1

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (2565) ทีมฟุตบอลระดับตำนานแห่งภาคอีสาน ‘ศรีสะเกษ เอฟซี’ ถูกศาลปกครองอุบลราชธานี ตัดสินคืนสิทธิ์การทำทีมให้แก่ทีม ‘อีสาน ยูไนเต็ด’ หลังมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556

เรื่องของเรื่อง ต้องย้อนไปเมื่อปี 2550 เมื่อ ฟุตบอลโปรวินเชียลลีก (Provincial League) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย (ททท.) ตกลงรวมร่างเข้ากับ ไทยลีก (Thai League) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (FA Thailand) พร้อมมีมติให้ทีมฟุตบอลทุกทีมที่ดูแลโดยจังหวัด ออกมาจดทะเบียนในนามนิติบุคคลเสียเรียบร้อย เพื่อเป็นการตั้งไข่ลีกฟุตบอลไทยให้แข็งแรง ตามรอยพื่อนบ้านโซนเอเชีย เช่น เจลีก (J League) หรือ เคลีก (K League)

ศรีสะเกษ เอฟซี (ในเวลานั้นใช้ชื่อทีม ศรีสะเกษ สตีลร็อค) ที่เคยถือสิทธิ์ทำทีมในนามจังหวัด จึงออกมาจดทะเบียนในนามบริษัท สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ จำกัด โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย คือ 1. สมบัติ เกียรติสุรนนท์, 2. สรศาสตร์ ศรีธัญรัตน์ และ 3. ธเนศ เครือรัตน์ ทว่าช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกลับเกิดทีมฟุตบอลในจังหวัดศรีสะเกษขึ้นมาอีกหนึ่งทีมที่มีชื่อว่าศรีสะเกษ ยูไนเต็ด  

ฝั่งผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย สมบัติ และ สรศาสตร์ เห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้น จึงต้องการย้ายถิ่นสโมสรไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเหตุผลว่า หนึ่งจังหวัดควรมีสโมสรฟุตบอลแค่ทีมเดียว เพื่อเป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งนี่เป็นที่มาของทีมอีสาน ยูไนเต็ด 

เอกสารกฎระเบียบ Club Licensing หัวข้อ 7.2 ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ที่ไทยลีกยึดตามมีระบุไว้ชัดเจนว่า สโมสรใดที่ต้องการยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ, สี, โลโก้, ผู้ถือหุ้น หรือย้ายถิ่นฐานจังหวัด สามารถกระทำได้ต่อเมื่อเจ้าของถือใบอนุญาตทีมนาน 2 ปี ขึ้นไป ฉะนั้นการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ราย ของศรีสะเกษฯ ร้องขออนุมัติต่อไทยลีกจึงไม่ผิดในแง่ของหลักนิตินัย

เว้นเสียแต่แฟนบอลกูปรีอันตรายจะไม่เห็นด้วยแบบหัวเด็ดตีนขาด พวกเขามองว่าทีมบ้านเกิดเปรียบเสมือนสมบัติของจังหวัดที่ใช่ว่านายทุนหน้าไหนจะมาพรากไปง่ายๆ และการที่แฟนบอลมอบหมายให้ผู้ถือหุ้นดูแลสโมสรนั่นคือความไว้ใจ มิใช่หวังแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ 

ด้านอดีต ส.ส.ธเนศ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอีกหนึ่งราย ตัดสินใจเลือกยืนอยู่ข้างแฟนบอลศรีสะเกษฯ และยื่นเอกสารฟ้องต่อสมาคมฯ ในปี 2556 ที่ ณ เวลานั้นมี บังยี-วรวีร์ มะกูดี เป็นประธานสมาคมฯ ก่อนที่ฝั่งส.ส.ธเนศ จะชนะยกแรก และตามมาด้วยฝั่งอีสานฯ ที่ฟ้องขอสิทธิ์ทำทีมคืนต่อศาลปกครองฯ กลายเป็นเรื่องอีรุงตุงนังกินเวลานาน 10 ปี จนมามีบทสรุปลงเอยตามที่กล่าวในข้างต้น

และทำให้ชื่อของทีม ‘กูปรีอันตราย’ ศรีสะเกษ เอฟซี หายไปจากสารบบลีกฟุตบอลไทยตลอดกาล

2

อีกกรณีที่แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แถมจบลงไปนานโข แต่ก็มีต้นสายปลายเหตุเรื่องมาจากการ ‘ย้ายถิ่น’ เช่นกัน

ชื่อของ ‘พัทยา ยูไนเต็ด’ คงพอคุ้นหูแฟนบอลไทยหน้าใหม่และหน้าเก่าไม่มากก็น้อย ทีมระดับตำนานตั้งแต่ยุคสมัยฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ทีมนี้ มีชื่อแรกเริ่มว่า ‘สโมสรฟุตบอลโค้ก-เทศบาลตำบลบางพระ’  โดยมี 2 พี่น้อง วิทยา คุณปลื้ม อดีต ส.ส. ชลบุรี และสนธยา คุณปลื้ม อดีต รมต.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การสนับสนุนในฐานะประธานสโมสร

พัทยาฯ จดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลตามข้อกำหนดใหม่ของไทยลีกเฉกเช่นทีมอื่นๆ

และวนเวียนอยู่บนลีกสูงสุดในฐานะทีมหอกข้างแคร่ของบรรดายักษ์ใหญ่ มีนักเตะฝีเท้าดีเข้าร่วมทัก เช่น ธนา ชนะบุตร, ลูโดวิด ทาคาม (Ludovick Takam), มิลาน บูบาโร (Milan Bubalo) ฯลฯ

อย่างไรก็ดี มีจุดที่น่าสนใจเพราะทีมโลมาน้ำเงินจดทะเบียนภายใต้กลุ่มชลบุรี ที่มี อรรณพ สิงห์โตทอง, ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ และ 2 พี่น้องตระกูลคุณปลื้มรวมอยู่ด้วย เท่ากับว่ากลุ่มทุนชลบุรีมีทีมในเครือทั้งหมด 4 ทีม คือ 1. ชลบุรี เอฟซี, 2. พัทยา ยูไนเต็ด, 3. ศรีราชา เอฟซี และ 4. พานทอง เอฟซี จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ เวลานั้นมีนักเตะจากทั้ง 4 ทีม สลับสีเสื้อไปมาทุกฤดูกาล 

ภายหลังปี 2556 พัทยาฯ ฟอร์มย่ำแย่ตกมาอยู่อันดับที่ 17 ของตาราง เก็บได้เพียง 29 แต้ม จากทั้งหมด 32 นัด โบกมือลาลีกสูงเป็นหนแรกนับตั้งแต่เลื่อนชั้นขึ้นมาในปี 2551 

ทีมโลมาน้ำเงินใช้เวลาในลีกดิวิชัน 1 (ปัจุบันคือไทยลีก 2) เป็นเวลา 2 ปี ไต่เต้าเลื่อนชั้นกลับมายังลีกสูงสุด ซึ่งระหว่างนั้นปี 2558 กลุ่มทุนบริษัทอีนิกมา สปอร์ต เวนเจอส์ (ESV) ได้เข้าเทคโอเวอร์สิทธิ์ทำทีม พัทยา ยูไนเต็ด จากกลุ่มชลบุรี และได้ พรรณธฤต เนื่องจำนงค์ เข้ามาเป็นประธานบริหารสโมสรคนใหม่ ขณะเดียวกันฝั่งทีมศรีราชาฯ ก็ถูกขายสิทธิ์ทำทีมไปให้แก่กลุ่มทุนทวีวัฒนา ทว่าดันเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงปีเดียวที่เจ้าของใหม่ได้เข้ามาทำทีม หลังมีปัญหาค้างเงินค่างวดสัญญา ผลสุดท้ายเลยต้องคืนสิทธิ์แก่เจ้าของเดิม และหันไปก่อตั้งทีมอินเตอร์ พัทยา 

กลุ่มชลบุรี ที่กระสันอยากขายทีมพัทยาฯ อยู่แล้ว ลงมือปักป้ายราคา 60 ล้าน ก่อนที่ปี 2559 กลุ่มทุนเกียรติธานี จะเข้ามาเทคโอเวอร์ โดยที่แฟนบอลพัทยาฯ หารู้ไม่ว่าสถานภาพทีมรักกำลังสั่นคลอน

3

2 ปี ถัดมา โลมาน้ำเงินใตปีกเจ้าของใหม่ทำผลงานค่อนข้างน่าประทับใจ มี โค้ชอั๋น-สุรพงศ์ คงเทพ เป็นผู้กุมบังเกียน ท่ามกลางนักเตะชั้นยอด อาทิ พิชา อุทรา, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี, ปฏิวัติ คำไหม, จักรพันธ์ ไพรสุวรรณ, ลูเคียน อัลเมดา (Lukian Almeida) เป็นแกนหลัก

สิ้นเสียงนกหวีดที่สนามหนองปรือ สเตเดี้ยม คู่ระหว่างพัทยาฯ เจ้าถิ่น และราชบุรี มิตรผล ผู้มาเยือน ด้วยสกอร์ 2-2 แฟนบอลเดนตายพัทยาฯ พากันโบกสะบัดธง ควงผ้าพันคอ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน พวกเขาจบฤดูกาล 2018 ด้วยอันดับที่ 8 รอดพ้นจากโซนตกชั้นแบบสบายๆ และได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นทีมเล่นเกมรุกได้ดุดัน กล้าเปิดหน้าแลกกับทุกทีมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

อนาคตของทีมในฤดูกาลถัดไปสว่างสดใส แต่เพียง 2 เดือนถัดมา แฟนบอลพัทยาฯ ถูกปลุกจากภวังค์ขึ้นมาเผชิญฝันร้าย เมื่อ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศและโฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ออกมายืนยันข่าวลือที่กลุ่มเกียรติ เกียรติธานี ยื่นเอกสารต่อ AFC เพื่อขอย้ายถิ่นสโมสรไปยังจังหวัดสมุทรปราการ และย้ายมาใช้สนามเหย้ากกท. บางพลี แทน  

แน่นอนว่าเรื่องถูกยื่นไปแล้ว ไม่มีปัญหาติดขัดภายในใดๆ เหมือนกรณีศรีสะเกษฯ แต่มีสิ่งเดียวที่เหมือนกันคือความโกรธแค้นของแฟนบอลที่ไม่สามารถออกความเห็นอันใดต่อทีมรักได้เลยแม้แต่นิด จากความรักกลายเป็นความเกลียดชัง ควบคู่เสียงก่นด่าสาปแช่ง ทีมพัทยาฯ ย้ายถิ่นไปยัง จ.สมุทรปราการ พร้อมเปลี่ยนสีเสื้อและโลโก้ทีมใหม่หมด ด้วยนามใหม่ว่า ‘สมุทรปราการ ซิตี้’ มาจนถึงปัจจุบัน

นี่คือบทสรุปก่อนที่ทีมโลมาน้ำเงินจะสูญพันธุ์ไปตลอดกาล

4

สาเหตุที่ผู้เขียนต้องยกสองกรณีนี้มาเทียบกัน ทั้งที่ความจริงแล้วก่อนหน้าการเทคโอเวอร์ย้านถิ่นฐานแทบจะเป็นเรื่องปกติของฟุตบอลไทย เช่น เนวิน ชิดชอบ ซื้อสิทธิ์ทีมจากการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค เปลี่ยนมาเป็นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และย้ายรังจาก จ.อยุธยา มา จ.บุรีรัมย์ หรือ กลุ่มทุนบริษัท BGFC SPORT จำกัด ซื้อสิทธิ์ทำทีมจากธนาคารกรุงไทย เปลี่ยนมาเป็นบางกอกกล๊าส เอฟซี  และย้ายรังจากกรุงเทพฯ มา จ.ปทุมธานี

แต่หากลองสังเกตให้ดี ทีมที่ยกตัวอย่างมาล้วนเป็นทีม ‘องค์กรภาครัฐ’ ที่ไม่สามารถจดทะเบียนในฐานะนิติบุคคลได้ ฉะนั้นผลลัพธ์จึงไม่น่าเจ็บปวดเท่ากับทีมที่ก่อร่างสร้างตัวจากผู้คนในจังหวัด เหมือนกับศรีสะเกษฯ หรือพัทยาฯ 

ในแง่ของคนเป็นเจ้าของทีม พวกเขาสามารถทำได้ เหมือนคุณมีสิทธิ์ในทรัพย์สินสักชิ้น แต่ในแง่ของแฟนบอลสโมสรมีค่าเหนือสิ่งอื่นใด เป็นอัตลักษณ์ หน้าตา และความภูมิใจ ฉะการจะย้ายถิ่นโดยไม่แจ้งผ่านช่องทางใดๆ ย่อมไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้สึกคับแค้น เหมือนถูกหักหลัง 

ทั้งสองกรณีคงเป็นบทเรียนชั้นดีให้แก่สมาคมฯ และบริษัทไทยลีก ต่อการอนุมัติ Club Licensing ให้แก่กลุ่มทุนใดๆ ที่คิดเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร เพราะต่อให้อ้างเรื่องกฎระเบียบของ AFC แต่หากลองมองลีกเพื่อนบ้านชั้นนำทั้งเจลีก หรือ เคลีก แทบจะไม่มีกรณีที่กลุ่มทุนเจ้าของย้ายถิ่นกันง่ายๆ โดยไม่ผ่านการตัดสินใจของแฟนบอล 

หากเป็นไปได้ ในฐานะที่ทีมฟุตบอลบ้านเราส่วนใหญ่ล้วนมีรากเหง้ามาจากจังหวัด เราอาจหยิบยืมโมเดลของลีกบุนเดสลีกา เยอรมัน (Bundesliga Germany) กับกฎ 50+1 ที่บังคับให้แต่ละสโมสรต้องมีผู้ถือหุ้นที่เป็นแฟนบอลอย่างน้อยร้อยละ 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันการผูกขาดจากกลุ่มนายทุน ทั้งแฟนบอลสามารถออกเสียงคัดค้านนโยบายที่ไม่เห็นชอบได้

สุดท้ายผู้เขียนอยากยกวลีอมตะจาก จ็อค สไตน์ (Jock Stein) อดีตโค้ชทีมเซลติก (Celtic) ผู้ล่วงลับ ที่เจ้าตัวเคยกล่าวเอาไว้มาปิดท้ายเตือนใจบรรดานายทุนที่คิดเข้ามาบริหารทีมฟุตบอลว่า 

“ตราบใดที่ไร้แฟนบอล ทีมฟุตบอลทีมนั้นย่อมไร้ค่า”

 

ขอขอบคุณภาพจาก

เพจเฟซบุ๊ก Pattaya United, Srisaket FC และ สมุทรปราการซิตี้ SPC

Tags: , , , , ,