(1)

จนถึงวันนี้ หน้าตาคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งโปรดเกล้า ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ กลายเป็นคณะรัฐมนตรีที่หลายคนบอกว่ามาจากต้นทุนที่ติดลบ ติดลบเพราะส่วนหนึ่งเป็นรัฐบาล ‘ผิดฝาผิดตัว’ รัฐมนตรีกระทรวงเล็ก กระทรวงใหญ่ เต็มไปด้วยภาพของการต่างตอบแทน ตอบแทนที่มีเสียง ส.ส. มากพอ ตอบแทนที่สามารถดึง ส.ว. เข้ามาช่วยยกมือให้กับ เศรษฐา ทวีสิน จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี และตอบแทนที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลนั้นลุล่วงไปด้วยดี

รัฐมนตรี 9 คน หรือมากกว่า 1 ใน 4 คือคนหน้าเดิม ในเวลาเดียวกัน รัฐมนตรี 4 คน คือ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ, ชาดา ไทยเศรษฐ์, พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล คือ ‘เครือญาติ’ ของรัฐมนตรีชุดเดิม หลายคนบอกว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้เมื่อนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตัวจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น เศรษฐา แต่หลายคนเห็นตรงกันว่าการบริหารงานน่าจะไม่ต่างจากเดิม

ทั้งหมดนี้ คือภาพที่แยกจากกันไม่ได้จากกรณีพระราชทานอภัยโทษ ทักษิณ ชินวัตร จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี โดยมีพลเอกประยุทธ์ ผู้ทำรัฐประหาร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ เป็นผู้ลงสนองรับพระบรมราชโองการ เป็นกระบวนการยุติธรรมแบบแปลกๆ ที่หลายคนยกข้อความจาก Animal Farm นวนิยายดังของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwells) ที่บอกว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียม แต่สัตว์บางตัวได้รับความเท่าเทียมมากกว่า”

เท่ากับว่าประเทศไทยก้าวข้ามไปอีกยุค เป็นยุคที่พรรคเพื่อไทยสมาสกับพรรคอำนาจนิยมคู่อริเก่าอย่างแนบเนียน คำอธิบายอย่างเป็นทางการก็คือ เป็นการ ‘สลายขั้ว’ ความขัดแย้งเดิม ทุกคนจับมือกันร้องเพลงสามัคคีชุมนุม ภายใต้คำที่พยายามอธิบาย ณ วันนี้ก็คือ ต้องลืมความขัดแย้งเก่าๆ ให้หมดสิ้น ลืม ‘สองลุง’ ลืม ‘มีลุงไม่มีเรา’ ไปสู่รัฐบาลรูปแบบใหม่

คล้ายๆ รัฐบาลแห่งชาติ ที่ทุกคนจับมือกัน ยกเว้น ‘พรรคก้าวไกล’

(2)

แม้รัฐบาลและระบอบที่ยังไม่มีชื่อเรียกนี้ จะยังไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน แต่ทุกคนรู้ดีว่าภารกิจที่สำคัญกว่า ก็คือการจัดการกับพรรคก้าวไกล ภารกิจนี้สำคัญถึงขนาดที่ว่าพรรคเพื่อไทยยอมละทิ้ง ‘จุดยืน’ ที่สั่งสมมานานเกิน 10 ปี จากเรื่องประชาธิปไตย คงเหลือเพียงหลักการสำคัญว่าด้วยเรื่องปากท้อง และการสลายขั้ว

ในวันนี้ หากวาด Political Spectrum ขึ้นใหม่ ก็ไม่สามารถวาดพรรคเพื่อไทยในฐานะ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้อีกแล้ว พรรคเพื่อไทยอยู่ข้ามเส้นระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ การเป็นพรรคที่จุดยืนไม่ชัดเจนได้ทำให้พรรคนี้กลายเป็นพรรคที่สลิ่มก็ตั้งคำถาม ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็รังเกียจ

หากอยากรู้ว่าภาพของพรรคเพื่อไทยในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องลองให้ ส.ส. ในแต่ละพื้นที่เล่าความในใจได้ว่า เวลาลงพื้นที่ ณ วันนี้ ต้องเจอเสียงตอบรับอะไรจากประชาชนบ้าง โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคที่ว่ากันว่า ‘แดง’ ที่สุดในประเทศไทย หลายพื้นที่ ส.ส. ไม่อาจร่วมงานศพ งานบุญ งานแต่งงานได้เหมือนเดิม เพราะเสียงชาวบ้านที่ฝากไปยัง ส.ส. ล้วนเป็นเสียงที่หนักหน่วง ไม่เว้นแม้แต่ในจังหวัดน่าน พื้นที่ของอดีตหัวหน้าพรรคอย่าง นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว

(3)

แน่นอนว่าทุกคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครคาดหวังว่าจะให้เกิดภาพนี้ และแม้ใครต่อใครจะบอกว่า ‘ดีล’ นี้เกิดก่อนการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ผมเชื่อก็คือภาพนี้ไม่ใช่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้เกิด

เพราะในทางการเมืองยุคปัจจุบัน เรื่องจุดยืนที่ชัดเจนเป็นเรื่องใหญ่ หากพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถ ‘ข้ามขั้ว’ ได้ สลายความขัดแย้งได้จริง พรรคที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งควรเป็นพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูจุดขายเรื่องการ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ 

การตัดสินใจดังกล่าว ที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า เป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงมาก และพรรคเพื่อไทยใช้ต้นทุนสูงมาก ได้ทำให้ ‘ต้นทุน’ ในอนาคตของพรรคเพื่อไทยน่าเป็นห่วง และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่สั่งสมมาจะถูกบั่นทอนไปเรื่อยๆ

ต้นทุนใหญ่ที่สุดที่เสียไปอาจเป็นได้ทั้ง

1.จะไม่มีใครเชื่อเรื่อง ‘จุดยืน’ อีกต่อไป ทุกเรื่องที่พูดไป อาจกลายเป็นสิ่งที่อ้างได้ภายหลังว่าเป็น ‘การโฆษณา’ ในแต่ละห้วงเวลา และสถานการณ์อาจเปลี่ยนได้ตามเวลาที่เปลี่ยนไป เหมือนกับการบอกว่าต้องข้ามขั้ว เพราะไม่สามารถทำแลนด์สไลด์ได้

2.พรรคเพื่อไทยจะถูกพรรคร่วมรัฐบาล ‘บีบคั้น’ อย่างหนัก กระทรวงมหาดไทยอยู่กับพรรคภูมิใจไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ กระทรวงพลังงานอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะถูกขับเคลื่อนได้ผ่านเพียง กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดีอีเอส แต่กระทรวงใหญ่ๆ ที่ไปถึง ‘โหวตเตอร์’ ส่วนใหญ่ของพรรค ตกเป็นของ ‘พวกเขา’ ทั้งหมด 

3.เรื่องใหญ่อย่างความพยายามเปลี่ยนโครงสร้างที่พรรคเพื่อไทยเพียรพยายามพูดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ จะเบาบางลงเรื่อยๆ เพราะต้องประนีประนอมกับอำนาจเดิม เหมือนกับที่นายกฯ เศรษฐา เคยพูดว่า ไม่อยากให้เรียกว่า‘ปฏิรูป’ แต่เป็นการ ‘พัฒนาไปร่วมกัน’ 

วันนี้ไม่มีใครรู้อีกต่อไปว่าพรรคเพื่อไทย จะสามารถเข้าไปตรวจสอบเรื่องแปลกๆ ในกระทรวงกลาโหม ในองค์กร ‘รัฐซ้อนรัฐ’ แห่งนี้ได้หรือไม่ หรือแม้แต่การ ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ จะเปลี่ยนได้ไหมในห้วงเวลาของการเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

4.ต้นทุนที่เสียมากที่สุด คือต้นทุนว่าด้วย ‘เวลา’ ของประชาชน แน่นอนว่าประชาชนตั้งความหวังผ่านการเลือกตั้งว่าจะเป็นการเลือกเพื่อ ‘เปลี่ยน’ แต่จนถึงวันนี้ ไม่มีใครคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะในระดับปากท้อง หรือในระดับโครงสร้าง

ผลกระทบสำคัญจากการที่พรรคเพื่อไทยเลือกเส้นทางนี้ เท่ากับการที่ประชาชนต้องทน ‘รอ’ เวลาของการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก จากที่ทุกคนคิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดตั้งต้นในการเปลี่ยน กลายเป็นการมองทุกอย่างในระยะ ‘ไกล’ ออกไป และไม่เห็นว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย เมื่อชนชั้นนำทุกฝ่ายยังต้องการยึดครองอำนาจนำไว้

(4)

ในอดีต ผู้ที่มีส่วนร่วมกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มักบอกว่า นโยบายนี้สำเร็จด้วยเกิดขึ้นด้วยกลไก ‘ประชาธิปไตย’ กล่าวคือมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฐาน พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากพอที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ข้าราชการพร้อมรับฟังรัฐบาลทีมีความชอบธรรม ทุกสิ่งประกอบกันทำให้เรื่องยากๆ อย่างการเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายสาธารณสุขประเทศนี้ทำได้จริงในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แต่ ณ วันนี้ ทุกองค์ประกอบล้วนอึมครึม พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลจากต้นทุนที่ติดลบ กระบวนการทุกอย่างที่เคยทำให้ 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายพลิกแผ่นดินเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงสนับสนุนชี้ขาด ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และการเป็นรัฐบาลพรรคร่วมน้อยพรรค สิทธิ์ขาดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี กลายเป็นองค์ประกอบที่เลือนราง ไม่ได้มีอยู่ในวันนี้ และไม่ว่าจะเดินทางใด เส้นทางจะเต็มไปด้วยความขรุขระ

ทั้งหมดคือความเป็นห่วงเป็นใยพรรคเพื่อไทย พรรคที่เคยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำเรื่องยากๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง พรรคที่เคยเป็นพรรคของมวลชน และพรรคที่เคยเป็นผู้นำอันแข็งขันในด้านประชาธิปไตย ว่าจะเปลี่ยนไปสู่จุดไหน และเมื่อถึงขั้นตอนสุดท้าย แม้แต่คนที่ร่วมต่อสู้กับพรรคมา จะเหลือที่ยืนข้างเคียงกันมากน้อยเพียงใด

ถึงตอนนี้ สิ่งที่พรรคนี้อาจต้องพึงระลึกไว้เสมอก็คือ อย่าหวังว่ากระบวนการที่ ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ จะสามารถเปลี่ยนอะไรได้ในประเทศนี้ และในเวลาที่กำลังเป็นรัฐบาล ต้นทุนต่างๆ จะสูญสลายไปเรื่อยๆ ในรูปของรัฐบาลผสม

ใช่ – งาช้างไม่มีวันงอกจากปากสุนัข และถ้าไม่ตั้งต้นด้วยรูป ‘ประชาธิปไตย’ ตั้งต้นด้วยวิธีการที่แปลกประหลาด

ความหวังว่าด้วยการ ‘เปลี่ยนแปลง’ ก็ย่อมเลือนราง และอาจหายไปได้ง่ายๆ

Tags: , , ,