอังกฤษและเวลส์ (ECB) ที่กล่าวว่า จะพิจารณาว่ากฎระเบียบ ICC ใหม่ส่งผลต่อนโยบายของตนอย่างไรเป็นลำดับแรก โดยโฆษก ECB กล่าวว่า “เรายังคงทบทวนนโยบายเรื่องบุคคลข้ามเพศของเราต่อไป โดยคำนึงถึงความครอบคลุม ความปลอดภัย และความเป็นธรรม และจะพิจารณากฎระเบียบ ICC ใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณานี้”

เมื่อทาง ICC มีการประกาศนโยบายใหม่ดังกล่าว ทำให้เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยเฉพาะเครือข่ายสิทธิสตรี (WRN) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มุ่งส่งเสริมนโยบายที่ยุติธรรมและปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ตั้งแต่กีฬาระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับสูง ก็ออกมาเรียกร้องให้ ECB ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภายในประเทศ เพื่อสอดรับการ ICC

เจน ซัลลิแวน (Jane Sullivan) โฆษกหญิงของ WRN ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว PA ว่าคริกเก็ตหญิงเป็นกีฬาที่เติบโตเร็วที่สุดชนิดหนึ่ง และความสำเร็จของทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เช่น The Hundred และ Women’s Ashes ที่มีผู้ชมเต็มสนามคริกเก็ตถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงคุณภาพของเกมการแข่งขันของผู้หญิง

“การอนุญาตให้ชายข้ามเพศแข่งขันในประเภทหญิงไม่เพียงแต่เป็นอันตรายเท่านั้น แต่ยังเป็นการไม่ยุติธรรมด้วย เนื่องจากนักขว้างลูกเร็วเพศชายที่แข็งแกร่ง สามารถขว้างลูกได้ด้วยความเร็วมากกว่า 90 ไมล์ต่อชั่วโมง เทียบกับความเร็วมากกว่า 70 ไมล์ต่อชั่วโมงสำหรับนักขว้างลูกหญิงที่เร็วที่สุด ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพียงอย่างเดียวน่าก็จะเพียงพอที่จะหยุดเรื่องนี้ได้แล้ว”

นอกจากนี้ เจน ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงความกังวลทั้งในเรื่องความเสี่ยงอาการบาดเจ็บ รวมถึงความปลอดภัยเมื่อนักกีฬาข้ามเพศเหล่านี้ตัดสินใจใช้ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้หญิงด้วย

“เราขอเรียกร้องให้ ECB เปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับ ICC”

จากคริกเก็ตถึงฟุตบอล เมื่อนักกีฬาข้ามเพศกลายเป็นผู้รับบาป

ขณะที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ก็เกิดกรณีถกเถียงล่าสุด และกำลังดำเนินการเพื่อหาข้อยุติ หลังจากมีกรณีนักเตะข้ามเพศลาออกจากวงการฟุตบอล เนื่องจากสโมสรคู่แข่งปฏิเสธที่จะ ‘ลงเล่น’ กับเธอ 

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อนักกีฬาหญิงจากทีม Mosborough Ladies FC บาดเจ็บจากการบล็อคลูกยิงประตูของ ฟรานเชสกา นีดแฮม (Francesca Needham) นักเตะข้ามเพศ จากทีม Rossington Main Ladies ทีมจากเซาท์ยอร์กเชียร์ จนได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า และต้องปิดฉากฤดูกาลของตนเองลง ทำให้ทีมต่างๆ ในการแข่งขันลีก The Sheffield And Hallamshire Women And Girls League (SHWGL) ซึ่งเป็นฟุตบอลหญิงระดับ 7 ของอังกฤษ ถอนตัวจากการแข่งขันกับทีม Rossington Main Ladie ที่ฟรานเชสก้า สังกัด อยู่

ตามรายงานของ Sky News ระบุว่า ฟรานเชสก้าถูก ‘บังคับ’ ให้เลิกเล่น ทำให้เธอรับรู้ถึง ‘การเลือกปฏิบัติ’ ที่มีต่อเธอ โดยเธอหวังว่าเรื่องราวจะได้รับการแก้ไขด้วยดีจากความช่วยเหลือของสมาคมฟุตบอล (FA)

ฟรานเชสการะบุในโพสต์เฟซบุ๊กของตนเองว่า การตัดสินใจออกจากวงการฟุตบอลของเธอมีพื้นฐานมาจากความปรารถนาที่จะปกป้องทีมและเส้นทางในอนาคตของสโมสร แต่ก็ทำให้ท้อใจที่จะยอมรับว่าสถานการณ์นี้ขัดแย้งกับทุกสิ่งในนโยบายความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก 

“ฉันเชื่อว่านี่เป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก” ฟรานเชสกา โพสต์บนเฟซบุ๊กของตน 

ทั้งนี้ นโยบายข้ามเพศของ FA ระบุว่า ‘อัตลักษณ์ทางเพศไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอล’ หากแต่อัตลักษณ์ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับ ‘บุคคลข้ามเพศ’ นั้นมีเงื่อนไข และจะต้องถูกประเมินเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาจากการแข่งขันที่ยุติธรรมและความปลอดภัยของผู้สมัครรวมถึงนักกีฬาคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวอยู่ภายใต้ ‘การตรวจสอบเป็นประจำทุกปี’

ขณะที่ทาง FA กล่าวกับ Sky News ว่า กำลังทำงานร่วมกับ SHWGL เพื่อหาข้อยุติในกรณีของฟรานเชสก้า เนื่องจากปัญหาดังกล่าวซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

“เช่นเดียวกับองค์กรกำกับดูแลกีฬาระดับชาติอื่นๆ เรากำลังทบทวนนโยบายเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศสำหรับฟุตบอลอังกฤษ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความครอบคลุม ยุติธรรม และปลอดภัยสำหรับทุกคน”

 

รูปประกอบบทความจาก: thecricketer.com

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/sport/2023/nov/21/transgender-players-banned-from-international-womens-cricket-by-icc

https://www.independent.co.uk/sport/cricket/cricket-transgender-women-ban-icc-b2451178.html

https://news.sky.com/story/transgender-footballer-quits-after-rival-teams-refuse-to-play-against-her-13012609

Tags: , , , ,