กระโปรงยาวสีขาวสยายกว้าง พลิ้วตามแรงเหวี่ยง มือขวาผายขึ้นบน มือซ้ายผายลงล่าง ศีรษะเอนไปข้างหนึ่ง ดูเหมือนตุ๊กตาเริงระบำ ฉันคิด เพียงแต่ฐานของตุ๊กตานี้ไม่ได้หมุนด้วยการไขลาน แต่จากเท้าข้างหนึ่งที่หมุนเป็นวงรอบเท้าอีกข้าง ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi กลางกรุงอิสตันบูล และนี่คือพิธีเซมา (sema) ของเหล่าเดอร์วิช (dervish) 

สำหรับนักท่องเที่ยว พิธีกรรมร่ายรำของนักบวชคณะซูฟีนิกายเมฟเลวี (mevlevi) หรือ ‘เดอร์วิช’ ถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการมาเยือนตุรกี เราจะเห็นภาพชายชุดขาวกระโปรงพลิ้วปรากฎอยู่ตามไกด์บุ๊กทุกเล่ม และโบรชัวร์การท่องเที่ยวแทบทุกแผ่น 

ขณะที่นักท่องเที่ยวมองว่านี่คือการแสดง นักบวชเหล่านี้มองว่านี่คือพิธีกรรม พวกเขาใช้ดนตรีและการเคลื่อนไหวร่างกายตามดนตรีเพื่อละอัตตา โดยเชื่อว่าการหมุนร่างกายรอบแล้วรอบเล่าไปพร้อมกับดนตรีเช่นนี้จะทำให้ตนเข้าสู่สภาวะปิติทางจิตวิญญาณ (spiritual ecstasy) และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า 

เสียงกลองคูดุม (kudüm) ดังขึ้น ตามมาด้วยเสียงเศร้าๆ ของขลุ่ยที่ทำจากต้นอ้อหรือเนย์ (ney) ก่อนที่เครื่องดนตรีอย่างอุด (oud) และคานุน (qanun) จะเริ่มบรรเลง เหล่าเดอร์วิชเดินเรียงแถวเข้ามา แขนทั้งสองไขว้ที่หน้าอก หมวกสูงทรงกระบอกสีน้ำตาลที่สวมอยู่คือสัญลักษณ์ของศิลาหลุมฝังศพ พวกเขาห่มกายด้วยผ้าสีดำ ซึ่งสื่อถึงความดำมืดทางโลก ก่อนจะสละเสื้อคลุมชั้นนอกออก แลเห็นชุดข้างในสีขาวที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ของอัลเลาะห์ พวกเขาเริ่มหมุนร่างกาย เท้าข้างหนึ่งหมุนรอบเท้าอีกข้าง เหมือนการเคลื่อนที่รอบโลกของดวงจันทร์ แขนวาดเป็นวงเหนือศีรษะ ก่อนจะค่อยๆ วาดลงด้านข้าง มือขวาหงายขึ้นฟ้า มือซ้ายผายลงดิน ลักษณะของฝ่ามือทั้งสองนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการที่อัลเลาะห์ประทานพรให้มวลมนุษย์ ดนตรีเริ่มต้นอย่างอ้อยอิ่ง ก่อนจะเร่งจังหวะขึ้นในตอนท้าย เร่งให้ร่างหมุนเร็วขึ้น พวกเขาหลับตา เดอร์วิชเหล่านี้กำลังอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ‘trance’ หรือสภาวะเข้าฌาน

ในเรื่องดนตรีกับศาสนา Terry E. Miller และ Andrew Shahriari ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ของอิสลามสายจารีตมองว่าการแสดงออกที่มีส่วนผสมของระดับเสียง (pitch) และจังหวะ (rhythm) หรือที่โลกตะวันตกเรียกว่า ‘ดนตรี’ นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือสิ่งที่ไม่ใช่ดนตรี (non-musiqa) และสิ่งที่เป็นดนตรี (musiqa) โดยเสียงเรียกละหมาด ซึ่งแม้จะเสียงสูงต่ำ มีเมโลดี้ บางทีฟังคล้ายเสียงร้องเพลงกลับไม่จัดว่าเป็นดนตรี จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ดนตรีซูฟีที่กำลังบรรเลงอยู่นี้ เป็นสิ่งต้องห้าม (นี่แสดงให้เห็นว่า นิยามของคำว่า ‘ดนตรี’ นั้นไม่ใช่สิ่งสากล และแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม) 

แต่แม้อิสลามสายจารีตจะเชื่อว่าดนตรีกระตุ้นความรู้สึกในทางโลกและชี้นำให้วิญญาณห่างออกจากพระเจ้า นักบวชซูฟีกลับเชื่อในทางตรงกันข้าม พวกเขามองว่าดนตรีสามารถนำจิตวิญญาณให้สูงส่งขึ้น และเป็นสิ่งจำเป็นในพิธีกรรมทางศาสนา ดังที่จัลลา อัล-ดิน มูฮัมหมัด รูมี (Jalal al-Din Muhammad Rumi) ผู้ก่อตั้งนิกายเมฟเลวีเคยว่าไว้ “ผู้ใดรู้ซึ่งพลังแห่งการร่ายรำ ผู้นั้นจักอยู่ในพระเจ้า” 

เนย์หรือขลุ่ยที่ทำมาจากต้นอ้อเป็นเครื่องดนตรีหลักในดนตรีของซูฟี (โดยเฉพาะในตุรกีและอิหร่าน) นักบวชซูฟีมองว่าเสียงคร่ำครวญโหยหวนของเนย์มีพลังนำในการนำพาเราไปอยู่ในมิติแห่งจิตวิญญาณ บทกวีชื่อดังบทหนึ่งของรูมียังเริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงเนย์ที่ครวญไห้ถึงการถูกพรากจากต้นอ้อ เสมือนการที่มนุษย์ถูกตัดขาดจากพระเจ้า 

บทเพลงคลาสสิกของอิหร่านและอัฟกานิสถานจำนวนมากนำบทกวีของรูมีหลายบทมาใช้ในเนื้อร้อง ในเรื่องมรดกตกทอดทางดนตรีนี้ นิกายเมฟเลวียังได้ให้กำเนิดกวีและนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน อาทิ Ismail Rusuhi Dede, Esrar Dede, Halet Efendi และ Sheikh Ghalib ส่วนในศตวรรษที่ 21 นักดนตรีแนวซูฟีร่วมสมัยซึ่งมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติคือนักดนตรีชาวตุรกีนาม Mercan Dede ผู้โด่งดังจากการนำเสียงของเนย์มาผสมกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ 

Dede เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่า “ในคอนเสิร์ตครั้งแรกของผม ผมผสมผสานเสียงอันไพเราะของเนย์เข้ากับดนตรีเทคโนอันเดอร์กราวด์ มันทำให้บรรยากาศบนแดนซ์ฟลอร์เปลี่ยน ขณะนั้นผมจึงเข้าใจว่า ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และดนตรีซูฟีเป็นสองสิ่งที่ต่างกัน ทว่ากำลังเล่าเรื่องเดียวกัน”

“เมื่อมองลงไปยังแดนซ์ฟลอร์ ผมเห็นคนผิวดำ ผิวขาว ยิว มุสลิม คนรักเพศเดียวกัน และคนที่รักคนต่างเพศ สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญเลย ในพื้นที่เดียวกันนี้ แก่นแท้แล้วเราทุกคนเหมือนกัน แนวคิดนี้คือแก่นของซูฟี”

หลังการปฏิวัติและทำประเทศตุรกีให้เป็นสาธารณรัฐและแยกศาสนาออกจากการปกครองของรัฐโดย Mustafa Kemal Atatürk รัฐบาลก็ได้แบนคณะซูฟี แม้ว่าปัจจุบัน ตุรกีจะอนุญาตให้นักบวชซูฟีประกอบพิธีเซมาได้ ซึ่งช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตุรกีได้ในอีกทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติตามความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมหลายอย่างของคณะซูฟีก็ยังต้องแอบทำอย่างลับๆ

สำหรับใครที่จะแวะไปเยือนตุรกี มีหลายสถานที่สามารถชมพิธีนี้ได้ ในอิสตันบูลมีทั้งที่พิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi (ทุกเย็นวันอาทิตย์) หรือที่ Hodjapasha Culture Centre (การแสดงมีหลายรอบต่อสัปดาห์ เช็คได้ที่เว็บไซต์ www.hodjapasha.com) ส่วนหากใครได้แวะเวียนไปเมืองคอนยา (Konya) ซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายของรูมี สามารถไปชมพิธีนี้ได้ที่ Mevlana Culture Centre (ทุกคืนวันเสาร์) ที่คอนยายังมีพิพิธภัณฑ์ Mevlana Museum ซึ่งเป็นที่ฝังศพของรูมีและมีจัดแสดงเครื่องดนตรีและวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิกายเมฟเลวีอีกด้วย

หลังจบพิธีเซมาในคืนนั้น เราไปต่อกันที่ผับ Esklici Pera บนถนนเส้นเดียวกัน ท่ามกลางแสงไฟนีออนสีเขียวและเพลงเตอร์กิชป็อปที่กระหึ่มจากลำโพง แดนซ์ฟลอร์ก็ลุกเป็นไฟ “การเต้นทำให้ผู้เต้นออกจากโลกสามัญชั่วคราว ทำให้คนตกอยู่ในโลกที่ไวต่อการรับรู้ ซึ่งเป็นโลกที่ความเข้าใจเกี่ยวกับตน ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป” ฉันนึกถึงประโยคของ Ben Malbon ที่กล่าวถึงดนตรีและการเต้น คืนนั้น ฉันเห็นสาวน้อยนางหนึ่งยกมือขึ้นสูง หลับตา เอียงศีรษะไปด้านหนึ่ง ขณะที่ร่างก็เคลื่อนไหวไปพร้อมเสียงบีต เธอและเราหลายคนดูเหมือนกำลังตกอยู่ใน trance เช่นกัน บางที ใต้แสงนีออนนี้ หลายคนอาจได้พบพระเจ้าของเขาแล้ว

ทุกวันอาทิตย์ ด้านหน้า Galata Mevlevihanesi จะมีการตั้งโต๊ะขายตั๋วชมพิธีเซมา

เหล่าเดอร์วิชในพิธีเซมา พิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi อิสตันบูล

การจัดแสดงเครื่องแต่งกายของเดอร์วิชในพิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi ในอิสตันบูล

หลุมฝังศพของเดอร์วิช พิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi อิสตันบูล

อ้างอิง:

  • “Turkey: sounds of anatolia” โดย Martin Stokes และ Francesco Martinelli ในหนังสือ The Rough Guide to World Music: Africa & Middle East
  • บท The Middle East: Islam and the Arab World, Iran, Egypt, Sufism, Judaism ในหนังสือ World Music: A Global Journey โดย Terry E. Miller และ Andrew Shahriari 
  • Clubbing: Dancing, Ecstasy and Vitality โดย Ben Malbon (อ้างถึงใน Why Music Matters ของ David Hesmondhalgh)
  • บทความ “A To Z of World Music” โดย Simon Broughton
Tags: , , , , ,