อาหารอร่อยๆ รสชาติแบบเอเชียที่มีจานผัดและจานทอด ถ้าจะให้อร่อยถึงใจ ถึงอย่างไรก็ต้องพึ่งเตาแก๊ส เพราะให้ไฟแรงดีต่างจากเตาไฟฟ้า และควบคุมได้ง่ายกว่าเตาถ่าน จึงไม่แปลกที่ครัวเรือนต่างๆ จะต้องมีถังแก๊สอยู่คู่ครัวเสมอ
แล้วทุกวันนี้เราสั่งแก๊สกันอย่างไร? เชื่อว่าส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีโทรหาร้านแก๊สใกล้บ้าน แล้วรอให้คนส่งแก๊สขี่มอเตอร์ไซค์มาส่ง มาถึงตอนนี้วิธีนี้อาจจะไม่สะดวกนัก ทั้งสำหรับร้านแก๊สที่กำลังเปลี่ยนมือมาให้ลูกหลานมาสานต่อกิจการ และกับไลฟ์สไตล์ผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปจากการขยายตัวของเมือง
ฟินแก๊ส (FinGas) จึงเกิดขึ้นมาจากกลุ่มสตาร์ตอัปที่มองเห็นช่องโหว่ของระบบซื้อขายแก๊สหุงต้มแบบเดิม โดยสร้างเว็บไซต์และช่องทางสื่อสารทางไลน์ เพื่อให้การสั่งแก๊สทำได้ง่ายขึ้น โดยเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ขายกับผู้ซื้อแก๊สหุงต้ม และยังต่อยอดนำข้อมูลที่มี ขยายไปยังธุรกิจประกันและเงินกู้
ทำไมต้องมีฟินแก๊ส
จุดเริ่มต้นของการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาใกล้ตัวนี้ มาจากกลุ่มเพื่อนสี่คน คนหนึ่งมีพื้นเพจากสายธุรกิจ-การเงิน อีกคนเป็นทายาทธุรกิจร้านอาหารตำนานร้านก๋วยเตี๋ยวอายุ 80 ปี ที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ลิ้มเหล่าโหงว’ อีกคนมาจากสายงานด้านการจัดการ และเพื่อนอีกคน ที่บ้านมีธุรกิจแก๊สหุงต้ม โดยเป็นทั้งโรงบรรจุแก๊ส แล้วก็มีหน้าร้านแก๊สด้วย
‘ส้ม-ภรณี วัฒนโชติ’ หนึ่งในทีมก่อตั้ง และปัจจุบันเป็นซีอีโอของฟินแก๊สเล่าว่า ด้วยปัญหาที่เพื่อนในทีมต้องเจอ จากการกลับไปสานต่อกิจการร้านส่งแก๊สของครอบครัว พบว่าการบริหารจัดการหน้าร้านทำได้ยากมาก ไม่สะดวก และไม่สอดคล้องกับทั้งผู้ค้าและลูกค้ารุ่นใหม่
“การโทรสั่งแก๊ส มันจะต้องโทรไป บอกว่า ใช้ยี่ห้ออะไร ซึ่งบางคนจำยี่ห้อตัวเองไม่ได้ เพราะว่าถังสีคล้ายๆ กันไปหมด ต้องไปหาทางบรรยายว่าตัวเองใช้ยี่ห้ออะไร จะใช้ถังกี่กิโล เสร็จแล้วบรรยายทางเข้าบ้าน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ผ่านหน้าเซเว่นเจอบ้านที่หมาเห่าเยอะๆ มีต้นเฟื่องฟ้า สีชมพู ฯลฯ อธิบายไปจบ ร้านแก๊สตอบกลับมา อ๋อ วันนี้ของหมด”
ผู้ค้ารุ่นเก่ามีโพยบัญชีลูกค้า ที่บอกที่อยู่และรายละเอียดของลูกค้าในสมุดจด และอาศัยความคุ้นเคยของคนละแวกบ้าน แต่เมื่อรุ่นลูกต้องมาสานต่อกิจการ การเข้าถึงบันทึกเดิมๆ อาจจะไม่สะดวกอย่างเคย อีกทั้งการขยายตัวของเมือง วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามอพาร์ตเมนท์และคอนโดมิเนียม ก็มีผลทำให้มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่รู้จะเข้าถึงร้านแก๊สอย่างไร จึงเกิดเป็นไอเดียที่จะนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวกลาง ระหว่าง ผู้ขาย และ ผู้ซื้อ
ฟินแก๊สจึงออกแบบแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ร้านแก๊สรับออร์เดอร์ได้สะดวกขึ้น และยังช่วยให้การคำนวณสต็อกเป็นไปอย่างเป็นระบบ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ผ่านทางหน้าเว็บไซค์ fingas.co หรือใช้งานผ่าน Line ได้
“เวลาจะสั่งแก๊ส เราไม่ต้องมาเสียเวลาบรรยายว่าใช้ยี่ห้ออะไร ถังขนาดเท่าไร มันมีกฎหมายกำหนดอยู่แล้วในเมืองไทยว่าถ้าคุณใช้ถังยี่ห้อไหน เวลาคุณจะสลับถังคุณต้องเป็นถังยี่ห้อเดิม เราทำให้มันง่าย ด้วยการที่พอเคยสั่งครั้งแรก เข้าไปกดเลือกว่าใช้ถังยี่ห้อ ขนาดเท่าไร ยี่ห้ออะไร ใส่ตำแหน่งแผนที่ แล้วพอในครั้งต่อไประบบจะจำให้เลย ดังนั้น ครั้งต่อไปไม่ต้องมานั่งกดพวกนี้แล้ว ระบบมันจำให้แล้ว แค่กดคอนเฟิร์ม” ภรณีอธิบาย
ขณะที่ในฝั่งของร้านแก๊สหุงต้ม มักพบว่า ระบบการบริหารจัดการหน้าร้านและการรับออเดอร์ ยังต้องอาศัยระบบจดจำโดยคนที่นั่งอยู่หน้าร้าน ทำหน้าที่รับโทรศัพท์ นั่งจดกระดาษ รวมถึงรู้จักบ้านของลูกค้า ถ้าวันไหนคนนั้นไม่อยู่ก็ต้องปิดร้านไปเลย ข้อมูลเหล่านี้มันจะไม่ถูกส่งผ่านไปไหน
“เหมือนกับทุกอย่างจำอยู่ในสมองคนคนเดียว ใช้กระดาษกับปากกา แล้วก็ไม่มีระบบ ร้านแก๊สก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้มีของไหม เพราะร้านหนึ่งไม่ได้ขายแค่ยี่ห้อเดียว และขนาดถังแก๊สก็ไม่ได้มีแค่ไซส์เดียว แต่มีไซส์ 4, 7, 15 และ 48 กิโลกรัม การบริหารจัดการมันจะยุ่งยาก เพราะไม่มี inventory ในระหว่างวัน จะมารู้อีกทีคือตอนสิ้นวันแล้วว่า เหลืออะไร อย่างไร กี่ถัง”
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบ จึงดูจะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการคาดการณ์ได้ล่วงด้วยว่า ร้านแก๊สร้านไหน น่าจะต้องตุนแก๊สจำนวนเท่าไร เพราะระบบสามารถคำนวณอัตโนมัติได้ว่า ร้านหนึ่งๆ ขายแก๊สไปจนเกือบหมดสต็อกหรือยัง
โอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค
ขณะที่ประเทศไทยใช้แก๊สหุงต้มมาราวครึ่งศตวรรษ จนปัจจุบันมีโรงบรรจุแก๊สเกือบพันโรง และมีร้านแก๊สทั่วประเทศอยู่ราว 30,000 แห่ง เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าถึง 75,000 ล้านบาทต่อปี และหากมองภาพใหญ่ในระดับโลก ตลาดแก๊สหุงต้มทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศในภูมิภาคเอเชัยตะวันออกเฉียงใต้คิดส่วนแบ่งตลาดไปที่ 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูเป็นส่วนแบ่งที่น้อย เพราะเป็นตลาดที่เกิดใหม่ และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างพม่า เพิ่งหันมาเริ่มใช้แก๊สหุงต้มกัน โดยที่พม่าเองมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ที่จากเดิมรัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าไฟ ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้เตาไฟฟ้าทำอาหาร แต่ปัจจุบัน รัฐบาลยกเลิกนโยบายอุดหนุนค่าไฟ ทำให้คนพม่าต้องแบกรับภาระค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า สิ่งนี้ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป และคนเริ่มหันมาใช้แก๊สหุงต้มเพื่อประกอบอาหารแทน โดยเพิ่งจะเริ่มมีโรงบรรจุแก๊สสำหรับถึงในครัวเรือนเป็นโรงแรกในปี 2019 นี้เอง
“ตลาดมันกำลังจะโตอีกแบบมหาศาล” ซีอีโอของฟินแก๊สกล่าว เธอยังขยายความถึงโอกาสการเติบโตว่า ธุรกิจแก๊สหุงต้มในเมืองไทยเติบโตปีละ 6% และหากจัดการดีๆ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งเริ่มเปลี่ยนมาใช้แก๊สหุงต้มนั้น โอกาสการเติบโตมีถึงอย่างน้อยปีละ 15%
ด้วยเหตุที่ทางพม่าเพิ่งตั้งโรงบรรจุแก๊สเป็นครั้งแรก คาดว่าจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ชาวพม่าไปอย่างสิ้นเชิง และนั่นทำให้ฟินแก๊สมุ่งมั่นจะขยายกิจการไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีแผนจะจับมือกับพันธมิตรอย่าง Parami Energy เพื่อบุกตลาดในพม่าด้วย
บันทึกการใช้แก๊ส อีกหนทางพิจารณาเครดิตเงินกู้ธนาคาร
นอกจากลูกค้าตามครัวเรือนต่างๆ แล้ว กลุ่มหลักที่ใช้แก๊สมากและใช้เป็นประจำ ก็คือผู้ค้ารายย่อย รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารรถเข็นริมทาง
ภรณีเล่าว่า โจทย์ของธุรกิจแก๊ส ยังมีด้านที่เรียกได้ว่าเป็น Local Deep Problem หรือเป็นปัญหาเฉพาะถิ่นที่หากไม่ได้มาคลุกคลีก็อาจจะมองไม่เห็น นั่นคือ เหล่าผู้ค้ารายเล็กนั้น จะสร้างช่องทางและหาโอกาสการเติบโตได้ ก็ต้องมากับโอกาสที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จะช่วยให้ขยายกิจการได้
แต่ปัญหาของผู้ค้ารายย่อยเช่นกลุ่มคนขายอาหารรถเข็นคือ หากจะเดินไปกู้ธนาคาร ก็จะไม่มีสเตตเมนท์เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือและรับประกันความเสี่ยง นั่นทำให้คนฐานะรายได้น้อยถึงปานกลางจำนวนมากลืมตาอ้าปากได้ยาก
ทีมฟินแก๊สมองว่า ประเทศไทยมีร้านอาหารถึงกว่า 103,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และคาดว่ายังมีร้านที่หลุดจากสารบบอีกจำนวนมาก ที่หากมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมาก ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังมีโครงการ Peer to Peer Lending Sandbox ที่พยายามหาทางลดช่องว่างทางโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน ซึ่งฟินแก๊สเองกำลังจะทำความร่วมมือกับสตาร์ตอัปอีกรายที่ชื่อ Peer Power ที่จะสนับสนุนให้นำข้อมูลจากการใช้แก๊ส มาเป็นหนึ่งในสเตตเมนท์ที่ธนาคารนำไปพิจารณาได้
วิธีทำงานคือ เมื่อบรรดาร้านอาหารรายย่อยๆ สั่งแก๊สผ่านระบบอยู่แล้ว ก็จะเห็นพฤติกรรมการใช้แก๊สว่ามีปริมาณการใช้มากน้อยแค่ไหน ร้านค้าที่ใช้เยอะก็สะท้อนได้ถึงยอดขายที่มีในแต่ละวันแต่ละเดือน รวมถึงความสม่ำเสมอในการใช้แก๊ส ก็ยังบอกได้ถึงวินัยและความขยันในการผลิต ข้อมูลเหล่านี้ ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสเตตเมนท์ ที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติการกู้เงินได้
“ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายไก่ทอด ใช้แก๊สประมาณ 3 ถัง ต่อวัน ถัง 15 กิโล วันหนึ่งก็ตก 1,500 บาท เดือนหนึ่งก็เกือบ 50,000 บาท ในสเต็ปที่หนึ่ง เราสามารถปล่อยเงินกู้ออกไปในรูปแบบของแก๊สหุงต้ม แล้วค่อยผ่อนชำระ ประโยชน์ที่คนปล่อยเงินกู้ ไม่ว่าจะสถาบันการเงินหรือไม่ก็ตาม จะได้รับ คือ จะได้ knowledge data หรือ transactional data จากเรา คือ ดูปริมาณการใช้แก๊สของลูกค้าคนนี้ ถ้าสมมติใช้ทุกวัน วันละ 3 ถัง พฤติกรรมที่ดูได้ คือ ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน หรือทำงานวันหนึ่ง หยุด 5 วัน และได้เห็นพฤติกรรมการจ่ายชำระเงินคืน ซึ่งจะส่งผลกับสเต็ปที่สอง ในการพิจารณาปล่อยเงินกู้ มันอาจจะกลายเป็นสินเชื่อ SME ที่ก้อนใหญ่ขึ้น
“อย่างร้านลิ้มเหล่าโหงว เขาก็มาจากร้านรถเข็นในเยาวราช ที่ขึ้นมามีหน้าร้านได้ เพราะเขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ร้านรถเข็นในเมืองไทยอีกหลายร้านเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนใดๆ เลย ตรงนี้มันจะเป็นการพลิกเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่ง ครอบครัวครอบครัวหนึ่งขึ้นมาได้เลย”
ภรณีบอกว่า สเตตเมนต์การใช้แก๊สนี้ จะสามารถเป็นช่องทางเสริมในการบันทึกความน่าเชื่อถือ หรือเป็น alternative credit scoring ที่ธนาคารสามารถขอข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจให้กู้เงิน
จากธุรกิจแก๊ส ต่อยอดไปสู่ธุรกิจประกันภัย
ขณะที่ถังแก๊สมักมากับความกังวลเรื่องไฟไหม้ ฟินแก๊สก็มีแรงจูงใจเพิ่มเติม คือ ลูกค้าของฟินแก๊ส จะได้รับการประกันอัคคีภัยที่เกิดจากถังแก๊สฟรี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัทเมืองไทยประกันภัย
รายได้ของฟินแก๊สตอนนี้ คิดอัตราค่าบริการ 5% ของผู้สั่งแก๊ส ซึ่งในกรณีที่ลูกค้าเองสนใจจะซื้อประกันตัวอื่นๆ จากเมืองไทยประกันภัย ทางฟินแก๊สเองก็จะได้รายได้เป็นค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติม ถือเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
จากจุดเริ่มต้นของฟินแก๊ส ในฐานะแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแก๊สหุงต้ม พาไปสู่การเห็นโอกาสทางการตลาดในระดับภูมิภาค เสริมด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างโอกาสที่ช่วยสร้างฐานะ ลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งนี้ อาจเป็นกลไกหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมให้แข็งแรงยิ่งขึ้นได้ด้วย
Fact Box
ฟินแก๊ส เป็นสตาร์ตอัปที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017 โดยผู้ก่อตั้งสี่คน คือ ภรณี วัฒนโชติ (ส้ม) CEO, เตวิช บริบูรณ์ชัยศิริ (เบียร์) CMO, วัจนาภรณ์ ทีฆพุฒิ (ง้อ) CTO และ ณัฐรินทร์ คลอวุฒิอนันต์ (มุก) COO
ในช่วงแรกได้รับการสนับสนุนเงินตั้งต้นจาก National Innovation Agency - NIA โดยเริ่มสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้และพัฒนาเว็บไซต์ซึ่งเริ่มเปิดให้ใช้งานได้จริงเมื่อเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมา เริ่มให้บริการที่จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นเข้าร่วมโครงการดีแทคแอคเซอเลอเรท (dtac Accelerate) จนได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสี่ทีมงานที่ได้รางวัล Best Performing Startup ของ Batch 7