บทความนี้แปลงมาจากโปรเจ็คต์ในวิชา ‘ประวัติศาสตร์แฟชั่นปี 1900s – ปัจจุบัน’ ตอนเราเรียนที่มิลาน โดยอาจารย์มอบ ‘แฟชั่นไอคอนแห่งประวัติศาสตร์’ ให้กับนักเรียนทีละคน เพื่อให้นำไปศึกษาและนำมาพรีเซนต์ตอนจบเทอม—จะเขียนในแง่ไหนก็ได้ โดยมีกฏว่าต้องสามารถดึงเอา fashion legacy ที่ไอคอนเหล่านี้ทิ้งไว้ในโลกปัจจุบันออกมา

“ของเธอ….อะมีเลีย แอร์ฮาร์ท”

“เธอ….ซิโมน เดอ โบวัวร์”

“ของเธอ…เกรซ โจนส์”

ตอนที่อาจารย์เรียกชื่อเราและบอกว่า “ของเธอ… ฟรีด้า คาห์โล” เราแอบกรี๊ดอยู่ในใจ

แม่ลงว่ะ!

สำหรับสตรีผู้มีความคูลเป็นพิเศษเราจะเรียกเธอว่า ‘แม่’ และถ้าเธอแม่ยิ่งกว่าแม่ก็จะได้เป็น ‘ยาย’ ซึ่งระบบการเรียกแบบนี้เรารู้สึกว่าน่ารักดี เลยหยิบเอามาเขียนเป็นโปรเจ็กต์เสียเลย ความว่า ฟรีด้า คาห์โลไม่ได้เป็นเพียงแม่แห่งสไตล์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ดีไซเนอร์มากมายเท่านั้น แต่ยังเป็นแม่ทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิด ‘ลูกๆ’ ในยุคมิลเลียนเนียลมากมายอีกด้วย

ฟรีด้า คาห์โลเป็นใครกัน

จิตรกรชาวเม็กซิกันผู้นี้ ‘เลือก’ ที่จะระบุว่าตัวเองเกิดในปี 1910 เพราะเธอต้องการเกิดใหม่พร้อมกับประเทศเม็กซิโกหลังจากการปฏิวัติ ชีวิตส่วนตัวของฟรีด้าได้ส่งผลต่อวงการศิลปะรวมไปถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกมากมาย ฟรีด้าเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 27 หลังการต่อสู้กับโรคร้ายและความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจมาตลอดหลายปี ผลงานศิลปะของของเธออยู่ในหมวดเซอร์เรียลลิสม์ (surrealism) และภาพหลักๆ ที่เรารู้จักกันมักจะเป็นผลงานชนิด self-portrait หากจะเรียกเธอว่ามารดาแห่งการเซลฟี่ก่อนยุคเซลฟี่ก็คงจะไม่ผิดนัก

หากเพ่งมองในยุคปัจจุบัน เราก็คงสามารถวิจารณ์การเซลฟี่ในโลกใหม่ว่าเป็นการก่อร่าง (construct) ตัวตนผ่านทางภาพถ่ายด้วยตัวเอง ในช่วงปี 20s นั้น ฟรีด้าเองก็แสดงตัวตนและจิตใจของเธอผ่านสื่อที่เรียกว่าภาพวาดเช่นกัน

ชีวิตของเธอมีความเป็นขบถอยู่ในเลือด ฟรีด้าเปิดเผยว่าตนเป็นไบเซ็กช่วลแม้จะแต่งงานกับจิตรกรเอกชาวเม็กซิกันอีกคน ดิเอโก ริเวร่า ไปแล้ว (คู่รายอื่นๆ ของแม่ก็มีทั้งลีออน ทร็อตสกีย์จนถึงโจเซฟีน เบเกอร์เลยนะ ยอมแม่สิ!) และหากจะมองกันที่แฟชั่นเป็นหลัก สไตล์ส่วนตัวของฟรีด้าก็ทำให้เธอกลายเป็นแฟชั่นไอคอนไปโดยปริยาย ขณะที่หญิงสาวอีกค่อนโลกหลงใหลแฟชั่นเฮดแบนด์ขนนก ไข่มุก และทรงผมม้วนลอนสั้นกุดตามแบบฉบับของยุค 20s ฟรีด้าเลือกปรากฏตัวในชุดพื้นเมืองแบบเม็กซิกัน, มงกุฎดอกไม้, คิ้วเส้นเดียวเปรี้ยวสุดๆ และลุคที่มีกลิ่นอายมาสคิวลินเป็นหลัก

และแม้ว่าจะไม่เคยประกาศตัวว่า “ฉันเป็นเฟมินิสต์จ้า” แต่การใช้ชีวิตของแม่ก็ตรงต่อความเป็นเฟมินิสต์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งมั่นในอาชีพจิตรกร ซึ่งในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็น​ ‘อาชีพ’ หรือ ‘การวาดรูป’ ก็มักจะเป็นเรื่องของผู้ชาย โลกของผู้ชาย (—แม้แม่จะเป็นเฟมินิสต์ที่เจ็บปวดเพราะชายคนรักสุดหัวจิตหัวใจก็ตาม)

การที่เราเรียกฟรีด้าว่าเป็น ‘แม่’ ทางวัฒนธรรมก็เพราะว่ามรดก (legacy) ที่เธอทิ้งเอาไว้ซึ่งไม่ได้มีเพียงสไตล์พื้นเมืองและสีสันสวยงามเท่านั้น แต่ภายใต้ภาพสีน้ำมันนับร้อย เธอได้สร้างผลผลิตที่มอบพลังทางการแสดงออกของผู้หญิงเอาไว้มากมาย และคงน่าเสียดาย หากเราจะไม่เล่าถึงลูกๆ ของเธอกันบ้าง

ลูกคนที่ 1 ในการแสดงออกถึงความเป็นหญิง: ทาวี่ เกวินสัน (Tavi Gevinson)

ฟรีด้าไม่เคยลังเลที่จะพูดถึงประเด็นที่ exclusive เฉพาะกับผู้หญิงผ่านทางภาพวาด โดยเฉพาะความเจ็บปวดในจิตใจ เช่น การแท้งลูก หรือความเป็นแม่ โดยเฉพาะในผลงาน Henry Ford Hospital (1932) ที่เห็นได้ชัดที่สุด ฟรีด้าวาดภาพตัวเองบนเตียงโรงพยาบาล และถูกรายล้อมด้วยสิ่งต่างๆที่ทำให้เธอเจ็บปวด พันธนาการเอาไว้ด้วยเส้นสีแดงที่เหมือนสายสะดือ และหนึ่งในความเจ็บปวดนั้นเกี่ยวพันกับทารกเพศชาย ลูกของเธอกับดิเอโก ที่ฟรีด้าไม่สามารถให้กำเนิดออกมาได้

เรามองว่าการแสดงออกถึงความรู้สึกแบบที่ “มีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่เข้าใจ” นับเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเฟมินิสต์ชนิดหนึ่งเช่นกัน ก่อนยุคของฟรีด้า ศิลปินหญิงที่พยายามแสดงออกถึงความเจ็บปวดในจิตใจมักถูกมองว่าเป็นคนบ้า วิกลจริต แต่ในขณะเดียวกันหากเป็นชายแล้วความบ้า จะถูกเรียกว่า ‘อารมณ์หดหู่ของศิลปิน’ (ให้ตายเถอะ) และในหลายแขนงของสตรีนิยมนั้น การไม่อึกอักหรือคิดว่าความเป็นหญิงนั้นน่าอายก็เรียกได้ว่าเป็นการ empower ที่สำคัญและทำได้มากขึ้นในยุคปัจจุบันแล้ว

ในยุคของเธอ สื่อที่ฟรีด้าใช้แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาคือภาพวาด แต่สำหรับปัจจุบัน ทาวี่ เกวินสัน แฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์วัยเยาว์คนดังนั้นเลือกจะใช้บล็อกและเว็บไซต์ ในการเล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงเพื่อเด็กผู้หญิง โดยเธอมีฟรีด้าเป็นหนึ่งในไอดอลคนสำคัญ ผลงานเขียนและมุมมองต่อแฟชั่นที่น่าตื่นตาตื่นใจได้พาทาวี่ไปนั่งอยู่บน ฟรอนท์โรว์ ของโชว์ดิออร์​กูตูร์ตั้งแต่อายุเพียง 13 ปีเท่านั้น

ปัจจุบันบล็อกของทาวี่ได้กลายร่างเป็นเว็บไซต์ Style Rookie ซึ่งเป็นเหมือนใบเบิกทางและคอมมิวนิตี้ที่สร้างมาเพื่อให้เด็กผู้หญิงวัยนี้ได้เรียนรู้ความเป็นไปของโลกและศึกษาความรู้สึกของตัวเองผ่านทางงานเขียนและศิลปะ โดยเปิดกว้างให้พูดถึงเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นการกดดันจากเพื่อน (peer pressure) หรือความสงสัยในเพศสภาพของตัวเอง แถมไปด้วย printables มากมายให้เล่นสนุกและคลุกคลีกับศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ตัวเว็บไซต์สีชมพูและทุกอย่างที่ดูเฟมินีนเหมือนกำลังปลอบเราอยู่ว่า ต่อให้ชอบอะไรแบบผู้หญิงๆ ต่อให้มีความเจ็บปวดในจิตใจ เราก็สามารถสร้างสรรค์และแข็งแกร่งขึ้นได้เช่นกัน

 

ลูกคนที่ 2 ในความงาม: The Hairy Legs Club

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำของฟรีด้านั้นมาพร้อมคิ้วเดียวปลิงๆ และหนวดหรอมแหรม และนั่นคือการขัดต่อกฏความงามของสตรีที่ว่าด้วยการมีคิ้วสวยเบาสบายและร่างกายกันไร้ขนส่วนเกิน และแม้เราจะไม่รู้แน่ชัดว่าสมัยนั้นมีแว็กซ์ดีๆ หรือไม่ การเลือกที่จะไม่โกนขนตามขนบธรรมเนียมความงามนั้นก็เป็น political statement ที่ฟรีด้าเลือกจะใช้เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนของเธอว่าจะไม่ทำตามกฏความงามในสมัยนั้นอย่างเด็ดขาด

เช่นเดียวกับกลุ่ม Hairy Legs Club ใน tumblr ซึ่งเป็นที่รวมตัวของเหล่าสาวขนอุยผู้เลือกที่จะไม่โกนขนขา เพจนี้เต็มไปด้วยๆสาวๆที่ถ่ายรูปขนหน้าแข้งของตัวเองลงแล้วมาดีเบตกันว่า “ขนบนร่างกายของฉันนั้นมันน่ารังเกียจขนาดนั้นจริงๆ หรือ?” ซึ่งการโกนหรือไม่โกนขนในส่วนใดๆ ของร่างกายตัวเองมันก็คือสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่หรือ? ขอเพียงรักษาความสะอาดได้ดีและไม่มีกลิ่นรบกวนคนอื่นก็พอแล้วไม่ใช่หรือไง?

เรื่องการไม่โกนขนบนร่างกายของสตรีนั้นมีหลายเหตุผลด้วยกัน บ้างก็เพราะวัฒนธรรม บ้างก็เป็นเพราะศาสนา หรือแม้แต่เป็นชาเลนจ์ที่ทำกันเล่นๆ อย่างอย่าง No Shave November แต่การเลือกที่จะไม่โกนขนเพื่อแสดงความขบฎต่อกฏแห่งความงามที่สังคมเป็นคนสร้างนั้นคือหนึ่งใน legacy ที่ฟรีด้าทิ้งเอาไว้ให้ไม่ผิดแน่

 

ลูกคนที่ 3 ในความภูมิใจทางเชื้อชาติ: อแมนดลา สเตนเบิร์ก (Amandla Stenberg)

ฟรีด้านั้นประดับประดาตัวเองด้วยกลิ่นอายเม็กซิกันอย่างเต็มที่ เสื้อผ้าที่เธอสวมเป็นประจำคือชุดเดรสยาวพื้นเมืองที่เรียกว่า Tehuana Dress มีการถกเถียงกันเรื่องการเลือกสวมชุดของฟรีด้าอยู่มาก ว่าเป็นสไตล์ส่วนตัวของเธอเองที่เป็นการเลือกสวมชุดเพื่อปกปิดขาลีบเล็กจากโรคโปลิโอ หรือว่าเป็นการเอาใจสามีที่เคร่งครัดในความสมบูรณ์แบบของ Mexicanidad มากกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดกรุชุดส่วนตัวของฟรีด้าออกมา เราพบว่าเธอเลือกจะสวมเพียงชุดเดรส tehuana เท่านั้นจริงๆ

สไตล์แฟชั่นแบบพื้นเมืองที่ส่งผ่านยุคสมัยมาทางฟรีด้า คาห์โลนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้คอลเล็คชั่นแฟชั่นระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวาเลนติโน่ (Valentino) หรือฌอง ปอล กัลติเยร์ (Jean Paul Gaultier) ฯลฯ ซึ่งที่น่าสนใจคือชุดเดรสยาวนั้นเป็นชุดพื้นเมืองของพื้นที่บริเวณ Tehuantepec ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นสังคมมาตาธิปไตย ที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำครอบครัว ว่ากันว่าฟรีด้าน่าจะเลือกชุดพื้นเมืองของท้องถิ่นนี้เพื่อแสดงถึงความเชื่อในพลังของผู้หญิง และยิ่งไปกว่านั้น คือพลังของผู้หญิงเม็กซิกันด้วย

กลับมาที่โลกปัจจุบัน ในยุคที่การหยิบใช้วัฒนธรรมอย่างฉาบฉวย (cultural appropriation) เป็นเรื่องสำคัญของวงการแฟชั่น สิ่งนี้คือเรื่องใหญ่ที่ชาติทางตะวันตกให้ความสำคัญและระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมอเมริกันที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากชาติพันธุ์รวมกันอยู่ในประเทศเดียว หลายครั้งการบอกเล่าโดยบุคคลจากชาติพันธุ์นั้นเองจึงอาจเข้มข้นกว่า เราขอเลือกพูดถึงความภูมิใจในเชื่อสายแอฟริกันก็แล้วกัน ซึ่งถึงแม้จะเป็นคนละเชื้อชาติกับฟรีด้าแต่ความภูมิใจในความเป็น ethnic women ก็เรียกว่าเป็นจุดร่วมที่น่าสนใจได้อยู่ดี

เรื่องที่ อแมนดลา สเตนเบิร์ก เลือกที่จะพูดถึงก็คือผมธรรมชาติของคนเชื้อสายแอฟริกัน ไม่ว่าจะเป็นผมหยิกแบบแอโฟร มวยบันทู (bantu knots) หรือถักผมแบบคอร์นโรว์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมัยก่อนคนขาวต่างก็ตั้งแง่รังเกียจ มองว่าเป็นความสกปรก และถึงแม้ทุกวันนี้เอง ความเท่าเทียมนั้นก็ยังไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ทางวัฒนธรรม โดยคนก็ยังมองวัฒนธรรมและสไตล์แบบแอฟริกันเป็นสิ่งชั้นล่างและป่าเถื่อนอยู่ แต่เมื่อคนขาวทำผมแบบคอร์นโรว์บ้าง กลับกลายเป็นความเท่และเก๋ไก๋ โดยที่ยังคงเหยียดคนดำที่ทำผมแบบนั้นว่าสกปรกอยู่ (ทั้งๆ ที่มันเป็นผมธรรมชาติ และนี่ก็เป็นอีกประเด็นที่นับว่าเป็น cultural appropriation เช่นกัน)

อแมนดลาเลือกวิธีสร้าง youtube video ชื่อ ‘Don’t Cash Crop on my Cornrows’ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมทางวัฒนธรรมนี้ และตัวเธอเองก็ไว้ผมทรงธรรมชาติแบบแอฟริกัน ซึ่งดูสวยงามและเท่มาก หนังฮอลลีวู้ดที่เพิ่งออกอย่าง The Black Panthers ก็แสดงภาพผู้หญิงชาวแอฟริกันไว้ผมตามธรรมชาติ ความภูมิใจในเชื้อชาติของผู้หญิงนั้นเป็นหนึ่งใน legacy ที่ฟรีด้าและ ethnic women อีกหลายร้อยคนทิ้งเอาไว้ให้คนรุ่นหลังในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกแคบลงเรื่อยๆ นี้

ผลผลิตของแม่ฟรีด้า

กลับมาที่ว่าทำไมฟรีด้าถึงยังคงอิทธิพลต่อสาวๆในยุคมิลเลียเนียลมากขนาดนี้?

นั่นอาจเป็นเพราะทุกอย่างที่งานของฟรีด้าและตัวตนของเธอสื่อออกมา ยังคงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องพูดถึงกันอยู่ในทุกวันนี้น่ะสิ

ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิสตรี ความงาม หรือการเหยียดชาติพันธุ์ เรื่องไหนๆก็ยังคงเป็นปัญหาของสังคมยุคปัจจุบันอยู่ทั้งนั้น แม้ว่าจะผ่านยุคของแม่มาแล้วถึงหลายสิบปีก็ตาม และการสื่อสารด้วย visual ของฟรีด้า ก็ยังเป็นสไตล์ที่คงความร่วมสมัยอยู่เสมอ แค่เปลี่ยนจากภาพเขียนสีน้ำมัน เป็นช่องทางคอมมิวนิตี้ออนไลน์ต่างๆ เท่านั้น

โลกของผู้หญิงยุคมิลเลนเนียลนั้นอบอุ่นกว่าห้องโรงพยาบาลเหงาๆ ของฟรีด้ามาก แต่เธอไม่เคยหยุดแสดงออกถึงสิ่งที่เธอให้ความสำคัญ และมอบความกล้าให้ผู้คนมากมายผ่านทางภาพเขียนแม้ร่างกายจะเจ็บปวด ดังนั้นอิสรภาพในการแสดงออกของผู้หญิงที่ฟรีด้าทิ้งเอาไว้ให้ จึงเป็น legacy ที่ควรถูกพูดถึงมากกว่าแค่มงกุฎดอกไม้หรือคิ้วเส้นเดียวหนาๆ มากนัก

Tags: , , , ,