หลังจากนายฮาคีม อัล-อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนวัย 25 ปีซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ถูกทางการไทยจับกุมตั้งแต่เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา และกลายกระแสร้อนว่า ทางการไทยมีความชอบธรรมเพียงใดในขั้นตอนการจับตัวนักฟุตบอลหนุ่มรายนี้ แถมยังมีแผนจะส่งตัวเขาให้กับรัฐบาลบาห์เรนด้วย

บ่ายวันที่ 11 กุมภาพันธ์ อัยการสำนักงานต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อถอนฟ้องคดีส่งผู้ร้ายข้ามเเดน คดีดำหมายเลข ผด.6/2562 ที่ทำให้เขาต้องกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรน ตามคำขอของทางการบาห์เรน สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานคำสัมภาษณ์ ชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า อัยการต่างประเทศได้ยื่นถอนคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากทางบาห์เรนไม่ต้องการตัวอัล-อาไรบีกลับประเทศแล้ว

สำนักงานอัยการจึงใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ที่ระบุว่า หากพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้หรือถอนฟ้องได้

ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เปลี่ยนไปจากเดิม อัยการจึงพิจารณาเห็นสมควรถอนคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ทั้งนี้ ในคำร้องยังระบุว่า บาห์เรนและประเทศไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 กำหนดให้รัฐบาลต่างประเทศสามารถร้องขอต่อรัฐบาลไทยให้ส่งตัวบุคคลที่กระทำผิดตามกฎหมายของประเทศของตนได้ แม้ประเทศนั้นจะไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย โดยที่รัฐบาลประเทศนี้ต้องทำคำรับรับรองที่จะปฏิบัติต่างตอบแทนกับรัฐบาลไทย การกระทำความผิดนั้นจะต้องเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย และความผิดดังกล่าวจะต้องเป็นความผิดกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปีและไม่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร

ศาลได้พิจารณาคำร้องของอัยการแล้ว อนุญาตให้ถอนคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ศาลอาญาจะเป็นผู้ดำเนินการออกหมายปล่อยตัวนายฮาคีมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

คดีนี้รัฐบาลบาห์เรนระบุว่านายอัล-อาไรบีมีความผิดจำคุกข้อหาทำลายทรัพย์สินของรัฐระหว่างการชุมนุมประท้วงรัฐบาล อย่างไรก็ตามมีรายงานระบุว่าเมื่อปี 2012 ฮาคีมถูกทรมานและคุมขังด้วยข้อกล่าวหาจากการทำกิจกรรมทางการเมืองของน้องชายในช่วงอาหรับสปริงปี 2011 และในปี 2014 เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีด้วยข้อหาทำลายสถานีตำรวจซึ่งเขาปฏิเสธ และขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลียเมื่อปี 2014 และได้สถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2017 ซึ่งสามารถอยู่อาศัยในประเทศออสเตรเลีย และเดินทางไปประเทศอื่นๆ ได้ ยกเว้นบาห์เรน

ตามปกติแล้ว อินเตอร์โพลมีนโยบายที่ไม่ดำเนินการตามหมาย หากบุคคลนั้นๆ ได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว และหมายแดงของอัล-อาไรบี ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

 

ที่มา:

ภาพโดย Athit Perawongmetha/Reuters

Tags: , , ,