ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ด้วยมิติทางการเมืองแบบใหม่ถอดด้าม ชนิดที่ว่าปลุกบรรดาคนที่สิ้นหวังกับระบบ ให้กลับมามีความหวังขึ้นอีกครั้ง

เอาง่ายๆ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ลำดับต้นๆ ของการเมืองระดับชาติ ก็ยังกลบกระแสความนิยมของคุณชัชชาติไม่ได้ และแม้สัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีฝนห่าใหญ่ ชนิด 160 มิลลิเมตร ถล่มกรุงเทพฯ จนทำถนนสุขุมวิทและซอยย่อยมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งคืน ก็ทำอะไรชัชชาติไม่ได้ ซ้ำยังทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ จาก 2 เรื่องสำคัญคือ การไลฟ์สดลุยพื้นที่จริงจนดึกดื่น การอธิบายปัญหาระบบการระบายน้ำอย่างทะลุปรุโปร่ง และการประกาศขอ ‘รับผิดชอบ’ แต่เพียงผู้เดียว

การเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน แน่นอนว่าไม่ใช่การ ‘เดิน’ เกมทางการเมือง หากแต่เป็นการ ‘วิ่ง’

คำถามก็คือ หากถอดวิธีการ ‘วิ่ง’ ถอดกลยุทธ์ของชัชชาติ และทีมงาน จะเจออะไรอยู่ด้านในบ้าง… แล้วกลยุทธ์แบบนี้ จะนำไปสู่อะไร จะสร้าง ‘ความหวัง’ ต่อไปได้เพียงใด แล้วมีข้อท้าทายอะไรบ้าง

1.ความขัดแย้ง

ผมคิดว่ากลยุทธ์หลายอย่างถูกวางแผนมาอย่างดี และพยายามอย่างยิ่งยวดในการแก้ Pain Point ของการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีแบบ ‘นักบริหาร’ 

เป็นที่รู้กันว่า สังคมไทยขัดแย้งกันมานาน 16 ปี ด้วยฝ่ายอำนาจนิยมพยายามทุบเสียงของประชาชนเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง รักษาระบอบจารีตบางอย่างไว้ให้ยาวนานที่สุด โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ‘ความขัดแย้ง’ และ ‘ความแตกแยก’ ของประชาชน เพื่อให้ตัวเองขึ้นสู่อำนาจ

แน่นอนว่าชัชชาติรู้เรื่องนี้ดี เมื่อเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาคือหนึ่งในผู้ที่บริหารอะไรแทบไม่ได้เลย จากความขัดแย้งและกลไกของฝ่ายอำนาจนิยมที่ ‘คว่ำ’ พระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง – โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

กระทั่งในวันสุดท้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชัชชาติที่นั่งอยู่ในที่ประชุมร่วมที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะ และอยู่ด้วยในวินาทีที่พลเอกประยุทธ์ทุบโต๊ะยึดอำนาจ จนต้องถูกเอาผ้าปิดตา จับตัวไปขังในค่ายทหารนานหลายวัน ย่อมรู้เหตุและปัจจัยเหล่านี้ดีว่า หากยังปล่อยให้การเมืองไทยอยู่ในความขัดแย้งต่อไป ย่อมมีใครสักคนที่ได้ประโยชน์

ด้วยเหตุนี้ การเมืองไทยจึงอยู่ในความขัดแย้งแบบ ‘สุดขั้ว’ ไม่ได้ และต้องการฝ่ายประชาธิปไตย ‘สายกลาง’ แบบ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ที่ไม่ทำให้กลุ่มสนับสนุนอนุรักษนิยมลุกฮือ ชัชชาติจึงเดินสายนี้ และเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาประกาศตัวเป็นอิสระ แม้ว่าจะแนบชิดกับฝ่ายประชาธิปไตย และคุ้นเคยกับพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม…

แต่ถามว่าการเลือกเดินสายนี้ หมายความว่าชัชชาติเป็น ‘สลิ่ม’ หรือเป็น Ignorance หรือไม่… คำตอบก็คือไม่ใช่

วิธีแก้ความขัดแย้งแบบชัชชาติถูกขยายความในงาน ‘ราษฎรมาร์เก็ต’ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะตอบคำถามของ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถึงจุดยืนของเขาต่อการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตอนหนึ่งว่า “Revenge is a dish best served Cold” หรือการ ‘แก้แค้น’ ต้องรอให้เย็นลงก่อน

แน่นอนว่าชัชชาติเป็นฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ คนหนึ่ง ซึ่งเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อสะสมพลัง สะสมกำลัง แล้วเสริมความแข็งแกร่งให้ฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อหาทางเอาคืนในวันหนึ่ง

น่าสนใจว่า วิธีคิดแบบชัชชาติจะทำให้สังคมเย็นลงหรือไม่ แล้ววิธีคิดแบบนี้ในยามที่อุณหภูมิของสังคมยังร้อนแรงแบบนี้ จะเป็นไปได้จริงหรือ..

2.สะสม ‘เพื่อน’ 

หากเปรียบเทียบกับผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ตลอด 2 เดือน หลังจากชนะการเลือกตั้ง นับได้ว่าชัชชาติคือผู้ว่าฯ ที่เดิน ทำงานลงพื้นที่มากที่สุด บางวันอาจปรากฏตัวได้มากถึง 5 – 6 งาน ชนิดที่นักข่าวบางคนถึงกับ ‘ตัดพ้อ’ ว่า ไม่น่าเลือกเข้ามาเลย เพราะต้องทำงานหนัก ต้องลุยเกินไป ไม่เว้นดึกดื่น ไม่เว้นเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งต่างจากอดีตผู้ว่าฯ คนก่อนๆ ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ปรากฏตัวนอกศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้ามากมายขนาดนี้

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกทม. กล่าวในงานแถลงผลงานครบรอบ 1 เดือนว่า วิธีการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. คือเน้นเรื่องการประสานงานภายนอก ส่วนเรื่องการบริหารงานอื่นๆ ในศาลาว่าการ กทม. มอบให้รองผู้ว่าฯ กทม. และทีมคณะที่ปรึกษาจัดการทั้งหมด 

ด้วยเหตุนี้ ถึงได้เห็นชัชชาติแสวงหาแนวร่วมที่เป็นทั้งภาคธุรกิจ ผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย ภาควิชาการ ผ่านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เอ็นจีโอ (NGO) อย่างมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่างๆ ไปจนถึงเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกระทั่งสถานทูต สถานกงสุลต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานมวลชนเคียงข้าง 

เพราะอันที่จริงแล้ว 1.4 ล้านเสียงนั้นไม่ได้มากอะไร หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้ ซึ่ง ‘เสียงดัง’ กว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทย

ประสบการณ์ในอดีตนั้น แม้พรรคเพื่อไทยจะรวมเสียงคนเลือกได้เกินสิบล้านเสียง แต่หากไม่มีแนวร่วมเป็นกลุ่มคน ‘เสียงดัง’ เหล่านี้ ก็มีอันเป็นไปได้ง่ายๆ… แน่นอนว่าชัชชาติเรียนรู้ในส่วนนี้มาแล้ว

แน่นอนว่าหากดึงคนเหล่านี้เข้ามาเป็น ‘เพื่อน’ ชัชชาติ เป็นแนวร่วมที่สำคัญ ย่อมทำให้หลายนโยบายขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น และก็มีโอกาสที่เสียงด่า เสียงไล่ จากบรรดาคนที่ ‘เสียงดัง’ นั้น จะเบาลง หากได้เข้าใจ ได้สัมผัสการทำงาน

แต่สำหรับเสียงนก เสียงกา หรือเสียงอื่นๆ หากจะวิพากษ์ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้…

3.สร้างฐานมวลชน

สิ่งหนึ่งที่บรรดามวลชนฝั่งตรงข้ามขยัน ‘แซะ’ ชัชชาติบ่อยๆ ก็คือการลงพื้นที่ถี่ยิบพร้อมกับไลฟ์สด ไม่ว่าจะยามวิ่งออกกำลังกาย ขึ้นเรือคลองแสนแสบ หรือลุยน้ำท่วม ก็มักจะคว้ากล้องไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กไปด้วยเสมอ พร้อมกับมีคนดูยืนพื้นในหลักหมื่น

ชัชชาติอธิบายว่า เหตุที่ต้องลงพื้นที่เป็นประจำเพราะถูกชาวบ้าน ‘ด่า’ ขณะหาเสียงเลือกตั้งว่า พอได้รับเลือกก็หายหมด จึงปวารณาตัวไว้ว่าหากได้เป็นผู้ว่าฯ ก็จะลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลบคำสบประมาทจากชาวบ้าน และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการลงพื้นที่แบบเงียบๆ ห้ามขึ้นป้าย ห้ามข้าราชการตั้งแถว ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เคยนั่งรถเมล์ นั่งรถไฟยามว่าง เมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ส่วนการไลฟ์สดนั้น ชัชชาติเคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการบอกสังคมว่า ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชนนั้นต้องทำอะไรบ้าง และภาษีประชาชนที่ลงมายัง กทม. ถูกใช้ไปกับอะไร… 

แน่นอนว่าการไลฟ์สดนั้นย่อมมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น หากพูดอะไรผิดไปนิด เกิดไปตำหนิใครเข้า เกิดอารมณ์เสียใส่ใครเข้า นั่นหมายความว่ามีคนดูอยู่อีกเป็นหมื่นเป็นแสนคน

แต่ในเวลาเดียวกัน ย่อมทำให้คนได้เห็น ผู้ว่าฯ กทม. ในมิติที่เป็น ‘มนุษย์’ เป็นชาวกรุงเทพฯ ธรรมดา ที่ก็ลำบากเหมือนกัน หากวันไหนรถติด หากวันไหนน้ำท่วม หรือหากทางเท้ามีขยะเต็มพื้น ผู้ว่าฯ ก็บ่นให้เห็น ซึ่งทำให้ชาวบ้านเห็นว่าในพื้นที่นั้นเกิดอะไรขึ้น

นอกเหนือจากสิ่งที่ชัชชาติบอกว่าเป็นการ ‘กระตุ้น’ ให้ผู้บริหาร กทม. ออกมาทำงานแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าบุคลากร กทม. อีกหลายหมื่นคนนั้นทำอะไรบ้าง ทั้งยังพยายามปรับภาพลักษณ์หลายๆ องคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหรือเทศกิจ ให้ ‘เป็นมิตร’ กับประชาชน

ในเชิงการสื่อสาร วิธีแบบนี้ การพยายามสื่อสารทางตรงกับมวลชนผ่านสื่อย่อมทำให้มีแนวร่วมมากขึ้น ทำให้คนเข้าใจการทำงานมากขึ้น คนปกติธรรมดาที่นั่งดูไลฟ์เหล่านี้จะพร้อมเป็นลมใต้ปีกคอยสนับสนุน หากเกิดแรงปะทะในวันข้างหน้า

และแน่นอน ช่วยลบจุดด้อยประเภทที่ว่า “ผมทำเก่ง ผมทำแล้ว แต่ผมไม่ค่อยพูด” ได้ เพราะแปลว่าจะมีมวลชนอีกมหาศาลที่พร้อมพูดแทนผู้ว่าฯ และพูดแทน กทม. โดยที่ไม่ต้องแต่งตั้งคนในครอบครัวคนไหนมาเป็นโฆษก

4.ภาพลักษณ์ ‘นักบริหาร’

ผมจำได้ว่า วันแรกที่ชัชชาติเปิดตัว 200 นโยบายออกมาหาเสียงนั้น ในความเห็นของผมและเพื่อนสื่อมวลชนหลายๆ คนมองว่า ‘แป้ก’ ด้วยซ้ำ ในมุมของคนทำสื่อ การประกาศนโยบายที่มากขนาดนั้น เป็นเรื่อง ‘เบี้ยหัวแตก’ คือทำให้ไม่รู้จะไปโฟกัสตรงจุดไหน แล้วสุดท้าย คนจะพาลไม่เชื่อว่าการมีนโยบายที่มากขนาดนั้นจะทำได้จริง และเป็นไปได้จริง

คนหนึ่งที่ไม่เชื่อและเย้ยหยันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปรารภขึ้นมาตอนหนึ่งว่า หากทำได้ ก็ไปเป็นนายกรัฐมนตรีเถอะ

แต่ชัชชาตินั้นยืนยันตั้งแต่วันที่ The Momentum ไปสัมภาษณ์แล้วว่า ทั้งหมดล้วนเกิดจากการระดมสมองของบรรดานักวิชาการ – ทีมงานที่หลากหลาย และนโยบายทั้งหมดล้วนเกิดจากการลงพื้นที่หาข้อมูล – ระดมสมองของทีมงานแล้วทั้งหมดว่าทำได้จริง ซ้ำ 200 นโยบาย ยังถูกนำขึ้นเว็บไซต์ รายงานความคืบหน้าทุกเดือน และมีตัวชี้วัดให้เห็นว่าแต่ละเรื่องทำได้ถึงไหนแล้ว ทำได้ – ไม่ได้ อย่างไร

ทั้งหมดเป็นภาพของนักบริหารยุคใหม่ที่ไม่ค่อยได้เห็นชัดในแวดวงการบริหารงานภาครัฐ ตั้งแต่การสร้างนโยบายอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้หลักวิชาการเป็นตัวตั้ง ไปจนถึงการสร้างระบบตรวจสอบนโยบาย

เรื่องเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การเมืองระดับชาติอ่อนแอ อำนาจบริหารอ่อนปวกเปียก ทำได้ดีที่สุดคือพูดแซะคนอื่น ในเวลาเดียวกัน ก็ยังไม่ได้มีผลลัพธ์ใดๆ ออกมาให้เห็น ซ้ำยังเต็มไปด้วยภาพของการแย่งชิงอำนาจ – แย่งชิงผลประโยชน์ จนสภาพรัฐบาลนั้นแตกยับไม่มีชิ้นดี

คนไทยนั้นโหยหาภาพของนักบริหารยุคใหม่มานานแล้ว แต่ถูกปิดกั้นให้ต้องทนอยู่กับของเก่าๆ ที่พูดแต่คำว่า ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’

การปรากฏตัวของชัชชาติ ในแบบ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ไร้ภาพ ‘อนุรักษนิยม’ ติดตัว จึงส่งโมเมนตัมไปถึงรัฐบาล ส่งถึงภาคการเมืองระดับชาติให้ต้องปรับตัว ปรับภาพลักษณ์ ให้เข้าถึงง่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาก็คือ หากแม้ข้างนอกสุกใส แต่ถ้า ‘เนื้อใน’ นั้นกลวงโบ๋ ไร้ซึ่งประสิทธิภาพและความสามารถ ต่อให้ปรับภาพลักษณ์อย่างไร ก็ยังคงอยู่จะอยู่ในสภาพนี้ต่อไป…

5.ข้อท้าทาย (ที่น่ากลัว)

ผมจำได้ว่าวันแรกๆ หลังการเลือกตั้ง หลายคนที่เชียร์คุณชัชชาติบอกว่า คุณชัชชาตินั้น ‘ดี’ เกินไป สำหรับเมืองที่เน่าเฟะแบบกรุงเทพฯ และองค์กรที่ใหญ่โต เทอะทะ และอุดมด้วยผลประโยชน์แบบ กทม. ฉะนั้น วิธีคิดของนักบริหารแบบ ‘เอกชน’ อาจปรับตัวลำบาก และอาจต้องออกแรงเยอะ หากต้องเจอระบบราชการที่ toxic เต็มไปด้วยเรื่องของสินบน ส่วย และเรื่องเน่าเฟะแบบไทยๆ

คำถามก็คือชัชชาตินั้นเด็ดขาดแค่ไหน หากต้องจัดการเรื่องเหล่านี้ แล้วในที่สุด ในยุค 4 ปี ของชัชชาติ เทศกิจจะเลิกเก็บส่วยหรือไม่ ฝ่าย ‘โยธา’ จะเลิกเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อเดินเรื่องให้เร็วขึ้นหรือไม่ ข้อนี้ยังไม่มีใครตอบได้…

อีกส่วนหนึ่ง คือ 216 นโยบายนั้น ทั้งหมดต้องขับเคลื่อนด้วยบุคลากรใน กทม. หลายหมื่นคน โดยที่ชัชชาติและทีมงาน แม้จะมาด้วยเสียง 1.4 ล้านเสียง แต่ทีมงานรวมๆ แล้วก็มีเพียงแค่ 40 – 50 คน ซึ่งหากทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่เข้าตาคนกรุงเทพฯ ที่ ‘เรื่องมาก’ และ ‘เสียงดัง’ กว่าภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ ก็น่าเป็นห่วงว่าคุณชัชชาติอาจเอาชื่อเสียงมาทิ้งตรงนี้

สังเกตได้ว่า ผู้ว่าฯ กทม. ในอดีตทุกคน แทบไม่มีใครที่พ้นจากตำแหน่งไปด้วย ‘ความพอใจ’ ของคนกรุงเลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าคนนั้นจะถูกเลือกมาด้วยคะแนนกี่แสน หรือกี่ล้านเสียง… 

กับอีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของ ‘ประชาธิปไตย’ เพราะชนชั้นนำของประเทศนี้ ไม่นิยม ‘นักบริหาร’ ที่ไม่ใช่พวกตัวเองเท่าไรนัก และยิ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ยิ่งถูกหมายหัวมากเป็นพิเศษ

วิธีแก้เรื่องนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาของชัชชาติก็คือพยายาม ‘ยอม’ ทุกอย่างในการทำงานกับรัฐบาล ด้วยหวังว่าจะทำงานอย่างสะดวกราบรื่น ไร้แรงปะทะ และแม้จะมีแรงต้านมากเท่าไร ไม่ว่าจะกรณีที่โดนด่าเรื่องกัญชาจาก ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย หรือการไม่อนุญาตให้ใช้หัวลำโพงเพื่อฉายหนังกลางแปลง คำพูดติดปากของชัชชาติก็คือ “ไม่เป็นไร

คำถามก็คือ ด้วยบทนี้ ด้วยท่าทีแบบนี้ จะเป็นไปได้อีกนานขนาดไหน และการตัดสินใจจากเบื้องบนในการ ‘ประนีประนอม’ รักษาความสัมพันธ์กับชัชชาตินั้น จะเป็นไปในแบบนี้อีกนานหรือไม่ เพราะบทเรียนของฝ่ายประชาธิปไตยในอดีตล้วนมีห้วงเวลาฮันนีมูนไม่ยาวนานนัก และบทที่จะโดนทุบ ก็โดนชนิดปางตาย แบบเดียวกับที่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ โดน

เรื่องทั้งหมดจึงเป็นภาระอันหนักอึ้งของชัชชาติ เพราะประเทศนี้ ทำงาน ทำงาน ทำงาน ลูกเดียวนั้น อยู่ไม่ได้ และการทำงาน ทำงาน ทำงาน แบบเด่นเกินหน้าเกินตาคนอื่นนั้น ก็โดนทำลายมานักต่อนักแล้ว 

6.บทสรุป

ทุกยุทธศาสตร์ ทุกจังหวะเดินของชัชชาติ จึงมีความสำคัญมากในการปฏิรูปการเมืองไทยให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย ให้กลับมาเป็นประชาธิปไตย แบบที่ไม่ใช้ ‘ความเกลียดชัง’ หรือ ‘โวหาร’ เป็นตัวนำ

หากแต่เป็นการทำงาน เสนอนโยบาย แล้วเร่งสร้างผลงานได้เร็วที่สุด ด้วยยุทธศาสตร์ และด้วยวิธีคิดที่ว่ามาข้างต้น คือออกจากความขัดแย้ง สะสมเพื่อน แสวงหามวลชน แล้วเร่งบริหารงาน ก่อนที่ฝ่ายตรงข้ามจะหาทางจัดการได้ทัน หรือก่อนที่ใครจะทำอะไรจนมีอันต้องสะดุดขาตัวเองล้มไปก่อน

หากทำสำเร็จ ก็สร้างความหวังให้กับการเมืองไทยให้กับคนอีกเจเนอเรชันได้ไกล และแน่นอนว่าอนาคตทางการเมืองของชัชชาติย่อมสดใส ปูทางไปสู่การเมืองระดับชาติได้ง่ายๆ 

แต่แน่นอนว่าต้องระวังทุกจังหวะก้าว ฝ่ายตรงข้ามนั้นอาจมี ‘ไพ่’ บางอย่างในการจัดการชัชชาติและองคาพยพอยู่ในมือได้ทุกเมื่อ เพียงแต่วันนี้ อาจยังมองไม่เห็น…

เพราะประเทศนี้ มีกลุ่มคนที่หากินกับความขัดแย้ง ความแตกแยก และความรุนแรงเสมอ หาก ‘ตกหลุมพราง’ เมื่อไร ก็มีคนรอคิว แสวงหาอำนาจจากเรื่องเหล่านี้ได้ตลอดเวลา

หากย้อนกลับไปในอดีต ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็มีอยู่แค่นี้ เผลอเมื่อไร หรือสบจังหวะเมื่อใด ก็ถูก ‘ทุบ’ ได้เมื่อนั้น

 

Tags: , , , ,