1.
มันเป็นทางเดินเล็กๆ ที่ทอดยาวไปยังสวนแห่งหนึ่ง รายทางมีต้นไม้ใหญ่ยืนเรียงแถวกันและไร้ใบ กิ่งก้านของพวกมันแผ่คลุมราวกับคำเชื้อเชิญปริศนาให้คนแปลกหน้าอย่างผมเดินเข้าไป ในความเย็นเยียบและมืดสลัว ผมเห็นตะเกียงเล็กๆ มากมายวางอยู่บนพื้น แสงตะเกียงคล้ายดั่งดาวระยิบกระจายออกไปในบริเวณกว้าง ผมเดินเข้าหาดวงแสงที่ใกล้ตัวที่สุดและพบว่ามันเป็นตะเกียงที่จุดไว้ใกล้กับไม้กางเขนเหนือหลุมศพ ความสว่างของมันทำให้เห็นชื่อของผู้ตาย Gisella ( – 1956) ไม่มีใครรู้ปีเกิดของเธอ แต่อย่างน้อยก็มีคนจดจำปีตายของเธอได้ ข้างอักษรสลักนามบนแผ่นหินมีดอกไม้แห้งสีม่วงอ่อนวางอยู่
ภาพที่เห็นต่อหน้า ทำให้ผมทราบว่าตนกำลังเดินอยู่ในทางเดินของสุสาน แสงดาวที่ระยิบบนพื้นดินอาจเทียบได้กับจำนวนของสุสานที่มีผู้มาเยี่ยมเยียน ครานั้น มันไร้ซึ่งความหวาดกลัวใดๆ ราวกับมีเสียงเพรียกให้ผมเดินเข้าไปข้างในเรื่อยๆ ผมกล่าวอำลา Gisella เบาๆ ด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ก่อนจะลุกขึ้นแล้วเดินลึกเข้าไป
น่าแปลก หมอกเริ่มปกคลุมสุสานมากขึ้น แต่ผมกลับเห็นรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน บนพื้นหญ้าและทางเดินมีกระต่ายสีขาวขุ่นกระโดดไปมาหลายตัว ใจผมรู้สึกอุ่นคล้ายมีเพื่อนร่วมทาง ครั้นเดินตามกระต่ายตัวหนึ่งไปเรื่อยๆ จึงพบว่าโพรงของมันคือหลุมที่ลึกลงไปในหลุมศพ จากนั้นสุสานแห่งนี้พลันกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมและสร้างความหวาดกลัวขึ้นมาทันที อุณหภูมิลดต่ำลงเรื่อยๆ ประกอบกับทัศนวิสัยเริ่มไม่ชัดเจนเช่นเคย ผมหันหลังกลับและเดินย้อนทางเดิม ทั้งที่ไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ไหน
ท่ามกลางความคลุมเครือของสายตา ภาพของไม้กางเขนและอนุสาวรีย์เล็กๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ตายปรากฏขึ้นสลับไปมาตลอดทาง หลายอันสร้างขึ้นอย่างเรียบๆ และมีบางอันที่แกะสลักอย่างวิจิตร ทว่า มันก็ราวกับบรรจุความเศร้าโศกไว้อย่างมหาศาล ผมเดินไปไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ กระทั่งพบกระต่ายตัวหนึ่งขวางทางเดินไว้ เรายืนสบตากันอยู่นาน
การเดินทางของผมจบลงแค่นั้น
ระยะเวลาในความฝันมันอาจยาวนานหรือสั้นเพียงไร ระยะเวลาในการเล่าความจริงของความฝันให้ผู้อื่นฟังมันมักสั้นกว่าเสมอ
2.
เรื่องที่เล่าข้างต้นคือความฝันของผมเอง ระยะเวลาในความฝันมันอาจยาวนานหรือสั้นเพียงไร ระยะเวลาในการเล่าความจริงของความฝันให้ผู้อื่นฟังมันมักสั้นกว่าเสมอ ผมมักใช้คำว่า ‘ความจริงของความฝัน’ เพราะในทัศนะของจิตวิเคราะห์ ความฝันคือกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่โลกของจิตใต้สำนึก ความฝันเป็นเสมือนภาษาและอุดมไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย หากโลกของเหตุผลและกลไกของระเบียบแบบแผนทางสังคมต่างๆ ดำเนินอยู่ในโลกของความเป็นจริง โลกของความฝันก็คือพื้นที่หนึ่งของการปลดปล่อยความเก็บกดปิดกั้น ตลอดจนแรงปรารถนาที่มิอาจดำเนินได้ในโลกของความเป็นจริง
คนโดยทั่วไปมักจะเข้าใจการพิจารณาความฝันในแนวทางจิตเคราะห์อย่างคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะการตีความระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ให้จดจ่ออยู่ภายใต้สัญลักษณ์ทางเพศเพียงอย่างเดียว ทั้งยังนำกรอบทางศีลธรรมเข้ามากำกับควบคุมการตีความดังกล่าว ทว่า โดยสาระแล้วสัญลักษณ์ทางเพศและสัญลักษณ์อื่นๆ ที่ปรากฏในความฝัน สามารถถูกตีความอย่างเชื่อมโยงไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในตัวของปัจเจกบุคคลเจ้าของความฝันนั้นๆ กับคนอื่นๆ ในสังคม
การแยกโลกของความฝันกับโลกของความเป็นจริงออกจากกันอย่างสิ้นเชิงจึงมีลักษณะของการแยกขั้วที่ผิดพลาด (False dichotomy) เนื่องจากโลกทั้งสองใบนั้นล้วนเชื่อมโยงกันและสะท้อนรูปแบบในการดำรงอยู่ (Form of being) ของความเป็นคนในตัวเรา
ในปัจจุบัน นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และด้านจิตวิทยา อาจมีความคิดที่ว่า แนวทางการศึกษาด้านจิตวิเคราะห์เป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้ว ผมกลับคิดว่าเราสามารถสร้างวิธีการอ่านได้อย่างหลากหลายและต่างออกไปจากขนบได้เสมอ ทุกครั้งที่อ่านหนังสือเรื่องการตีความความฝันหรือ The Interpretation of Dreams ของฟรอยด์ ผมมักนึกถึงนัยสำคัญของหนังสือเรื่อง Madness and Civilization ของมิเชล ฟูโกต์ไปพร้อมกันด้วยพร้อมๆ กัน ในหนังสือเล่มนี้ฟูโกต์ทำการอธิบายนัยอันสลับซับซ้อนของความบ้า (Madness) ในสังคมตะวันตก ความบ้าได้ปรากฏขึ้นมาอย่างจริงจังในช่วงสิ้นสุดของยุคกลางแทนที่ความน่ารังเกียจของโรคเรื้อน (Leprosy) ฐานะเดิมของความบ้าอาจเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับ vision หรือการมองเห็นอนาคต รวมไปถึงนัยความหมายอื่นๆ ทว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความบ้าได้กลายส่วนหนึ่งของความน่าละอายและถูกแยกออกจากความแบ่งเบนทางสังคมประเภทอื่นๆ
ฟูโกต์อธิบายความบ้าภายใต้การก่อเกิดความคิดด้านเศรษฐกิจและมูลค่าของแรงงานเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งของความบ้าจึงถูกสร้างขึ้นบนฐานของการไร้มูลค่าของงานที่จะมีส่วนเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ความบ้ายังถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของความเป็นเหตุผล ฟูโกต์ได้วิเคราะห์มโนทัศน์ว่าด้วยความเพ้อคลั่ง (Delirium) ซึ่งเป็นเสมือนแกนกลางของความหมายในการนิยามความบ้า เขาได้พบว่าความบ้าเป็นเสมือนวาทกรรมหนึ่งที่ถูกแยกออกจากความเป็นเหตุเป็นผล การควบคุมความบ้าจึงเกิดขึ้นเพื่อแยกคนเหล่านี้ออกจากเมืองที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างศิวิไลซ์ คนบ้าหรือคนที่ถูกกล่าวหาว่าบ้าจึงต้องถูกกักกันไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับคนปกติหรือคนที่มีอารยะ ในความหมายของคนที่สามารถใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ได้ คุกหรือสถานที่กักกันจึงเป็นพื้นที่แรกๆ ในการกักขังคนบ้า ในหนังสือเล่มนี้ฟูโกต์ได้อธิบายว่าพื้นฐานความคิดสำคัญของความบ้าที่ถูกสร้างขึ้นมีอยู่สี่ประการคือ อาการซึมเศร้าและสิ้นหวัง (Melancholia) ความคลั่งไคล้ลุ่มหลง (Mania) ฮิสทีเรีย (Hysteria) และ อาการย้ำคิดทางจิตของตนเองมากกว่าบุคคลทั่วไป (Hypochondria)
ส่วนหนึ่งของความบ้าถูกสร้างขึ้นบนฐานของการไร้มูลค่าของงานที่จะมีส่วนเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเป็นสำคัญ
ดังนั้น การเยียวยารักษาคนบ้าและความบ้าจึงเกิดขึ้นอย่างคลุมเครือและไม่ชัดเจนระหว่างการใช้วิธีการทางแพทย์กับการตัดสินเชิงศีลธรรม กล่าวอีกแบบก็คือ เป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างการเยียวยาให้ความบ้ากลายเป็น ‘ความปกติ’ และการชำระล้างให้คนบ้ากลายเป็น ‘คนปกติ’ นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สถานที่กักกันคนบ้าหรือคุกนั้นได้ประสบกับวิกฤติทางการเงินในการบำรุงรักษา ประกอบกับความเคลื่อนไหวในเชิงมนุษยธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว โรงพยาบาลบ้าจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อรับหน้าที่จัดการเยียวยาบำบัดผู้ป่วยต่อจากสถานที่กักกันดังกล่าว กระนั้น ภายในโรงพยาบาลบ้าก็ยังมีทัศนคติต่อคนบ้าในฐานะผู้ที่อยู่นอกเหนือศีลธรรม กระทั่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความบ้าได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกวางไว้ในฐานะความเสื่อมทรามทางศีลธรรมแบบหนึ่ง นั่นคือ ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ในโรงพยาบาลบ้า
ฟูโกต์ในฐานะนักประวัติศาสตร์ทางความคิดเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาโดยมีเป้าวิเคราะห์และท้าทายงานศึกษาด้านจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ เขาได้พยายามก่อรูปความบ้าขึ้นมาในฐานะสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนเงื่อนไขและบริบททางสังคมที่แวดล้อมกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าผู้ป่วยจิตเภท ในขณะที่ฟรอยด์มิได้สนใจจุดนี้ นักจิตวิเคราะห์สนใจที่จะศึกษาปัจเจกบุคคลและดำดิ่งไปในรายละเอียดของเรื่องราวและสัญลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นทั้งในคำพูดและความฝัน แม้ว่างานเขียนของฟรอยด์ในระยะหลังจะให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น ทว่า เฉกเช่นนักจิตวิเคราะห์ทั่วไป หน่วยการศึกษาเขาคือจิตใต้สำนึก
สำหรับผม หนังสือเล่มนี้ของฟูโกต์และงานศึกษาของฟรอยด์มิได้ขัดแย้งกันอย่างตรงไปตรงมานัก ขณะเดียวกันทั้งสองกลับมีจุดร่วมกันที่น่าสนใจคือ การพยายามจะสร้างบทสนทนากับความไร้เหตุผล (Unreason) ด้วยวิถีทางที่ต่างกันออกไป ผมซึ่งสมาทานแนวความคิดจิตวิเคราะห์มากกว่า จึงคิดว่างานเขียนชิ้นนี้ของฟูโกต์สามารถช่วยให้เราทำความเข้าใจงานศึกษาด้านจิตวิเคราะห์มากขึ้นเสียด้วยซ้ำ หากเราย้อนกลับไปดูกรณีศึกษาของฟรอยด์ในกรณีของโดรา (Dora) และชีวิตของซาบีนา เราจะพบว่าทั้งสองคนเติบโตขึ้นมาในบริบทและเป็นมรดกของความบ้าที่ถูกสร้างขึ้นในความหมายของฟูโกต์แทบทั้งสิ้น นักจิตวิเคราะห์ในรุ่นหลังจึงเริ่มให้ความสำคัญกับโลกของจิตสำนึกและโลกที่ถูกกำกับด้วยเหตุผลมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ในส่วนที่โผล่พ้นปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งอันน้อยนิดนี่เอง ช่างเต็มไปด้วยกลไกการทำงานของอำนาจบนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นในด้านของการผลิตสร้างความรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ตลอดจนประเด็นในเรื่องความเป็นธรรมและความคิดเรื่องเสรีภาพ
การทำความเข้าใจโลกของจิตใต้สำนึกและจิตสำนึกไปพร้อมๆ กันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจรูปแบบของการดำรงอยู่ (Form of living) ดังที่กล่าวถึงในข้างต้น
ความจริงของความฝันจึงเป็นเหมือนภาษาที่ทั้งสะท้อนและถูกสร้างโดยสัจจะในโลกแห่งความเป็นจริง
การลงทัณฑ์ที่โหดร้ายที่สุดประเภทหนึ่งคือการกล่าวหาหรือประณามใครสักคนหนึ่งว่าเป็นบ้าและกีดกันคนคนนั้นออกไป
3.
ผมเริ่มต้นบันทึกความฝันของตัวเองเมื่อครั้งเรียนมานุษยวิทยากับจิตวิเคราะห์สมัยเรียนปริญญาตรี ไม่นานนักก็เลิกไป ผมหันกลับมาบันทึกมันอีกครั้งเมื่อต้องเดินทางมาเพื่อศึกษาต่อในต่างแดน การไปเยี่ยมบ้านฟรอยด์ที่เวียนนานับเป็นเหตุผลหนึ่งที่กระตุ้นให้กลับมาสนใจแนวทางของจิตวิเคราะห์อีกครั้ง ทว่าลึกๆ แล้ว ความฝันต่างหากที่เป็นเสมือนแรงผลักให้ผมกลับมาเผชิญหน้ากับความทรมานในจิตใต้สำนึกของตนเอง
หนึ่งในความทรมานนั้นคือการถูกใส่ความหมายว่าเป็นบ้าหรือจิตไม่สมประกอบ
แน่นอน หากเราพิจารณาผ่านความหมายของฟูโกต์ ความบ้าเป็นความไร้เหตุผลอย่างหนึ่ง ระหว่างความบ้าและความไร้เหตุผลมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างยุ่งยากเพราะมันอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป ทว่า สิ่งที่ชัดเจนคือ การลงทัณฑ์ที่โหดร้ายที่สุดประเภทหนึ่งคือการกล่าวหาหรือประณามใครสักคนหนึ่งว่าเป็นบ้าและกีดกันคนคนนั้นออกไป แน่ล่ะ การกระทำเช่นนั้นสะท้อนถึงความมืดบอดในแสงสว่างทางประสบการณ์ของผู้กระทำ ขณะเดียวกันมันยังสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามใช้เหตุผลที่มีอยู่อย่างจำกัดเข้ามาคุมขังความไร้เหตุผลให้อยู่ภายในความหมายดังกล่าว
เรื่องทั้งหมดนี้อาจยากเกินไปสำหรับการทำความเข้าใจผ่านภาษา ขณะเดียวกัน มันก็ง่ายเกินไปที่จะเก็บงำการสื่อสารกับโลกไว้ภายในจิตใต้สำนึก
บ่อยครั้งทีเดียว ผมค้นพบว่าการเข้าไปเดินเล่นในสุสานคือกิจกรรมไม่กี่อย่างที่ทำให้รู้สึกว่าตนไม่ได้อยู่เพียงลำพัง กระนั้น ผมก็ไม่คาดคิดว่าจะฝันถึง ในเบื้องต้น สุสานอาจหมายถึงสถานที่ซึ่งบรรจุร่างอันไร้วิญญาณมากมาย เป็นที่ประกอบพิธีกรรม และสุสานในโลกของคริสต์ศาสนาอาจเป็นทั้งที่พบปะของผู้คนหรือเป็นพี้นที่สาธารณะแบบหนึ่ง ทว่า สุสานในอีกความหมายหนึ่งคือสถานที่อันเป็นที่พักนิรันดร์ เป็นพื้นที่ซึ่งเวลาตามเข็มนาฬิกามิอาจเข้ามามีบทบาทสำคัญได้ นอกจากนี้มันยังเป็นสถานบรรจุความทรงจำของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อผู้ตาย แสงตะเกียงที่ส่องสว่างยามราตรียิ่งทำให้เราเห็นถึงการพยายามจารึกความทรงจำดังกล่าวผ่านชื่อและช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ของผู้ตายลงบนแผ่นหิน ตลอดจนลวดลายของมัน
สุสานจึงเป็นดั่งสถานที่พิเศษแบบหนึ่ง ความฝันในสุสานยิ่งเป็นสิ่งที่ควรครุ่นคิด
สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบในตอนนี้คืองานเขียนของฟูโกต์เล่มนี้และการศึกษาของนักจิตวิเคราะห์มิได้มีจุดร่วมกันเพียงแค่การสร้างบทสนทนากับความไร้เหตุผลเพียงอย่างเดียว ทว่าเบื้องหลังของการศึกษานี้ก็คือ การพยายามจะฟื้นความเป็นมนุษย์ (Re-humanization) ให้กับบรรดาผู้ป่วยหรือผู้ซึ่งถูกประณามจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ สำหรับผม สุสานจึงมีมิติบางด้านที่คล้ายกับโลกที่เหตุผลมิอาจเข้ามาคุมขังได้ การทำความเข้าใจสุสานจึงคล้ายกับการฟื้นชีพให้กับความเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง ผมจึงมักเดินเล่นในสถานที่แห่งนั้นอยู่เป็นนิจ
หลายวันถัดมาจากความฝันนั้น ผมมีโอกาสถามเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งถึงชื่อที่ปรากฏบนแผ่นป้ายในความฝันนั้นมีความหมายว่าอะไร เพื่อนทำหน้าสงสัย เขารับปากว่าจะหาคำแปลมาให้ อาทิตย์ต่อมาผมจึงทราบคำตอบ
Gisella หมายถึง คำมั่นสัญญา
ติดตามงานเขียนชุดใหม่จำนวน 4 ตอนของผู้เขียนได้ในหัวข้อ “รูปแบบของกำแพง”
ภาพ: Visuelle
อ้างอิง
Foucault, Michel. Madness and Civilization: A History of Insanity in the age of Reason. New York. Vintage Books. 1988.