ในหนังสือ Resource Revolution: How to Capture the Biggest Business Opportunity in a Century ที่เขียนโดย Stefan Heck อาจารย์เศรษฐศาสตร์นวัตกรรมและทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกับ Matt Rogers จากบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ McKinsey & Company แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ทั้งโลกกำลังกังวลกับทรัพยากรอันร่อยหรอลงเรื่อยๆ สวนทางกับความต้องการบริโภคที่พุ่งสูง จนถึงขั้นกลัวว่าเศรษฐกิจจะต้องล่มสลาย แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความกลัวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นระลอกในยุคต่างๆ และทุกวิกฤตนำไปสู่การผงาดของอุตสาหกรรมใหม่ที่ปรับตัวได้ดีกว่า ชาญฉลาดกว่า และสร้างนวัตกรรมได้ก่อนใคร

แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมจะทำให้บริษัทผู้แพ้หลายรายต้องล้มหายตายจาก และฟังดูโหดร้าย แต่ก็ให้ผลตอบแทนมาในรูปของการเกิดใหม่ของเทคโนโลยีที่ดีและสมเหตุสมผลกว่า แลกกับความตายของผู้เล่นที่ไร้ประสิทธิภาพในการปรับตัว

ไม่เพียงแต่บริษัทที่อ่อนแอก็ต้องแพ้ไปเท่านั้น ในระดับโลก ประเทศที่ไร้นวัตกรรมก็ต้องตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบในเวทีการค้าโลกเช่นกัน และที่น่ากลัวคือ หลังจากสะดุดล้มแล้ว ก็ยากจะตามทัน

เราพูดกันมานานแล้วว่า ประเทศไทยจะอยู่รอดและเจริญจากนี้ ไม่ใช่การใช้แรงงานไร้ทักษะอย่างแต่ก่อน แต่ต้องหันหน้าเข้าหาการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง และหนึ่งในอาชีพที่อยู่ในเส้นทางนี้ คงหนีไม่พ้น นักวิทยาศาสตร์ ว่าแต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นอยู่ที่ไหนกัน

0 0 0

รถเลี้ยวเข้ามาใน Science Park ดินแดนลึกลับสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานสายวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จริงมันอยู่แนบชิดติดรั้่วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต

Science Park เป็นชื่อย่อของ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถือเป็น ‘นิคมวิจัยสำหรับเอกชน’ ภายในมีทั้ง BIOTEC MTEC NECTEC และ NANOTEC สารพัดเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่ ‘นวัตกรรม’ คำที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นชินและดูไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงในประเทศของตัวเอง

ดร.อัญชลี มโนนุกุล นักวิจัยด้านวัสดุที่มีผลงานด้านอุตสาหกรรม ได้รับการบรรจุในรายชื่อ 2000 Outstanding Intellectuals of the 21st Century หอเกียรติยศของ International Biographical Center เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ในปี 2007 และได้รับรางวัล โครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ของลอรีอัลในปี 2008 จากผลงานดังกล่าว และล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัลนักวิจัยสตรีดีเด่น 2560ดร.อัญชลี มโนนุกุล

ขึ้นรูปด้วยการฉีด: ไม่สร้างส่วนที่ไม่ใช่

เมื่อพูดถึงนวัตกรรมขึ้นรูปโลหะผง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วยการขึ้นรูปโลหะผง หรือการขึ้นรูปโลหะแบบฉีดพ่น เราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าเป็นนวัตกรรมที่ใช้สำหรับทำอะไร และช่วยให้การผลิตดีขึ้นขนาดไหน ดร.อัญชลี อธิบายว่า นวัตกรรมนี้ช่วยปฏิวัติกระบวนการผลิตนาฬิกาโลหะทั้งหลาย ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเรือนและสาย เปลี่ยนจากกระบวนการผลิตที่นำโลหะก้อนใหญ่มาสกัดขึ้นรูปวัสดุ มาเป็นการ ‘ฉีด’ ขึ้นรูปวัสดุโลหะนี้ขึ้นมาแทน

“นึกภาพว่าถ้าไม่ใช้วิธีผง คุณก็ต้องเอาโลหะก้อนใหญ่มา กลึง-ไส-เจาะ-เจีย ต้องค่อยๆ ใช้เครื่องจักรกัดมันออกไป มันก็จะเสียวัสดุและเวลาไปเยอะ แต่ด้วยเทคโนโลยีโลหะแบบฉีด เราฉีดได้รูปร่างนี้ออกมาได้เลย แล้วนำไปเข้าเตาอบ อุตสาหกรรมที่เราพยายามขยับเข้าไปคือเครื่องประดับ เพราะว่าจริงๆ เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะสำหรับประเทศไทย แล้วยิ่งเป็นวัสดุราคาแพง ไม่ใช่วัสดุกลุ่มเหล็กแต่เป็นกลุ่มไทเทเนียม ถ้าเป็นนาฬิกาเรือนละ 20 ล้านก็จะเป็นโลหะมีค่า ราคาก็จะขยับไปไกลมาก”

นอกจากนี้ ดร.อัญชลี ยังมีผลงานชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไททาเนียมบริสุทธิ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม สามารถผลิตและจำหน่ายโฟมไททาเนียมเชิงพาณิชย์ได้ และชุดโครงการผลกระทบของบรรยากาศการเผาซินเทอร์ต่อสมบัติของชิ้นงานเหล็กกล้าไร้สนิม ที่ทำให้ชิ้นงานมีความต้านทานการกัดกร่อนเพิ่มขึ้น 10 เท่า

ทั้งหมดนี้คือการทำสิ่งที่วางแผนแล้วว่าใช่ แม้กระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์คือการทดลองล้มเหลวซ้ำๆ เพื่อจะสำเร็จ แต่เส้นทางของการล้มเหลวนั้นต้องชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร

อดีตนักเรียนทุน

“คนที่อยากโตในทางวิชาการควรจะต้องเลือกทำเรื่องเฉพาะทางในระดับหนึ่ง เพื่อที่เมื่อคนคิดถึงหัวข้อนี้ในเอเชียหรือในโลก ควรจะต้องคิดถึงเราด้วย มันจะต้องได้ขนาดนั้น เราจึงยังทำเรื่องโลหะผงอยู่ มั่นใจว่าถ้ามีคนคิดถึงหัวข้อนี้ในโลกนี้ คงจะต้องนึกถึงเราด้วย”

และก็เป็นเช่นนั้น ดร.อัญชลี คือ นักวิจัยไทยหนึ่งเดียวที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขึ้นรูปโลหะแบบฉีดเป็นที่รู้จักในระดับโลก “กลุ่มคนที่ทำทุกๆ เรื่องก็มี แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแก้ปัญหาทั่วๆ ไป แต่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมันจะสร้างผลประโยชน์ได้เยอะกว่า เพราะจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้จริง”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 ดร.อัญชลี จบการศึกษาปริญญาเอกสาขากลศาสตร์ของแข็งและวิศวกรรมวัสดุ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

“เริ่มมาจากการเป็นนักเรียนทุน เกิดและเรียนที่อุดร สอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีทุนตามความต้องการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เราก็ไปสอบพร้อมทุนอื่นๆ เช่น ทุนคิง ทุนแบงก์ชาติ ทุนกระทรวงวิทย์ฯ ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรี-โท-เอกที่อังกฤษ เริ่มแรกเราได้ไปเรียนวิศวะการผลิต ซึ่งเป็นสาขาที่กว้างมาก การเรียนแบบเลือกเฉพาะทางเพิ่งจะเกิดขึ้นตอนเรียนโท-เอก

“เวลานั้นคนที่ได้ทุนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังจะไปเรียนอะไร มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่หาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ตอนที่ไป เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะกลับมาทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) รู้ว่ากำลังมีคนจะจ่ายให้เราไปเรียนเมืองนอก ในเมื่อที่บ้านฐานะปานกลาง แต่จู่ๆ มีคนจะจ่ายเงินให้เราเรียนจนจบเอก เราจึงต้องคิดเสมอว่าเราใช้ภาษีประชาชนไปเรียนอยู่ พยายามจะทำความเข้าใจรูปแบบของศูนย์โลหะฯ ซึ่งเพิ่งตั้งได้ไม่นาน ว่าเขาทำงานประเภทไหน แล้วพยายามไปเรียนในด้านที่จะกลับมาทำงานที่นี่ได้ด้วย

“ที่ไทย เราต้องรอกันจนถึงระดับมหาวิทยาลัยกว่าจะได้เรียนเรื่องวัสดุศาสตร์ แต่ที่อังกฤษ ตอนเรียนไป ม.ปลาย ซ้ำก่อนเข้ามหา’ลัย วิชาฟิสิกส์จะมีโมดูลย่อยอย่างโมดูลวัสดุให้เลือก เพราะว่ารู้ว่าจะต้องมาทำงานเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ และการเรียนโมดูลย่อยใน ม.ปลายก็ทำให้เราเข้าใจว่าวัสดุคืออะไร ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ถ้าไปเรียนสิ่งนี้ในมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องเจออะไร”

“คนที่อยากโตในทางวิชาการควรจะต้องเลือกทำเรื่องเฉพาะทางในระดับหนึ่ง เพื่อที่เมื่อคนคิดถึงหัวข้อนี้ในเอเชียหรือในโลก ควรจะต้องคิดถึงเราด้วย มันจะต้องได้ขนาดนั้น”

เกือบ 10 ปีที่ ดร.อัญชลีใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ ก่อนกลับมาทำงานที่ MTEC ตามเงื่อนไขทุน มีหลายอย่างในชีวิตการทำงานที่ทำให้ต้องปรับตัวขนานใหญ่ เช่น ระบบการทำงาน การสื่อสาร และบุคลิกภาพส่วนตัว

“เราไม่เรียกว่าอุปสรรค แต่เรียกว่าเป็น ‘ความเฉพาะ’ ของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ทั้งวัฒนธรรมที่ต่างกัน บุคลิกของคนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศในแต่ละช่วงเวลาก็ยังต่างกันเลย เจ็บนิดหน่อยแต่เราก็พยายามเรียนรู้ ตอนกลับมาใหม่ๆ ทุกคนจะเมตตาเรามาก เพราะเขารู้ว่าเราไม่เข้าใจ”

แต่เมื่อถามว่าการเป็นผู้หญิงสร้างอุปสรรคในการทำอาชีพสายวิทยาศาสตร์ไหม โดยเฉพาะสายที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์อย่างนี้ ดร.อัญชลีตอบหนักแน่นว่า ‘ไม่เลย’

“ต้องบอกก่อนเลยว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีมุมมองที่ดีต่อผู้หญิงกับงานสายวิทยาศาสตร์ ในระดับโลก นักวิทยาศาสตร์ 1 ใน 3 เป็นผู้หญิง แต่ประเทศไทยอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ประเทศไทยเราทำได้ค่อนข้างดีมาก

“แต่ว่าพอไปดูจำนวนคนที่ได้รางวัลต่างๆ ทั้งระดับประเทศและโลก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะฉะนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับเรามองเรื่องอะไร จำนวนของผู้หญิงที่เข้าทำงานวิทยาศาสตร์ หรือจำนวนผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอย่างหลัง อาจเป็นเพราะภาระหน้าที่ด้านอื่นๆ ของผู้หญิงเมื่อมีครอบครัวด้วย

“แต่ข้อดีของการอยู่ในสายวิจัยวิทยาศาสตร์ก็คือ เขาดูที่ผลงานวิจัย จึงไม่เป็นประเด็นว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง”

คำถามสำคัญ : วิจัยไปทำไม

แต่การวิจัยไม่ใช่แค่การลงมือตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เรียงกัน แล้วเริ่มต้นทดลอง ทดลอง ทดลอง จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมา เพราะความจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์มีหน้าที่ตั้งแต่ออกแบบวิธีคิดและเป้าหมายตั้งต้น ว่าจะตอบโจทย์ผู้ที่สนับสนุนการทดลองนั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

“ตอนเราเรียนปริญญาเอกที่ต่างประเทศ คนส่วนใหญ่จะต้องทำการทดลอง เพราะมันเป็นสายวิทยาศาสตร์ เราไปเรียนเพื่อเข้าใจกระบวนการในการทำวิจัย คนที่ไปเรียนก็จะได้ทุนที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ให้ทุน ซึ่งมักจะเป็นรัฐบาลหรืออุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ และก็อาจไม่ตรงกับความสนใจในประเทศไทย อย่างตอนนั้น เราเรียนเรื่องโลหะไทเทเนียมกับนิกเกิลซูเปอร์อัลลอยด์ที่อยู่ในเครื่องยนต์ไอพ่นของโรลสรอยส์ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีความต้องการโลหะประเภทนั้นเลย ยิ่งถ้าเป็นสายเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน บางทีความต้องการเทคโนโลยีมันเป็นคนละระดับกัน ต่างประเทศคุยกันเรื่องอยากจะทำวัสดุเพื่อทำเครื่องยนต์ไอพ่น ส่วนประเทศไทยเรายังซ่อมบำรุงอยู่เลย แต่เรามีหน้าที่เรียนเพื่อให้เข้าใจกระบวนการในการทำวิจัย ขั้นตอนการคิดที่มีลักษณะชัดเจน มีการออกแบบการทดลองที่ชัดเจน ความสามารถในการเก็บความรู้ใหม่ๆ ได้ด้วยความรวดเร็ว

“บางทีความต้องการเทคโนโลยีมันเป็นคนละระดับกัน ต่างประเทศคุยกันเรื่องอยากจะทำวัสดุเพื่อทำเครื่องยนต์ไอพ่น ส่วนประเทศไทยเรายังซ่อมบำรุงอยู่เลย แต่เรามีหน้าที่เรียนเพื่อให้เข้าใจกระบวนการในการทำวิจัย”

“เราพยายามบอกน้องๆ นักวิจัยว่าการไปเรียน ป.เอก เราไม่ได้ไปเรียนเพื่อยึดติด ถ้าเราไปเรียนวิชานี้ที่ต่างประเทศ ยิ่งเรียนสูงขึ้นก็ยิ่งเฉพาะทาง มันจะมีกรณีที่ว่า กลับมาไทยปุ๊บ เรายังไปยึดติดเรื่องนี้อยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หนึ่ง ไม่มีคนให้ทุน สอง ถึงมีคนให้ทุนก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่คนต้องการที่นี่ ทุนทุกทุนจะถามว่าคุณจะนำงานชิ้นนี้ไปทำอะไรได้ คุณจะต้องทำให้เห็นภาพปลายทางได้ว่า มันจะไปที่ไหน การทำวิจัยในบางเรื่อง แม้จะจบโครงการ 5 ปีแรกอาจยังไม่มีตัวผลิตภัณฑ์ชัดเจน แต่ต้องให้เห็นภาพว่ากำลังค่อยๆ ไป

“อาจารย์ปริทรรศน์ (รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์) อดีต ผอ. MTEC เคยกล่าวไว้ว่า “มาขอทุนผม ขอให้กลับไปคิดก่อนว่า ถ้าเป็นเงินคุณ คุณจ่ายไหม ถ้าคุณจ่าย ผมให้คุณทำเลย” อันนั้นชัดเจนมากว่า ต่อให้เป็นทุนรัฐบาล แต่เราต้องไปคิดมาหนึ่งรอบว่า เราอยากจ่ายไหม”

ตัวเชื่อมของสองศาสตร์

เมื่อกลับมาประจำการที่ MTEC ดร.อัญชลีก็เข้ามาทำหน้าที่ดูแลห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ความโดดเด่นก็คือ นอกจากมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาแล้ว ผลงานของอาจารย์ยังปรับใช้สู่อุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ใช้ได้ในทันที และทำให้ได้ร่วมงานกับเอกชนมากมาย

“เราเรียนจบสายการผลิตและเครื่องกล เรียกได้ว่าเป็นวิศวกร ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เราคิดว่าเราสามารถรับหน้าที่เข้าไปดูแลแล็บฯ (ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง) ซึ่งเพิ่งได้รับมาจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพราะขณะนั้นยังไม่มีคนดูแล

“ตอนนั้น เรื่องที่เราเชี่ยวชาญคือการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ เป็นเรื่อง Finite Element Analysis อาชีพหลักคือการคิดสมการคณิตศาสตร์ใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์เพื่อทำนายว่าอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งในเครื่องยนต์ไอพ่นจะเสียเมื่อไร เสียที่ชั่วโมงบินเท่าไหร่ นั่นคือ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยไม่ได้สนใจเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยออกแบบและคำนวณเท่าปัจจุบัน การพูดเรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่คนไม่เข้าใจและต้องใช้เวลาเยอะ”ดร.อัญชลี มโนนุกุล

เมื่อไม่ยึดติด อาจารย์อัญชลีก็พร้อมลุยแก้ปัญหาประเด็นอื่นๆ ในกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ตัวเองได้ศึกษามาบ้าง อย่างเช่นเรื่องเทคโนโลยีโลหะผงที่ในขณะนั้นมีการวิจัยคิดค้นกันขึ้นมาแล้ว แต่ยังใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ

“ตอนนั้นมีบริษัทเอกชนญี่ปุ่นเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทยที่เขายกโรงงานซึ่งใช้เทคโนโลยีฉีดขึ้นรูปโลหะผงมาผลิตที่นี่ เราได้ทุนวิจัยให้ทำเรื่องการฉีดขึ้นรูปไทเทเนียม ซึ่งเรื่องนี้ เขาเคยให้อาจารย์ที่ญี่ปุ่นคนหนึ่งทำมาแล้ว แต่ติดปัญหาว่านำมาใช้ผลิตไม่ได้จริง เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อทำในแล็บทำได้ แต่มีช่องว่างระหว่างการนำไปสู่อุตสาหกรรม เมื่อเราทดสอบชิ้นส่วนและตามไปตรวจดูที่โรงงานก็พบต้นตอว่าเป็นปัญหาการปนเปื้อน

“แม้รายละเอียดนี้จะฟังดูไม่ค่อยเป็นวิชาการเท่าไหร่แต่ก็ต้องช่วยกันหา เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดช่องว่างในการขยายสเกลระหว่างห้องแล็บไปสู่อุตสาหกรรม ในห้องแล็บ เราทำสเกลเล็ก อยู่ในบีกเกอร์ แต่พอเป็นโรงงาน ที่เป็นถังใหญ่ มันก็จะเกิดปัญหา เช่น คนในโรงงานไม่เหมือนคนในห้องแล็บ การป้องกันการปนเปื้อนมีไม่เท่ากัน ต้องค่อยๆ ปรับกันไป”

“เรื่องที่เราเชี่ยวชาญคือการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ นั่นคือ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยไม่ได้สนใจเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยออกแบบและคำนวณเท่าปัจจุบัน”

รากฐานที่มีทั้งความเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ดร.อัญชลีค้นพบปัญหานี้ เป็นเสมือนสะพานเชื่อมโลกวิชาการเข้ากับอุตสาหกรรมที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้มา

“เรามีทั้งพื้นฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (applied science) ตอนกลับมาใหม่ๆ ก็พยายามบอกนักวิทยาศาสตร์ทุกคน ว่าเดี๋ยวจะทำหน้าที่ตรงกลางให้ เราชอบที่ได้ออกแบบเครื่องจักรสำหรับการขยายสเกลมากๆ ซึ่งมันไม่ค่อยวิชาการ เพราะฐานมาจากสายนั้น จนในที่สุด ทำให้เขานำเทคโนโลยีฉีดขึ้นรูปไทเทเนียมไปผลิตขายได้ประมาณปี 2004 เป็นบริษัทที่สองในเอเชียซึ่งทำกระบวนการนี้ออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้”

ดร.อัญชลี ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเรียนเรื่องวัสดุที่แยกย่อยออกเป็น เซรามิก โลหะ และโพลิเมอร์ ว่าบางมหาวิทยาลัยมีการแยกออกไปสอนในสองคณะ แยกต่างหากจากกัน และมีวิธีในการเรียนรู้คนละแบบ

“ในทุกๆ ที่ ถ้านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทำงานด้วยกันได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก”

นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

ดร.อัญชลีทราบดีว่านวัตกรรมสำคัญกับการเติบโตของประเทศอย่างไร

“เราสร้างนวัตกรรมไปเพื่ออะไร หลักๆ เลยก็เพื่อเพิ่มมูลค่า ถ้าเราจะเป็นแค่โรงงานประกอบ มูลค่าเพิ่มต่ำมากเลยนะ แต่ถ้าเรามีเทคโนโลยีของตัวเองด้วย เราสามารถนำเทคโนโลยีไปขายเมืองนอกได้ อย่างที่คนชอบเทียบว่ารถหนึ่งคันเท่ากับข้าวกี่ตัน นึกภาพว่ามูลค่าของเทคโนโลยีเทียบกับข้าว มันต่างกันขนาดไหน เราไม่ได้ว่าอะไรผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมนะ แต่มูลค่าเพิ่มมันต่างกันเยอะมาก เมื่อการซื้อเทคโนโลยีลดลง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศได้ดุลเยอะขึ้นมาก”

แต่กับคำถามที่อยู่ในใจเรามาตั้งแต่ต้น เป็นไปได้จริงๆ หรือที่คนไทยจะคิดค้นนวัตกรรมอะไรเองได้ ภาพสมาร์ตโฟนจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ ลอยเข้ามาในหัว ภาพหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จากต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลกับคนไทย โดยที่เราไม่ได้กลิ่นอาย ‘ไซ-ไฟ’ แบบนั้นจากบ้านของตัวเองเลย

“ถามว่าไทยมีนวัตกรรมไหม มันมี แต่ว่าการทำงานให้เอกชนนั้น เราไม่สามารถที่จะนำมาประกาศปาวๆ หรือตีพิมพ์บอกรายละเอียดได้ นวัตกรรมนั้นมี แต่ไม่ได้อยู่ในความรับรู้มากกว่า”ดร.อัญชลี มโนนุกุล

“เอาง่ายๆ อย่างประเทศไทยสมัยก่อน โรงงานส่วนใหญ่ซื้อ turnkey technology มา อยากได้โรงงานผลิตแบบไหนก็ไปซื้อมาจากเมืองนอกเลย เขาก็จะเอาเครื่องจักรมาลงให้ แล้วก็มาสอน เราควรจะดีขึ้นแล้วนะ เพราะเราซื้อเทคโนโลยีมา แต่เมื่อเราอยู่กับเทคโนโลยีนั้นไปอีก 20 ปี สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อเครื่องจักรมีปัญหา เราต้องเรียกคนต่างชาติให้ขึ้นเครื่องบินมาแก้ปัญหาให้ทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยต่างจากแต่ก่อน สมัยเราเด็กๆ เราเคยเป็นเสือตัวหนึ่งของเอเชีย เกาหลีใต้ยังใกล้ๆ กันกับเรา ตอนนี้เขาไปไหนแล้วก็ไม่รู้ นึกภาพออกใช่ไหม

“ความแตกต่างระหว่างไทยกับญี่ปุ่นชัดเจนมาก ประเทศญี่ปุ่นเดิมก็ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง อาศัยการนำเข้าจากตะวันตกหมด แต่เมื่อเขานำเข้ามา เขาจะศึกษาและพัฒนาให้ดีขึ้น ประเทศไทยอาจจะเป็นเพราะด้วยความที่มีปริมาณนักวิจัยไม่เพียงพอ เรานำเข้ามาแต่ไม่ได้ศึกษา ทำให้ยังเป็นแบบนี้”

นักวิจัยไทยทำอะไรอยู่

ฟังดูน่าหดหู่ใช่ไหม แต่สำหรับ ดร.อัญชลี ทุกวันนี้เรามีความหวังมากขึ้น และไม่จริงเลยว่า เด็กโอลิมปิกวิชาการไทย หายไปจากวงการวิทยาศาสตร์เสียทั้งหมด

“ยังอยู่ๆ เพราะความจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานใน Science Park ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนหมด จริงๆ แล้วมันเป็นการลงทุนของประเทศนะ ที่ส่งคนไปเรียนเมืองนอก 10 ปี เสียไป 10 ล้านบาทต่อคน มีทั้งที่ส่งไปเรียนเรื่องเดียวกันสองคน แต่ส่งหนึ่งคนไปมหา’ลัย และอีกหนึ่งคนไป สวทช. ทำหน้าที่ต่างกัน ทำให้เรามีคนจบ ป.เอก เยอะมาก ตอนนี้ทยอยกันกลับเข้ามาทำงานอยู่ทั้งในหน่วยงานรัฐและเอกชน และแม้จะไปอยู่เอกชนในประเทศไทย ก็ยังได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ถือว่าโอเคนะ”
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้เห็นชัดเจนแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่คือความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยเริ่มยืนอยู่บนลำแข้งและพัฒนาต่อด้วยมันสมองของตัวเองได้

“ตอนนี้ดีขึ้นเยอะมาก เพราะถึงแม้เราจะซื้อเทคโนโลยีมา แต่เรามีจุดที่ไม่ต้องซื้อแต่ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาจากหน่วยงานแบบนี้หรือตามมหาวิทยาลัยในประเทศได้ หรือต่อให้ซื้อจากเมืองนอก ก็ไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับเขาแล้ว หลังจากนั้นเราก็แก้ปัญหาและพัฒนาการผลิตได้เอง

“เราสร้างนวัตกรรมไปเพื่ออะไร หลักๆ เลยก็เพื่อเพิ่มมูลค่า ถ้าเราจะเป็นแค่โรงงานประกอบ มูลค่าเพิ่มต่ำมากเลยนะ แต่ถ้าเรามีเทคโนโลยีของตัวเองด้วย เราสามารถนำเทคโนโลยีไปขายเมืองนอกได้ “

“เรื่องแบบนี้มันไม่ได้นำไปเล่าให้ทุกคนฟัง ใช่ไหม คนเลยไม่รู้กัน เพราะอุตสาหกรรมมักจะไม่อยากให้ตีพิมพ์งานวิจัย เขาอยากจะเก็บไว้คนเดียว ไม่อยากให้คนอื่นรู้ แม้แต่การจดสิทธิบัตร บางทีก็ยังไม่ได้ เขาบอกว่าเรื่องนี้ห้ามจด เพราะมันต้องเปิดเผยรายละเอียด เขาไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้ทั้งสิ้น และอุตสาหกรรมไม่สนใจรายละเอียด ไม่ต้องการตารางการทดลอง 10 x 10 เขาไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศ แต่ให้พอผ่านมาตรฐาน แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เป้าหมายเราแตกต่างกันอย่างชัดเจน”

แต่เมื่ออุตสาหกรรมไม่เข้าใจ สิ่งที่นักวิจัยทำได้ ไม่ใช่การตีอกชกตัวแล้วประท้วงด้วยการปิดประตูหลบเข้าห้องวิจัย แต่คือการหาหนทางประนีประนอม มองผ่านแว่นผู้ประกอบการแล้วทำความเข้าใจวิธีคิดของภาคธุรกิจ ผู้เป็นแหล่งเงินทุน

“บังเอิญเป็นคนโชคดีที่ว่าบริษัทที่ทำงานด้วย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่คุยกันได้ เราพยายามจะบอกเขาให้เข้าใจว่า เขาเป็นผู้นำตลาดอยู่ในตอนนี้ ควรจะใจกว้างให้คนอื่นมาตามเขาได้ ถ้าคนอื่นมาตามเขา ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 10 ปี เราน่าจะเพิ่มให้มีคนอื่นในตลาดบ้าง ถ้าเขาไม่หยุดอยู่กับที่ ยากมากที่จะมีใครตามเขาทัน”ดร.อัญชลี มโนนุกุล

“พยายามจะบอกทุกคนว่า การที่เราจะอยู่กันได้ เราต้องตอบโจทย์ฝั่งเราซึ่งมีความเป็นนักวิชาการด้วย เอกชนก็เอาไปผลิตขายได้ด้วย เนื้อหาที่เรานำไปตีพิมพ์ก็เป็นส่วนที่เราเลือกแล้วว่าไม่ได้สร้างผลกระทบให้เขาจนเกินไป เราตีพิมพ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วบริษัทได้ประโยชน์ เพราะเขาจะได้นำไปใส่ใน fact sheet ของบริษัทว่ากระบวนการของเขาผลิตออกมาได้ดีงามขนาดนี้ คือเราก็ต้องหาจุดที่ทุกคนได้ประโยชน์ แล้วจะอยู่ด้วยกันได้ เอกชนต้องการกำไร ต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ และเราต้องพยายามเข้าใจเขา ต้องพยายามหลุดออกมาจากกรอบการเป็นนักวิชาการ ซึ่งคนที่เรียนปริญญาเอกและทำงานเมืองนอกเพื่อตีพิมพ์งานวิชาการอย่างเดียว อาจมีกรอบตรงนั้นชัดเจน”

ความฝันของนักวัสดุศาสตร์

“ความฝันตอนนี้ อยากให้มีโรงงานที่มีเทคโนโลยีโลหะผงจากแล็บของเราตั้งขึ้นในประเทศไทย ปัจจุบันที่เราทำทั้งหมดเป็นโรงงานซึ่งมีเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว แต่เราไปสร้างนวัตกรรมและกระบวนการใหม่ให้ แต่เราอยากให้ความรู้ที่สั่งสมมาทั้งหมดและประสบการณ์ที่จะได้รับหลังจากไปช่วยตั้งโรงงานในยุโรป นำมาช่วยให้บริษัทตั้งโรงงานนี้ได้ในประเทศไทย เพื่อผลิตชิ้นงานที่จะส่งขายไปทั่วโลก”

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่ใช่ผู้ประกอบการ แม้หลายคนจะพยายามผลักดันให้นักวิจัยคิดแบบผู้ประกอบการก็ตาม

“การมี business mind ก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่ต้องถึงกับให้นักวิจัยไปเป็นผู้ประกอบการเอง เพราะว่านักวิจัยจำนวนมากมี comfort zone อยู่ในการเป็นนักวิจัย การตั้งโรงงานมันไม่ยากเกินไปหรอก ด้วยองค์ความรู้ที่เรามี แต่เมื่อตั้งโรงงานแล้วก็ต้องมีที่ที่นำของไปขายได้ เคยมีคนเสนอให้ตั้งโรงงานเอง แต่เหตุผลที่ตอนนั้นเลือกที่จะไม่ทำ เพราะวิธีคิดเราต้องเปลี่ยนไปเลย ทำทุกอย่างเพื่อโรงงานนั้น เพื่อให้ธุรกิจได้กำไรที่สุด กลายเป็นเจ้าของโรงงาน ซึ่งจะมีความแตกต่างกับสภาพปัจจุบัน แล้วแต่ว่าเราตามหาอะไร

“เราพยายามจะบอกเขาให้เข้าใจว่า เขาเป็นผู้นำตลาดอยู่ในตอนนี้ ควรจะใจกว้างควรให้คนอื่นมาตามเขาได้ ถ้าเขาไม่หยุดอยู่กับที่ ยากมากที่จะมีใครตามเขาทัน”

“อย่าไปคิดว่านักวิจัยอยากเป็นผู้ประกอบการ มีนะคนที่อยากเป็น แต่คนจำนวนมากไม่ได้อยากเป็น เขามีความสุขกับการได้คิดเรื่องใหม่ไปเรื่อยๆ”

ส่วนความฝันอีกอยากหนึ่งที่ ดร.อัญชลีคิดขึ้นมาได้หลังจากที่บทสนทนาดูเหมือนจะจบลงไปแล้ว กลับกลายเป็น ความฝันที่อยากจะเป็นครูแนะแนว

“เราไม่ได้อยากเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ด้วยนะ เราพบว่าชีวิตตัวเองเปลี่ยนไปเยอะตอน ม.ปลาย และช่วงที่กลับมาไทยใหม่ๆ เริ่มสอนหนังสือในมหา’ ลัย ก็เริ่มอยากเป็นครูแนะแนว เราคิดว่าเป็นตำแหน่งที่ควรจะมีบทบาทมากกว่านี้ เป็นบทบาทที่คอยแนะนำว่าอาชีพแต่ละอาชีพเป็นอย่างไร อย่างน้อย เราอยากให้เด็กเข้าใจว่าไปเรียนวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แม้ว่าเราจะอธิบายสายอื่นไม่ได้ แต่เราก็มีเพื่อนที่จะอธิบายได้ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งค้นพบตัวเองได้มันสำคัญมากเลย ต้องเริ่มโฟกัสที่ประมาณ ม.4 ถ้าตอนนั้นเลือกที่จะมีความเด่นด้านวิทยาศาสตร์ ก็ต้องวางแผนชีวิตตัวเองดีๆ ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ มาค้นหาตอน ม. 6 มันก็เตรียมตัวอะไรไม่ทันแล้ว”

 

ภาพประกอบหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

Tags: , , , , ,