เดิม ‘GeoGuessr’ ทีเป็นเกมที่พัฒนาขึ้นในปี 2013 โดย แอนตัน วอลเลน (Anton Wallén) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวสวีเดน ในรูปแบบ ‘browser-based geography’ กล่าวคือ ในแต่ละเกมผู้เล่นจะถูกสุ่มภาพที่อ้างอิงจากกล้องของ Google Street View ซึ่งเป็นสถานที่ต่างๆ บนโลก จากนั้นผู้เล่นจะต้องทายว่า พื้นที่ตรงนั้นคือส่วนไหนของโลก ของประเทศ หรือของเมืองนั้นๆ และหากผู้เล่นทายตำแหน่งได้ใกล้เคียงก็จะยิ่งได้คะแนนมากขึ้นในการแข่งขันรอบนั้นๆ 

รูปแบบการเล่นของเกมดังกล่าวมีทั้งแบบ Explorer Mode หรือการเล่นประเภทเดี่ยวในการทายพื้นที่ในประเทศต่างๆ ให้แม่นยำ เพื่อเก็บสะสมเหรียญรางวัลจะประเทศนั้นๆ และ Battle Royale ที่สามารถแข่งกับคนอื่น หากใครที่ทายแม่นยำกว่าในแต่ละรอบก็จะสามารถโจมตีใส่ผู้เล่นอีกฝั่งได้ และหากผู้เล่นฝั่งไหนที่ค่าพลังจำนวน 5,000 หมดลงก่อนก็จะเป็นผู้แพ้

แม้เกมจะถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ 11 ปีก่อน แต่ GeoGuessr กลับไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไรนัก เพราะปัญหาในการเล่นเกมนี้ คือ ‘ความยาก’ ยากเสียจนมือผู้เล่นมือใหม่หมดสนุกเอาง่ายๆ เพราะไม่ว่าจะสุ่มพื้นที่กี่ครั้ง ก็มักจะเดาแทบไม่ออกเลยว่าที่นั่นคือที่ใด แม้จะเป็นประเทศที่ตัวเองเกิดและอาศัยอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี เกมสุดแสนหฤโหดนี้กลับถูกยกเป็นกระแสขึ้นมาในปี 2020 เสียดื้อๆ ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด จนต้องกักตัวกันอยู่ในบ้านทั้งวันทั้งคืน และนั่นอาจเป็นไปได้ว่า การได้ออกไปเผชิญโลกกว้างผ่าน GeoGuessr อาจเป็นหนึ่งวิธีแก้เบื่อและพอหายคิดถึงชีวิตนอกบ้านบ้าง ขณะเดียวกัน บรรดายูทูเบอร์และสตรีมเมอร์หลายรายต่างนำเกมนี้มาเล่น จึงทำให้หลายคนมีโอกาสรู้จัก GeoGuessr มากยิ่งขึ้น

“ผมจะดูตำแหน่งที่ผมยืนอยู่แค่ 0.1 วินาที โดยภาพถูกทำให้เบลอ แล้วทายว่าผมอยู่ที่ไหน”

“ผมจะดูแค่ท้องฟ้า แล้วทายว่าตำแหน่งนี้อยู่ไหน”

“มีคนส่งรูปตัวเองที่ยืนบนถนนเส้นหนึ่งในโลก ผมจะทายว่าเขาอยู่ที่ไหน”

ข้างต้นคือหลากหลายโจทย์จากคลิปวิดีโอของ ‘Rainbolt’ หรือเทรเวอร์ เรนโบล์ต (Trevor Rainbolt) สตรีมเมอร์ชาวสหรัฐอเมริกา ที่ทายตำแหน่งจากโจทย์ต่างๆ ได้แม่นยำ แม้จะเป็นพื้นที่อันห่างไกลจากบ้านเกิดของเขา ทั้งทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย แม้กระทั่งประเทศเกาหลีเหนือเองก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ยังทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกอึ้งเท่ากับการที่ได้รู้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนจะเริ่มสตรีมเกม GeoGuessr ในปี 2021 เทรเวอร์เคยเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐฯ เพียงแค่ครั้งเดียว 

แล้วคนที่เล่น GeoGuessr จนเชี่ยวชาญเขาฝึกฝนกันอย่างไร?

‘การฝึกฝนเท่านั้น ที่จะทำให้เก่งในอะไรบางอย่าง’ ในการพูดคุยกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) เทรเวอร์เผยถึงเคล็ดลับที่เรียบง่ายที่สุด อย่างเช่นการใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อศึกษาสัญลักษณ์ในการแบ่งแยกภูมิศาสตร์ต่างๆ ทั้งป้ายสัญญาณต่างๆ เสาไฟฟ้า เส้นปะบนถนน รูปแบบการจราจร ชื่อโดเมน (Domain) ของประเทศ กระทั่งลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั้งต้นไม้ สีของหญ้า และสภาพพื้นดินโดยรอบในแต่ละพื้นที่ เหล่านี้คือสิ่งที่เทรเวอร์เรียนรู้จากการจดจำและฝึกฝนให้เคยชิน

ยกตัวอย่างเช่น ป้ายทะเบียนสีเหลืองส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศแถบยุโรป เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก หรือในมาเลเซีย ป้ายหยุดการจราจรจะใช้คำว่า Berhenti แต่ในแถบอเมริกาใต้จะใช้คำว่า Pare 

หรืออย่างในประเทศไทยเองเหล่านักกีฬา GeoGuessr เลือกจดจำธงชาติและภาษาไทยก่อนเพราะมีความเป็นเอกลักษณ์ที่สุด ส่วนจะให้ละเอียดขึ้นไปอีก จะต้องจดจำรูปแบบถนนเส้นหลักของประเทศไทยทั้งถนนหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถนนหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ถนนหมายเลข 3 (สุขุมวิท) และถนนหมายเลข 4 (เพชรเกษม) เพื่อคาดการณ์ว่า ถนนที่รถ Google Street View มุ่งหน้าไปคือภูมิภาคไหน อีกทั้งตัวเลขเหล่านี้จะช่วยให้เขาหากตัวถนนเส้นรองอื่นๆ ง่ายขึ้น และท้ายสุดคือลักษณะภูมิภาค เช่น หากเป็นทุ่งหญ้าหรือนาข้าวก็สามารถประเมินว่า เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือหากมีลักษณะเป็นเทือกเขาก็อาจคาดเดาว่าเป็นภาคเหนือ 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญต่อมาคือการฝึกฝน เรียนรู้ และฝึกฝนต่อไป ในแต่ละวันเขาใช้เวลาโดยเฉลี่ยกว่า 12 ชั่วโมง เล่นเกม GeoGuessr เพื่อทดสอบความรู้เชิงภูมิศาสตร์ที่ได้จดจำมา แน่นอนว่าก่อนที่เราจะเห็นเขาเป็นสตรีมเมอร์ที่ทายตำแหน่งบนโลกแม่นยำทุกครั้ง (แม้เทรเวอร์เคยกล่าวในคลิปเหล่านั้น แต่สิ่งที่ผู้ชมเห็นคือการคัดเลือกเฉพาะการเล่นที่ดีที่สุดในการเล่นเกมแต่ละครั้ง) เพราะหลายครั้งเขาก็ทายผิดพลาด ชนิดที่ว่าคนละพื้นที่กับที่เขาคิดและคาดเดาเอาไว้คนละทาง แต่เทรเวอร์ก็ยอมรับและ เรียนรู้ข้อผิดพลาดนั้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการถ่ายที่ผิดพลาดในขณะ Live เขาก็จะพูดเสมอว่า “I’ll Take It” หรือ “ผมยอมรับมัน” อยู่เสมอ

ตัวอย่างคลิปจากช่องของ Rainbolt: https://youtu.be/I57A_MTGmrk

กล่าวโดยสรุป คือการเป็นผู้เล่น GeoGuessr ที่เก่งได้นั้น ไม่ได้มาจากการที่มีพรสวรรค์ รู้จักพื้นที่บนโลกได้ทั้งหมดผ่านการเห็นเพียงครั้งสองครั้ง แต่เกิดจากการฝึกซ้อม จดจำ และช่างสังเกตทั้งสิ้น 

เมื่อเคล็ดลับเหล่านี้ถูกเผยแพร่และทำให้รู้ว่า ใครๆ ก็สามารถเล่นเกมนี้ได้ชำนาญ จึงทำให้เกิดการแข่งขันของเหล่า GeoGuessr ขึ้นมา และนำไปสู่การแข่งขันระดับโลกอย่าง GeoGuessr World Cup ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2023 

สามารถรับชมการแข่งขัน GeoGuessr World Cup 2023 ทั้งหมด รวมถึงนัดชิงระหว่าง Consus กับ Blinky ได้ทาง https://youtu.be/cxTmdyoBf8c

ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวจัดขึ้นในเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน เพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 ล้านบาท) โดยมีผู้เข้าชิงในรอบสุดท้ายทั้งหมด 8 คน ก่อนที่ Consus หรือแพททริก นอร์ไดจก์ (Patrick Noordijk) นักกีฬาชาวสวีเดน จะเอาชนะ Blinky หรือแมทธิว เฮาต์ (Mathieu Huet) นักกีฬาชาวฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ โดยในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศต้องสู้ถึงชั้นฎีกาในเกมสุดท้าย ซึ่งหากใครพลาดทายพื้นที่ในโจทย์นั้นไกลเกินหลักร้อยเมตรก็จะกลายเป็นผู้แพ้ทันที 

ส่วนในปี 2024 จะมีการแข่งขัน GeoGuessr World Cup ในเดือนกันยายน ซึ่งมีเงินรางวัลสูงถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ  (ประมาณ 3,500,000 บาท)

นอกจากนี้ การเล่น GeoGuessr ยังเป็นกีฬาที่ฝึกความสามารถในการจดจำแล้ว นักวิชาการด้านการศึกษา หรือครูจำนวนหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยว่า เกมนี้ถือเป็น Educational Game ที่เหมาะกับการเป็นสื่อการเรียนและแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ลองสังเกตและจดจำแผนที่ทางภูมิศาสตร์

สำหรับผู้ที่สนใจจะเล่นเกม GeoGuessr สามารถเข้าไปเล่นทาง https://www.geoguessr.com/pro หรือจะเล่นในโทรศัพท์ก็สามารถโหลดผ่าน iOS หรือ Play Store โดยเกม GeoGuessr ต้องสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อเล่น โดยแบ่งเป็น 3 แพ็กเกจ ตามจำนวนเกมที่เล่นได้ในแต่ละวัน

Tags: , , , , ,