เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียปรากฏแฮชแท็กเด็ดๆ ที่นักเรียนแต่ละโรงเรียนงัดมาใช้บอกเล่าเรื่องราวในโรงเรียนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น #เกียมอุดม #โยธินมรณะ #บอดินทู #เสนโย และอีกหลายโรงเรียนที่นำประเด็นร้อนของโรงเรียนตัวเองออกมาเผยแพร่ให้ได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทย นักเรียนไทย ครูไทย รวมทั้งสังคมไทยกันบ้าง

โรงเรียน คือระบบจำลองสังคมแห่งหนึ่งที่มีทั้งครูและนักเรียน ช่องว่างระหว่างวัยของครูและนักเรียน รวมทั้งกฎระเบียบแสนเข้มงวดที่มีมาเนิ่นนานนำมาสู่การตั้งคำถามของนักเรียนว่า ทำไมเราถึงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น และทำไมเราไม่หาทางแก้ไขข้อบังคับเหล่านั้น 

ณภัทร กิจสนาโยธิน ประธานชุมนุมสวนกุหลาบก้าวหน้า ชุมนุมใหม่ในโรงเรียนสวนกุหลาบ บอกเล่าว่า พวกเขาตั้งกลุ่มสวนกุหลาบก้าวหน้าขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับการถกเถียงกัน ช่วยกันแก้ปัญหาที่เจอในโรงเรียน พร้อมทั้งจัดเวิร์กช็อปให้กับนักเรียนที่ต้องการพัฒนากระบวนการคิดและเรียนรู้ 

“จากที่เห็น มีการส่งต่อความเกลียดชังกันในสังคมแบบที่มันค่อนข้างไร้เหตุผล เราเลยอยากเห็นภาพที่เรามานั่งคุยกัน แบบใช้เหตุผล ฟังเขาฟังเรา โดยไม่ต้องโต้ตอบกันด้วยอารมณ์ตามคอมเมนต์เฟซบุ๊ก เลยชวนเพื่อนๆ ที่คิดเห็นคล้ายกันมาลองทำชุมนุม บวกกับที่เราได้ไปร่วมกิจกรรมพัฒนากระบวนการเรียนรู้ข้างนอกมาบ้างเลยอยากส่งต่อให้กัน”

ณภัทรเล่าว่า ได้ต้นแบบมาจากเพจ ‘Inskru’ ที่หาหัวข้อให้ครูมานั่งคุยกัน เพื่อมาแชร์ประสบการณ์การสอน แรงบันดาลใจและแนวคิดที่คุณครูสามารถนำไปพัฒนาให้กับนักเรียนได้ในอนาคต เขามองว่าเมื่อคุณครูมีการรวมกลุ่ม มีการเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งตัวเองและเด็กแล้ว ทำไมเด็กอย่างเขาจะทำบ้างไม่ได้ เขาจึงอยากสร้างพื้นที่ให้เหล่านักเรียนได้มาคุย แลกเปลี่ยนและส่งเสริมแนวคิดบางอย่างที่จะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะสามารถหรือแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ภายในโรงเรียน แต่ก็ยังมีการพูดคุย รวมทั้งตั้งคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกฎระเบียบของโรงเรียน

ณภัทร ยังเสริมอีกว่า “ในวงสนทนาของชุมนุมมีการพูดคุยเรื่องการเข้าแถวในสนามด้วย ทำให้รู้สึกว่ามันก็ควรจะพูดคุยกันได้ทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหาร ให้มีทางออกร่วมกัน ง่ายๆ คือการชำแหละดูว่า เข้าแถวในสนามทำไม แล้วมาประกอบใหม่เพื่อประโยชน์ที่มากขึ้น ถึงแม้ในตอนนี้ที่ทำไปแล้วยังเป็นเพียงนั่งคุยกันในกลุ่มเล็กๆ และไม่ทางการก็ตาม” 

การดำเนินการของชุมนุมนี้จะผ่านระบบชุมนุมของในโรงเรียน มีครูที่ปรึกษาประจำชุมนุม จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการพูดคุย มีความสร้างสรรค์ ไม่มีอคติ ไม่มีกำแพง ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุ หน้าตา หรือ ตำแหน่งใด เป็นครูหรือเป็นนักเรียนก็สามารถมาจับเข่านั่งคุยกันได้ เปิดใจคุยกันอย่างสบายใจ

“ตอนนี้ยังไม่ได้คิดถึงขนาดว่าต้องทำอะไร ต้องมีอะไร แต่จะเน้นไปที่การสร้างชุมชนและทดลองกิจกรรมต่างๆ ไปก่อนว่ามันเวิร์กไหมในโรงเรียนเรา”

น้อยโรงเรียนนักที่จะมีกลุ่มที่เน้นการพูดคุยเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาโรงเรียน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนนี้สามารถทำได้อาจเป็นเพราะการที่โรงเรียน รวมไปถึงครูเปิดกว้างทางความคิด มอบอิสระให้กับนักเรียนอย่างมากจนทำให้ก่อร่างสร้างกลุ่มแบบนี้ขึ้นมาได้

“สวนกุหลาบค่อนข้างให้อำนาจและอิสระเด็กในการจัดกิจกรรมของตัวเองมาก ทั้งระบบชุมนุมและกรรมการนักเรียน กิจกรรมส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะรันโดยนักเรียนเองทั้งหมด ทั้งนี้เรื่องภาพลักษณ์ที่ออกไปก็ต้องควบคุมนิดหน่อย แต่โดยปกติจะเป็นภาพลักษณ์ที่เด็กและครูเห็นตรงกันอยู่แล้วครับ อย่างในตัวของชุมนุมสวนกุหลาบก้าวหน้าก็ได้รับการสนับสนุนจากครูหลายท่าน ด้วยความแนวคิดของกลุ่มไม่ได้มุ่งต่อต้านหรือสร้างความเกลียดชัง ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานเกิดขึ้น”

หากแต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะให้อำนาจและอิสระแก่เด็กในการจัดกิจกรรมของตนเอง ในบางโรงเรียนอาจยังมีการยึดถืออำนาจนิยม ยึดถือคุณค่าบางอย่างและระบบระเบียบของโรงเรียนที่มีมายาวนานให้สืบต่อไปและไม่ได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน 

ณัฐนนท์ เจริญชัย เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 และเป็นประธานนักเรียนประจำรุ่นที่ 78 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา “เตรียมอุดมเป็นโรงเรียนที่มีอำนาจนิยมค่อนข้างสูงเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกของประเทศ เลยมีวัฒนธรรมหรือสิ่งที่เขาพยายามจะสืบทอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เหมือนการฝังชิปให้เด็กว่า เด็กทุกรุ่นควรจะปฏิบัติตัวให้เหมือนกัน จนมีคำกล่าวหนึ่งว่า  ‘โรงเรียนของเรามีประวัติงดงามมานานแล้ว และหวังว่าประวัตินี้จะตกทอดไปถึงพวกเธอ และพวกเธอจะรับไว้ไม่ให้เสื่อมเสีย’”

ในปัจจุบัน เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น เด็กกล้าคิดมากขึ้นเลยทำให้พวกเขาสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้รับมาและกล้าที่จะพูดออกไปให้สังคมได้ยิน กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับสิ่งที่เป็นอยู่ในรั้วโรงเรียน

“ด้วยความที่เตรียมอุดมเป็นโรงเรียนที่คลั่งวัฒนธรรมมากๆ ก็จะมีพิธีกรรมเยอะ เช่น พิธีไหว้ครู ซึ่งเริ่มจัดขึ้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จึงพยายามรักษาขนบของวัฒนธรรมเดิมไว้ คือนานหลายชั่วโมง เด็กต้องก้าวพร้อมกันเป๊ะๆ ไม่ต่างกับหุ่นยนต์ และใช้เวลาซ้อมเป็นเดือนทีเดียวหลายคนก็จะคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดีแล้วและภาคภูมิใจกับมัน แต่บางคนก็ตั้งคำถามว่า เราควรจะทำอะไร แก้ไขอะไรให้มันดีกว่าเดิมมั้ย”

นอกจากพิธีไหว้ครูจะริเริ่มขึ้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแห่งแรกแล้ว กีฬาสีที่โรงเรียนเตรียมอุดมก็เป็นแห่งแรกและเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นเช่นกัน หลายๆ คนมักจะตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องทำด้วย บางคนไม่อินก็ต้องมาเข้าร่วม โดยครูจะให้ลดชั่วโมงเรียนแล้วให้ชั่วโมงที่เหลือเป็นการซ้อมกีฬาสี และ 2 ชั่วโมงที่ให้ซ้อมกีฬาสีนั้น คุณครูก็จะให้เด็กบันทึกถึงสิ่งที่ทำลงในสมุด โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร

“เราไม่รู้เลยว่าสมุดที่บันทึกจะไปเพิ่มคะแนนตรงไหน ส่วนหนึ่งที่เด็กต้องทำเพราะครูเองด้วย และอีกส่วนหนึ่งคือเพราะเพื่อนทำ เราเลยต้องทำด้วย โดยที่สุดท้ายแล้วเราไม่รู้เลยว่าทำไปเพื่ออะไร”

การกดดันจากครูภายในสังคมของแต่ละโรงเรียนมีผลต่อแนวคิดและการดำเนินชีวิตของนักเรียนอย่างมาก ณัฐนนท์ ยังเล่าอีกว่า ในค่ายผู้นำของโรงเรียนที่ได้คัดเลือกหัวหน้าห้องของแต่ละห้องไปพูดคุยกับสภานักเรียน มีกิจกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความขบถของนักเรียนต่อกฎระเบียบบางอย่างที่ชวนให้ตั้งคำถาม กิจกรรมดังกล่าว ครูให้เขาเป็นผู้นำในการโยนคำถามให้แก่หัวหน้าห้องว่า

“ให้หัวหน้าห้องทั้งหมดช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรให้เพื่อนๆ ของเราแต่ละห้องทำตามคำกล่าวว่า นักเรียนเตรียมฯ มองข้างหลังก็รู้ว่าโรงเรียนเตรียมฯ นี้ได้ หัวหน้าห้องบางคนยกมือแล้วบอกว่า ทำไมเราต้องให้นักเรียนแต่ละคนเหมือนกันด้วย ในเมื่อนักเรียนแต่ละคนมีต้นทุน มีภูมิหลังและมีความชอบไม่เหมือนกัน แล้วทำไมเราต้องให้นักเรียนทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบที่สมเหตุสมผลหรือเปล่าก็ไม่รู้”

ความแตกต่างของการขบถในแต่ละโรงเรียนนั้นไม่อาจแสดงออกได้เหมือนกัน บางโรงเรียนสามารถมีการรวมกลุ่มกันเกิดขึ้น ในขณะที่สังคมของโรงเรียนอื่นๆ ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้นได้ ณัฐนนท์เผยให้ทราบว่าเหตุผลจริงๆ ของการที่โรงเรียนของเขานั้นไม่สามารถก่อตั้งกลุ่มได้เนื่องจากมีครูอาจารย์ที่เล่นโซเชียลมีเดียอยู่จำนวนมาก ทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก

“มีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณ ม.5 ม.6 เราทวีตว่า ทำไมเราถึงต้องถอดรองเท้าขึ้นอาคารเรียน แต่ครูไม่ต้องถอด แล้วครูก็มาบอกว่าให้ลบ เดี๋ยวจะเดือดร้อนกับตัวเอง กลายเป็นว่าครูไม่ใช่คนที่จะมาว่าเราโดยตรง แต่สิ่งนี้จะนำไปสู่จุดที่ใหญ่กว่าและยากที่จะแก้ไข จึงกลายเป็นโครงสร้างที่เราไม่สามารถล้มอะไรได้เลย พอจะต่อต้านในแบบที่เป็นชมรมก็เป็นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องมีครูมาเกี่ยวข้อง จะเป็นกลุ่มเฉยๆ ก็โดนล้มได้อีก เพราะครูจะรู้ อย่างน้อยก็ครูหัวหน้าตึก”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มกันขบถได้อย่างจริงจังก็คือ เด็กเตรียมอุดมเป็นเด็กที่ประสบสภาวะเครียดทางการเรียนสูง พวกเขาใช้เวลาเรียนอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่มีการรวมกลุ่มอย่างจริงจังเพราะลำพังแค่เรื่องเรียนก็หนักพออยู่แล้ว เวลาที่จะวิพากษ์สังคมหรือครุ่นคิดปัญหาต่างๆ ได้ก็คือช่วงที่พักผ่อนอยู่ที่บ้านและระบายลงโซเชียลมีเดีย พื้นที่ที่เรียกได้ว่าเกือบจะส่วนตัวที่สุดนั้นกลับถูกจับตามองด้วยครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีช่องทางใดเลยที่เด็กจะระบายได้นอกจากโซเชียลมีเดีย

“การเรียนที่นี่เหมือนโรงงานอุตสาหกรรม นายจ้างจะให้แรงงานทำงานอย่างหนัก พอหมดวันก็ให้กลับไปนอนแล้วมาทำงานใหม่ ถ้าเมื่อไร คุณหยุดทำคุณหยุดได้เงิน ทำให้ไม่เกิดคำถามว่า แล้วทำไมฉันถึงต้องทำงานหนักด้วย ถ้าเอาเวลาไปร้องเรียน หรือพยายามประท้วงก็จะไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ ไม่มีเวลาทบทวน อ่านหนังสือ สุดท้ายกลายเป็นแรงงานที่ไม่ได้เงิน ไม่ใช่ว่าเตรียมอุดมไม่มีความคิด ไม่ใช่ว่าเตรียมอุดมไม่ตั้งคำถาม แต่เตรียมอุดมเกิดความคิดนั้นแต่มันจบลงที่โต๊ะอาหารตอนกลางวัน”

การตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนสามารถเกิดขึ้นได้กับนักเรียนทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะนำคำถามนั้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอไป ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพสังคมภายในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ไม่ได้หมายถึงภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่สังคมนอกโรงเรียนก็ส่งผลต่อระบบระเบียบภายในโรงเรียนเช่นกัน

ณัฐนนท์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าสังคมไทยให้อิสระกับเด็กบ้าง ให้เด็กสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่เขาอยากทำ โดยที่ไม่ไปเดือดร้อนหรือกระทบกับใคร เตรียมอุดมเองก็ควรจะได้รับกระแสจากภายนอกเพื่อมาเปลี่ยนภายใน แต่ในเมื่อสังคมไทยยังคงเป็นแบบนี้อยู่มันเลยไม่สามารถทำอะไรได้”

Tags: , , , ,