นอกจากจะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ล่าสุด กรณ์ จาติกวณิช ยังใช้โอกาสเว้นว่างงานการเมืองมาปลุกปั้นสตาร์ทอัพในหมวด FinTech ของตัวเองด้วย ซึ่งเมื่อเราขอให้เขาใช้สายตาของอดีตขุนคลังมองแวดวงสตาร์ทอัพไทย ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นมุมมองที่น่าสนใจ

อุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศไทย 4.0 คืออะไร บทบาทของรัฐบาลไทยต่อสตาร์ทอัพบิดเบี้ยวแค่ไหน และอะไรคือหัวใจสำคัญของการทำสตาร์ทอัพ นี่คือบทสัมภาษณ์ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดจริงๆ

คุณเริ่มสนใจสตาร์ทอัพตอนไหน และในแง่มุมใด

ผมสนใจเรื่องของการทำธุรกิจโดยทั่วไป เพียงแต่ในยุคนี้ธุรกิจยุคใหม่มักจะอาศัยเทคโนโลยี หรือระบบอินเทอร์เน็ต ก็เลยมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมา แล้วตั้งแต่สมัยเริ่มทำงานผมก็ถือว่าเป็นผู้ประกอบการคนหนึ่งที่เปิดบริษัทของตัวเอง ทำในระดับหนึ่งก็ขายให้บริษัทข้ามชาติไป ก็เป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับกลุ่มสตาร์ทอัพปัจจุบัน

หลังจากมีการรัฐประหาร ผมมีเวลาว่างมากขึ้นก็เลยอยากกลับไปศึกษาดูว่าผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่เขาทำอะไรกันบ้าง ส่วนตัวมองว่าคนไทยให้ความสำคัญกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเกินไป คือเอะอะอะไรก็ถามว่ารัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไง ซึ่งตามข้อเท็จจริงและความรู้สึกของผมคือ บทบาทของเอกชนมีมากกว่ารัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็เลยอยากที่จะนำเสนอบทบาทของเอกชนให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ให้รู้ว่าจริงๆ แล้วหน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐคือส่งเสริมให้เอกชนเขาแข่งขันและเติบโตได้

ผมก็เลยทำออกมาในรูปแบบหนังสือชื่อ Dare to Do กล้าลุยไม่กลัวล้ม เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว บังเอิญใน 12 ธุรกิจที่คัดมาลงในหนังสือ มีประมาณ 5 กิจการที่เป็นกิจการในหมวดสตาร์ทอัพทางเทคโนโลยี จากเรื่องนั้นก็นำไปสู่การทำความรู้จัก การทำความเข้าใจกับกลุ่มสตาร์ทอัพมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุดผมเองก็ได้ไปร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย

คนไทยให้ความสำคัญกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเกินไป คือเอะอะอะไรก็ถามว่ารัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไง ซึ่งตามข้อเท็จจริงและความรู้สึกของผมคือ บทบาทของเอกชนมีมากกว่ารัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

การทำสตาร์ทอัพมีวิธีคิดบางอย่างที่ต่างจากผู้ประกอบการรุ่นก่อนๆ คุณสนใจวิธีคิดอะไรมากที่สุด

วิธีคิดที่แตกต่างมากที่สุด แต่ผมยังไม่มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วเป็นวิธีคิดที่ยั่งยืนหรือไม่ คือการให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างส่วนแบ่งตลาดมากกว่าเรื่องการบริหารกระแสเงินสดหรือ cash flow

วัฏจักรการสร้างธุรกิจมันเปลี่ยนไป รุ่นคุณพ่อผมที่อาจจะใช้ทั้งชีวิตในการสร้างกิจการขึ้นมา พอมาถึงรุ่นผม ผมจำได้ว่ากำหนดเป้าไว้ว่าไม่เกิน 10 ปี จะต้องสร้างมันขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่เอาเข้าตลาดหุ้นได้ หรือขายให้กับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ พอมาถึงยุคปัจจุบัน เวลานั้นเหมือนจะร่นลงมาเหลือแค่ 3-4 ปีเท่านั้น คือรอบหมุนมันเร็วขึ้น ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะพอมีเรื่องเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต ก็ทำให้การเข้าถึงทั้งในส่วนของลูกค้าหรือนักลงทุนสามารถทำได้ในวงกว้างมากขึ้นในระยะเวลาที่สั้นลง

แล้วด้วยความที่รอบมันสั้น นักธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพจึงให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้าของเขาให้กว้างมากที่สุดในระยะเวลาสั้นที่สุด โดยที่ยังไม่ไปกังวลใจมากนักกับรายได้ หรือกระแสเงินสด ซึ่งแนวความคิดตรงนี้จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่มีนายทุนพร้อมที่จะสนับสนุนทางการเงินเยอะมากจากทั่วโลก ถ้าคุณมีแนวความคิดที่ดี มีเทคโนโลยีที่ดี แหล่งทุนเกือบจะเรียกว่าไม่มีจำกัดเลยด้วยซ้ำไป

ที่ผมบอกว่าเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าโมเดลการทำธุรกิจนี้จะยั่งยืนหรือเปล่า เพราะสุดท้ายคงหนีความจริงไม่ได้ว่า ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องมีกำไร

ในฐานะที่ทำงานด้านการเงินมานาน และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย คุณคิดว่าสตาร์ทอัพมีความสำคัญอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ

เอาเป็นว่าสตาร์ทอัพเป็นศัพท์ใหม่ แต่รวมๆ ถ้าเราดูผู้ประกอบการภาคเอกชนส่วนใหญ่ก็คือ SMEs ถามว่ามีความสำคัญแค่ไหนต่อเศรษฐกิจบ้านเรา แค่เรื่องของการว่าจ้าง ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิด กว่า 95% ของลูกจ้างทั้งหมดในประเทศเป็นลูกจ้างของ SMEs มีสัดส่วนลูกจ้างบริษัทใหญ่ๆ ไม่เกินประมาณ 5% เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงผลต่อชีวิตคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะผูกอยู่กับบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่ได้ผูกอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ อย่างน้อยก็ไม่ได้ผูกกันโดยตรง เพราะฉะนั้น SMEs ทั้งหมดก็คือสตาร์ทอัพในยุคใดยุคหนึ่งนั่นแหละ เพียงแต่ในอดีตเขาไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ก็เลยไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นสตาร์ทอัพตามความหมายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

รัฐบาลไทยก็มีความเอาจริงเอาจังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจัดงาน ‘สตาร์ทอัพไทยแลนด์’ เป็นครั้งแรก และประกาศจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ คุณมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีไหม

อย่างน้อยที่สุดตอนนี้มีผู้บริหารระดับประเทศกลุ่มหนึ่งที่เห็นความสำคัญ และต้องการที่จะส่งเสริมผลักดัน แต่หัวใจของสตาร์ทอัพก็คือศัพท์ที่เขาเรียกว่า disrupt หรือการเข้าไปสร้างความวุ่นวาย ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความหมายแฝงของมันก็คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจของคนทำธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนที่สุดในหลายๆ กรณีมันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของตลาดเดิมอยู่แล้ว แล้วเราก็ได้พบแล้วหลังจากงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ของรัฐบาล

เรื่องแรกที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวใหญ่โตก็คือเรื่องที่รัฐบาล โดยทางกระทรวงคมนาคมระงับการทำงานของ UberMOTO และ GrabBike เพราะไปเหยียบตาปลา หรือไป disrupt ธุรกิจวินมอเตอร์ไซค์ที่เราก็รู้กันอยู่ว่ามักจะมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง พอผู้มีอิทธิพลเสียประโยชน์ เขาก็เลยใช้อิทธิพลที่เขามีผลักดันให้มีนโยบายสกัดดาวรุ่งในกรณีของ 2 บริษัทนี้ ซึ่งกระแสสังคมก็ไม่ขานรับนโยบายนี้ เพราะประชาชนได้ประโยชน์จากการให้บริการ

ผมไม่อยากจะใช้คำว่า ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเทคโนโลยีไม่รอใคร โดยเฉพาะในกรณีที่ผมมองว่ามีความชัดเจนที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ได้ประโยชน์ ก็ควรต้องหาวิธีที่จะให้เขาสามารถได้รับบริการที่ดีกว่าได้ต่อไป

หัวใจของสตาร์ทอัพก็คือศัพท์ที่เขาเรียกว่า disrupt หรือการเข้าไปสร้างความวุ่นวาย สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนที่สุดในหลายๆ กรณีมันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของตลาดเดิมอยู่แล้ว รัฐไทยเองก็ยังไม่ได้พร้อมที่จะถูก disrupt

คุณมองว่าการไม่พร้อมถูก disrupt คืออุปสรรคสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0

ใช่ครับ น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด แต่ผมคิดว่าก็ต้องประเมินกันแบบแฟร์ๆ ในทุกๆ เรื่อง เวลาจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องมีคำตอบให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้วย อย่างกรณีวินมอเตอร์ไซค์ ผมก็พยายามอธิบายกับผู้บริหารของ GrabBike และ UberMOTO ว่า เขาต้องเข้าใจว่าวินมอเตอร์ไซค์หลายคนเขาลงทุนซื้อเสื้อวินมา เพราะระบบบังคับให้เขาต้องลงทุน แล้วอยู่ดีๆ มีคนที่สามารถให้บริการแข่งกับเขาได้โดยไม่ต้องลงทุนแบบเขา ไม่มีภาระเหมือนเขา เขาก็มีความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ก็เลยต้องมีวิธีการที่จะตอบโจทย์ของทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไปปิดกั้นเทคโนโลยี หรือความเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ แต่ทัศนคติที่ผ่านมาของกรมขนส่งทางบก หรือกระทรวงคมนาคมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งผู้ใหญ่หลายๆ คนที่เขาพยายามจะส่งเสริมเรื่องสตาร์ทอัพอยู่เขาก็รับรู้ คงต้องพยายามทำความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในประเด็นเหล่านี้

คุณมีข้อแนะนำหรือทางออกของประเด็นนี้ไหม

อย่าไปกลัวความเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เราก็ต้องหาวิธีส่งเสริมให้เขาอยู่ได้ เพราะนั่นเป็นนิยามที่ดีที่สุดของคำว่าความเจริญ ความเจริญในที่นี้คือคนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้นในมิติใดมิติหนึ่ง ผมมองว่าเสน่ห์ของสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีก็คือการทำให้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น แล้วคนที่รับผลกระทบทางบวกจากเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนที่เขา ‘มี’ อยู่แล้ว เพราะคนที่ ‘มี’ อยู่แล้วเขามีความได้เปรียบจากการที่เขา ‘มี’ อยู่คนเดียว แต่เทคโนโลยีทำให้ทุกคน ‘มี’ เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นคนได้ที่ประโยชน์จากเทคโนโลยีคือคนส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นคนที่เสียเปรียบหรือเสียโอกาส นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราต้องส่งเสริมเรื่องสตาร์ทอัพ

การทำให้ทุกคนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันยังถือเป็นมุมมองที่ขาดอยู่ไหมสำหรับทั้งสตาร์ทอัพเองและรัฐบาล

คือในธุรกิจทั่วไปเขาก็ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ผมยกตัวอย่างของ Ookbee ที่ทำให้คนเข้าถึงนิตยสารต่างๆ ในราคาที่ต่ำลงมาก นี่เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ข่าวสาร และบันเทิงในระดับที่เขาไม่เคยมีโอกาสมาก่อน มองในมุมของผู้ประกอบการนิตยสารต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนเกมของเขา แทนที่จะเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งอาจจะมีความนิยมลดลง ก็ต้องโอนเนื้อหามาอยู่ในระบบดิจิทัล ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำธุรกิจต่อไม่ได้ เพียงแต่รูปแบบการทำธุรกิจจะต้องเปลี่ยน อันนั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วทุกคนได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนที่ทุกคนต้องทำ แต่ธุรกิจที่ไม่ยอมเปลี่ยนก็คือธุรกิจที่มีผู้มีอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ในการสกัดความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างกรณีวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใคร นอกจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่เคยได้รับประโยชน์

เสน่ห์ของสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีก็คือการทำให้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น แล้วคนที่รับผลกระทบทางบวกจากเทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนที่เขา ‘มี’ อยู่แล้ว เพราะคนที่ ‘มี’ อยู่แล้วเขามีความได้เปรียบจากการที่เขา ‘มี’ อยู่คนเดียว แต่เทคโนโลยีทำให้ทุกคน ‘มี’ เหมือนกันหมด

เท่าที่คุณได้คุยกับสตาร์ทอัพต่างๆ สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดจากรัฐบาลคืออะไร

ผมคิดว่าอันดับแรกคือ เรื่องความเข้าใจ ความยืดหยุ่น และความพร้อมในการทบทวนกฎระเบียบต่างๆ ที่อาจจะตกยุค เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้กฎเกณฑ์บางอย่างขาดความจำเป็น ถ้าไม่มีการทบทวนก็อาจจะทำให้สตาร์ทอัพทำธุรกิจต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ อย่างช่วงที่มีปัญหาของ Uber และ Grab เขาก็ไม่รู้ว่าจะเข้าถึงภาครัฐเพื่ออธิบายตนอย่างไร เพราะยังขาดช่องทางสำหรับนักธุรกิจทั่วไปที่จะเข้าถึงผู้คุมนโยบายหรือผู้ออกกฎหมาย

มีสตาร์ทอัพบางรายถึงขนาดพูดว่า การสนับสนุนจากภาครัฐที่ดีที่สุดคือการไม่ต้องเข้ามายุ่ง คุณคิดว่าจำเป็นต้องถึงขนาดนั้นไหม

เขามักจะยกตัวอย่างบางประเทศเช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีศัพท์ที่เรียกว่า Regulatory Sandbox ซึ่ง sandbox ก็คือกล่องทรายที่ให้เด็กๆ ลงไปเล่นได้ เหมือนเป็นคอกที่ให้สตาร์ทอัพลงไปเล่น หรือทำอะไรก็ได้โดยไม่มีกฎกติกาควบคุม จนกว่าจะมีการประเมินว่าสิ่งที่คุณทำเริ่มมีผลกระทบต่อระบบโดยรวม เขาถึงจะค่อยเข้ามากำหนดกติกาอีกทีหนึ่ง ก็มีสตาร์ทอัพไทยที่เสนอว่าเราควรที่จะมีทัศนคติแบบนั้นบ้าง ผมคิดว่ามันก็โอเคในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าหน่วยงานต่างๆ เขาก็มีหน้าที่ปกป้องไม่ให้สังคมถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบ อย่างมอเตอร์ไซค์ที่ให้บริการก็ต้องดูด้วยว่าปลอดภัยไหม ผู้ให้บริการหรือคนขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านการฝึกอบรมมาหรือเปล่า เพราะมันมีผลต่อชีวิตผู้ใช้บริการด้วย ทางการเงินก็เหมือนกัน คุณมาให้บริการทางการเงิน มาต้มตุ๋น หลอกลวงใครไหม เรื่องเหล่านี้เมื่อหน่วยงานรัฐมีหน้าที่อยู่ เราก็ต้องเห็นใจ

แล้วแรงจูงใจอื่นๆ ที่รัฐบาลพยายามจะทำอยู่ตอนนี้ เช่น การลดหย่อนภาษี หรืออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่สตาร์ทอัพถือว่าเพียงพอหรือยัง

ยังไม่พอ ล่าสุดไปคุยกับสมาคมสตาร์ทอัพ เขาก็บอกว่าถึงจุดหนึ่งถ้าเขาจะโต กติกามันเกือบจะบังคับว่าเขาต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนสัญชาติเป็นบริษัทสิงคโปร์ด้วยซ้ำ ไม่อย่างนั้นเขาจะระดมทุนในระดับที่เขาต้องการไม่ได้ เพราะจะมีกติกาเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น หรือประเด็นเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำให้นักลงทุนที่สนใจจะมาลงทุนตั้งเงื่อนไขกับเขาเลยว่าเขาต้องเปลี่ยนเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ก่อนถึงจะให้เงินทุน ก็เลยทำให้สตาร์ทอัพไทยที่มีความรักชาติเสียความรู้สึกที่จะต้องแปลงตนกลายเป็นบริษัทสิงคโปร์

สตาร์ทอัพต้องกล้าทำ พร้อมสู้ปัญหา ไม่ยอมแพ้หรือถอดใจ

คุณคิดว่าคุณสมบัติสำคัญที่สุดสำหรับคนที่จะทำสตาร์ทอัพในยุคนี้คืออะไร    

ต้องกล้าทำ เพราะคนมีความคิดดีๆ เยอะไปหมด แต่คนที่กล้าจะเดินก้าวแรกและก้าวต่อๆ ไป มีวินัย อดทนต่ออุปสรรค และทุกปัญหาที่พบมีไม่มาก คือต่อให้เป็นสตาร์ทอัพที่คิดมาละเอียดถี่ถ้วนยังไง พอถึงวันหนึ่งก็จะต้องเจอปัญหาที่คาดไม่ถึงแน่นอน แต่สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนคนนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่คือ เมื่อเจอปัญหาแล้วเขาทำตัวยังไง พร้อมสู้กับปัญหา พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเอง หรือชุดความคิดที่เคยมี ไม่ยอมแพ้หรือถอดใจ ผมคิดว่านั่นคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด