ฟิเดล คาสโตรเฉียดใกล้ความตายนานมาแล้ว ก่อนจะถึงวันที่เขาตายจริง เคยปรากฏข่าวเล็ดลอดจากหน่วยสืบราชการลับของคิวบาว่า มีคนพยายามลอบสังหาร ‘ผู้บังคับบัญชา’ มากกว่า 600 ครั้ง แต่เขาไม่เคยแม้แต่จะคิดสวมเสื้อเกราะกันกระสุน คาสโตรเคยบอกอย่างภูมิใจครั้งหนึ่งเมื่อปี 1979 ระหว่างนั่งเครื่องบินไปนครนิวยอร์ก คาสโตรหยิบซิการ์ออกจากริมฝีปาก เปิดกระดุมเสื้อเชิ้ตสีเขียวมะกอก โชว์แผงอกเปลือยของตนเองให้ดู “ผมมีแต่เสื้อเกราะศีลธรรม” เขาบอกใบหน้ายิ้ม

ฟิเดล คาสโตรกลายเป็นตำนานมานับตั้งแต่ยุคสมัยนั้น เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปฏิวัติสมัยใหม่ที่ปลดแอกคิวบาจากระบอบเผด็จการ และเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ด้วยคำมั่นสัญญาของเขาที่จะสร้างเสริมสังคมที่เป็นธรรม แต่เสื้อเกราะศีลธรรมของเขาก็มีรอยแหว่งวิ่นเช่นกัน เพราะในประเทศของเขามีการไล่ล่าฝ่ายเห็นต่าง คอยสะกดรอยตามผู้คน และปล่อยปละละเลยให้เกิดความยากจนข้นแค้น

ฟิเดล คาสโตรเป็นทั้งวีรบุรุษและชายผู้น่ารังเกียจในเวลาเดียวกัน แม้ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาจะไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนแล้วก็ตาม “ดูเหมือนข้าพเจ้าจะเป็นตัวประหลาดแปลกปลอมของสังคมเสียอย่างนั้น” เขาเคยบันทึกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง แค่เรื่องวันเดือนปีเกิดของเขาก็ยังกลายเป็นเรื่องที่ร่ำลือกัน หลายคนเชื่อว่า พ่อแม่ของเขาน่าจะปลอมใบสูติบัตร

 

อาจเพราะการตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกาก็ได้ ที่ทำให้ประเทศของเขาและตัวเขากลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น

 

ฟิเดล คาสโตรเสียชีวิตวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2016 ด้วยวัย 90 ปี อย่างเป็นทางการ ข่าวการจากไปของอดีตประธานาธิบดีแห่งคิวบานี้ ราอูล คาสโตร (Raul Castro) น้องชายของเขาที่สืบตำแหน่งแทน เป็นผู้แจ้งทางทีวีของรัฐ ศพของผู้นำการปฏิวัติจะถูกนำไปทำพิธีเผาตามความประสงค์ของเจ้าตัว

ฟิเดล คาสโตรปกครองประเทศคิวบามานานเกือบ 50 ปี อยู่ทันประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาถึง 10 คน อาจเพราะการตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกาก็ได้ ที่ทำให้ประเทศของเขาและตัวเขากลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น คาสโตรมีส่วนร่วมในความขัดแย้งเหนืออ่าวเม็กซิโก ด้วยประเทศคอมมิวนิสต์เล็กๆ อย่างคิวบา ที่เขาเอาไปสู้รบปรบมือกับระบอบทุนนิยม อุดมการณ์ของคาสโตรไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่ามันจะกัดกร่อนประเทศของเขาก็ตาม

“ประวัติศาสตร์จะทำให้ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากทุกข้อกล่าวหา” เป็นประโยคคำพูดของเขาที่โด่งดังตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยหนุ่ม คาสโตรต้องต่อสู้คดีความในศาลเมื่อปี 1953 เนื่องจากเขาคิดโค่นล้มเผด็จการฟูลเกนเซียว บาติสตา (Fulgencio Batista) การปฏิวัติจบลงด้วยการนองเลือด ครั้งนั้นฟิเดล คาสโตรปรากฏบนเวทีโลกเป็นครั้งแรก

สามปีต่อมา นักกฎหมายก็เคลื่อนทัพครั้งใหม่เพื่อสร้างตำนานการปฏิวัติ – ฟิเดล คาสโตรกับชายวัยหนุ่ม 82 คนแอบลงเรือ ‘Granma’ ที่ชายฝั่งตะวันออกของคิวบา แต่มีเพียง 21 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตจากการกระหน่ำยิงของกองทัพบาติสตา บรรดานักรบผู้รอดชีวิต ในจำนวนนั้นมีฟิเดล คาสโตร ราอูล-น้องชายของเขา และหนุ่มจากอาร์เจนตินา-แอร์เนสโต ‘เช’ เกบารา ทั้งหมดพากันหลบหนีเข้าไปในป่าของเซียร์รา มาเอสตรา

นักรบวัยหนุ่มได้ชื่อว่า ‘บาร์บูดอส’ (Barbudos) หรือผู้มีหนวดเครา พวกเขาคือทูตความหวังสำหรับคนยากไร้และคนเบี้ยล่าง พวกเขาซ่องสุมกำลังเพื่อกดดันรัฐบาลเผด็จการ นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และชาวไร่ชาวนาพากันย่องขึ้นเขา เพื่อเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ โดยมีชาวบ้านชาวเขาคอยเกื้อกูลเรื่องอาหารการกิน

กระทั่งเมื่อกลุ่มกบฏพาชัยชนะเข้าสู่ฮาบานาในเดือนมกราคม 1959 พวกเขากลายเป็นไอดอลของคนนับล้านในทันที ผู้คนในคิวบาพากันมายืนชิดขอบถนน ส่งเสียงร้องแสดงความปรีดา คาสโตรเห็นภาพตนเองเป็นผู้ปลดปล่อยและผู้สร้างคิวบาที่ดีกว่า และเห็นภาพเด็กๆ มีโอกาสได้เรียนอ่าน-เขียนหนังสือ และคิดเลขเป็น ประชาชนมีชีวิตยืนยาวขึ้น อัตราการเสียชีวิตของเด็กลดลง

 

คาสโตรหยิบซิการ์ออกจากริมฝีปาก เปิดกระดุมเสื้อเชิ้ตสีเขียวมะกอก โชว์แผงอกเปลือยของตนเองให้ดู “ผมมีแต่เสื้อเกราะศีลธรรม”

 

โลกสังคมนิยมในแคริบเบียนไม่มีคอมมิวนิสต์หัวโบราณแบบโซเวียตรัสเซีย หากมีแต่ขุนพลฝ่ายซ้ายที่เต็มไปด้วยเซ็กซ์แอปพีล ศูนย์กลางความเท่อยู่ที่ฟิเดล คาสโตร เขาสวมหมวกแก๊ปทหาร สูบซิการ์โคอิบาส และรายล้อมไปด้วยสาวๆ บรรดานักคิดหัวก้าวหน้าจากยุโรปพากันทยอยเดินทางไปฮาบานา เหล่านักเขียนชื่นชมในตัวคาสโตร แม้แต่คนใหญ่คนโตระดับโลกก็พยายามจะใกล้ชิดคาสโตร

ฟิเดล คาสโตรตกเป็นเป้าของซีไอเอ หน่วยสืบราชการลับในต่างแดนของสหรัฐอเมริกาพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะกำจัดเขา คาสโตรเองก็รู้สึกได้ถึงภยันตรายรอบตัว ระหว่างเดินทางไปเยือนนิวยอร์ก เขาเลี่ยงที่จะดื่มน้ำจากก๊อก เพราะกลัวสารพิษ แต่ความพยายามในการลอบสังหารเขา ยิ่งพลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มคะแนนให้เขาเท่านั้น

ใครที่ชื่นชมในตัวคาสโตรมักจะมองข้ามเรื่องประชาธิปไตยไป ในช่วงปีแรกๆ มีชาวคิวบาถูกตัดสินโทษประหารไปนับร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นพวกต่อต้าน นักวิจารณ์ และสาวกของรัฐบาลเผด็จการบาติสตา ซึ่งคาสโตรเรียกคนเหล่านั้นว่าอาชญากร เสรีภาพทางการเมืองที่เขาเคยสัญญาไว้ เขาไม่เคยมอบให้กับประชาชน แต่กลับจัดตั้งบางหน่วยงานขึ้นเพื่อตรวจสอบ-จ้องจับผิดฝ่ายตรงข้าม ให้รัฐบาลสามารถคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ใครที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐจะถูกจับตา ถูกจับขังโดยปราศจากการพิจารณาคดีในศาล หรือถูกส่งตัวไปใช้แรงงาน

เขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมาโดยตลอด คาสโตรบันทึกไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขา แต่ภายใต้การปกครองของเขากลับมีชาวคิวบาได้รับความอยุติธรรม หากใครตกเป็นที่ต้องสงสัย ใครคนนั้นมักจะมีชีวิตอยู่ไม่เป็นสุข คนเสียชีวิตภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐบาลของเขามีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครรู้ตัวเลขแน่ชัด แต่คาดเดากันว่ามีการประหารไม่ต่ำกว่า 5,000 คน และอีกนับพันคนที่ต้องจมน้ำตายจากการหลบหนีทางทะเล

ช่วงเวลานั้นคาสโตรเริ่มปฏิรูประบอบสังคมนิยมในคิวบา อุดมการณ์ทางการเมืองบ่อยครั้งถูกให้ความสำคัญมากกว่าความจำเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้คิวบาต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนต่อปีนับพันล้านดอลลาร์จากสหภาพโซเวียตอยู่นานหลายทศวรรษ ถึงกระนั้นความขัดสนข้นแค้นของผู้คนยังไม่ได้รับการบรรเทา เป็นเหตุให้ชาวคิวบาพยายามหาทางหลบหนีออกจากประเทศของตนเอง

 

เขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมาโดยตลอด แต่ภายใต้การปกครองของเขากลับมีชาวคิวบาได้รับความอยุติธรรม

 

ในอดีตก่อนหน้านั้น ฟิเดล คาสโตรไม่ได้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกาเสียทีเดียว ย้อนไปเมื่อปี 1940 ขณะคาสโตรอายุ 14 ปี เขายังเคยเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) หนุ่มน้อยจากคิวบาขึ้นต้นจดหมายด้วยประโยคว่า…รูสเวลต์เพื่อนที่ดีของผม ก่อนเอ่ย ขอให้ผู้มีอำนาจสูงสุดของอเมริกาช่วยส่งธนบัตรดอลลาร์ให้เขา “เพราะผมไม่เคยเห็นธนบัตรสีเขียวใบละสิบดอลลาร์มาก่อน” หนุ่มน้อยได้รับจดหมายขอบคุณจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นคำตอบ แต่ทว่าไม่มีธนบัตรแนบมาด้วย ความสนใจในเงินดอลลาร์ของคาสโตรมาเสื่อมลงในภายหลัง ถึงขั้นชักธงรบขับเคี่ยวกับทุนนิยม สำหรับเขาแล้ว มีเพียงสองทางให้เลือก ‘สังคมนิยมหรือความตาย’

ความขัดแย้งกับจักรวรรดิแยงกีทางตอนเหนือทำให้โลกเกือบต้องเผชิญกับสงครามปรมาณู ปี 1962 เมื่อสหภาพโซเวียตเข้าไปตั้งฐานทัพติดจรวดวิถีกลางในคิวบา ซึ่งชาวรัสเซียเรียกเหตุการณ์นี้ว่าวิกฤตการณ์แคริบเบียน ส่วนชาวคิวบาเรียกว่า วิกฤติการณ์เดือนตุลาคม

การเผชิญหน้าเริ่มขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 1962 เครื่องบินสังเกตการณ์ U-2 ของอเมริกาจับภาพฐานปล่อยขีปนาวุธที่กำลังก่อสร้างในคิวบา กองทัพสหรัฐฯ จึงส่งเรือรบเข้าปิดล้อมคิวบาทันที ห้ามเรือบรรทุกสินค้าทุกลำแล่นผ่านน่านน้ำในทะเลแคริบเบียน หลังจากนั้นมีการโต้ตอบทางการทูตอย่างดุเดือด จนกระทั่งในวันที่ 28 ตุลาคม ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ของสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ของรัสเซีย ได้ข้อตกลงร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างยินยอมที่จะถอนอาวุธปรมาณูของตนออกจากตุรกีและคิวบา

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับฟิเดล คาสโตรไม่น้อย เขาถึงขนาดยกเท้ากระทืบผนังห้องตนเอง พร้อมก่นด่าครุสชอฟเป็น “ตุ๊ดขี้ขลาด” หลายเดือนหลังจากนั้นคาสโตรเริ่มเข้าสู่ภาวะกินอะไรไม่ลง เอาแต่ดื่มแต่กาแฟและบรั่นดี จนคนรอบข้างแคลงใจ เพราะปกติแล้วคาสโตรเป็นคนชอบกินอาหารดีๆ และดื่มไวน์ดีๆ

 

ความสนใจในเงินดอลลาร์มาเสื่อมลง ถึงขั้นชักธงรบขับเคี่ยวกับทุนนิยม สำหรับเขาแล้ว มีเพียงสองทางให้เลือก ‘สังคมนิยมหรือความตาย’

 

ฟิเดล คาสโตรไม่ยอมลดละ แม้สหภาพโซเวียตถึงวาระล่มสลาย – หนวดเคราของเขาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทา อากัปกิริยาของเขาเฉยเมย เขาไม่ลงมือจัดการเรื่องการปฏิรูป อีกทั้งยังไม่ยินยอมให้เสรีภาพทางการเมือง ทำตัวเป็นชายแก่ดื้อรั้น ที่ไม่รับรู้สัญญาณการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา ระหว่างที่ประเทศของตนเองกำลังแร้นแค้น ตกต่ำลงเรื่อยๆ

ฟิเดล คาสโตรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับดอน กิโฆเต นักฝันแห่งลามันชา ที่เขามีรูปปั้นวางประดับอยู่ในห้องทำงาน เขายังยืนยัน และเชื่อมั่นใน “ความล่มสลายของระบบทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ในขณะที่ประเทศเกาะของเขาค่อยๆ ผลัดเปลี่ยนไปสำหรับนักท่องเที่ยวปฏิวัติ

ฟิเดล คาสโตรเริ่มป่วย เขาถอยห่างจากสาธารณชนไปนานหลายปี จนบ่อยครั้งมีเสียงร่ำลือว่าเขาเสียชีวิตแล้ว แม้ในภายหลังอาการป่วยของเขาทุเลาลงก็ตาม แต่เขาก็ไม่สามารถกลับเข้ามามีอำนาจได้อีก ปี 2008 ราอูล-น้องชายของเขาขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดี และประธานสภาแห่งรัฐอย่างเป็นทางการ และค่อยๆ ปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง

ราอูล คาสโตรปรับเปลี่ยนประเทศให้ทันสมัย และผละออกจากการโดดเดี่ยวตนเอง เขาสั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง และข้าราชการอีกนับพันตำแหน่ง เปิดเสรีการค้าเกี่ยวกับรถยนต์และที่พักอาศัย ธุรกิจขนาดเล็กและพ่อค้าข้างถนนสามารถจับจองพื้นที่ประกอบกิจการในย่านใจกลางกรุงฮาบานา รัฐบาลลงทุนสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ นอกจากนั้น ชาวคิวบาทุกคนสามารถครอบครองหนังสือเดินทาง การเดินทางออกนอกประเทศต้องขออนุญาตทางการเพียงบางกรณีเท่านั้น

โมงยามแห่งประวัติศาสตร์ของคิวบาเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2014 เมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) กล่าวรับรองว่า ฮาบานาและวอชิงตันจะเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกครั้ง

เดือนมีนาคม 2016 โอบามาเดินทางไปเยือนเมืองหลวงของคิวบา นับเป็นการเยือนของผู้นำรัฐบาลอเมริกันคนแรกในรอบ 90 กว่าปี

ราอูล คาสโตรพอใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

 

 

อ้างอิง:
Castro, Fidel and Ignacio Ramonet. Fidel Castro: Mein Leben (My Life: A Spoken Autography). Rotbuch Verlag, 2008.
Spiegel Online

Tags: , , ,