(1)
หากย้อนกลับไปหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า วัฒนธรรมการ ‘รัฐประหาร’ ทั่วโลก เป็นเรื่องที่ค่อนข้าง ‘ตกกระแส’ ไปเรียบร้อย ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มีการรัฐประหารทั่วโลกเพียง 20 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในประเทศยากจน ประเทศหมู่เกาะที่เราไม่รู้จักชื่อ และแม้จะมี ‘ความพยายาม’ ในการรัฐประหารรวมๆ นับร้อยครั้ง แต่ความพยายามเหล่านั้นต่างก็ล้มเหลว ประชาคมโลกเริ่มไม่ให้การยอมรับ และคนในชาติก็ให้การยอมรับน้อยลงปีที่แล้ววารสาร The Economist เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ในปี 2523 เพียงปีเดียว มีการรัฐประหาร และความพยายามรัฐประหารรวม 19 ครั้ง ขณะที่ปี 2563 ปีที่โลกเผชิญกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรากลับมีการรัฐประหารเพียงครั้งเดียวที่ประเทศมาลี และแนวโน้มจากครั้งเดียว อาจลดไปสู่การไม่มีอีกแล้ว
แต่เมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้นช่วงเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เมียนมา ประตูแห่งความเป็นไปได้ของการรัฐประหาร ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ระบบการเมืองที่กลับไปกลับมา ‘อำนาจนิยม’ ที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรม และความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของกองทัพที่ตั้งใจข้ามเส้นเข้ามาพัวพันกับการเมือง ได้ทำให้พม่าไม่สามารถเอารัฐประหารออกจากวงจรการเมืองของตัวเองได้
คุณสุภัตรา ภูมิประภาส นักเขียนชื่อดังให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ไปเมื่อวาน บอกว่า การรัฐประหารในพม่า มาจากความรู้สึกของกองทัพว่า ‘ทหาร’ เป็นผู้สร้างชาติ เมื่ออำนาจที่มีดั้งเดิมค่อยๆ หายไป ถูกพรรคการเมืองกลืนกินมากขึ้น ก็ถึงเวลาต้อง ‘คัมแบ็ก’ ฟังดูคุ้นๆ ไหมครับ
แน่นอน บริบทของการรัฐประหารทั่วโลกแตกต่างกัน พม่าเองมีรูปแบบการเมืองที่ ‘แปลกประหลาด’ เป็นของตัวเอง มีรัฐบาลพลเรือน แต่ก็ยังใช้ทหารคุมรัฐบาลอีกที แรกเริ่มทหารก็คุมได้ แต่พอคุมไม่ได้ก็ใช้เหตุเรื่อง ‘โกงเลือกตั้ง’ ยึดอำนาจเสีย ส่วนของไทย ประเทศเพื่อนบ้านอันใกล้ชิด การยึดอำนาจ 2 ครั้งหลังสุด เหตุผลร้ายแรงที่ทำให้กองทัพสามารถจัดการได้สำเร็จ คือการบอกว่ารัฐบาลนั้น ‘คอร์รัปชัน’
พลันที่ข่าวยึดอำนาจพม่าแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ผมนึกถึงการรัฐประหาร 2 ครั้งในบ้านเราทันที
(2)
เมื่อครั้งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ห้วงเวลาดังกล่าว ประเทศว่างเว้นจากการยึดอำนาจไป 15 ปีแล้ว และด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งว่ากันว่าคุมตำรวจ คุมทหาร ได้อยู่หมัด และมีเพื่อนฝูงนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันอยู่ทุกเหล่าทัพ ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อเรื่องการรัฐประหารจางลงไปเรื่อยๆ ความเป็นไปได้ของสตอรีนี้ แทบจะไม่มีอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ลำพังปีนั้นปีเดียว เกิดเรื่องแปลกๆ อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการที่อยู่ดีๆ ทักษิณ ก็ตัดสินใจยุบสภา ตามมาด้วยการเลือกตั้งใหม่ช่วงต้นปีนั้น ที่ฝ่ายค้านเกิด ‘บอยคอตต์’ ทั้งหมด การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ทำผิดกฎหมายอาญา ต้องติดคุกจากการจัดการเลือกตั้ง การที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดแคมเปญ ‘กู้ชาติ’ ชุมนุมครั้งสุดท้ายอยู่หลายครั้ง และการที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในเวลานั้น มักจะเดินสายสวมชุดทหาร ไปพูดปลุกใจกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศอยู่หลายที
แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร แล้วนำเอาจิ๊กซอว์ทั้งหมดเข้ามาต่อเข้าด้วยกัน เราจะพบว่าในมุมมองจากสาธารณชนกลับไป การรัฐประหารทักษิณเพื่อนำนักการเมืองออกจากระบบ ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลเหมือนกัน
ผมได้ยินจากพ่อเพื่อนที่เป็นทหารว่า หลังการยึดอำนาจไม่นาน ระดับพันเอก-พันโทที่คุมกำลัง ต่างก็ออกรถใหม่กันเป็นแถว หลายคนแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับการติดเครื่องรถถังออกไปยึดอำนาจ ยังได้กระเป๋าใส่เงินเป็นปึกๆ ใส่ท้ายรถมาให้ด้วย
ผมมารู้ทีหลังว่าการได้เงินเป็น ‘สินน้ำใจ’ ภายหลังรัฐประหาร เป็นเรื่องปกติ การยึดอำนาจของ รสช. ปี 2534 ก็ทำแบบเดียวกัน การยึดอำนาจโดยกลุ่มพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปี 2521 ก็ทำแบบเดียวกัน
(3)
เรื่องพวกนี้ไม่ได้พูดลอยๆ นะครับ หนังสือ ‘ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย’ ของพี่เล็ก – วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารที่เขียนไว้เมื่อ 13 ปีก่อน บอกว่าการรัฐประหารทุกครั้ง จะต้องตั้ง ‘งบสำรอง’ ไว้เสมอ โดยในสมัย รสช. ปี 2534 ที่พลเอก สุนทร คงสมพงศ์ เป็นหัวหน้ายึดอำนาจนั้น พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ตั้งสำรองไว้ให้ทหารระดับผู้บัญชาการหน่วย คนละ 5 หมื่นบาท ระดับผู้บัญชาการกรม คนละ 1 แสนบาท
ส่วน 19 กันยายน 2549 รัฐประหารล้มทักษิณนั้น พี่เล็กเขียนไว้ว่า มีการตั้งสำรองไว้ที่หน่วยละ 1 ล้านบาท เพื่อดูแลและซื้อใจลูกน้อง และสำหรับผู้บังคับบัญชา หากยึดอำนาจสำเร็จ ก็จะมี ‘โบนัส’ เพิ่มเติมให้อีก โดยที่กองทัพต้องมีธรรมเนียมแบบนี้ไว้ คือเอาไว้เผื่อ หากรัฐประหารไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ จะต้องหนีออกนอกประเทศ ก็ต้องเตรียมเงินไว้อีกจำนวนหนึ่ง แต่หากรัฐประหารสำเร็จ ก็สามารถนำเงินจำนวนนี้ เขียนไว้เป็น ‘งบปฏิบัติการ’ หรือ ‘งบฝึก’ เพราะเมื่อยึดอำนาจได้แล้ว หัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้ดำรงสถานะ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ผู้ซึ่งรวบรวมอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ ก็สามารถเบิก ‘โบนัส’ ได้อีกไม่อั้น
เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครพูดขึ้นมาว่าการรัฐประหารทำไปด้วยความรักชาติ รักสถาบันฯ เพื่อแก้ปัญหาประเทศ ผมก็จะนึกถึงสิ่งที่พี่เล็ก วาสนา เขียนไว้ในหนังสือเสมอ
(4)
สำหรับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ผมเป็นนักข่าวแล้ว พอระแคะระคายอยู่บ้างว่าจะเกิดการรัฐประหาร คนใกล้ชิดของ ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ซึ่งต่อมาก็อดเป็นนายกฯ แต่ก็ยังได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีให้กับรัฐบาลหลังยึดอำนาจ เล่าให้ผมฟังเองว่า มีความพยายาม ‘ดีล’ ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะทุกคนรู้กันดีว่าลำพังการชัตดาวน์ของกปปส. ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐบาลได้ แม้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี จะ ‘หมดสภาพ’ เนื่องจากยุบสภาไว้ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น ทางออกสำคัญจึงต้องจบลงด้วยการยึดอำนาจ
การอธิบายความในช่วงนั้น คือการบอกว่าต้องหาทาง ‘ผ่าทางตัน’ ให้เร็วที่สุด เนื่องจากต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาจ่ายเงิน ‘ค่าข้าว’ ให้กับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากมีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไปบล็อกธนาคารออมสินไว้ ไม่ให้เงินกู้ออกจากธนาคารได้ ในเวลานั้น แม้แต่คนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์บางคนยังรู้สึกว่า ให้ ‘ยึดอำนาจ’ ไปเถอะ จะได้ออกจากล็อกนี้ได้สักที
ไม่มีการบันทึกไว้ชัดเจนว่าบรรดาคณะทหารมีการตั้ง ‘งบสำรอง’ ไว้ล่วงหน้าจำนวนเท่าไหร่ แต่ได้ยินว่ามีความพยายามเช็กค่าใช้จ่าย เช็กกำลังกันตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงมกราคม และเบิกงบไว้ล่วงหน้า แม้กว่าจะมีการรัฐประหารจริง จะล่วงไปจนถึงเดือนพฤษภาคมก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่หลังจากการรัฐประหารไม่นาน แกนนำม็อบบางคน จึงต้องออกมารำพึงรำพันทันที ต้องเสียเงินไปเท่าไหร่กับการตั้งเวที เลี้ยงเวทีไว้ยาวนาน เพื่อ ‘ปูทาง’ ไปสู่การยึดอำนาจ ด้วยรู้ดีว่าเมื่อรัฐประหารจบ หัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ ผู้มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น จะเบิก ‘งบพิเศษ’ ที่ตั้งสำรองไว้ มาใช้ได้จำนวนหนึ่ง
ใครที่บอกว่าการรัฐประหาร เป็นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้น ผมก็จะยิ้มอ่อน แล้วยักไหล่เช่นกัน เพราะแท้จริงแล้ว การรัฐประหาร ก็คือการ ‘คอร์รัปชัน’ ดีๆ นี่เอง
(5)
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะพูดว่าการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ดีที่ควรเกิดขึ้น และไม่ว่าใครจะอธิบายว่าการรัฐประหารเป็นไปเพราะแก้ปัญหาการโกงเลือกตั้ง เป็นไปด้วยความรักชาติ เพื่อขจัดการคอร์รัปชัน เพื่อป้องกันการล้มสถาบัน หรือเพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ผมมักจะนึกถึงเรื่องข้างบนเสมอว่า ‘ต้นทุน’ ของการรัฐประหาร ที่แต่ละประเทศต้องเสียไป มีมากกว่าปัญหาที่ยกมาเสมอ
การรัฐประหารทุกครั้งของไทย มีการวางแผนเป็นอย่างดี มีพล็อตเรื่องปูทาง มีการเตรียมความพร้อม เตรียมแม้กระทั่งตั้งสำรองงบประมาณสำหรับเอา ‘รถถัง’ ออก เพราะทุกอย่างล้วนเป็นเงินเป็นทอง ดังนั้น ใครที่บอกว่าการยึดอำนาจเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า เพิ่งคิดล่วงหน้าไม่กี่คืน ไม่กี่วัน ก็บอกได้เลยว่าโกหกทั้งนั้น
บทเรียนสำคัญสำหรับผมต่อการรัฐประหารก็คือ การยึดอำนาจทุกครั้ง แทบไม่ต่างอะไรจากการคอร์รัปชัน การยึดอำนาจทุกครั้ง แทบไม่ต่างอะไรจากการโกงชาติ เรื่องย้อนแย้งก็คือ เหตุผลที่ใช้รัฐประหารที่ผ่านมา กลับใช้เรื่องพวกนี้ เป็นเหตุผลด้วยตัวเองทุกครั้ง
แต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ ก็คือ ไม่มีประเทศไหนที่เจริญขึ้นได้ด้วยการรัฐประหาร หรือมี ‘ทหาร’ เป็นผู้นำ และไม่ว่า ‘ทหาร’ ที่ไหน ในโลกนี้ ก็ล้วนเป็นมนุษย์ขี้เหม็นทั้งนั้น หากทหารไม่ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ พยายามข้ามห้วยมาบริหารประเทศ หรือตั้งตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์
พวกเขา ก็จะเป็น ‘กองโจร’ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเท่านั้นเอง
Tags: รัฐประหาร, เมียนมา, ยึดอำนาจ, ทักษิณ, การเมืองไทย, พม่า