ประเทศไทยในมุมมองต่างชาติมักถูกตีความไปหลายอย่าง ทั้งการมองว่าไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ สถานบันเทิง เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ บ้างก็มองว่าไทยเปิดกว้างเรื่องเพศ ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีชีวิตที่ดี ได้รับการยอมรับมากกว่าหลายพื้นที่บนโลก จนบางครั้งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวเสียด้วยซ้ำ
สื่อบันเทิงไทยจำนวนมากก็ยังเผยให้เห็นว่าได้แบ่งพื้นที่ให้ชาว LGBTQ+ เข้ามามีส่วนร่วม (แต่บทบาทที่ได้รับนั้นค่อยว่ากันทีหลัง) หลายครั้งเกิดการผลักดันให้คนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาเป็นตัวหลักของเรื่อง โดยเฉพาะซีรีส์วาย ที่กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ส่งออกและได้รับความนิยมในหลายประเทศ
การขายคู่จิ้นทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง การรวมกลุ่มของชุมชน LGBTQ+ ในโซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ตัวละคร LGBTQ+ ในละครและภาพยนตร์ การมีบาร์เกย์ แดร็กควีน (Drag Queen) คลับทางเลือกหลากหลาย ทั้งหมดเป็นปัจจัยหล่อหลอมให้เข้าใจแบบผิวเผินได้ว่าไทยเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากแค่ไหน
ทั้งที่เมื่อมองออกมายังโลกแห่งความจริง มองออกนอกกรอบที่รัฐ องค์กร และนายทุนบางกลุ่มอยากให้มอง เราจะพบว่าไทยยังคงมีข้อจำกัดมากมายแก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ การนำเสนอเรื่องราวที่เปิดกว้างจะจำกัดอยู่แค่ในบทละคร ถูกมองเป็นแฟนตาซี เป็นเหมือนผีที่หลายคนรู้ว่ามี แต่เวลาเดียวกันก็เลือนรางและไร้ความชัดเจน
ไทยยังคงเต็มไปด้วยคนที่คิดว่า LGBTQ+ เป็นบาป เป็นกรรม เป็นอารมณ์ชั่ววูบ เป็นความผิดพลาดของชีวิต ไปจนถึงความคิดที่ว่า LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องของพวกเขาและ LGBTQ+ ก็ไม่ควรออกมาเรียกร้องสิ่งใดให้รำคาญใจ ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกคนรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศควรมีชีวิตและสิทธิที่เท่าเทียมกับชายหญิงคนอื่นๆ ในสังคม
เมื่อตามหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไปเรื่อยๆ ว่าสังคมเราวาดภาพความเท่าเทียมทางเพศไว้แบบไหน ผลที่ได้คือการถือวิสาสะแบ่งคนในสังคมเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มผลักดันสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ กลุ่มที่ไม่คัดค้านแต่ก็ไม่ได้ร่วมผลักดัน และกลุ่มที่คัดค้าน ไม่ต้องการยอมรับว่าโลกของเราในยุคสมัยนี้มีมากกว่าเพศชายและเพศหญิง ไปจนถึงการพยายามวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้พวกเขามองเรื่องเพศในมุมมองต่างๆ
กลุ่มคนที่เชื่อว่าคนทุกเพศควรได้รับสิทธิเท่าเทียมโดยทั่วกัน
ข้อมูลจาก ‘รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. … นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ’ เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคิดเห็นเรื่องการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เผยให้เห็นการเคลื่อนไหวในสังคมไทยได้ไม่น้อย
ความสำคัญของรายงานฉบับนี้ คือการระบุว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ
รายงานดังกล่าวจึงขอเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้บุคคลทุกคนได้การรับรองสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียม ได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
รวมถึงการตั้งคำถามต่อประชาชนว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้เพศเดียวกันหมั้นกัน และเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาชายหญิง
ตัวอย่างคำตอบในรายงานที่เห็นด้วยและอยากผลักดันให้เกิดการสมรสเท่าเทียมมีดังนี้
“สังคมควรเปิดกว้างในเรื่องการหมั้น สมควรดำเนินการมานานแล้ว ในเรื่องการให้บุคคลเพศเดียวกันหมั้นกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน การหมั้นไม่ควรจำกัดอยู่ที่เรื่องเพศของบุคคล เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญในหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ และถือเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน การเปิดโอกาสเช่นนี้แสดงถึงความทันสมัยของสังคม การที่คนสองคนจะสร้างครอบครัว มีความรักและห่วงใยกัน ไม่ควรจะจำกัดอยู่ที่เรื่องเพศของบุคคล”
“เพื่อความเท่าเทียมของบุคคลทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน ซึ่งล้วนมีเสรีภาพในตัวเอง บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เสียภาษีให้รัฐเหมือนๆ กัน การที่บุคคลเพศเดียวกันรักกัน จึงควรได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้ทำการสมรสกันได้”
“การให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ จะทำให้เกิดสิทธิหน้าที่ในการดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วยที่อีกฝ่ายไม่อาจตัดสินใจ เพื่อให้การยินยอมในการรักษา ปัจจุบันต้องให้ญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเป็นผู้ให้ความยินยอม ซึ่งหากให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้ คู่สมรสจะได้สามารถช่วยตัดสินใจได้ และจะนำไปสู่การจัดการชีวิตของคู่สมรสด้านอื่นที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐน่าจะดำเนินการมานานแล้ว”
“การที่มีกฎหมายเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้ ยังแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยด้วย เนื่องจากเป็นการเคารพสิทธิและเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน”
คนกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่สังคมมักเห็นผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง หลายคนเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศ เป็นนักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เป็นประชาชนทั่วไปที่เห็นด้วยกับคำว่าคนเท่ากัน และคนในกลุ่มนี้มักออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เช่น การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ การทำแท้งปลอดภัย ผ้าอนามัยฟรี การเกณฑ์ทหาร สิทธิของ LGBTQ+ ในสถานศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนที่ออกจากการตีกรอบว่าโลกนี้มีเพียงแค่สองเพศ การขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ ฯลฯ
กลุ่มคนที่เชื่อว่ามนุษย์ที่ดีมีเพียงแค่ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’
จากข้อมูลชุดเดิมที่ทำแบบสอบถามเรื่องเพศและกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เผยให้เห็นว่า ความคิดเห็นที่คัดค้านเรื่องการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม มักนำเหตุผลเรื่องความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมจารีตเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงข้อเสนอแนะว่า หากร่างกฎหมายนี้สามารถบังคับใช้ได้จริง อัตราการเกิดของคนไทยจะลดลงเพราะคนจะเป็น LGBTQ+ มากขึ้น
ตัวอย่างคำตอบที่ไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการให้เกิดการผลักดันสมรสเท่าเทียมมีดังนี้
“การหมั้นยังควรต้องเกิดขึ้นระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น การให้บุคคลเพศเดียวกันหมั้นกัน อาจสร้างปัญหาความสับสนทางสังคมขึ้นได้ ผิดจารีต ศีลธรรม ธรรมเนียมแต่โบราณ จึงควรยึดหลักเพศสภาพเดิม”
“การสมรสควรต้องเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิง การให้คนเพศเดียวกันสมรสกันดูไม่มีความเหมาะสม ขัดต่อธรรมเนียม ประเพณี จารีตของสังคมไทย ผิดธรรมชาติของบุคคลและผิดศีลธรรม และถือว่าเป็นบาปตามความเชื่อในบางศาสนา”
“ไม่เห็นด้วย เนื่องจากการสมรสต้องเป็นเรื่องของบุคคลต่างเพศ การแต่งงานของเพศเดียวกันจะไม่เป็นระบบครอบครัว อาจเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกัน แล้วมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสจากการสมรสในการหาประโยชน์ สิทธิ หน้าที่จากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง”
ศาสนากับความหลากหลายทางเพศยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอๆ กับการผลักดันให้เยาวชนที่เป็น LGBTQ+ คุยแบบเปิดใจกับผู้ปกครองของตัวเองเสียอีก ปัจจุบันยังมีนักบวชหรือคนในสถาบันศาสนาจำนวนมากกล่าวถึงประเด็นนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นพวกมีกรรม เป็นบาป ไม่ปกติ ไหนจะข่าวการยืนยันไม่ให้พรแก่คู่แต่งงานเพศเดียวกัน เพราะจำเป็นที่จะให้พรได้แค่คู่สมรสชายหญิงเท่านั้น
แล้ว LGBTQ+ เป็นบาปตามคำสอนพุทธตามที่พระบอกจริงหรือไม่?
เมื่อมีการกล่าวถึง ‘ศีลธรรม’ และ ‘ศาสนา’ เราจึงจำเป็นต้องตีความถึงกรอบศีลธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าตกลงแล้วกรอบที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เขียนขึ้นโดยใคร เอ่ยในสังคมสมัยไหน การกระทำแบบไหนจะเรียกได้ว่าขัดศีลธรรม และสังคมปัจจุบันสามารถปรับแก้ความเข้าใจเดิมได้หรือไม่
บทความ ‘การรักร่วมเพศ: บทวิเคราะห์ตามแนวพุทธจริยศาสตร์’ อาจทำให้เรามองเห็นประเด็นเพศกับพุทธศาสนาในอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่มุมเดิมๆ ที่กล่าวว่า LGBTQ+ เป็นบาป เป็นพวกมีกรรมเพียงมุมเดียว เพราะเอกสารนี้อ้างว่า เดิมทีพุทธศาสนาไม่ได้กล่าวถึงความรักของคนเพศเดียวกันแบบชัดเจน แตกต่างกับศาสนาอื่นที่มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นบาปหรือเป็นสิ่งที่ผิด
“หากคำนึงถึงหลักจริยธรรมทางศาสนา ‘รักร่วมเพศ’ ในศาสนาคริสต์และอิสลามได้ระบุว่ารักร่วมเพศเป็นบาป แต่ในส่วนของศาสนาพุทธกลับมิได้ระบุไว้เช่นนั้น การตัดสินว่ารักร่วมเพศจะเป็นบาปหรือไม่นั้น จึงขึ้นกับการตีความในแต่ละสังคมพุทธนั้นๆ ว่าจะตีความเคร่งครัดเพียงใด ทำให้คนรักร่วมเพศจะเป็นที่ยอมรับหรือปฏิเสธนั้นขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม ประวัติศาสตร์ และข้อห้ามทางศาสนาที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม”
“ศาสนาพุทธถือว่าการเป็นเกย์ไม่ได้เป็นบาป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการกระทำ แต่ด้วยการประพฤติผิดในกามในอดีตชาติ จึงทำให้ชาตินี้เกิดมาต้องรับกรรมที่เกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องเพศ มีความสับสน วิตกกังวล ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่”
บทความดังกล่าวระบุว่า การเกิดผิดเพศเป็นหนึ่งใน 11 ข้อของปวัตติกาลที่พูดถึงการผิดศีลข้อ 3 โดยจะได้รับกรรมตามรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดมาในตระกูลที่ยากจน โดนดูถูกเหยียดหยาม ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม หรือการตีความว่าการมีความรู้สึกชอบพอเพศเดียวกัน ถือเป็นเศษกรรมจากอดีตชาติ เพราะเคยนอกใจหรือแย่งคนรักของคนอื่น
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ สามีภรรยาคู่ไหนที่จิตใจเกลียดชังเพศที่สามมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่งให้เกิดผลกรรมที่มีจิตริษยา อาฆาตแค้น เป็นวิบากกรรมสะสมให้ลูกที่เกิดมามีรสนิยมทางเพศในแบบที่เกลียด ตามที่โบราณกล่าวไว้ว่า “เกลียดสิ่งใด มักได้สิ่งนั้น” ก่อนจะระบุวิธีเเก้กรรมด้วยการให้ตั้งอธิษฐานจิตชดใช้กรรม ขอให้เจ้ากรรมนายเวรลดทอนโทษด้วยการทำบุญไปให้ หรือช่วยเด็กกำพร้าผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่ครอบครัวแตกแยก
คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ายังมีคนไทยจำนวนมากที่ให้เหตุผลคัดค้านกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า ‘หากไทยมีสมรสเท่าเทียมเมื่อไหร่ คนจะแห่กันเป็นเกย์เป็นเลสเบี้ยนกันหมด กลายเป็นเทรนด์ในสังคมที่จะส่งผลทำให้อัตราการเกิดลดลง’ จนเกิดข้อสงสัยถกเถียงกันต่อไปว่า ทำไมในคู่สมรสชายหญิงที่ไม่มีลูก ถึงไม่โดนความคาดหวังเรื่องอัตราการเกิดแบบเดียวกันบ้าง
อันที่จริง อัตราการเกิดในประเทศไทยยังคงลดลงเรื่อยๆ แม้ LGBTQ+ จะยังไม่สามารถมีทะเบียนสมรส จึงสมควรต้องมองไปยังเหตุผลอื่นว่า เพราะเหตุใดอัตราการเกิดจึงลดลงแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะยังไม่ผ่าน หรือเป็นเพราะคนรุ่นนี้ไม่นิยมมีลูกเพราะค่าครองชีพ ค่านิยมในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการสร้างครอบครัว การลงทุนกับการศึกษาที่มีคุณภาพต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล หรือเหตุผลอื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ใช่เพราะเกย์จะแต่งงานกันแล้วอัตราการเกิดจะลดลงจนน่าใจหาย เลยไม่สมควรจะต้องมีทะเบียนสมรสเพียงอย่างเดียว
หากออกมาจากข้อกำหนดทางจารีตและศาสนา ยังมีเหตุผลมากมายที่คัดค้านกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยการใช้เหตุผลว่า คนหลากหลายทางเพศในยุคสมัยนี้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ได้รับการยอมรับมากกว่าสังคมสมัยก่อน เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ประเด็นนี้อาจทำให้ต้องย้อนกลับมาว่า การไม่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน เพียงเพราะเหตุผลสั้นๆ อย่าง ‘ปัจจุบันดีกว่าเมื่อก่อนมากแล้ว’ เพียงพอแล้วที่คนจำนวนมากจะไม่ได้รับสิทธิที่มีคนอีกกลุ่มได้รับมาตลอดจริงหรือ
กลุ่มคนที่ไม่ต่อต้านคัดค้าน แต่เลือกได้ก็อย่าให้คนที่รักเป็น LGBTQ+ จะดีกว่า
การถกเถียงประเด็นสิทธิทางเพศมักเกิดขึ้นระหว่างคนที่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มคนไม่คัดค้านแต่ก็ไม่ได้ร่วมผลักดัน มักเป็นกลุ่มกลางๆ ในบทสนทนา ซึ่งกลุ่มคนกลางๆ ที่ว่านี้มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การมองว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ เป็นประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือมองว่าเป็นประเด็นขนาดย่อยที่ควรจะรอและร่วมผลักดันในเรื่องอื่นก่อน เช่น งบประมาณ การศึกษา โรคระบาด
นอกจากเหตุผลข้างต้น ในชุมชน LGBTQ+ ก็มีบางส่วนมองว่า การไม่ได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนคนอื่นยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ คิดว่าเป็นเรื่องรอได้และคงไม่เป็นไรหากไม่ได้ในยุคสมัยนี้ เพราะเข้าใจว่ายังมีคนอีกมากที่คัดค้านไม่เห็นด้วย ในกลุ่มกลางๆ นี้จึงมีเสียงคัดค้านแบบเบาบางว่า อย่าเพิ่งเรียกร้องมากเกินไป เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อ LGBTQ+ มากกว่าผลดี
ในรายงาน ‘Tolerance but not inclusion: การสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับประสบการณ์การเลือกปฏิบัติและทัศนคติทางสังคมที่มีต่อคน LGBT ในประเทศไทย’ จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย สำรวจทัศนคติทางสังคมที่มีต่อคน LGBTQ+ พบว่า มีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อความคิด เช่น พื้นที่ เพศ ความสัมพันธ์ ดังนี้
– ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีแนวโน้มสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท
– คนในภาคใต้ให้การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศน้อยกว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– ผู้ที่มีบุตรจะให้การสนับสนุน LGBTQ+ น้อยกว่าผู้ที่ไม่มีบุตร
– ผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ได้เป็นเกย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว
– เพศหญิงมีทัศนคติเชิงบวกมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ รายงานฉบับเดิมของ ส.ส.ธัญวัจน์ ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันในแง่ที่ว่า เพศหญิงมีส่วนเริ่มในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าเพศอื่น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะมีผู้ทำแบบสำรวจทั้งหมด 54,444 ราย แบ่งเป็น เพศหญิง 44,889 ราย คิดเป็น 82 เปอร์เซ็นต์ เพศชายอยู่ที่ 9,555 ราย คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
การสำรวจดังกล่าว ยังได้สอบถามความคิดเห็นของบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ คำตอบส่วนใหญ่เทไปทางสนับสนุน อยากให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในสังคม เห็นด้วยกับการที่ LGBTQ+ จะสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการต่างๆ อย่างเท่าเทียม
อีกหนึ่งจุดน่าสนใจ คือการพบว่าแนวคิดสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมีแนวโน้มลดลงเมื่อบุคคลนั้นๆ เป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนรู้จัก สอดคล้องกับกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าคนมีบุตรจะไม่สนับสนุนสิทธิเท่าเทียมทางเพศมากเท่าคนไม่มีบุตร
ผลสำรวจยังสามารถลงรายละเอียดได้ถึงขั้นที่ว่า สมาชิกในครอบครัวของ LGBTQ+ เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ หรือผู้ปกครอง จะห้ามไม่ให้คนในครอบครัวที่เป็น LGBTQ+ แต่งกาย พูด หรือประพฤติตนตามใจชอบ ซ้ำร้าย เกย์บางครอบครัวยังคงถูกกดดันให้แต่งงานกับเพศตรงข้าม เพื่อความเหมาะสมตามครรลองคลองธรรมแบบเก่า รวมถึงถูกบังคับให้แต่งงานเพราะความกังวลเรื่องการสืบสกุลของชาติตระกูล
เหมือนกับว่าคนในสังคมจะใจดีกับ LGBTQ+ ก็ต่อเมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านั้นไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา
ในแง่การเลือกปฏิบัติทางเพศ พบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่มักได้รับผลกระทบทางลบ อ้างอิงจากผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น LGBTQ+ ทั้งหมด 47.5 เปอร์เซ็นต์ ระบุตรงกันว่าเคยผ่านประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ รับรู้ได้ถึงความอึดอัดจากคนรอบตัว หากแต่งตัวข้ามเพศ หรือการที่คนรอบตัวรู้ว่ามีแฟนเป็นคนเพศเดียวกัน
นอกจากนี้ LGBTQ+ ที่มีเพศแต่กำเนิดเป็นชาย เช่น เกย์และทรานเจนเดอร์ จะได้รับผลกระทบจากการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกเหยียดหยามมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ (ส่วนใหญ่มักถูกบูลลี่เพราะดูออกง่ายกว่าเพศทางเลือกอื่นๆ จากการมีบุคลิกที่ไม่สมชายตามกรอบสังคมแบบเดิม) รองลงมาคือเลสเบี้ยน 39.3 เปอร์เซ็นต์ นอนไบนารี่ 35.8 เปอร์เซ็นต์ และหญิงที่เป็นไบเซกชวล 32.6 เปอร์เซ็นต์
การต่อต้านความหลากหลายทางเพศที่ออกมาในรูปแบบการถูกเลือกปฏิบัติ เกิดขึ้นทั้งในสถาบันครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน และผู้คนชุมชน เพราะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้บางคนมองว่า LGBTQ+ ขัดกับหลักความเชื่อ ความเข้าใจ ขัดกับบรรทัดฐานของตัวเองที่มองว่าอะไร ‘ปกติ’ และ ‘ไม่ปกติ’
อาจสมาทานได้ว่า ตอนนี้สังคมไทยเริ่มทำใจให้ชินกับ LGBTQ+ ได้ประมาณหนึ่ง แต่สิ่งที่เห็นไม่สามารถเรียกได้ว่าการยอมรับอย่างแท้จริง หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ไม่ได้ปาหินใส่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเข้าใจ”
ใครจะเป็นเกย์ก็ได้แต่ไม่ควรเป็นคนที่เรารู้สึกแคร์ แล้วการไม่ยอมรับจะมาในรูปแบบเหยียดหยามเลือกปฏิบัติ ลามไปถึงความคิดความเข้าใจที่ว่า ถ้า LGBTQ+ ไม่ใช่สิ่งปกติภายใต้จารีตอันดีงาม การขัดขวางคัดค้านการมอบสิทธิแก่คนกลุ่มนี้จะสร้างความรู้สึกเป็นคนดี หรือมองว่าเป็นหน้าที่ที่ควรจะยื่นมือเข้ามาคัดค้านการสนับสนุนสิทธิเท่าเทียมเพื่อไม่ให้สังคมเกิดสิ่งเลวร้าย
ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลจากค่านิยมเก่า การสืบทอดจารีตกรอบความเชื่อเดิม และอาจสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจ ความเข้าอกเข้าใจในประเด็นเหล่านี้
Tags: Gender, LGBT, ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, LGBTQ, Love Wins, เพศวิถี, The Proud of Pride, Pride Month, ความเท่าเทียมทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศ, From The Desk, สมรสเท่าเทียม, ตรีนุช อิงคุทานนท์