UEFA Nations League

FIFA Club World Cup 2025

บอลลีก (ที่ยังไม่รวมบอลถ้วยนับหลายรายการ)

Africa Cup of Nations 2025

FIFA World Cup 26 

ลิสต์โปรแกรมมากมายที่เรียกได้ว่า ‘ดูกันจนตาแฉะ’ อาจเป็นสวรรค์สำหรับคอแฟนลูกหนัง โดยเฉพาะหากฟอร์มทีมรักอยู่ในจุดพีก การได้ดูนักเตะคนโปรด แท็กติกสุดล้ำ และการปะทะกันระหว่างยอดทีมซูเปอร์สตาร์ ถือเป็นยาใจให้กับคนที่ต้องสู้กับงานตลอดทั้งสัปดาห์เลยทีเดียว

แต่รู้หรือไม่ว่า อุตสาหกรรมฟุตบอลโลกเผชิญวิกฤตครั้งสำคัญจากสถานการณ์ดังกล่าว เพราะนักเตะระดับโลกกำลังทำงานหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดย FIFPro (Fédération Internationale des Associations de Footballeurs Professionnels) รายงานผลสำรวจที่ผ่านการเก็บข้อมูลแข้ง 1,500 คนในปี 2024 ว่า 1 ใน 6 ต้องลงแข่งขันมากกว่า 55 นัดต่อฤดูกาล

ผลสำรวจจาก CIES Football Observatory ยังเผยว่า ในปี 2012-2024 ค่าเฉลี่ยนัดการแข่งขันแต่ละสโมสรอยู่ที่ 40 นัดต่อฤดูกาล โดยมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีการแข่งขันราว 60 นัดฤดูกาล ซึ่งถ้าหากแยกตัวเลขออกมามีผู้เล่น 0.31% ที่ได้ลงเล่นถึง 61 นัดหรือมากกว่า ขณะที่ผู้เล่นอีก 1.8% ได้ลงเล่นอย่างน้อย 51-60 นัด และราว 6.8% ลงแข่งราว 41-50 นัดต่อซีซัน

นอกจากสถิติเหนือมนุษย์ของ บรูโน เฟอร์นันเดส​ (Bruno Fernandes) กัปตันและกองกลางสัญชาติโปรตุเกสแห่งสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United) ในปี 2022/2023 ที่ลงแข่งถึง 70 นัดตลอดฤดูกาล สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของ โรดรี (Rodri) กองกลางตัวรับสัญชาติสเปน และเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ (Ballon d’Or) ปี 2024 จากสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี (Manchester City) คงบอกอะไรกับเราได้หลายอย่าง

หากเปิดข้อมูลสถิติในปี 2023/2024 กองกลางชาวสเปนลงเล่นให้กับสโมสรและทีมชาติรวมทั้งสิ้น 63 นัดหรือคิดเป็น 6,107 นาที ด้วยจำนวนการแข่งขันที่มากขนาดนี้ทำให้เจ้าตัวและ เป๊ป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola) ผู้จัดการทีมมั่นใจว่า นี่คือเบื้องหลังอาการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณ ACL และหมอนรองกระดูก จนโรดรีพลาดลงเล่น Premier League เกือบทั้งฤดูกาลที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ทำให้เรือใบสีฟ้าไม่สามารถรักษาตำแหน่งแชมป์ลีกสูงสุดของเกาะอังกฤษได้

Moneyball, Moneytalk: ยิ่งแข่งเยอะ เงินยิ่งเยอะตาม

เงินเท่านั้นที่ Knock Everything

ในโลกของทุนนิยมที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเงินทอง ฟุตบอลก็กลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง หากย้อนต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวทั้งหมด คงต้องกลับไปในช่วงปี 2023 เมื่อ จานนี อินฟานตีโน (Gianni Infantino) ประธานกรรมการ FIFA (Fédération Internationale de Football Association) ประกาศปณิธานในการประชุมครั้งที่ 73 ว่า เขาต้องการให้ฟุตบอลมีนัดแข่งขันมากขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก เพื่อทำให้วงการลูกหนังพัฒนาตามในระดับนานาชาติ ไม่ใช่แค่กระจุกตัวอยู่ทวีปใดทวีปหนึ่ง

ผลการประชุมครั้งนั้น นอกจากขยายทีมเข้าร่วม FIFA World Cup 26 เพิ่มขึ้นเป็น 48 ชาติ ยังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ FIFA Club World Cup ที่ปกติแล้วจัดเพียง 7 สโมสรจากทั่วโลก เพราะตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จะมีการแข่งขันทั้งหมด 32 ทีมจาก 6 ทวีปทั่วโลก โดยจัดทุก 4 ปี และทีมที่เข้ามาเล่นต้องเป็น ‘ตัวท็อป’ ของวงการ เช่นมีค่าสัมประสิทธิ์การแข่งขันแต่ละรายการดีที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า นโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยกระจายอำนาจวงการฟุตบอล และเป็นกำไรให้กับคนดูไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ทีมรอง (เช่นทีมในเอเชีย) ได้เข้าร่วมมากขึ้น แต่หากพิจารณาดูอย่างลึกซึ้ง การเพิ่มปริมาณนัดการแข่งขัน ก็มีเบื้องหลังเหตุผลด้านอย่าง ‘ธุรกิจ’ และ ‘เงิน’ ด้วยเหมือนกัน 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ฟุตบอลโลกปี 2022 จัดที่ประเทศกาตาร์ หลังมีรายงานของ AP News เปิดเผยว่า FIFA มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,200 ล้านบาท) จากการเพิ่มสถานที่จัดงานจาก 2 เป็น 4 แห่ง โดยแบ่งเป็นรายได้ลิขสิทธิ์ 121.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,900 ล้านบาท) เงินจากสปอนเซอร์ 158.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) และการจำหน่ายบัตรอีก 89.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,900 ล้านบาท) ไม่รวมค่าเซ็นสัญญาหรือค่าบำรุงรักษาอื่นๆ อีก 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 900 ล้านบาท)

แน่นอนว่า ไอเดียดังกล่าวกำลังถูกนำมาใช้กับฟุตบอลโลกปี 2026 ที่มีทีมลงแข่งขันเพิ่มเป็น 48 ทีม โดย Nielsen บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเผยว่า FIFA อาจมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 1,600 ล้าน-7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มาจากสื่อ สปอนเซอร์ และค่าบัตรเข้าชม 80 นัดตลอดการแข่งขัน ทำให้ Pitch Marketing Group คาดการณ์ว่า การแข่งขันนี้จะเป็นกีฬาที่ทำกำไรมากที่สุดในโลก 

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงกฎของ UEFA Champions League ในฤดูกาล 2024/2025 โดยเพิ่มจำนวนทีมแข่งขันเป็น 36 ทีมจาก 32 ทีม ขณะที่ระบบรอบแบ่งกลุ่มถูกรื้อ และแทนที่ด้วยระบบ Swiss Super League ทำให้นัดการแข่งขันเพิ่มขึ้นจาก 125 นัดเป็น 189 นัด ซึ่งหมายความว่า แต่ละสโมสรต้องเล่นอย่างน้อย 8-10 นัดเลยทีเดียว (และเงินจากการขายบัตร สปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์ก็จะเพิ่มเช่นเดียวกัน)

อาเลกซานเดอร์ เซเฟริน (Aleksander Ceferin) ประธาน UEFA ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า ระบบใหม่เป็นการปรับปรุงสมดุลของการแข่งขันและรับมือต่อเสียงเรียกร้องระบบ ‘ซูเปอร์ลีก’ (Super League) ที่ไม่ทิ้งทีมเล็กๆ ไว้ข้างหลัง เพราะทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ตราบใดที่มีผลงานด้านกีฬายอดเยี่ยม

ลำพังก็พูดได้ไม่เต็มปากว่า FIFA หรือ UEFA ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว เพราะสโมสรและบอร์ดบริหารก็นั่งไม่ติดเก้าอี้จากมูลค่าเงินรางวัลมหาศาล เช่น Club World Cup มีเงินรางวัลให้ทีมที่ชนะสูงถึง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในโลกฟุตบอลสมัยใหม่ ที่ ‘สายชีวิต’ ของแต่ละทีมที่ผูกไว้กับกฎการเงิน (Financial Fair Play: FFP) หรือพูดง่ายๆ ว่า ความสำเร็จบางอย่างต้องใช้เงินซื้อ อย่างนักเตะคุณภาพสูง แต่ราคาแพงหูฉี่

แต่ปัญหาคือ สวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีของนักเตะอยู่ตรงไหน

Mission Impossible: หนทางสู่การประท้วง เมื่อนักเตะไม่มีปากเสียงเท่าที่ควร

กิน นอน พักผ่อน ลงเล่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจวัตรเหล่านี้แทบจะเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของนักเตะทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในโลกฟุตบอลสมัยใหม่ ที่เน้นแผนการ Pressing เข้มข้น ขณะที่การรักษาสภาพจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่างการต้องรับมือกับ ‘ทัวร์แฟนบอล’ เมื่อนักเตะลงเล่นไม่ได้ดั่งใจ (ซึ่งบางทีก็สัมพันธ์กับอาการบาดเจ็บเหมือนงูกินหาง) แต่เรื่องธรรมดานี้ไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะเสียงของนักเตะ ผู้เผชิญสถานการณ์ยากลำบากโดยตรง

“บางครั้งไม่มีใครถามนักเตะเลยว่า พวกเขาคิดอย่างไรบ้างกับเกมที่เพิ่มขึ้นมา บางทีความเห็นของเราอาจไม่สำคัญ แต่ทุกคนก็รู้ว่า เราคิดอย่างไรกับสถานการณ์นี้ ทุกคนเหนื่อยกับมันนะ”

อลิสซอน เบกเกอร์ (Alisson Becker) ประตูมือหนึ่งแห่งทีมชาติบราซิล และสโมสรลิเวอร์พูล (Liverpool) เป็นหนึ่งในนักเตะที่ออกมาตอกย้ำสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ แม้จะเข้าใจดีว่า แฟนบอลอยากให้มีเกมการแข่งขัน อยากเห็นนักเตะที่ตนชื่นชอบลงเล่น แต่สิ่งที่อยากจะถามกลับคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจัดตารางวันหยุดพักผ่อนและพูดคุยหารือทางออกกับนักเตะ

ความไม่พอใจดังกล่าวยังลุกลามไปถึงผู้จัดการทีมหลายคน เช่น เจอร์เกน คล็อปป์ (Jurgen Klopp) หัวหน้าฝ่ายฟุตบอลระดับโลกของ Red Bull และอดีตกุนซือหงส์แดง ที่มักออกโรงวิจารณ์ในหลายครั้ง ซึ่งล่าสุดก็ได้ย้ำว่า FIFA Club World Cup เป็นไอเดียที่แย่ที่สุดที่เคยมีมาในโลกฟุตบอล เพราะนักเตะกำลังเผชิญตารางการแข่งขันที่แน่นไปหมด โดยที่ไม่มีเวลาพักผ่อน ให้ร่างกายและจิตใจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ 

อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นักที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะในปี 2022 ผลการสำรวจของ FIFPro แสดงให้เห็นว่า เหล่านักฟุตบอลและผู้จัดการทีม เรียกร้องให้มีการจำกัดนัดการแข่งขัน โดยอนุญาตให้นักเตะคนหนึ่งลงเล่นได้ไม่เกิน 6 นัดติดต่อกัน ซึ่ง FIFPro ก็เห็นด้วยว่า ผู้เล่นไม่ควรมีเกมการแข่งขัน 55 นัดต่อฤดูกาล เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บเรื้อรังและหมดไฟ 

ขณะที่ FIFA เองก็ยังได้รับคำเตือนจากกลุ่มสมาคมนักเตะว่า หากไม่จัดการปัญหานี้ ผู้เล่นจะจัดการปัญหาในแบบของตนเอง ซึ่งแม้แต่ ริชาร์ด มาสเตอร์ส (Richard Masters) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรีเมียร์ลีก และ จาเวียร์ เตบาส (Javier Tebas) ประธานกรรมการลาลีกา (LALIGA) ก็ออกโรงเรียกร้องว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจริง และได้ส่งจดหมายไปแล้ว แต่ปรากฏว่า องค์กรไม่รับฟัง และไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

กล่าวได้ว่า ปัญหานี้อาจกลายเป็น ‘ระเบิดเวลา’ เพราะในเมื่อเสียงของนักเตะไม่ได้รับการตอบสนอง การแสดงอารยะขัดขืนย่อมเป็นทางเลือก โดยครั้งหนึ่งโรดรีจุดประเด็นต่อหน้าสื่อในเดือนกันยายน 2024 ว่า นักเตะหลายคนใกล้เตรียมนัดหยุดงานประท้วงโปรแกรมหฤโหดแล้ว ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไป พวกเขาก็คงไม่มีทางเลือกอื่น

ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ แต่ รอส มีโดว์ส (Ross Meadows) หัวหน้าฝ่ายจ้างงานของสำนักงานกฎหมาย Oury Clark ประเมินผ่านสำนักข่าว BBC ว่า กลุ่มนักเตะสามารถทำได้ โดยประสานงานผ่านสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ และลงมติร่วมกัน หลังจากนั้นจึงแจ้งให้พรีเมียร์ลีกทราบ 

แม้จะมีช่องโหว่ทางกฎหมายคือ สโมสรมีโอกาสสูงที่จะไม่จ่ายเงินให้นักเตะ ขณะที่สามารถฉีกสัญญาได้ หากการประท้วงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลง แต่มีโดว์สเชื่อว่า ในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น หากสโมสรอย่างแมนซิตีกล้าฉีกสัญญานักเตะดีกรีบัลลงดอร์แบบโรดรี เพราะนั่นหมายความว่า เป็นการเปิดทางให้คู่แข่งทีมยักษ์ใหญ่เช่นเรอัลมาดริด (Real Madrid) ฉกตัวผู้เล่นไปโดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว

อย่างไรก็ตาม มาเฮตา โมลันโก (Maheta Molango) ประธานกรรมการ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษเชื่อว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การแข่งขันลีกในประเทศ แต่เป็นเกมที่งอกขึ้นมาอย่างไม่จำเป็นอย่าง FIFA Club World Cup ในช่วงซัมเมอร์มากกว่า ซึ่งเขาคิดว่า หากนักเตะคิดว่า สถานการณ์นี้มันมากเกินไป องค์กรอาจจะต้องจัดการอะไรสักอย่าง

เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นมากกว่าเรื่องฉาวโฉ่ในแวดวงฟุตบอล ไม่ใช่แค่ร่างกายของนักเตะพัง กระทบผลงานของทีมรัก จนคุณรู้สึกดูบอลไม่สนุก แต่ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน เราก็ควรจะตั้งคำถามและคิดต่อว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานที่สมควรจะได้รับอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะในวันที่นักเตะถูกตัดสินง่ายๆ ด้วยอำนาจของโซเชียลฯ เพียงพริบตา แม้จะเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองก็ตาม

อ้างอิง

https://www.sportanddev.org/latest/news/opinion-too-much-football-how-fixture-congestion-making-fans-care-less

https://www.nytimes.com/athletic/6438741/2025/06/25/rodri-acl-meniscus-injury/

https://footballbenchmark.com/w/the-price-of-non-stop-play-how-football-s-schedule-risks-players-and-clubs

https://www.bbc.com/sport/football/articles/cew12rw5ldpo

https://www.meer.com/en/83680-rodris-warning-will-fixture-congestion-trigger-a-strike

https://www.bbc.com/sport/football/articles/c994p92d5r1o

https://www.nytimes.com/athletic/6417221/2025/06/11/fifa-2026-world-cup-revenue/

https://www.bbc.com/sport/football/61576110

https://www.latestbettingoffers.co.uk/articles/are-there-too-many-football-matches/

https://www.nytimes.com/athletic/5760786/2024/09/11/thierry-henery-criticise-football-schedule/

Tags: , , , , , , , , ,