ยังเป็นที่คลุมเครือว่าโอลิมปิก 2021 ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพในปีนี้ จะได้จัดตามกำหนดการในเดือนกรกฎาคมหรือไม่ หลังเสียงของความคิดเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้เดินหน้าต่อ กับฝ่ายที่เห็นว่าควรเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกรุงโตเกียว และทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC เพิ่งออกมายืนยันว่ามหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกไม่มีแผนที่จะเลื่อนการแข่งขันเป็นครั้งที่สอง ในขณะที่ เซโกะ ฮาชิโมโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่น ออกมาบอกใบ้เป็นนัยๆ หลังมีการประชุมออนไลน์ว่า อาจไม่อนุญาตให้แฟนกีฬาชาวต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงจะมีการสรุปมาตรการต่างๆ อีกครั้งหลังจากนี้

ในขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากสำนักข่าวเกียวโดระบุว่า ประชาชนจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกออกไปก่อน เนื่องจากญี่ปุ่นยังต้องดิ้นรนกับการฟื้นตัวของจำนวนการติดเชื้อที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับระบบการแพทย์ของประเทศ

หากมองจากมุมมองของการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน มหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการแข่งขันกีฬา แต่เป็นเหมือนภาพสะท้อนความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศเจ้าภาพในสายตาของทั่วโลก เป็นโอกาสในการแสดงเทคโนโลยี วัฒนธรรม และความพร้อม ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่อนาคตของประเทศเจ้าภาพ การไม่ได้จัดโอลิมปิกจึงอาจทำให้ทุกอย่างที่ถูกเตรียมการมายาวนานพังทลายลง รวมถึงยังทำให้ต้องสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลที่มาจากแฟนกีฬาทั่วโลก

ตรงกันข้าม หากประเทศเจ้าภาพไม่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขาดเสถียรภาพของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ภาพการแข่งขันที่ถูกถ่ายทอดออกไปทั่วโลกและปัญหาระหว่างการแข่งขันอาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศย่ำแย่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องน่าพึงใจนัก สำหรับประเทศเจ้าภาพ และรัฐบาล

โอลิมปิกจึงเป็นภาพสะท้อนทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดกฎบัตรโอลิมปิก หรือ Olympic Charter เพื่อเป็นระเบียบและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดกีฬาโอลิมปิกก็ตาม โดยในหมวดที่ 5 ระบุว่า “ไม่อนุญาตให้มีการแสดงออกทางการเมืองหรือศาสนา หรือโฆษณาชวนเชื่อทางเชื้อชาติในพื้นที่ของโอลิมปิก ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับโลกยุคสมัยใหม่ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถแสดงออกทางการเมืองได้”

ในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกมีหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดจากเรื่องของการเมือง ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลง ถูกจดจำ และยังคงถูกเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้

  

โอลิมปิก เบอร์ลิน ปี 1936: The Nazi Olympics

เบอร์ลินได้รับการโหวตให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1936 อย่างไรก็ตามเมื่อปี 1933 พรรคนาซีได้ขึ้นกุมอำนาจในเยอรมนี การเสนอคว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เบอร์ลินเกิดขึ้นในหลายประเทศทางตะวันตก ซึ่งหวั่นวิตกกับนโยบายเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยอรมนี ถึงกระนั้นมี 49 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในเบอร์ลิน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมากที่สุดจนถึงขณะนี้ รัฐบาลเยอรมันใช้สปอตไลต์จากเวทีการแข่งขันนี้ในการแสดงให้โลกเห็นว่าเยอรมันเป็นประเทศที่ใจกว้างและมีความก้าวหน้า ในขณะเดียวกันก็ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ความเหนือกว่าทางเชื้อชาติของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม คณะ IOC ได้สั่งห้ามการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันรับนักกีฬาชาวยิวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมทีม แม้รัฐบาลนาซีเยอรมันจะลังเล ทว่าในที่สุดก็ยอม แม้จะเป็นเพียงการจัดฉากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เฮเลน เมเยอร์ ซึ่งมีบิดาเป็นชาวยิวจึงได้กลับมาเป็นตัวแทนของเยอรมันในกีฬาฟันดาบหญิง หลังจากก่อนหน้านี้เธอสร้างผลงานในการแข่งขันโอลิมปิกได้ดี ก่อนที่จะถูกขับออกจากสโมสรกีฬาหลังการขึ้นมามีอำนาจของนาซี ซึ่งท้ายที่สุดเธอคว้าเหรียญเงินและแสดงท่าเคารพ ‘Heil Hitler’ อันโด่งดัง เช่นเดียวกับที่เพื่อนร่วมทีมชาติเยอรมันของเธอทำก่อนหน้า

อีกหนึ่งกรณีอันโด่งดังคือ เจสซี โอเวนส์ นักวิ่งอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทำลายสถิติการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร และ คว้าอีก 3 เหรียญจากการแข่งขันกระโดดไกล วิ่ง 200 เมตร และวิ่งผลัด 4✕100 เมตร เป็นการทำลายความพยายามของนาซีเยอรมันที่ต้องการพิสูจน์ความเหนือกว่าของชาวอารยัน

 

โอลิมปิก ลอนดอน ปี 1948: Germany and Japan Banned

หลังถูกงดจัดมาในปี 1940 และ 1944 โอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 1948 กลับมาจัดเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเยอรมนีและญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน ในขณะที่สหภาพโซเวียตได้รับเชิญแต่ปฏิเสธที่จะส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน โอลิมปิกครั้งนี้ถูกเรียกว่า The Austerity Games หรือ เกมแห่งความเคร่งครัด เนื่องจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก และการปันส่วนที่กำหนดไว้ในผลพวงของสงครามโลกครั้งที่สอง

ลอนดอนมีสภาวะเช่นเดียวกับหลายเมืองในยุโรปที่กำลังฟื้นตัวจากสงคราม จึงมีเวลาค่อนข้างจำกัดในการเตรียมตัว ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องใช้สิ่งก่อสร้างทั้งด้านกีฬาและที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้วสำหรับการแข่งขัน และไม่มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นใหม่ ที่พักนักกีฬาชายถูกตั้งอยู่ที่ค่ายทหารใน Uxbridge และนักกีฬาหญิงอยู่ที่Southlands College โดยมีสนามกีฬาเวมบลีย์เป็นศูนย์กลางของการแข่งขันในการจัดพิธีเปิด การแข่งขันกรีฑา และกีฬาอื่นๆ ซึ่งสนามกีฬาอันเป็นไอคอนแห่งนี้เป็นผลมาจากการใช้แรงงานเชลยศึกชาวเยอรมันที่ยังถูกจับอยู่ในอังกฤษ เนื่องจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้อังกฤษขาดแคลนกำลังคนจำนวนมาก

 

โอลิมปิก เม็กซิโกซิตี ปี 1968: Brutal Shooting and Civil Rights Protest

โอลิมปิกฤดูร้อนที่เม็กซิโกในปี 1968 มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญสองเหตุการณ์ สิบวันก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน กลุ่มนักเรียนชาวเม็กซิกันได้แสดงการประท้วงใน Plaza of Three Cultures ในย่าน Tlatelolco ของเม็กซิโกซิตี้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้เงินทุนสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกมากกว่าใช้เพื่อโครงการทางสังคม ก่อนที่กองทัพเม็กซิกันจะปิดล้อมพลาซ่าและเปิดฉากยิงสังหารผู้ประท้วงกว่า 200 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน นับเป็นความโหดร้ายที่ถูกเรียกว่า ‘การสังหารหมู่ Tlatelolco’

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเมืองของอเมริกาที่แทรกซึมเข้าไปในการแข่งขัน ซึ่งอเมริกาในยุคนั้นเป็นยุคที่การประเด็นการเหยียดผิวค่อนข้างรุนแรง มีการแบ่งแยกชนชั้นคนผิวขาวและผิวดำ มีการปฏิบัติความรุนแรงต่อคนผิวดำ ในการแข่งขันกรีฑา ทอมมี สมิธ และจอห์น คาร์ลอส สองนักวิ่งผิวดำชาวอเมริกันที่คว้าอันดับหนึ่งและสาม ประท้วงการปฏิบัติต่อพลเมืองผิวดำในประเทศของตนเองระหว่างพิธีมอบรางวัลการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรชาย โดยการขึ้นโพเดียมด้วยเท้าเปล่า และชูมือที่สวมถุงมือสีดำไว้ พร้อมก้มศีรษะระหว่างที่เพลงชาติอเมริกาบรรเลง ทั้งคู่ถูกสั่งห้ามทันทีโดย IOC ในขณะที่ ปีเตอร์ นอร์แมน จากออสเตรเลียซึ่งได้อันดับที่สอง ก็สวมป้ายโครงการโอลิมปิกเพื่อสิทธิมนุษยชนเช่นกัน แต่ก็ถูกตำหนิจากหน่วยงานโอลิมปิกของออสเตรเลียในเวลาต่อมา

หากทว่าท้ายที่สุด ทั้งสามได้กลายเป็นมิตร และในปี 2006 ที่นอร์แมนเสียชีวิต สมิธและคาร์ลอสก็รับอาสาเป็นผู้ดูแลจัดการงานศพของเขา

 

โอลิมปิก มิวนิก ปี 1972 : Munich Massacre

การแข่งขันโอลิมปิกในปี 1972 ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมัน กลายเป็นที่จดจำจากเหตุการณ์การก่อการร้าย ซึ่งนับเป็นโศกนาฎกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

ช่วงเช้ามืดของวันที่ 5 กันยายน ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการแข่งขัน กลุ่มผู้ก่อการร้านชาวปาเลสไตน์ 8 คน จากองค์กร Black September พร้อมอาวุธและระเบิดมือ ทำการลอบเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก และสังหารนักกีฬาอิสราเอล 2 คน และจับนักกีฬารวมถึงเจ้าหน้าที่ 9 คน เป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 200 คน และที่ถูกคุมขังในเยอรมันอีก 2 คน แต่รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธ

ท้ายที่สุด ตำรวจเยอรมันล้มเหลวจากความพยายามในการชิงตัวประกัน ผู้ก่อการร้ายยิงเฮลิคอปเตอร์สองลำของตัวประกัน ทำให้ตัวประกันเสียชีวิตทั้งหมด หลังการต่อสู้จบลง มีผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 3 คน ถูกจับ 3 คน และฝ่ายตำรวจเยอรมันเสียชีวิต 1 นาย

เมื่อสถานการณ์จบลง มีการหยุดการแข่งขันเป็นเวลา 36 ชั่วโมง และมีพิธีการชักธงครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ส่วนนักกีฬาอิสราเอลเดินทางกลับประเทศทันที ขณะที่การแข่งขันยังคงดำเนินต่อไป

 

โอลิมปิก ริโอ เด จาเนโร ปี 2016 : Refugee Olympic Team

หลังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน เทศบาลนครริโอ เด จาเนโร ได้เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น เพราะปัญหาใหญ่สุดของบราซิลที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือความปลอดภัย แม้สถาบันความปลอดภัยภายในท้องถิ่นจะรายงานว่าอัตราการฆาตกรรมในริโอ เด จาเนโร ใน 5 เดือนแรกของปี 2012 อยู่ในช่วงต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี โดยมีคดีฆาตกรรม 10.9 คดีต่อประชากรทั้งหมด 100,000 คน แต่ก็ยังคงมีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานในนครริโอ เด จาเนโร เร่งวางแผนในการเพิ่มความปลอดภัยในเมือง ละแวกใกล้เคียง รวมถึงชุมชนแออัด โดยมีการตั้งหน่วยตำรวจชุมชน (UPPs) ในการลาดตระเวนตามท้องถนนเพื่อสร้างความวางใจให้แต่ละชุมชน

ไฮไลต์ของการแข่งขัน ริโอ 2016 ซึ่งเป็นโอลิมปิกแรกภายใต้การดูแลของ โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนปัจจุบัน คือการที่เขาได้อนุมัติเพิ่มทีมเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้รหัสทีม ROA หรือ Refugee Olympic Athletes เพื่อผลักประเด็นวิกฤตผู้ลี้ภัยไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน 10 คน ใน 3 ชนิดกีฬา และนักกีฬาทั้งหมดเป็นผู้ลี้ภัยจาก 4 ประเทศ ซึ่งจะไม่มีธงชาติหรือเพลงชาติเป็นของตัวเองในพิธีการขึ้นรับเหรียญ แต่จะใช้ธงของโอลิมปิกเป็นตัวแทน และจะใช้เพลงมาร์ชสากลของโอลิมปิกบรรเลงในกรณีที่สามารถคว้าเหรียญมาครองได้

 

อ้างอิง:

https://www.britannica.com/list/7-significant-political-events-at-the-olympic-games

https://www.nbcnews.com/think/opinion/olympics-are-political-ioc-ban-denies-reality-athletes-their-voice-ncna1117306

https://english.kyodonews.net/news/2021/01/6d43ab4dd1c6-breaking-news-support-rate-for-japan-pm-sugas-cabinet-falls-to-413-poll.html

https://www.theguardian.com/politics/politicspast/page/0,9067,892902,00.html

https://www.britannica.com/event/Berlin-1936-Olympic-Games

https://www.britannica.com/topic/1936-Olympic-Games-Fencing-for-the-Fuhrer-1367966

http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/8564401.stm

https://th.wikipedia.org/wiki/โอลิมปิกฤดูร้อน_2016

Tags: ,