ไม่ต้องมาเจอได้ไหม เพราะฉันมันคนใจอ่อน 

ห้ามใจแล้ว ฉันห้ามจนอ่อนใจ 

เหน็ดเหนื่อยกับความสับสน เพราะรู้ว่าต้องทนไม่ได้ 

เข้าใจไหม ฉันขอเธอได้ไหม อย่าพบกัน 

หากย้อนไปกลับช่วงปี 2544 เพลง คนใจอ่อน (อ่อนใจ) ถือเป็น ซาวด์แทร็กชีวิตที่โผล่อยู่แทบทุกสถานที่และอิริยาบถของคนไทยในช่วงนั้น ทั้งในคลื่นวิทยุ บนห้างสรรพสินค้า ตามรายการเพลงของช่องโทรทัศน์ หรือเสียงรอสายโทรศัพท์ของเพื่อนบางคน 

ช่วงเวลานั้น D2B ถือเป็นวงที่ดังระดับทั่วฟ้าเมืองไทย การรวมตัวของชายหนุ่มสามคนทั้ง บิ๊ก (อภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ) แดน (วรเวช ดานุวงศ์) และบีม (กวี ตันจรารักษ์) ปล่อยอัลบั้ม D2B ที่มีเพลงฮิตมากมายอย่าง ต่อหน้าฉัน (เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร) ซ่าส์ (สั่นๆ) และคนใจอ่อน (อ่อนใจ) ทำให้บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ปลุกปั้นวง กอบโกยรายได้ไปมากโขจากการขายเทปคาสเซ็ตอัลบั้มดังกล่าวได้เกิน 1 ล้านตลับ ซึ่งไม่ได้มีให้เห็นมากเท่าไรสำหรับศิลปินในช่วงเวลานั้น

แน่นอนว่ากระแสของวง D2B ส่งผลให้ บิ๊ก แดน และบีม ได้รับความนิยม และกลายเป็นไอดอลไปโดยปริยาย ในช่วงเวลาดังกล่าว เรามักจะเห็นหน้าตาของพวกเขาผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งนิตยสาร หน้าจอทีวี กล่องตลับ แม่เหล็กติดตู้เย็น เสื้อยืด โปสเตอร์ ผ้าเช็ดหน้า กระทั่งในร้านตัดผมชาย ก็ยังปรากฏภาพของศิลปินเหล่านี้ เพื่อให้วัยรุ่นชายเดินเข้ามาในร้าน และบอกช่างว่า “ขอผมทรงเดียวกับ พี่บิ๊ก/แดน/บีม ครับผม”

และยิ่งหากพูดถึงบิ๊กเองนั้น ตัวเขาเองยังมีโอกาสได้รับบทละครเรื่องดัง ทั้งวัยร้ายไฮสคูล (2544) และบทพระเอกเต็มตัว ในปี 2545 จึงไม่แปลกใจเลย หากในยุคนั้นจะมีใครสักคนพูดว่า บิ๊ก D2B คืออีกหนึ่งคนที่มีแนวโน้มจะเป็น ซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทยคนต่อไป

สำหรับผู้เขียนเอง ย้อนกลับไปช่วงนั้น แม้ตัวเองจะไม่ได้เป็นแฟนคลับเดนตายของ D2B แต่ทั้งชื่อ หน้าตา และผลงานต่างๆ ของพวกเขา มักวนเวียนผ่านหูผ่านตามาให้เห็นตลอด รวมถึงสัมผัสได้ถึงกระแสและความนิยมจากแฟนคลับจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มสาวจากโรงเรียนที่ผู้เขียนได้ศึกษา ซึ่งอยู่ในสภาวะคลั่งไคล้เดนตาย สะสมนิตยสารที่พวกเขาขึ้นหน้าปกทุกเล่ม มีเทปทุกตลับ และหากมีโอกาสได้ไปพบเจอตัวเป็นๆ พวกเขาก็ยอมลงทุนทั้งเงินและเวลา เพื่อที่จะได้ไปพบหน้า แม้จะเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น 

อย่าลืมว่าหากพูดถึงปี 2544 เราไม่ได้มีอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย หรือการเข้าถึงสื่อบันเทิงอื่นๆ มากมาย อย่างที่ทุกวันนี้เป็น  ดังนั้น การที่จะทำให้คนทั้งประเทศยอมรับได้นั้น จึงถือเป็นเรื่องที่น่าศึกษาไม่น้อยว่า D2B ทำอย่างไร จึงพิชิตใจคนทั้งประเทศได้ 

แน่นอนว่าภาพลักษณ์ทางอาร์เอสวางเอาไว้ให้เป็นหนุ่มๆ ของคนไทย ประกอบกับผลงานเพลงที่มีเนื้อหา พร้อมมอบความรักให้กับทุกคน หรือในบางเพลงก็เป็นไปในเชิงขี้ใจน้อย อยากได้ความรักกับมาบ้าง เหล่านี้เป็นเคมีชั้นดีที่จะทำให้ผู้คนต่างรักในแบบหลงเสน่ห์ (Enchanted) ของทั้ง 3 หนุ่มได้ไม่น้อย 

แค่หนึ่งนาทีที่มีเธอ ยืนอยู่ตรงนี้

คือหนึ่งนาทีที่มี มีความหมาย

และฉันมีเพียงหนึ่งคำ แทนล้านคำในใจ

ช่วยฟังหน่อยได้ไหม คำนั้นคือคำว่ารักเธอ

ทว่าสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับ D2B ก้าวไปสู่อีกขั้นนั้น เกิดขึ้นหลังจาก D2B เสียเพื่อนร่วมวงคนหนึ่งไป

ย้อนกลับไปคืนวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 มีรายงานว่า บิ๊กประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตกลงไปในคูน้ำ ขณะเดินทางกลับบ้านหลังจากไปแสดงคอนเสิร์ตมา อาการเบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่ามีน้ำครำท่วมปอด แต่การรักษาก็เป็นไปด้วยดี บิ๊กสามารถฟื้นตัวและยังสามารถทักทายแฟนๆ ว่าตัวเองแข็งแรงสบายดีได้อยู่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน บิ๊กก็เข้าสู่อาการโคม่า โดยคราวนี้แพทย์ตรวจพบเชื้อรา Scedosporium ในสมอง ซึ่งโอกาสรอดชีวิตมีเพียง 0.01% เท่านั้น (โดยบิ๊กถือเป็นผู้ป่วยคนแรกของเอเชียที่ป่วยจากเชื้อราดังกล่าว) ทำให้แพทย์ต้องทำการผ่าตัดโดยเร่งด่วน 

แม้การผ่าตัดจะผ่านไปด้วยดี แต่สุดท้าย บิ๊กต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทรา นอนไม่รู้สึกตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ในขณะที่วง D2B เพิ่งปล่อยอัลบั้มที่ 2 อย่าง Type II ออกมา ไม่เคยมีใครคาดคิดหรือเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน ทั้งแดน-บีม ค่ายอาร์เอส และเหล่าแฟนคลับ ที่อยู่ในอาการช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างกัน 

สิ่งที่แฟนคลับทำได้ในวันนั้น เนื่องจากไม่มีสื่อหรือโซเชียลฯ ทั่วไปใดๆ ที่คนทั่วไปจะแสดงออกได้ การพับนกกระดาษ ที่ในวันนั้นมีความเชื่อกันว่า หากพับนกกระดาษถึง 1,000 ตัว จะช่วยอาการของบิ๊กดีขึ้นตามลำดับ และการเขียนจดหมายถึงบิ๊ก และจ่าหน้าซองส่งไปที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาจะทำได้ในตอนนั้น

ทำให้ในปี 2546 เรามักจะเห็นกลุ่มเด็กสาวและแฟนคลับมากหน้าหลายตา นั่งพับนกกระดาษกันมือเป็นระวิง ผู้เขียนเองก็เคยช่วยเพื่อนร่วมห้องเรียนพับนกกระดาษอยู่บ้างในบางครั้ง โดยหลังจากนั้น พวกเขาก็จะนำนกทั้งหมดใส่ขวดโหล ผูกฝาขวดด้วยริบบิ้นสีสดใส พร้อมเขียนข้อความบนกระดาษแปะลงข้างขวด ระบุเป็นข้อความอวยพรขอให้ศิลปินที่เขาชื่นชอบนั้น หายจากการเจ็บป่วย ลุกขึ้นมาร้องเพลง ได้ทำสิ่งที่รักอีกครั้ง 

ทำให้หลังจากนั้นความรักของแฟนคลับ D2B ที่มีต่อบิ๊ก จึงได้ผันเปลี่ยนจากการหลงเสน่ห์ กลายเป็นความห่วงใย (Care) เสียมากกว่า 

ในวันนั้น พวกเขาไม่ได้รักบิ๊ก เพียงเพราะเขาคือผู้ชายที่จะมอบความสุขผ่านผลงานเพลงหรือละครแล้ว แต่พวกเขารักบิ๊ก เพราะคือว่าผู้ชายคนนี้ได้มอบสิ่งต่างๆ ให้กับผู้คนมากมาย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องได้รับความรักและความห่วงใยจากแฟนคลับคืนกลับไปบ้าง 

แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็มาถึง ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550 บิ๊กเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดทางปอด  

ในวันนั้นถือว่าแทบจะเป็นจุดสิ้นสุดของวง D2B ไปโดยปริยาย เพราะถึงแม้แดนและบีม จะประกาศแยกออกมาเป็นศิลปินดูโอ้ในนาม แดน-บีม แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ประกาศยุบวงดูโอ้ดังกล่าวในปี 2550 เช่นเดียวกัน

มาถึงตรงนี้ หากพูดถึงวงการดนตรีที่โดยทั่วไป ชื่อของ D2B ก็ควรจะค่อยๆ เฟดหายไปจากแฟนเพลงชาวไทย เหล่าแฟนคลับก็คงจะออกเดินทาง เพื่อตามหาศิลปินคนใหม่ที่เขาจะชื่นชอบคนต่อไปในอนาคตข้างหน้า 

ทว่าเรื่องราวที่ผู้เขียนยังรู้สึกประทับใจกับแฟนคลับ D2B ทุกครั้งเวลาได้ยินเรื่องนี้ คือการที่แฟนคลับ D2B ยังคงตามดูแล  อุดม กิตติกรเจริญ และยุพา กิตติกรเจริญ พ่อและแม่ของบิ๊ก อยู่จนถึงปัจจุบัน

จนถึงจุดนี้ผู้เขียนไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร ในการจำกัดความสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างบิ๊กกับแฟนคลับ D2B คุณอย่าลืมนะว่า ตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้วที่บิ๊กได้จากโลกไป และไม่มีผลงานใหม่อื่นใดให้แฟนคลับได้รับฟัง แต่พวกเขาก็ยังดูแลและช่วยเหลือครอบครัวกิตติกรเจริญ อย่างไม่ขาดตกบกพร่องอยู่เสมอมา 

หากจะมีสักคำผุดขึ้นมาในหัวนั้น คงเป็นคำว่า ผลลัพธ์ของรักที่บริสุทธิ์ ที่วง D2B หว่านไว้ผ่านผลงานเพลงต่างๆ เพราะทุกเนื้อร้อง ทุกทำนอง ที่เป็นคอยปลอบให้กำลังใจแฟนเพลงในวันที่เขาอ้างว้างไม่มีใคร วันนี้ผลิดอกกลายเป็นปรากฏการณ์รักครั้งสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่า ความรักและความห่วงใยมันสร้างสิ่งดีๆ และเรื่องราวที่งดงาม ให้กับสังคมมนุษย์ขนาดไหน 

ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์วาเลนไทน์นี้ หากคุณยังมีโอกาส อย่าลืมที่จะบอกรักและแสดงความห่วงใยให้กับคนที่อยู่รอบข้างกันด้วยนะครับ

Tags: , , , , ,