เมื่อได้เล่นเกมทายชื่อเมืองหลวงตุรกีทีไร ต้องมีทายผิดกันบ้างใช่ใหมครับ? เราก็เป็นอีกคนที่ยังจำผิดๆว่า ‘อิสตันบูล’ เป็นชื่อเมืองหลวง แต่ที่จริงแล้ว เขาย้ายศูนย์ราชการและการเมืองไปที่ ‘อังการา’ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1923 ก่อนเราเกิดหลายทศวรรษ ซึ่งส่งผลให้ความเจริญที่กระจุกตัวทางฝั่งซ้ายของประเทศ(จากเมืองท่าอิสตันบูล) ได้ขยับมาตอนกลางประเทศบ้าง
ป้ายชื่อ Ankara ที่สถานีรถไฟใจกลางเมือง
รอบนี้เราจะพาผจญภัย (แบบไม่หฤโหดจนเกินไป) โดยอาสาพาเริ่มเลาะจากเมืองหลวง มีจุดหมายปลายทางที่ปล่องไฟนางฟ้าเมืองคัปปาโดเกีย ระหว่างทางมีจุดพักให้เราได้สำรวจวิถีท้องถิ่นตุรกี บนแผ่นดินอานาโตเลีย(แปลตรงตัวว่าแดนตะวันออก) ไกด์ท้องถิ่นของทริป ก็มีเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย โดยตลอดโรดทริปนี้เรามีภาพประกอบงามๆ เป็นวิวธรรมชาติที่พระเจ้าได้แต่งแต้มภูมิประเทศงามราวภาพวาด
พร้อมไปกับเรารึยังครับ? คาดเข็มขัดนิรภัย เดินเครื่องตามกันมาเลย
แองการาจากมุมสูง
เมืองคึกคักตามเวลาราชการ
เริ่มที่ ‘อังการา’ ช่วงเวลาคึึกคักของเมืองนี้ เห็นจะแตกต่างจากเมืองอื่นสักหน่อย เราจะเห็นข้าราชการ หนุ่มสาวออฟฟิสตามท้องถนนในวันจันร์ถึงศุกร์ แต่หากเป็นเสาร์อาทิตย์ ที่นี่ก็เงียบราวเมืองปิดทำการ
ไกด์เล่าถึงเมืองนี้ให้เราฟังว่า ก่อนหน้านี้ไม่เกิน 10 ปี ตึกสูงเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากมาก แต่ปัจจุบัน
ตึกสูงสมัยใหม่ผุดขึ้นเป็นแนว สอดรับกับแผนขยายความเจริญของเมืองที่ค่อยๆ เปลี่ยนถ่ายจากการเป็นแค่เมืองหลวงทางราชการไปเป็นเมืองธุรกิจและอุตสาหกรรม
พิพิธภัณฑ์ในสุสานอตาเติร์ก
โมเดลจำลองสุสานอตาเติร์ก
“อยากดูตุรกีใหม่ ต้องมาดูที่นี่” พี่ไกด์เล่าด้วยความภูมิใจ พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานมากมาย ร่องรอยจากการปฏิวัติประชาธิปไตยของประเทศต่างตั้งอยู่ในเมืองนี้ เช่น สถานที่สำคัญที่เราเยี่ยมชมในวันนี้ ‘สุสานอตาเติร์ก’ หรือ ANITGARBIR ที่นี่คืออนุสรณ์สถานและสุสานของ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk ผู้นำ) และประธานาธิบดีคนแรกของตุรกีผู้ที่ได้ชื่อว่าพลิกหน้าประวัติศาสต์ของตุรกียุคใหม่ ภายในส่วนของพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง การสร้างชาติ และของใช้ส่วนตัวของท่านฯ นอกจากนี้ในส่วนด้านนอกอาคารยังมีไฮไลท์์เป็นการแสดงเปลี่ยนกะทหารที่สง่างาม หลายคนจึงรอชม ในทุกต้นชั่วโมง
ทางเดินรายล้อม ที่สร้างตามสถาปัตกรรมตุรกียุคใหม่
หนึ่งในของใช้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ทหารเปลี่ยนเวร
เดินบนเกลือสีชมพู
เราออกเดินทางกันต่อไปยังจุดหมายถัดไป ซึ่งระหว่างการเดินทางเราพบอีกหนึ่งสิ่งสวยงาม เอ๊ะ ทำไมทะเลข้างทางเป็นสีชมพู! (พลางคิดไปในหัวว่าอากาศร้อนทำให้เราตาฝาด) พี่ไกด์ พาเราจอดรถลงไปเดินเล่นข้างทางชมความมหัศจรรย์ของ ‘ทะเลสาบเกลือ’ (Salt Lake) หรือทะเลสาบน้ำเค็ม (ภาษาถิ่นคือ Tuz Golu) เขาว่ากันว่า ที่นี่ใหญ่เป็นอันดับสองของตุรกีเลยทีเดียว หากเรามาเยือนทะเลเกลือในฤดูน้ำหลากเราจะเห็นเวิ้งทะเลสีชมพูสดสุดลูกหูลูกตา โดยสีชมพูใสเกิดจากสีของสาหร่ายแดง ที่มีชื่อว่า ‘Dunaliellam Salina’ ซึ่งไม่ได้มีดีแค่สีสวย แต่สาหร่ายแดง ยังมีสรรพคุณทางยา โดยพี่ตุรกีเขาก็นำไปสกัดเป็นอาหารเสริม และผสมในเครื่องสำอางค์ ส่งออกนำรายได้สู่ท้องถิ่นด้วย
เดินบนเกลือ
แต่หากถ้าเราเดินทางไปเที่ยวทะเลสาบเกลือในฤดูร้อน น้ำทะเลสาบจะเหือดแห้งเหลือเพียงแต่กองเกลือ ที่ตกผลึกเป็นแผ่นหนาหลายสิบเซ็นฯ มองเห็นเป็นพื้นสีขาวโพลนสุดสายตา (บางคนอาจคุ้นตา เพราะเป็นฉากในหนัง Star war ด้วยนะ)
มนุษย์ถ้ำ ไปดูผู้ชายปั้นหม้อ ผู้หญิงทอพรม
เราเดินทางต่อไปดูเมืองถ้ำที่ใช้สำหรับ ‘หนีการไล่ล่า!’
พี่ไกด์เล่าเป็นฉากๆ ราวกับหนังแอ๊คชั่นฟอร์มใหญ่ “ที่ใหนมีผลประโยชน ์ผู้มีอำนาจก็หวังมาฮุบที่นั่น” ในสมัยก่อนดินแดนตอนกลางของตุรกีมักถูกชาวอาหรับรุกรานด้วยผลประโยชน์ทางการค้า แถมชาวคริสต์ก็ยังถูกกวาดล้างจากโรมันในเรื่องความเชื่อทางศาสนาอีก ดังนั้น
แทนที่จะสร้างบ้านบนดิน ก็เลยมุดหนีไปอยู่ใต้ดินซะเลย โดยเมืองใต้ดินที่ถูกขุดค้นพบมีทั้งแบบไซส์เล็กเป็นหมู่บ้าน อยู่อาศัยกันไม่กี่ร้อยคน ไปถึงมหานครใต้ดินที่จุได้เป็นหมื่นๆ รอบนี้เรามีโอกาสได้ไปชม 2 แห่ง ด้วยกัน
ปากทางเข้านครใต้ดิน
ห้องรับแขกที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน
เราแวะที่แรก ที่นครใต้ดิน “เคย์มัคลี” (Kaymakli) นครใต้ดินขนาดเท่าคอนโด low-rise ในยุคปัจจุบัน แต่ดันพลิกกลับหัวไปอยู่ใต้ดินถึง 10 ชั้น ซึ่งชั้นล่างสุดลึกถึง 85 เมตรทีเดียว ไกด์หนุ่มพาเรามุดเลาะ ลงไปเมืองใต้ดิน ในจินตนาการตอนแรกเราคิดไว้ว่าต้องแคบ ร้อน และไม่มีอากาศให้หายใจมากนัก แต่ผิดคาด ในนั้นอากาศเย็นสบาย ลมระบายได้เป็นอย่างดี ในฤดูหนาวเขาเล่าว่าข้างในนี้อบอุ่น ในฤดูร้อนอุณภูมิเฉลี่ยเย็นสบาย แค่ 20 องศาฯ
เราได้เห็นการจำลองภาพความเป็นอยู่ของชาวเคย์มัคลีในอดีต ที่เต็มไปด้วยไห และแขวนพรมประดับตกแต่ง ไกด์เล่าให้ฟังว่า 2 สิ่งนี้ สำคัญมาก เป็นเหมือนปัจจัยพื้นฐานของการอาศัยในหลุมถ้ำนี้ คนนครใต้ดินเขาจะใช้ ‘หม้อไห’ ในการหมักไวน์เพื่อทานต่างน้ำในยามหลบภัย และ ‘พรม’ จะใช้ห่อหุ้มป้องกันความหนาวเย็นที่จะมาเยือนในช่วงสิ้นปี 2 สิ่งนี้สำคัญมีค่าถึงขั้นที่ว่า ผู้ชายต้องใช้ไหในการไปขอสาวแต่งงาน และผู้หญิงต้องทอพรมสำหรับมอบให้แม่สามี
ผู้ชายปั้นหม้อ ผู้หญิงทอพรม
ไกด์พาเราไปต่อไม่ไกลจากนครถ้ำ ไปดูภูมิปัญญาที่ยังคงถูกสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เราได้แวะดูวิธีปั้นหม้อดินขาวจากหนุ่มตุรกีที่ต้องฝึกไว้มัดใจสาว รวมทั้งได้ชมฝีมือทอพรมคุณภาพ เขาบอกว่า พรมที่นี่ดีที่สุดในโลกเพราะทอแบบ 2 เงื่อน จึงไม่หลุดร่อนง่ายๆ ชมความงามหัตถกรรมจิบชาแอปเปิ้ลได้สักพัก เราก็จำต้องโบกมือลา มุ่งหน้าไปจุดหมายสำคัญของทริปที่ คัปปาโดเกีย พร้อมไปเยือนปล่องไฟนางฟ้ากันแล้ว
ร่องรอยการมาถึงของอัครทูต และการหลบหนีรอบที่ 2
เรามุ่งหน้าเดินทางกันต่ออีก 25 กิโลเมตร ไปชมอีกนครใหญ่ใต้ดิน จากเมืองที่แล้วเราได้เห็นร่องรอยชุมชน ความเป็นอยู่ตามวิถีชาวบ้าน แต่สถานที่ที่เรากำลังไปเยือน เราจะได้เห็นชุมชนความเชื่อขนาดใหญ่ ร่องรอย ของคริสต์ศรัทธาตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 1 ที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ‘เกอเรเม’ (Göreme) จุดศูนย์กลางของคัปปาโดเกีย
ที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ‘เกอเรเม’
เมื่อครั้งอัครทูตเปาโล (St. Paul) ได้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในแถบนี้ ชาวโรมัน ปฏิเสธและข่มเหงอย่างหนัก คริสตชนในคัปปาโดเกียจึงต้องหาที่หลบซ่อน จึงได้สร้างที่นมัสการพระเจ้าแบบลับๆ อาศัยอยู่ใต้ดิน จวบถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5-9 โรมันเริ่มยอมรับในศาสนาคริสต์ ทำให้โบสถ์ถ้ำต่างๆ เริ่มได้รับการบูรณะ โบสถ์จำนวนมากได้รับตกแต่งอย่างดงามด้วยภาพสีเฟรสโก้ ถือเป็นยุคทองของคริสเตียนก็ว่าได้
ต่อมาอาณาจักรไบแชนไทน์ถูกออตโตมัน(อิสลาม) เข้าครอบครอง ทำให้โบสถ์ถ้ำหมดความสำคัญลงทันที หลังการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีราวปี1923 ชุมชนคริสต์ในคัปปาโดเกีย ต้องอพยพออกจากพื้นที่ โบสถ์ถูกทิ้งร้างและถูกทำลายไปบางส่วน หลังจากนั้นอีกนานหลายทศวรรษ ที่นี่จึงได้รับการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ ผู้คนถึงเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมร่องรอยความเจริญงอกงามของคริสจักรในยุคแรกของตุรกี พร้อมกับความความงามทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อ 3 ล้านปีที่แล้ว ผ่านร้อนหนาวลมฝน เกิดเป็นภูมิประเทศแปลกตา เป็นหินรูปแท่งกรวยคว่ำหลากหลายรูปแบบ ดูเหมือนดินแดนเทพนิยาย คนพื้นเมืองจึงเรียกขานกันว่า ‘ปล่องไฟนางฟ้า’
ปล่องไฟนางฟ้า
เกอเรเมยามค่ำคืน
ในปี ค.ศ.1985 ยูเนสโก้ ได้ยกให้เมืองนี้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมแห่งแรกของตุรกี ซึ่งนอกจากไฮไลท์ที่เป็นเมืองถ้ำ ปล่องไฟนางฟ้า เมืองนี้ยังมีความสำคัญแต่โบราณ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม ทางแห่งการค้าและวัฒนธรรมที่ทอดยาวจากตุรกีไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ โดยยังมีร่องรอยคาราวานให้เราได้เยี่ยมชมที่ “คาราวานซาราย” (Kervansaray หรือ Caravanserai) ที่พำนักสำหรับกองคาราวาน ที่ยังคงเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลัง ได้เห็นเส้นทางการเดินทางของวัฒนธรรมภาคพื้นเอเชีย
แม้ทริปนี้เราจะเดินทางไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเส้นทางโรดทริปในประเทศ แต่ก็ทำเอาวัยรุ่น (ตอนปลาย) อย่างเรา เมื่อยล้าใช่ย่อย หากใครอยากมาชมความงามของดินแดนแถบนี้ยังมีอีกตัวเลือกเป็นสนามบินท้องถิ่นใกล้ๆ
ซึ่งต่อตรงไปถึงสนามบินอิสตันบูลอย่างสะดวก แต่หากอยากเก็บเกี่ยวความงามระหว่างทาง กับเรื่องเล่าหลากรสของไกด์ท้องถิ่น เราก็แนะนำว่าไม่ควรพลาด โรดทริปสนุกๆจากอังการาสู่คัปปาโดเกีย
รถไต่ไปตามหุบเขา
คาราวานซาราย
Tags: คัปปาโดเกีย, อังการา, ตุรกี