สั่นสะเทือนไปทั่วโลก หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยุติการเปิดสภา พร้อมกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยาวนาน 1 ปี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังจับกุม อองซานซูจี กับผู้นำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี พร้อมกับแกนนำรัฐบาลไป โดยไม่มีคำอธิบายใดตามมา

คำถามสำคัญก็คือการยึดอำนาจครั้งนี้ จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยขนาดไหน และในเวทีระหว่างประเทศนั้น จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

The Momentum ชวน รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำคาซัคสถาน และโมซัมบิก และอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ ว่าการรัฐประหารพม่า ในมุมมอง ‘นักการทูต’ อย่างเขา เป็นอย่างไร รวมถึงท่าทีของ ‘การเมืองระหว่างประเทศ’ จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ภายหลังการยึดอำนาจครั้งนี้

ในมุมมองของคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ มองการรัฐประหารใน ‘พม่า’ อย่างไร

หากเป็นผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพม่าก็จะทราบดีอยู่แล้วว่า กองทัพพม่าหรือทหารพม่า มีอำนาจมาโดยตลอด และการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นได้เพราะกองทัพพม่าอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง

แม้ว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นผู้นำประเทศ แต่ในทางพฤตินัยแล้ว อำนาจทุกอย่างก็ยังคงเป็นของกองทัพเหมือนเดิม

นอกจากนี้หลายคนยังมองว่า การที่อองซานซูจีไม่สามารถแตะเรื่อง ‘โรฮีนจา’ ได้มากเท่าไหร่นัก เป็นเพราะเรื่องนี้ อาจส่งผลกระทบ หรือขัดผลประโยชน์บางอย่างกับทางกองทัพ ซึ่งทุกสิ่งที่พูดมา แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว พม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มี ‘อำนาจของทหาร’ ควบคุมอยู่ หากพูดกันตามตรง ผมมองว่าการรัฐประหารของพม่าครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่นัก ในทางตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากกว่า

หลายคนมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะกองทัพพม่าเริ่มไม่สามารถควบคุมพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีได้อีกต่อไป

ผมคิดว่าเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจีได้กวาดคะแนนชนะเรียบแบบถล่มทลาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนมากเห็นด้วยกับเขา ในขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของรัฐบาลทหารนั้นได้ลดลงไปเรื่อยๆ

การรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะเดิม เขา (ทหาร) คิดว่าจะคุมพรรคเอ็นแอลดีได้ แต่หากปล่อยให้เป็นแบบนี้เรื่อยไป ก็จะควบคุมพรรคแอลเอ็นดีไม่ได้ เพราะพรรคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าเดิม มากกว่าการเลือกตั้งครั้งแรก

ภายหลังการรัฐประหารของพม่า เกิดแรงกดดันจากนานาชาติ ทั้งจากสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา คิดว่าแรงกดดันเหล่านี้จะส่งผลอะไรบ้างไหม

ผมมองว่าแรงกดดันมันมีผลของมันอยู่แล้ว แต่จากประวัติศาสตร์โลก แรงกดดันไม่สามารถส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทันที ทุกแรงกดดันจำเป็นต้องใช้เวลา เมื่อเราพูดถึงแรงกดดันจากนานาชาติ จึงกลายเป็นเรื่องเป็นเดือน เป็นปี เพราะแรงกดดันไม่สามารถเกิดขึ้นภายในสองวันได้

ถ้าทำแบบนี้คุณก็ถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่พม่าไม่มีความเจริญ ก็ต้องถามว่า จะเอาประเทศกลับไปสู่ยุคเดิมได้ไหม แล้วถ้าเป็นแบบนั้น เขาจะทนได้นานแค่ไหน

สิ่งที่เราต้องติดตามอีกเรื่องคือ การที่กองทัพพม่าได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนานหนึ่งปี การประกาศดังกล่าวนี้ ได้ทำข้อตกลงกับพรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจีไว้หรือไม่ หากมีการตกลงและแบ่งอำนาจกัน รวมถึงอนุญาตให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ได้ พม่าก็สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น แต่หากยึดอำนาจไปแล้ว กองทัพพม่าไม่ปล่อยหรือให้อำนาจกับส่วนไหนเลย ก็ต้องอาศัยแรงกดดันระหว่างประเทศ ซึ่งก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะกินเวลานานมากแค่ไหน

ประเทศไทยและนานาชาติ สามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการรัฐประหารของพม่าครั้งนี้

ผมมองว่าประเทศไทยคงไม่ต้องไปเรียนรู้อะไรจากพม่าหรอกครับ เพราะเราเก่งกว่าเขา เราทำรัฐประหารมากกว่าเขาเยอะ (หัวเราะ) พม่าเขาต้องเรียนจากไทยมากกว่า แต่สิ่งที่สามารถถอดบทเรียนครั้งนี้ได้ ประการแรกคือ หากมองในแง่มุมของประชาธิปไตย เหล่าผู้คุมอำนาจของประเทศไทย ควรตระหนักได้แล้วว่า หากเรายังต้องการให้ประเทศเจริญเติบโต และพัฒนาได้อย่างจริงจัง ต้องปฏิรูปกองทัพ

ผมมองว่ากองทัพเป็นตัวบั่นทอนความเจริญเติบโตของประเทศ นี่คืออีกหนึ่งบทเรียนที่แน่ชัดว่า เมื่อกองทัพไม่มีวินัย ไม่ได้เป็นทหารอาชีพ มันก็นำไปสู่การรัฐประหาร การปล้นอำนาจประชาชน ปล้นอำนาจอธิปไตย โดยปราศจากเหตุผลที่ถูกต้อง ซึ่งพม่าก็เป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะกองทัพพม่า ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไม่เจริญก้าวหน้า

บทเรียนที่สำคัญในครั้งนี้คือ หากกองทัพประเทศใดขาดวินัย ไม่เคารพหน้าที่ตัวเอง ไม่เคารพผู้เสียภาษีที่ออกเงินเดือนให้ตัวเอง ประเทศก็ไม่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย การปฏิรูปกองทัพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และสอดคล้องกับความเจริญของประเทศ หากไม่มีการปฏิรูป ประเทศเราก็ไม่มีวันเจริญได้

หลายคนมองว่า การรัฐประหารของพม่าเป็นรัฐประหารที่เกิดจากทหาร ไม่มีสถาบันอื่นมาเกี่ยวข้อง ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีหลายมิติ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่สามารถหลีกหนีการรัฐประหารได้

ประเทศไทยเรามีความซับซ้อนมากกว่าพม่า เพราะอย่างที่บอก เรามีปัจจัย เรามีผู้เล่น มีกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าพม่า พม่าเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยทหาร สิ่งนี้จะส่งผลต่อแรงกดดันจากนานาชาติที่จะได้รับมากกว่าประเทศไทย เพราะประเทศไทยยังมีภาพการรัฐประหารไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ภาพที่ออกมาเลยกลายเป็นภาพที่มีประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุน และมีภาพของนักการที่ถูกกล่าวหาว่าโกง เมื่อมารวมกับที่ประเทศไทยมีรัฐประหารบ่อยครั้งมาก จึงส่งผลให้ต่างประเทศมองภาพลักษณ์ของประเทศไทยว่า รัฐประหารไปสักพักเดี๋ยวก็กลับมาเป็นประชาธิปไตยเหมือนเดิม สลับไปสลับมา

แต่ในกรณีของพม่า เขามีความขาว-ความดำมากกว่า ซึ่งผมคิดว่าพม่าน่าจะถูกแรงกดดันจากประชาคมโลกมากกว่าประเทศไทยแน่นอน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ยุติธรรมกับประเทศไทย กับประชาชนชาวไทย เพราะการที่เราโดนรัฐประหารและลากยาวมาจนทุกวันนี้ก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว แต่เพราะการเมืองไทยมันมีหลายมิติ เลยส่งผลให้ต่างประเทศเขามองไม่เห็นปัญหา

งั้นหมายความว่า การรัฐประหารของประเทศไทยแย่กว่า และแก้ปัญหาได้ยากกว่าการรัฐประหารของพม่า

ในแง่หนึ่งผมมองว่าอย่างนั้น เพราะการเมืองไทยมันมีหลายมิติจริงๆ อย่างที่ผมบอกไปว่าประชาคมโลกเองไม่เข้าใจว่าเนื้อแท้ปัญหาของประเทศเราคืออะไร ยกตัวอย่างตอนประเทศไทยมีการรัฐประหารใหม่ๆ ในการประชุมประธานรัฐสภาโลก เขายังเชิญเราไปร่วมประชุมอยู่เลย ซึ่งถ้าเป็นปกติแล้ว ประเทศไหนที่เกิดการรัฐประหารจะถูกเตะออกจากการประชุม

หมายความว่าทางออกของประเทศไทย คือต้องแยกเรื่องการเมืองออกจากทหารอย่างชัดเจน

ใช่ นั่นคือเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่ง ผมมองว่าหากเราต้องการให้ประเทศชาติพัฒนา มีความเจริญรุ่งเรือง เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปฏิรูปกองทัพได้เลย เพราะหากประเทศเกิดการรัฐประหารอีกเมื่อใด ก็จะฉุดรั้งประเทศให้หยุดการพัฒนาอีกครั้ง เพราะการรัฐประหารทุกครั้งมันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘ทำรัฐประหารครั้งใด ประเทศก็ถอยหลังครั้งนั้น’

ถ้าเราอยากให้ประเทศเจริญพัฒนา ก็ต้องทำให้ประเทศไม่มีการรัฐประหารก่อน ถ้าไม่อยากให้มีรัฐประหาร ก็ต้องปฏิรูปกองทัพ มันต้องทำตามขั้นตอนแบบนี้

ภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย’ และ ‘พม่า’ ยังเหมือนเดิมไหม

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรากับพม่า โดยทั่วไปไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนไปมาก แต่ในแง่ภาพลักษณ์ มันคงแย่ขึ้น เพราะตอนนี้ สปอตไลต์ที่โลกมันฉายไปที่พม่า เมื่อมันฉายไปที่พม่า บางส่วนมันก็คงฉายไปที่ไทยด้วย ซึ่งสิ่งนี้ หากมองในแง่ของผู้คุมอำนาจประเทศไทยไม่น่าเป็นสิ่งดี เพราะต่างชาติก็จะมองแบบเหมารวมว่า พม่าเป็นแบบนี้ ประเทศไทยเป็นแบบนี้ แต่สิ่งนี้กลับเป็นข้อดีของประชาชนไทยกับฝ่ายประชาธิปไตย ผมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถแสดงให้โลกเห็นมากขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้กันแน่

หรือประเทศไทยควรเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิม

มันก็แน่นอน เพราะสปอตไลต์ฉายมาตรงนี้แล้ว ตั้งแต่อเมริกา หรือประเทศต่างๆ ผมว่ามันก็อาจจะเป็นช่วงที่ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะใช้จังหวะนี้เล่นได้ แต่สิ่งนี้กลับไม่ส่งผลดีต่อผู้กุมอำนาจนะ

ความชุลมุนระหว่างม็อบและเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน้าสถานทูตพม่าที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอะไรบ้าง

ผมว่ามันแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะเท่าที่ผมทราบ ประชาชนไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรง แต่หากพูดตามหลักสากลแล้ว เรามีหน้าที่ปกป้องสถานทูตของของประเทศอื่นที่ตั้งในประเทศเรา

แต่ก็ต้องดูว่า ตราบใดที่ผู้ประท้วงไม่ได้ละเมิดกฎหมายอะไร เขาชุมนุมโดยสงบ ก็เป็นสิทธิ์ของเขาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้แบบนั้น ถ้าประชาชนยังไม่ได้ละเมิดกฎหมายอะไร สิ่งนี้มันก็ฟ้องในตัวเองได้ว่าคุณเป็นรัฐบาลประเภทใด

อาเซียนควรต้องแสดงบทบาทอะไรหรือไม่จากการรัฐประหารครั้งนี้ หรือต้องยึดหลักไม่แทรกแซงกันเอง

หากพูดตามหลักการ การไม่แทรกแซงตรงนี้ก็ถูกต้องนะ เพราะอาเซียนมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะไม่แทรกแซงภายในของกันและกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูสิ่งที่ประธานอาเซียน ซึ่งขณะนี้คือบรูไน ได้ออกท่าทีของอาเซียนโดยรวมมาแล้วว่า อยากเรียกร้องให้มีการเจรจา ปรองดองกัน เรียกร้องให้พม่ากลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามความปรารถนา และบนผลประโยชน์ของประชาชนพม่า

นอกจากหลักการข้างต้นแล้ว เรายังมีเรื่องของกฎบัตรของอาเซียน ที่พูดถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย การเคารพกฎหมาย ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนอาเซียน ซึ่งประเทศไทยก็ลงนามรับรองเป็นพันธะด้วย ซึ่งการรัฐประหาร มันไม่ใช่แค่เรื่องของการห้ามแทรกแซงกิจการภายในแล้ว มันยังเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และเรื่องของการเคารพกฎหมาย

ยกตัวอย่างสิงคโปร์ เขาลงทุนในพม่าเยอะมาก เมื่อมีการลงทุนไว้เยอะ ก็แน่นอนว่าผลประโยชน์ที่เขาอยู่ตรงนั้น ก็ถูกกระทบไปด้วย เพราะถ้าคุณทำแบบนี้ เศรษฐกิจจะถอยหลังแน่นอน ไม่มีวันก้าวหน้าไปได้ ซึ่งการกระทำนี้ จะส่งผลกระทบในภาพรวม ทุกประเทศในอาเซียน สถานะอาเซียนจะถูกกระทบไปด้วย เมื่อคุณทำรัฐประหาร มีไทยประเทศหนึ่งแล้ว ยังมีพม่าเข้ามาอีก สถานะของอาเซียนในเวทีโลกก็จะตกต่ำลง เวลาคุณจัดประชุมใหญ่ ASEAN Summit, ASEAN Dialogue ใครเขาจะอยากมาประชุม

ถ้าภูมิภาคเราดี เศรษฐกิจเติบโต มันก็มีน้ำหนักมากขึ้น แต่หากประเทศเรามีแต่เรื่องรัฐประหาร วนกันอย่างนี้ เศรษฐกิจมันก็ไม่โต ไปที่ไหน ใครเขาก็ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะว่าคุณได้อำนาจมาอย่างไม่เป็นธรรม ก็ทำให้องค์กรอาเซียนเสื่อมลงด้วย ซึ่งประเทศอื่น อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียนก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน เมื่อใดที่ประเทศประเทศใดประเทศหนึ่งทำตัวแย่ ประชาคมโลกเขาก็มองในสายตาที่แย่ แล้วก็กระทบกับเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันก็เป็นผลรวมในภูมิภาคทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เป็นผลรวมกับคนอื่นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่คนอื่นเขาไม่กระทบ แล้วก็ทำให้อาเซียนตกต่ำ ก็เป็นผลประโยชน์โดยรวมของเราทุกคน ของประเทศสมาชิกทุกประเทศ

สามารถพูดได้ไหมว่า ‘การรัฐประหาร’ เป็นเรื่องสำหรับ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ เท่านั้น

ผมว่ามันก็ใช่ แต่ก็น้อยลงเต็มทีนะ โดยทั่วไปแล้วมันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกองทัพทหาร วัฒนธรรมการเมืองประเทศนั้น และลักษณะของคนทำ ยกตัวอย่าง ประเทศมาเลเซีย กองทัพของเขา มีความเป็นมืออาชีพอย่างมาก ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง สิ่งนี้ก็เป็นวิวัฒนาการทางการเมืองของแต่ละประเทศ

แต่สิ่งที่เหมือนกัน หากประเทศใดมีกองทัพที่ไม่มีวินัย ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ก็มักจะเกิด ‘รัฐประหาร’

อย่างเช่นประเทศเรา

อย่างเช่นประเทศเรา ใช่ แต่ของประเทศไทยนี่แย่กว่าอีกด้วย เพราะประเทศเรามีหลายก๊ก หลายกลุ่ม ที่สนับสนุนการรัฐประหาร จึงทำให้เกิดปัญหาซับซ้อน หนักกว่าการรัฐประหารในพม่าด้วยซ้ำ

ประเทศไทยควรต้องแสดงท่าทีอะไรไหมกับการรัฐประหารในพม่า

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ท่าทีของเรา ท่าทีที่ทางการไทยแสดงออกมา ที่บอกว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศเขา ผมเห็นที่เขาแถลงผ่านกลุ่มสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ก็คือจับตาดู ก็เป็นมาตรฐาน เป็นคำพูดที่ใช้ทั่วไป จับตาดูพัฒนาการอย่างใกล้ชิด เป็นห่วงความปลอดภัยของคนไทย บอกว่าพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศสมาชิกสำคัญของอาเซียน ไทยจึงหวังจะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในพม่า และหวังว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะแก้ไขได้อย่างสันติ และกลับคืนในเร็ววัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนพม่า

แต่ผมคิดว่าท่าทีของไทยที่แสดงออกมา มันขัดกับตัวเอง เพราะเราไปพูดว่า ‘กลับคืนสู่ปกติอย่างเร็ววัน’ เพื่อประโยชน์ของประชาชนพม่า ถ้าอย่างนี้แล้วรัฐบาลปัจจุบัน หรือผู้กุมอำนาจ ได้ทำเพื่อประชาชนไทยอย่างแท้จริงหรือเปล่า เพราะเราก็รู้กันว่ารัฐบาลชุดนี้ เป็นการสืบทอดอำนาจมาจากกลุ่มที่ทำรัฐประหาร เมื่อทำรัฐประหาร ก็ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแน่นอน มันเป็นประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะเป็นการทำรัฐประหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ระบุอยู่แล้วว่า รัฐประหารคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย แล้วคุณก็ทำในสิ่งนี้

เพราะฉะนั้นประเทศไทยมีแผลอยู่แล้ว เป็นแผลที่ไม่ได้สวยงาม เมื่อไปพูดเรื่องประชาธิปไตยหรือการคืนอำนาจแก่ประชาชน ก็พูดไม่ได้เต็มปาก เมื่อพูดได้ไม่เต็มปาก เราก็เลยสามารถประณามการยึดอำนาจของกองทัพพม่าไม่ได้

ซึ่งสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราก็ยอมรับไปแบบกลายๆ ว่า เราก็ไม่ใช่ ‘ประเทศประชาธิปไตย’ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องประณามได้ เพราะรัฐบาลในปัจจุบันก็บอกตลอดว่ามาจากการเลือกตั้ง เมื่อมาจากการเลือกตั้ง คำถามก็คือทำไมถึงประณามการรัฐประหารพม่าไม่ได้ อย่างน้อยก็แถลงให้ได้น้ำหนักให้เท่ากับ บรูไน ก็ยังดีกว่าท่าทีในปัจจุบันของไทย

รัฐประหารที่พม่าสามารถบอกอะไรกับไทยได้บ้าง

ประเทศไทยต้องแยกระหว่างทางการ กับประชาชน และสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดคือ กองทัพที่ไม่มีวินัย ไม่มีความเป็นมืออาชีพเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศชาติ หากไม่มีการปฏิรูป ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ยกตัวอย่างเมื่อ 60 ปีที่แล้ว พม่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก และเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับ 1 เขาส่งออกมากกว่าเราอีก จนกระทั่งพรรคทหารเข้ายึดกว่า 50 ปี ก็เจ๊งบ๊งกันไปหมด ทุกวันนี้ก็ปลูกแค่พอกินในประเทศ บางทีก็ไม่พอกินมีความอดอยากหิวโหยเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป บริหารกันแบบนี้ล่ะ เพราะทหารไม่มีความสามารถในการบริหาร นี่จึงเป็นบทเรียนที่ชัดเจนมาก ไม่มีอะไรที่ชัดเจนกว่านี้แล้ว ว่าไม่มีรัฐประหารครั้งไหนที่ทำให้ประเทศเจริญได้ ทหารไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้จริง มีแต่ตกต่ำถอยหลังขึ้นทุกวัน

Tags: , , , , ,