1
เป็นเวลา 1 เดือน กับอีก 24 วัน ที่ มาซาทาดะ อิชิอิ (Masatada Ishii) เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นวัย 56 ปี ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย โดยมีภารกิจสำคัญลำดับแรกคือการพาทัพช้างศึกลุยรายการเอเชียนคัพ 2024 (Asian Cup 2024) ณ ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะลงแข่งขันนัดแรกพบกับคีร์กีซสถานในค่ำคืนนี้
แน่นอนว่าการมาถึงของกุนซือดีกรีแชมป์เจลีก (J-League) ย่อมมาพร้อมกับความหวังมหาศาลจากแฟนบอล ที่ ณ ตอนนี้ฝันหวาน มองไปไกลมากกว่าแค่พาทัพช้างศึกคว้าแชมป์ แต่ยังมองไปถึงระบบการเล่นสวยงาม แท็กติกเหนือชั้น และการปลูกฝังระเบียบวินัยตามแบบพ่อค้าแข้งเลือดบูชิโด
จึงไม่น่าแปลกใจ หากความพ่ายแพ้ต่อทีมชาติญี่ปุ่น 0-5 ในเกมอุ่นเครื่องเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 จะถูกจับตามองและโดนวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษ เพราะอาจบ่งบอกถึงเค้าลางอนาคตของทีมชาติไทยภายใต้การกุมบังเหียนของอิชิอิ
แต่ตามที่เห็นกันมาโดยตลอดว่า แฟนบอลชาวไทย ‘ใจร้อน’ และหวังเห็น ‘ผลสำเร็จ’ แบบเป็นรูปธรรม ดังนั้น ภารกิจของอิชิอิในการกอบกู้ศรัทธาแฟนบอลชาวไทยจึงเต็มไปด้วยความกดดัน ไหนจะปัญหาใต้พรมของสมาคมฯ ที่พร้อมจะผุดขึ้นมาทุกเมื่อ
เปรียบเปรยการคุมทีมช้างศึกจึงไม่ต่างจากการก่อร่างสร้าง ‘ปราสาททราย’ ที่ภายนอกดูสวยงาม แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมล้มครืนได้ทุกเมื่อเพียงถูกน้ำทะเลซัดกระทบ
2
ก่อนที่อีกไม่กี่อึดใจทีมชาติไทยจะลงแข่งขันในฟุตบอลเอเชียนคัพ ผู้เขียนอยากชวนคอบอลไทยรื้อฟื้นความจำสักเล็กน้อย ถึงเส้นทางก่อนที่ มาซาทาดะ อิชิอิ จะรับบทเฮดโค้ชทัพช้างศึก ที่เมื่อไล่เลียงแล้วช่างอลเวงปวดหัวอยู่มิใช่น้อย
เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2023 ณ เวลาดังกล่าว เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ประกาศกร้าวชัดเจนว่า ตกลงปลงใจยกเลิกสัญญาอิชิอิ เพื่อปล่อยตัวเฮดโค้ชรายนี้ไปดำรงตำแหน่งประธานเทคนิคทีมชาติไทย โดยมี มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติไทยและประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี กับปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ร่วมเป็นสักขีพยาน
‘ใจชื้น’ คำนี้คงจะพอนิยามความรู้สึกของแฟนบอลไทยในตอนนั้นได้ดี เพราะด้วยคุณภาพล้นแก้วของอิชิอิ ไม่ว่าจะการพาทีม ‘กวางเขาเหล็ก’ คาชิมา แอนต์เลอร์ส เถลิงแชมป์เจลีก ปี 2016, ต่อกรกับเรอัล มาดริด ได้อย่างสนุกสูสีในรายการฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ นัดชิงชนะเลิศปี 2016, พาทีมม้านอกสายตาอย่างสมุทรปราการ ซิตี้ จบอันดับที่ 6 ในลีก ด้วยผู้เล่นดาวรุ่งเป็นส่วนใหญ่ และผลงานเข้าขั้นมาสเตอร์พีซกับบุรีรัมย์ฯ ด้วยการคว้าทริปเปิลแชมป์ในประเทศ 2 ปีติดต่อกัน
นั่นหมายความว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ อิชิอิจะใช้ประสบการณ์วางรากฐานแก่ทีมชาติไทยทุกระดับ โดยที่ มาโน โพลกิง (Mano Pölking) ยังรับหน้าที่เป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทยต่อไป ท่ามกลางข้อสังเกตจากสื่อหลายสำนักที่เห็นพ้องต้องกันว่า การมาของอิชิอิ เสมือนการกดดันมาโนให้ลงจากตำแหน่งก็ว่าได้
ถึงกระนั้น ห่างกันเพียงเดือนเดียวกลับมีเหตุชวนฉงน เมื่อมีข่าวว่ากุนซือเลือดซามูไรรายนี้ ถูกสั่งยุติบทบาทในฐานะประธานเทคนิคทีมชาติไทย โดยที่แฟนบอลต่างโยนคำถามตัวโตๆ ใส่สมาคมฯ ว่า มาโนมีความสามารถมากพอที่จะดำรงตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติไทยจริงหรือ? ในเมื่อนอกเหนือจากแชมป์อาเซียน ปี 2020 และ 2022 ผลงานอื่นก็ดูจะไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไร
3
กระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน 2023 ชะตากุนซือทีมชาติไทยของมาโนถึงคราวขาดสะบั้น หลังทำผลงานในเกมคัดเลือกฟุตบอลโลก 2026 ไม่น่าอภิรมย์ โดยเฉพาะในเกมที่พ่ายทีมชาติจีน 1-2 คาสนามราชมังคลาฯ ทั้งที่แฟนบอลตั้งความหวังไว้สูง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่อมาอิชิอิจะถูกเรียกใช้บริการอีกครั้ง เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีฟุตบอลไทย ซึ่งแฟนบอลบ้านเรา ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมฯ จนถึงกูรู ต่างยินดีที่จะได้เห็นการนำวิถี ‘เจแปนเวย์’ มายกระดับพ่อค้าแข้งไทย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการประกาศแต่งตั้งอิชิอิเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทยตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน แต่กว่าที่เจ้าตัวจะได้ทำหน้าที่จริงๆ ก็กินเวลาถึงวันที่ 27 ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงเตรียมทีมก่อนเกมอุ่นเครื่องกับทีมซามูไรบลู ในวันที่ 1 มกราคม 2024 หลังต้องรอให้โปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก เลกแรกจบสิ้นตามโปรแกรม โดยจุดประสงค์ของเกมการอุ่นเครื่องครั้งนี้ เพื่อเตรียมทีมแข่งขันเอเชียนคัพ 2024 ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ว่าจะสมาคมฯ หรือบริษัท ไทยลีก จำกัด ควรหารือเคลียร์โปรแกรมให้อิชิอิมีเวลาเตรีมทีมมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้เคยขยับโปรแกรมเพื่อหลีกทางให้ทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ 2023 และฟุตบอลรายการคิงส์คัพ
4
ผู้เขียนมองว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของคนที่มาจากประเทศที่มีระเบียบวินัย คือ ‘ไม่ปริปากบ่น’ แม้มีงานที่ทำอยู่จะเต็มไปด้วยอุปสรรค (แม้บางอุปสรรคจะไม่สมเหตุสมผลก็ตาม) เช่นเดียวกับอิชิอิ แม้จะมีเวลาเตรียมทีมน้อย แต่ก็เลือกที่จะก้มหน้าก้มตาลุยงานต่อ
ดังนั้น การเลือกใช้นักเตะที่คุ้นมืออยู่แล้วทั้งสมัยคุมสมุทรปราการฯ หรือบุรีรัมย์ฯ ซึ่งเข้าใจระบบการเล่นและแท็กติกคงจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาตามแบบฉบับอิชิอิ ทำให้ชื่อของนักเตะที่เคยห่างหายไป เช่นในรายของ พิชา อุทรา หรือเจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ กลับมามีชื่อติดธงไตรรงค์อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน การขาดหายไปของผู้เล่นคนสำคัญทั้ง ธีรศิลป์ แดงดา และชนาธิป สรงกระสินธ์ ก็ถูกแทนที่ด้วยตัวผู้เล่นที่สดใหม่ เช่นชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว, รุ่งรัฐ ภูมิจันทึก, ธีรศักดิ์ เผยพิมาย และศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ที่ยกระดับฝีเท้าและพกความมั่นใจเต็มเปี่ยม จากการลงเล่นให้ต้นสังกัด โอเอชลูเวิน (OH Leuven) ในลีกฟุตบอลเบลเยียม
และแม้ เอกนิษฐ์ ปัญญา แนวรุกตัวเก่งจะขอถอนตัวเพื่อไปร่วมปรีซีซันกับต้นสังกัด อุราวะเรดไดมอนด์ส (Urawa Red Diamonds) จนแฟนบอลบ้านเราบางส่วนตำหนิติเตียนยกใหญ่ ทว่าคำตอบที่ออกจากปากอิชิอิกลับมีแค่คำว่า ‘เสียดาย’ พร้อมกับแสดงความมั่นใจว่า ผู้เล่นในมือที่มีอยู่ล้วนมีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน
5
สาระสำคัญที่ผู้เขียนตั้งใจส่งไปถึงผู้อ่าน ไม่ว่าจะแฟนบอลทีมชาติไทยขาประจำหรือขาจร นั่นคืออย่าเพิ่งด่วนสรุปอิชิอิ เพียงแค่ผลงานในทัวร์นาเมนต์เอเชียนคัพ 2024 นี้ ไม่ตรงตามใจ (หรือถ้าออกมาดีก็ถือว่าน่าชื่นชม) เพราะว่ากันตามตรงนี่เป็นการคุมทัพช้างศึกลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์แรกอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางสารพันอุปสรรค ไหนจะการสนับสนุนจากสมาคมฯ ที่ ณ เวลานี้ ก็ยัง ‘ลูกผีลูกคน’ ไม่รู้ว่าใครจะก้าวมาเป็นนายกสมาคมฯ คนต่อไป
ในมุมมองของคนนอกอย่างผู้เขียน งานของอิชิอิตอนนี้ จึงไม่ต่างจากการเข็นครกขึ้นภูเขา ที่ไม่รู้ว่าระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ดังนั้น ผู้เขียนหวังว่านายกสมาคมฯ รายถัดไปที่จะมาแทน พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จะมีแบบแผนงานที่ชัดเจน พร้อมซัพพอร์ตในมุมของทีมชาติ และไม่ปล่อยให้อิชิอิหรือกุนซือรายต่อไปต้องก่อปราสาททรายที่ชื่อว่า ‘ช้างศึก’ เพียงลำพัง เพราะต่อให้ปราสาทนี้สวยงามเพียงใด แต่สุดท้ายเมื่อรากฐานไม่แข็งแรง ปราสาทนี้ก็พร้อมจะพังครืนได้ทุกเมื่อ
ดังที่ท่อนฮุกของเพลง ‘ปราสาททราย’ โดย สุรสีห์ อิทธิกุล ร้องไว้ว่า “ไม่เหลืออะไรเลย แหลกสลายลงไปกับตา”
Tags: Game On, Masatada Ishii, Asian Cup 2024, มาซาทาดะ อิชิอิ, ฟุตบอลทีมชาติไทย, เอเชียนคัพ 2024