เด็กกำพร้า 3 คน จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาเมื่อ 25 ปีก่อน เติบโตมาเป็นช่างภาพมืออาชีพที่สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตและผู้ลงมือสังหารชาวทุตซี่ในช่วง 100 วันของการสังหารที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800,000 คน มีเด็กที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ราว 95,000 คน

หลังเหตุการณ์ยุติ กาดิ ฮาบูมูกิชา, บิซิมานา จีน และมุซซา อูวิตันเซ อยู่ภายใต้การดูแลของโรซามอนด์ คารร์ องค์กรการกุศลอเมริกัน ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เมืองมูทารา ในรวันดา เมื่อปี 2000 ทั้งสามคนอยู่ในกลุ่มเด็กกำพร้า 19 คนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปครั้งแรกขององค์กร พวกเขาเป็นที่รู้จักในชื่อ Camera Kids ซึ่งตอนนี้เป็นชื่อของสารคดีที่พวกเขาเป็นทั้งผู้ถูกถ่ายและผู้เล่าเรื่อง

ชื่อนี้มาจากการที่พวกเขาได้กล้องถ่ายรูปยี่ห้อฟูจิจากองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อ ‘ผ่านสายตาของเด็กๆ (Through the Eyes of Children)’ ซึ่งจัดเวิร์คชอปวิธีการถ่ายรูปให้กับเด็กกลุ่มเปราะบาง และแชร์เรื่องราวให้โลกรับรู้

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2019 ซึ่งเป็นวันที่โลกรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาครบรอบ 25 ปี ทั้งสามคน ซึ่งอายุ 20 กว่าปีแล้ว กลายเป็นช่างภาพมืออาชีพของโครงการ GroundTruth Project องค์กรสื่อไม่แสวงหากำไรที่ตั้งอยู่ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อทำภาพยนตร์เรื่อง Camera Kids และเป็นผู้ประสานงานของ Through the Eyes of Children

“ตอนที่ยังเป็นเด็ก คารร์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเคยบอกว่า เราต้องแบ่งปันแก่คนอื่นๆ ว่าเรามีอะไร” บิซิมานาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ “นี่เป็นมรดกที่เธอให้เรา เราสัญญาไว้ว่าจะถ่ายทอดวิธีถ่ายภาพให้กับเด็กๆ ต่อ”

ในตอนหนึ่งของสารคดี มุซซาอธิบายว่า การเล่าเรื่องราวผ่านกล้องเป็นเหมือนยา มันช่วยรักษาคนได้ ส่วนกาดิบอกว่า ตอนที่เธอเรียนถ่ายภาพ เธอสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ ทำให้ตระหนักได้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ

สารคดีมีกำหนดฉายในเดือนนี้ โดยจะนำเสนอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่พรากชีวิตพ่อแม่ของพวกเขาไปด้วยการสัมภาษณ์และถ่ายภาพผู้รอดชีวิต ทั้งผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่และครอบครัวของพวกเขา

กาดิกล่าวว่า ได้พบกับสามีภรรยาคู่หนึ่ง คนหนึ่งเป็นลูกชายของฆาตกร อีกคนหนึ่งเป็นลูกสาวของผู้รอดชีวิตมาได้ พวกเขาให้อภัยกันและกัน และอยู่ร่วมกัน นี่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้น

เบธ เมอร์ฟี ผู้กำกับภาพยนตร์ของสารคดีนี้เน้นว่า นี่เป็นบทเรียนเรื่องความเกลียดชังและสันติภาพที่ชาวโลกควรเรียนรู้จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในรวันดา และจาก Camera Kids

“เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนประวัติศาสตร์โดยไม่เปรียบเทียบคู่ขนานไปกับโลกตอนนี้ จากการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มขวาจัดทั่วโลก ลัทธิบูชาคนขาวทั่วสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งหมดกำลังใช้ภาษาที่สร้างความหวาดกลัวแบบเดียวกับที่ผู้ก่อการในเหตุการณ์สังหารหมู่ในรวันดาใช้มาตลอดหลายปีก่อนจะถึงเหตุการณ์ในปี 1994 มันน่ากลัวมาก”

“100 วันอันมืดมิดในรวันดา การให้อภัยและการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ขณะที่ประชาชนถูกสอนให้เกลียดมาก่อนหน้านี้ ตอนนี้พวกเขาถูกสอนให้รู้วิธีสร้างสันติภาพ 25 ปีหลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวันดาพบวิธีสร้างสมดุลระหว่างความยุติธรรมและการเยียวยา การแก้แค้นและการให้อภัย และกลายเป็นต้นแบบของความหวังของโลก”

 

ที่มา:

https://www.commondreams.org/news/2019/04/07/model-hope-world-25-years-after-rwandan-genocide-new-film-shows-journey-toward

http://time.com/5564906/rwanda-genocide-perpetrators-documentary-photography/

Tags: , ,