สิ่งหนึ่งที่หลายคนรอชมในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็คือพลุดอกไม้ไฟ ที่จะเริ่มจุดอย่างอลังการจากประเทศที่เดินทางเข้าสู่ปี 2020 เป็นประเทศแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย (ที่ขึ้นชื่อเรื่องการจุดพลุที่อ่าวฮาเบอร์) ญี่ปุ่น ไล่เลียงจากซีกโลกตะวันออกไปจนตะวันตก จนในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าพลุหรือดอกไม้ไฟได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองอย่างขาดไม่ได้ และไม่ใช่แค่เทศกาลปีใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานรื่นเริงอื่นๆ อีกด้วย
ความสวยงามในยามที่ประกายไฟหลากสีแตกกระจายบนท้องฟ้ายามค่ำเพียงไม่กี่วินาที คือสิ่งจรรโลงใจ สร้างทั้งความทรงจำ เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของผู้คนเสมอมา แต่คล้อยหลังเพียงไม่กี่วินาทีที่พลุไฟดับลงนั้น มันกลับทิ้งความไม่งามนักไว้บนท้องฟ้า ในอากาศที่เราหายใจ ซึ่งก็คือฝุ่น มลภาวะทางอากาศ ที่มาพร้อมกับสีสันและความสวยงามในนามแห่งการเฉลิมฉลอง
พลุและดอกไม้ไฟ เพิ่มมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแค่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ใช้พลุไฟจำนวนมากพร้อมกันทั่วโลก แต่ยังมีเทศกาลอื่นอีกมากที่ใช้พลุในการเฉลิมฉลองกันแทบทั้งปี เช่น การเฉลิมฉลองเนื่องในวันประกาศอิสรภาพ ของสหรัฐอเมริกา เทศกาลเผาหุ่นลาสฟายาส (las fallas) ในสเปน เทศกาลตรุษจีนและเทศกาลโคมไฟทั้งในจีนและไต้หวัน เทศกาลดิวาลี (Diwali) หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนในอินเดีย
ความสวยงามที่มาพร้อมมลพิษ
PM (พีเอ็ม) ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีหน่วยวัดคือ ไมครอน หรือไมโครเมตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5
PM 2.5 คือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางละเอียดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (0.0025 มม.) ส่วน PM10 เป็นฝุ่นละอองอนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ไมครอน ฝุ่นละอองเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เช่น จากพายุฝุ่น ไฟป่า รวมทั้งเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น เกิดจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเดียวกันกับพลุไฟ ที่สร้างฝุ่นละอองทั้ง PM 2.5 และ PM 10
และด้วยขนาดที่เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 20 เท่า จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และขนาดเล็กเหล่านี้อาจเข้าถึงปอดได้ง่าย เนื่องจากเล็กเกินกว่าที่ขนจมูกจะกรองได้ ในกรณีที่อนุภาคเล็กมากๆ ก็มักจะไหลเข้าสู่กระแสเลือดได้เช่นกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ฝุ่น PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง และค่าความปลอดภัยที่ดีไม่ควรเกิน 50
จากงานวิจัยของ Chi-Chi Lin (2016) ชี้ว่าในสหรัฐอเมริกามีผู้บาดเจ็บหลายพันราย ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเนื่องจากการระเบิดของพลุ ขณะเดียวกันการเผาไหม้ในอากาศยังส่งผลต่อสภาวะแวดล้อม ทั้งยังปล่อยสารพิษและฝุ่นละอองออกสู่อากาศ เช่น ในวันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปีที่เป็นวันเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ โดยในปีที่ผ่านมามีการจุดพลุไฟเฉลิมฉลองตั้งแต่เย็นวันที่ 4 ไปจนถึงเช้าวันที่ 5 บริเวณเนชันแนล มอลล์ (National Mall) ห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า “มันจะเป็นโชว์ดอกไม้ไฟที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในดีซีเลย”
งานแสดงดอกไม้ไฟที่ยิ่งใหญ่นี้สร้างความเข้มข้นเฉลี่ยของมลภาวะฝุ่นละอองอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามยังถือว่าน้อยกว่าค่ามลพิษในกรุงนิวเดลีเมื่อต้นปีนี้ที่พุ่งสูงถึง 500 ไมโครกรัม
ในภูมิภาคเอเชียมีการแก้ปัญหาเบื้องต้นเรื่องมลพิษของฝุ่นละออง ที่เห็นได้ชัดเจนคือในจีน อินเดีย และไต้หวัน ที่กำหนดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากธูปก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สร้างมลพิษทางอากาศได้ไม่ต่างจากดอกไม้ไฟ ทางการจีนเองก็เอาจริงเอาจังกับการควบคุมอากาศที่เป็นมลพิษต่อประชาชนมาก หากเจ้าหน้าที่โกหกเรื่องตัวเลขที่เกี่ยวกับมลพิษ ถือว่าเข้าข่ายคอร์รัปชัน ขณะเดียวกันก็ควบคุมฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วย
ภากร กัทชลี แอดมินแฟนเพจ อ้ายจง ให้ข้อมูลกับไทยรัฐเรื่องการควบคุมดังกล่าวว่า ทางการจีนให้สิทธิเจ้าหน้าที่ในสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมในเขตหรือในเมืองนั้น ในการลงโทษโรงงาน-ผู้ประกอบการ ที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศในพื้นที่ แต่ถ้ามลพิษทางอากาศในพื้นที่นั้นสูงเกินกว่ากำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องรับโทษด้วยเช่นกัน ในระยะหลังจะเห็นว่าในเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนเริ่มหันมาใช้ลูกโป่งแทนการจุดประทัด เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ
ในขณะที่เทศกาลดิวาลี ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของผู้นับถือศาสนาฮินดู เชน และซิกข์ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู ซึ่งมีงานเฉลิมฉลองติดต่อกันตลอด 5 วัน ผู้เฉลิมฉลองมักจะจุดประทัด และดอกไม้ไฟเพื่อขจัดความชั่วร้าย จากรายงานของบีบีซีชี้ว่าในช่วงเทศกาลดิวาลี ระดับมลพิษทางอากาศของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ จากเมืองชัมเศทปุระ รัฐฌารขัณฑ์ วัดมลพิษจากค่าฝุ่นละอองในช่วงเทศกาลเพิ่มสูงขึ้นถึง 500.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21-27 เปอร์เซ็นต์ก่อนการจุดพลุ
อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าค่ามลพิษทางอากาศของอินเดียมีระดับ PM 2.5 เข้มข้นสูงซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
รัฐบาลอินเดียเองก็หันมารณรงค์ให้ใช้พลุที่มีควันน้อย ทั้งยังกำหนดให้ใช้ได้แค่พลุไฟที่มีสีเขียวซึ่งมีมลพิษน้อยกว่า และกำหนดเวลาจุดพลุเพื่อลดอัตราค่าของฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษ อย่างไรก็ตาม การควบคุมดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากมีประชาชนฝ่าฝืน ลักลอบจุดพลุนอกเวลาที่กำหนด
แม้จะไม่มาก…แต่ก็ไม่น้อย
ส่วนประกอบหลักของพลุแต่ละอันประกอบด้วยโพแทสเซียมไนเตรทประมาณร้อยละ 75 ถ่าน ร้อยละ 15 และกำมะถันร้อยละ 10 อาจมีการเพิ่มส่วนประกอบอื่นๆ อีก รวมไปถึงสารประกอบประเภททองแดง แบเรียม หรือสตรอนเทียม ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตว่าต้องการผลิตพลุสีอะไร
มีการเก็บข้อมูลเรื่องฝุ่นและมลภาวะทางอากาศจากการจุดพลุ พบว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองก่อนการเผาไหม้ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10 ไมโครกรัม ชต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ความเข้มข้นเฉลี่ยหลังจากการเผาไหม้คือ 741 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่าที่ปลอดภัยของมนุษย์ไม่ควรจะเกิน 50 ไม่เพียงแต่พลุไฟที่ก่อมลพิษทางอากาศเท่านั้น หลังจากความสนุกจบลง ชิ้นส่วนและบรรจุภัณฑ์ของพลุไฟก็มักจะถูกทิ้งไว้ ซึ่งปลอกพลุไฟและบรรจุภัณฑ์ทำจากกระดาษแข็งและพลาสติกมากกว่าครึ่ง ภายหลังยังกระจายสู่หลังคาบ้าน ไหลลงแม่น้ำ ก่อเกิดมลพิษซ้ำซ้อนต่อไปอีก
ตามรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (UBA) ของประเทศเยอรมนี ชี้ว่าพลุไฟสร้างฝุ่นมากถึง 5,000 ตัน อนุภาคเล็กเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยฝุ่นละอองเหล่านี้จะเกิดหนาแน่นที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงระหว่างจุดพลุ และแม้จะหนาแน่นในช่วงวันแรกๆ แต่นักวิจัยก็กล่าวว่าภายในสองวัน ฝุ่นที่เกิดขึ้นก็จะจางหายไป
ฟริตซ์ เคลเลอร์ (Fritz Keller) ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจากสมาคมอุตสาหกรรมพลุไฟของเยอรมนีกล่าวว่าแท้จริงแล้วพลุไม่ได้ส่งผลร้ายมากขนาดนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้รถยนต์ดีเซลที่สร้างสารก่อมะเร็งที่ไม่เพียงมีผลกระทบสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อดินและพืชอีกด้วย และเมื่อเทียบกับการที่รถยนต์ปล่อยฝุ่นที่ส่งผลเสียต่ออากาศแล้ว การเฉลิมฉลองด้วยพลุในวันสิ้นปีจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตนัก
จากข้อจำกัดของกฎหมาย ทำให้บรรจุภัณฑ์ของพลุไฟต้องปลอดภัย เลือกใช้วัสดุที่ดี ซึ่งเคลาส์ กอทเซน (Klaus Gotzen) หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมพลุไฟกล่าวว่าทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือการใช้พลุแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำว่าไม่ควรสูดดมควันที่เหลือจากการจุดพลุไฟ เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจ และทำให้คนที่มีอาหารหอบหืดมีอาการแย่ลง คนที่เป็นโรคหัวใจหรือปอดสามารถเสียชีวิตเฉียบพลันหากรับฝุ่นละอองที่เป็นพิษเข้าไปในปริมาณมาก โดยกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดคือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคหัวใจหรือโรคปอด
เรื่องของพลุ ดอกไม้ไฟ ก็คงคล้ายๆ กับประเพณีลอยกระทง ที่วัฒนธรรมประเพณีในอดีตนั้นไม่สอดคล้องกันกับระเบียบโลกใหม่ที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องล้มล้างประเพณีและวัฒนธรรมในอดีตทิ้งไปเสียทุกอย่าง แต่การจัดการทางสิ่งแวดล้อมที่ดีต่างหาก ที่จะทำให้วัฒนธรรมประเพณีนั้นสอดคล้องกับโลกใหม่และยั่งยืนยาวนานต่อไป
อ้างอิง:
https://www.dw.com/en/new-years-eve-are-fireworks-harming-the-environment/a-41957523
https://www.bbc.com/news/world-46138064
https://www.daikin.co.th/service-knowledge/pm-2-5/https://www.honestdocs.co/pm-2-5-environmental-nano-pollutants