ก่อนที่เกษตกรรมจะพัฒนาขึ้นราว 10,000 ปีก่อน มนุษย์หาอาหารมาประทังชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า จนต่อมาเมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการมากขึ้น การเพาะปลูกก็เริ่มต้น มนุษย์ได้เปลี่ยนรูปแบบการกินอีกครั้ง โดยเริ่มทำเกษตรกรรม เรารู้จักการปลูกพืชผลต่างๆ และเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหาร นับแต่นั้นมาเราก็ไม่ต้องเข้าป่าไปผจญอันตรายอีกต่อไป

ร่างกายของมนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับอาหารที่กินเข้าไปได้ ทำให้ประชากรในแต่ละพื้นที่มีความพิเศษแตกต่างกัน มนุษย์กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก จากทวีปหนึ่งสู่ทวีปหนึ่ง การกินอาหารของเราจึงหลากหลายและมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เราจึงหยิบยกภาพยนตร์เกี่ยวกับอาหารมาให้ดูกันเพลินๆ ชมว่าการใช้ชีวิตในครัวของพวกเขาเป็นอย่างไร และอาหารที่ทำออกมานั้นหน้าตาเป็นแบบไหน ศิลปะแห่งการรังสรรค์ที่จะไม่มีวันหยุดนิ่ง ศิลปะของรสชาติของที่เราทั้งเคยคุ้นและไม่คุ้นเคย

Jiro Dreams of Sushi (2011)

ภาพยนตร์สารคดีผลงานการกำกับของเดวิด เกลบ์ ผู้กำกับที่หลงใหลในอาหารญี่ปุ่น โดยเดิมทีเกลบ์ตั้งใจจะสร้างสารคดีที่เต็มไปด้วยพ่อครัวซูชิหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสไตล์แตกต่างกัน แต่เมื่อมาพบกับจิโร่ เขารู้สึกว่าคนๆ นี้เป็นคนที่น่าสนใจมาก และรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวของลูกชายของจิโร่ที่อายุ 50 ปี แต่ก็ยังทำงานให้พ่อ “นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในเงาของพ่อ ในขณะที่พ่อของเขากำลังแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่หยุดยั้ง”

จิโร่ โอโนะ คือชายชราวัย 85 ปี ที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งๆ เดียว นั่นคือซูชิ เขาเป็นหัวหน้าพ่อครัวและเจ้าของร้านสุกิยะบาชิจิโร่ ร้านซูชิเล็กๆ ที่มีเพียงสิบที่นั่ง ซึ่งคุณจะไม่มีทางได้กิน หากไม่จองโต๊ะไว้ล่วงหน้า นี่เป็นร้านที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น และได้รับรางวัลสามดาวจากมิชลิน

อะไรทำให้ซูชิของจิโร่โดดเด่นกว่าคนอื่น? อะไรทำให้คนยอมรอเป็นเดือนๆ เพื่อมากิน? อะไรทำให้ทุกคนจ่ายเงินเพื่อซูชิราคาแพงเพียงไม่กี่คำ? สารคดีจะพาเราไปดูสิ่งที่จิโร่ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นวันแล้ววันเล่า เขาเชื่อมั่นในการทำงานหนัก และเขามุ่งมั่นที่จะทำให้อาหารของเขาสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น  จิโร่ไม่ได้แค่เข้มงวดกับตนเอง แต่เขายังเข้มงวดกับลูกชาย รวมถึงทุกๆ คนในร้านด้วย การทำงานกับเขาอาจไม่ง่าย แต่ถ้าคุณรักในสิ่งที่คุณทำ ต่อให้มันยากแค่ไหนคุณก็พร้อมจะฝ่าไป ซึ่งนั่นก็คงไม่ต่างอะไรกับบรรดาลูกมือในร้าน  การจะเป็นพ่อครัวที่ดีได้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง และจิโร่ก็แสดงให้เราเห็นว่าเขามีมันครบทุกอย่างจริงๆ

The Lunchbox (2013)

ภาพยนตร์อินเดียที่ได้รับคำชมไปอย่างหนาหู และกวาดรายได้ไปถึง 17 ล้านเหรียญ ด้วยทุนสร้างเพียง 3.2 ล้านเหรียญ ซึ่งส่งผลให้ผู้กำกับอย่างริเทรช บาตร่า กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กว่าเขาจะมีผลงานภาพยนตร์ออกมาให้ชมกันอีกทีก็ในอีก 4 ปีถัดมา

ภาพยนตร์ประกอบด้วยตัวละครหลักๆ ไม่กี่คน แต่สามคนในเรื่อง ซึ่งได้แก่ ซาจัน, เชค และอิลลา ต่างนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ซาจานเป็นคริสเตียน เชคเป็นมุสลิม และอิลลาเป็นฮินดู สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่มีอยู่ในมุมไบ และสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่อยู่ร่วมกัน

ซาจัน พ่อหม้ายที่กำลังจะเกษียณจากงานในฐานะนักบัญชี เขาสูญเสียภรรยาไปและไม่เคยมองหาใครใหม่ ไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่สุงสิงกับใคร และวางแผนอนาคตไว้เพียงว่าจะย้ายไปใช้ชีวิตปั้นปลายในเมืองนาสิก แต่จู่ๆ เขาก็พบเหตุบังเอิญที่ชักนำให้รู้จักกับอิลลา ผู้หญิงที่อยู่ในความสัมพันธ์สั่นคลอน และเธอได้รับคำแนะนำมาว่าให้ทำอาหารเพื่อมัดใจสามี มันควรจะประสบความสำเร็จ หากไม่ใช่เพราะปิ่นโตที่เธอทำไว้ดันตกไปอยู่ในมือของซาจัน ที่สำคัญมันแนบจดหมายที่เธอเขียนถึงสามีไปด้วย ซาจันกินอาหารของเธอและตอบจดหมายกลับไป โดยที่เขาก็ไม่ทราบว่าเจ้าของปิ่นโตเป็นใคร แล้วมันก็ไม่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะในวันถัดๆ มาทั้งคู่ก็ยังสื่อสารกันผ่านปิ่นโตซึ่งบรรจุไปด้วยอาหารที่เธอทำอย่างสุดหัวใจ มิตรภาพระหว่างเขากับเธอจึงถือกำเนิดขึ้น และมันก็ทำให้รสชาติในชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปด้วย

เสน่ห์ของเรื่องนี้คือความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติ เราสามารถเข้าถึงตัวละครได้อย่างง่ายดาย ชีวิตธรรมดาๆ ของพวกเขากลับเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งๆ ที่มันก็เป็นแค่กิจวัตรประจำวัน บนโลกใบนี้มีความบังเอิญอยู่มากมายที่รายล้อมเรา พรุ่งนี้ความบังเอิญนั้นอาจเกิดขึ้นกับคุณก็ได้ ใครเล่าจะรู้…

The Hundred Foot Journey (2014)

ภาพยนต์อเมริกันที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน มันเป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างร้านอาหารสองร้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ร้านหนึ่งเป็นของครอบครัวชาวอินเดีย และอีกร้านหนึ่งเป็นร้านอาหารระดับดาวมิชลิน การดำเนินเรื่องจึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของทั้งสองดินแดน นั่นคือระหว่างวัฒนธรรมของอินเดียและฝรั่งเศส

ครอบครัวคาดัมเป็นครอบครัวที่อพยพมาจากประเทศอินเดีย พวกเขาย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ในยุโรป ซึ่งที่มั่นใหม่นั่นได้แก่หมู่บ้านเล็กๆ ในประเทศฝรั่งเศส แต่เดิมครอบครัวคาดัมมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง กิจการดำเนินไปได้ด้วยดี โดยมีพ่อและแม่ของฮัสซันคอยดูแล เรื่องเลวร้ายลงตรงที่ร้านถูกโจมตีและวางเพลิง นั่นทำให้ฮัสซันเสียแม่ไป ดังนั้นพ่อของฮัสซันจึงต้องเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยตัวคนเดียว

ฮัสซัน คือเด็กชายที่มีพรสวรรค์ในด้านอาหาร เขาเติบโตมากับมนต์เสน่ห์ของมัน และกลายมาเป็นชายหนุ่มที่มีฝีมือในการทำอาหารไม่เป็นรองใคร เมื่อมาอยู่ฝรั่งเศส ปาปา พ่อของฮัสซันก็ได้ทำเลใหม่เพื่อเปิดร้านอาหาร แต่ที่นั่นเป็นทำเลที่ไม่ดีเท่าไรนัก เพราะฝั่งตรงข้ามเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสระดับหรูหนึ่งดาวมิชลิน  แม้ว่าฮัสซันกับลูกสาวคนรองจะคัดค้านเท่าไร ปาปาก็ไม่ฟังและดึงดันจะเปิดร้านตรงนั้น เมื่อใครก็ไม่อาจห้ามปาปาได้ ร้านอาหารอินเดียจึงเปิดทำการ โดยมีปาปาและฮัสซันคอยดูแล เมื่อมาดามมัลลอรี ผู้ดูแลร้านอาหารฝรั่งเศรู้เข้า เธอจึงทำสงครามย่อมๆ กับปาปา จนในที่สุดมันก็ทวีความรุนแรงขึ้น

หนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือฮัสซันต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ แสดงความสามารถและศักภาพที่ตนมีอยู่ให้มาดามมัลลอรีเห็น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ทั้งสองฝ่ายต่างต้องเปิดใจให้แก่กันก่อน เพราะหากอีกฝ่ายปิดกั้น ไม่ว่าทำอะไรไปก็คงไร้ความหมาย สิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็จะไม่มีค่าอะไรเลย

Little Forest: Summer/Autumn (2014)

Little Forest: Summer/Autumn สร้างมาจากมังงะแนว Slice of Life หรือที่เรียกว่าอิยาชิเคย์ มังงะออกมาทั้งหมดสองเล่ม ดังนั้น ภาพยนตร์จึงแบ่งเป็นสองภาคตามไปด้วย โดยประกอบไปด้วยฤดูร้อนและฤดูใบไม้ ร่วง กับฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ

อิจิโกะ เด็กสาวที่ไม่ประสบความสำเร็จกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เธอจึงกลับมายังบ้านเกิดที่เคยหันหลังให้ และใช้ชีวิตเยี่ยงเกษตรกรทั่วๆ ไปในหมู่บ้าน โคโมริเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนเขาในภูมิภาคโทโฮคุ มันห่างไกลจากเมืองใหญ่ เงียบสงบ รายล้อมด้วยธรรมชาติ และมีขุนเขาตะหง่านคล้ายกำแพงเพื่อให้พวกเขาซ่อนตัวจากความวุ่นวายภายนอกนั่น อิจิโกะกลับมาอยู่บ้านเพียงตัวคนเดียว เธอทำทุกอย่างเอง ทั้งทำนา ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด ตกปลา และทำอาหาร พบปะเพื่อนบ้านบ้าง พบเจอเพื่อนฝูงบ้าง เท่าที่ชีวิตจะอำนวย อิจิโกะค่อยๆ ไหลผ่านเวลาไปอย่างไม่รีบร้อน รอพืชผลเติบโต รอตัวเองเติบใหญ่ ทำความเข้าใจกับโลกอย่างไม่รีบเร่ง เพียงทำปัจจุบันให้ดี วันพรุ่งนี้ก็คงไม่เลวร้ายเท่าไร อิจิโกะก็ดูจะค้นพบที่ทางของตัวเอง ที่ๆ ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่แปลกหน้ากับตัวเอง

จุดเด่นของภาพยนตร์คือความเรียบง่าย ถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันของเกษตรกร โดยมีไอ ฮาชิโมโตะ รับบทเป็นอิจิโกะ ซึ่งเธอสวมบทบาทได้อย่างเป็นธรรมชาติ กลมกลืนไปกับตัวละคร ยิ่งดูยิ่งรู้สึกถึงความมีเสน่ห์ไม่ว่าจะอากัปกิริยาไหนๆ โดยเฉพาะเวลาที่ทำอาหารและลงมือกิน ในแง่วิถีการนำเสนออาหารตามฤดูกาลก็น่าสนใจ มันเป็นการเก็บเกี่ยววัตถุดิบมาผลิตและแปรรูปได้อย่างชวนหิว จนเมื่อดูจบต้องเดินเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นสักร้าน

Burnt (2015)

Burnt ภาพยนตร์ดราม่าที่เล่าเรื่องราวในครัวได้อย่างเข้มข้น โดยมีนักแสดงเจ้าบทบาทอย่างแบรดลีย์ คูเปอร์ มาแสดงนำ

ตัวละคร อดัม โจนส์ ของแบรดลีย์ได้แรงบันดาลใจมาจากเชฟชื่อดังหลายคน แม้ว่าลักษณะการพูดของแบรดลีย์เวลาอยู่ในครัวจะคล้ายกอร์ดอน แรมซีย์ มากแค่ไหนก็ตาม และเพื่อเตรียมรับบนี้แบรดลีย์ได้ฝึกฝนร่วมกับ Clare Smyth หัวหน้าเชฟของ Restaurant Gordon Ramsay ที่ได้รับสามดาวมิชลิน ซึ่งเธอรู้สึกทึ่งกับความกระตือรือร้นของแบรดลีย์เป็นอย่างมาก เขาพร้อมที่จะซึมซับทุกอย่างที่เธอสอน และฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อการเป็นเชฟที่ดี

อดัม โจนส์ เป็นคนที่เกือบจะมีทุกอย่างดีพร้อม เขาเคยเป็นเชฟระดับสองดาวมิชลินที่ฝรั่งเศส แต่สิ่งที่มีกลับต้องมาพังเพราะตัวเอง อดัมแทบจะหมดอาลัยตายยากกับชีวิต เขาไปใช้ชีวิตสองปีกว่าเพื่อทำงานรับจ้างแกะหอยนางรมให้ครบหนึ่งล้านตัว เพื่อเป็นการลงโทษตัวเองให้กับความผิดพลาด หลังจากนั้นเขาก็มุ่งมั่นที่จะคว้าดาวมิชลินเป็นดวงที่สาม

โจนส์รวบรวมลูกมือจนสามารถเปิดร้านได้ แต่ความคาดหวังที่สูงทำให้เขาค่อนข้างเข้มงวดกับเชฟคนอื่นๆ เป็นอย่างมาก การทำงานจึงไม่ค่อยเป็นไปอย่างราบรื่นเท่าไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่เขาเคยทำมาในอดีตด้วย ในวันที่โจนส์คิดว่าคนของมิชลินมาที่ร้าน เขาจึงโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนเก่า และชวดดาวไป แต่เหตุการณ์กลัตาลปัตรอีกหน เพราะคนๆ นั้นไม่ใช่คนจากมิชลินจริงๆ ความมั่นใจของโจน์จึงกลับมา โดยครั้งนี้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดียิ่งกว่าเดิม เขามีความเป็นผู้นำที่ดี มีความสุขกับการทำอาหารพร้อมกับคนรอบข้าง และใส่ใจทุกคนอย่างแท้จริง เพราะการที่ร้านอาหารจะประสบความสำเร็จได้ ทีมที่ดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ

ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนๆ ทุกคนก็ต้องทำงานเป็นทีม แต่ละคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง และลงมือทำให้ดีที่สุด ผู้นำต้องเด็ดขาด แต่ไม่แข็งกร้าว ผู้ตามต้องฟัง แต่ไม่ไร้ปากเสียง นี่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องพบเจอในการทำงาน