ปัจจุบัน เราคงค่อยๆ คุ้นเคยกับรถยนต์พลังงานกึ่งไฟฟ้า หรือ รถระบบไฮบริด (Hybrid) กันดี ซึ่งเป็นรถที่ผสานพลังระหว่างเครื่องยนต์กับระบบมอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อใช้ความเร็วต่ำหรือหยุดนิ่งก็จะใช้ระบบไฟฟ้าถ้ามีกระแสไฟฟ้าเพียงพอ และจะใช้เครื่องยนต์เมื่อต้องการใช้ความเร็วสูง หรือเมื่อต้องการชาร์จแบตในยามที่กระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ต่ำกว่ากำหนด
ตั้งแต่ปี 1997 โตโยต้าเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกที่นำเทคโนโลยีระบบไฮบริดมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระแสที่ฮือฮากันมากในยุคนั้น ด้วยรถยนต์โตโยต้า พรีอุส (Toyota Prius) และอีกสองปีถัดมา คู่แข่งคนสำคัญอย่างฮอนด้าก็ส่ง ฮอนด้า อินไซท์ ไฮบริด (Honda Insight Hybrid) ซึ่งสมัยนั้นเป็นรถตลาดที่มีราคาสูงมาก จนคนต้องคิดชั่งน้ำหนักว่าแบบไหนจะคุ้มกว่า ระหว่างยอมจ่ายค่าน้ำมันกับรถระบบเก่า หรือจ่ายเป็นค่ารถยนต์ไฮบริดซึ่งประหยัดน้ำมันกว่า แต่ปัจจุบัน รถยนต์ไฮบริดมีราคาถูกลงมากจนสามารถนำมาทำเป็นรถแท็กซี่ได้ และมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์แบบเบนซินและดีเซล (ในอดีตมีแต่เครื่องยนต์เบนซิน)
ถัดมา ที่กำลังเป็นกระแสนิยมในปัจจุบันคือ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plugin Hybrid) ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ รถยนต์ระบบไฮบริดที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จได้ คล้ายกับการชาร์จแบตเตอรีมือถือ ซึ่งมีการทำงานเหมือนระบบไฮบริดปกติ แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือสามารถวิ่งได้ไกลกว่าเดิม เนื่องจากแบตเตอร์รี่มีขนาดใหญ่ขึ้น เสียบปลั๊กชาร์จล่วงหน้าในเวลาที่เราจอดรถ ซึ่งพัฒนาจากระบบไฮบริดแบบเก่าที่ต้องชาร์จเมื่อรถติดเครื่องยนต์อยู่เท่านั้น
รถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fully-Electric
และแล้วก็มาถึงรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Full Electric Vehicle หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ซึ่ีงเป็นรถยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ในปัจจุบัน และกำลังเป็นอนาคตของรถยนต์หลังจากยุคนี้
แล้วรถยนต์ระบบนี้เป็นอย่างไร ดีกว่าระบบไฮบริดอย่างไร
รถยนต์ระบบ Fully-electric ก็คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในเข้ามายุ่งเกี่ยว คล้ายกับรถบังคับของเล่นที่เราเคยเล่นกันสมัยเด็ก ที่เมื่อแบตเตอร์รีหมดก็จะเปลี่ยนแบตเตอร์รี หรือชาร์จไฟ
รถยนต์ไฟฟ้านำตลาดโดยบริษัทรถยนต์น้องใหม่จากฝั่งอเมริกานั่นก็คือ บริษัท เทสลา มอเตอร์ (Tesla Motor) นั่นเอง ก่อตั้งเมื่อ ปี 2003 จนถึงปัจจุบันมีอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น ถือเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีอายุน้อยถ้าเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกยานยนต์อย่างโตโยต้าที่ก่อตั้งเมื่อปี 1937 ปัจจุบันก็มีอายุกว่า 81 ปี
เทสลาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกในปี 2008 เป็นรถยนต์ Roadster (Tesla Roadster) เปิดประทุน สามารถวิ่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในแค่ 4.5 วินาทีเท่านั้น และวิ่งได้ไกลสุดต่อการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง ได้เกือบ 400 กิโลเมตร ในตอนนั้นได้เป็นกระแสที่ฮือฮามากในโลกวงการยานยนต์ ชนิดที่เรียกได้ว่าแรงตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกและรุ่นแรกของเทสลา แต่ราคาก็ค่อนข้างสูงมาก ราคาเริ่มต้นประมาน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (แต่ราคาขายในไทยประมาณ 8-10 ล้านบาท รวมภาษี) ซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับรถคันเล็กๆ หนึ่งคัน และไม่มีใครรู้ว่าการใช้งานจะเป็นอย่างไร คงทนแค่ไหน จะมีปัญหาจุกจิกหรือไม่ จึงไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น
แต่ในปัจจุบัน เทสลาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสิ่งใหม่ๆ สามารถเริ่มต้นได้ ปัจจุบันเทสลามีรถยนต์ในค่ายถึงห้ารุ่น ถึงจะดูไม่มากเท่าค่ายอื่น แต่ก็ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทั้งซีดาน เอสยูวี สปอร์ต และรถบรรทุก เมื่อใครนึกถึงรถยนต์ไฟฟ้า เทสลา ก็จะเป็นแบรนด์แรกที่คนจดจำได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีบริษัทใหญ่หลายบริษัททำรถยนต์ไฟฟ้าออกมา ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า นิสสัน บีเอ็มดับบลิว เอาดี้ และปอร์เช่ ก็ตาม
ความเคลื่อนไหวจากจีน ตลาดใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าในโลก
รถไฟฟ้าในจีนเองก็กำลังไปได้สวย เนื่องจากรัฐบาลจีนสนใจและกำลังผลักดันการใช้รถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ จนถึงขั้นกำหนดกรอบระยะเวลาให้ผู้ผลิตรถยนต์ยุติการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนเร่งค้นคว้าและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายอีกว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 2 ล้านคันต่อปีภายในปี 2020 และเพิ่มเป็น 7 ล้านคันภายในปี 2025 แต่ฝ่ายผู้ผลิตคาดว่าจะทำได้มากกว่า 1 ล้านคันต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2020
การผลักดันเรื่องรถพลังไฟฟ้าจากรัฐบาลจีนในครั้งนี้ ยังทำให้เทสลา มอเตอร์ขยายโรงงานผลิตมายังจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 จากอเมริกา ที่ก่อนหน้านี้ติดเรื่องกฎหมายภายในประเทศ ที่บริษัทต่างชาติจะไม่สามารถตั้งโรงงานและเป็นเจ้าของได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ขัดกับนโยบายของเทสลาที่ต้องการเป็นอิสระและไม่ต้องการสูญเสียทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รัฐบาลจีนเสนอให้เทสลาตั้งโรงงานในเขตการค้าเสรี แต่จะ เก็บภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับภาษีรถนำเข้า แต่สามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศจีนได้ ก็ทำให้ประหยัดต้นทุนลงไปได้เยอะมาก และถือเป็นความเคลื่อนไหวจากจีนที่จะส่งผลอย่างมากต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่มีประชากรมาก ความต้องการสูง และมีกำลังซื้อสูง
และนี่ถือเป็นการปฏิวัติวงการยานยนต์โลกหลังจากนี้ เมื่อไฟฟ้าเข้ามาแข่งกับน้ำมัน ทำให้ญี่ปุ่น ประเทศที่ผลิตและส่งออกรถยนต์เป็นหลักของประเทศ และยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า บริษัทรถยนต์เก่าแก่ยังต้องสะเทือน และต้องรีบปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคที่พลังงานฟอสซิลจะหมดโลก
อย่างไรก็ดี ปัญหาของรถพลังงานไฟฟ้านั้นยังมีอยู่อีกมาก ทั้งเรื่องต้นทุนที่สูงมาก ความทนทานของแบตเตอร์รี และการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอร์รีหมดอายุ สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายที่ยังคงต้องการเวลาวิจัยมากกว่านี้
ผู้บริโภคก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอนาคตของโลกยานยนต์จะเป็นไปในทิศทางใด อาจจะมีพลังงานประเภทอื่นแจ้งเกิดขึ้นมาอีก จากเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่
Tags: เทสลา, รถยนต์ไฮบริด, รถยนต์ไฟฟ้า, โตโยต้า